สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ มาดพยัคฆ์

 

สรดิเทพ ศุภจรรยา / 24 ก.ย. 2558

 
Share |
Print   
       
 

 

การต่อสู้ ไม่ได้เริ่มต้นและจบลงแค่บนสังเวียนมวย

มาดพยักฆ์ หนังสารคดีเรื่องแรกของค่ายหนังนาวสตูดิโอในเครือเนชั่น เล่าชีวประวัติของ “สามารถ พยักฆ์อรุณ” ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ทั้งในและนอกเวทีมวย ต่อสู้กับความยากจนตั้งแต่เด็ก ฝันว่าชีวิตต้องมีมากกว่าการทำไร่จับปลาไปวันๆ ต่อสู้กับความเหนื่อยยากลำบาก เริ่มต่อยมวยตั้งแต่เวทีเล็กๆตามงานวัดจนกระทั่งได้ล้มคู่ปรับเก่าที่เวทีลุมพินีจนได้แชมป์มวยไทยรุ่นเล็ก และข้ามมาต่อยมวยสากลจนชนะน็อกคู่แข่งได้เป็นแชมป์โลกในการต่อสู้ที่ตรึงคนดูทุกคนไว้กับเวที และสุดท้ายต่อสู้กับความกดดันและความคาดหวังของคนทั้งประเทศไม่ไหว มาพ่ายแพ้การป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกแบบหมดท่าจนถูกคนกล่าวหาว่าล้มมวยขายชาติ

มาดพยักฆ์ ดำเนินเรื่องโดยใช้รูปภาพและคลิปวิดีโอจริงสลับกับการแสดงจำลองเหตุการณ์ ซึ่งทำให้เห็นถึงความประณีตของทีมกำกับศิลป์ในการจัดเซ็ทให้เหมือนกับเหตุการณ์จริงที่สุด อย่างในฉากที่สามารถในวัยเด็กยืนอยู่ริมแม่น้ำถ่ายรูปกับเข็มขัดแชมป์ ได้โลเคชั่น ท่าทาง กางเกงมวย และเข็มขัดที่เหมือนกับในรูปจริงแบบเป๊ะๆ และในฉากที่ไม่ได้จำลองจากภาพ ก็ทำออกมาได้อย่างงดงาม เช่นฉากซ้อมมวยกับพี่ชายใต้ต้นไม้ใหญ่ตอนโพล้เพล้ ที่ถ่ายออกมาได้ดูยิ่งใหญ่ มีพลัง และเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์

หนังเรื่องนี้ได้เอานักมวยอาชีพสามคนมารับบทเป็นสามารถในสามช่วงอายุ ในวัยเด็กอายุ 10 ขวบได้ น้องเเชมป์ ศิษย์ป๋ารงค์ (ซึ่งเคยแสดงมิวสิกวิดีโอเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ของบอดี้สแลม) วัยรุ่นอายุ 16 ปี ได้ ตี๋เล็ก-เจริญพร ภพธีรธรรม (นักมวยในค่ายของสามารถเอง) และวัยหนุ่มอายุ 24 ปี ได้ เจ๋ง-พิทัต ผลทวี (ชื่อในวงการมวย ยอดพยัคฆ์ ส. เดชอุบล) เพราะเป็นนักมวยจริงจึงไม่มีคำถามเรื่องรูปร่าง สายตาที่มุ่งมั่นเวลาชก และความชำนาญการออกอาวุธมวย แต่เพราะไม่ได้เป็นนักแสดงอาชีพทั้งสามคนจึงค่อนข้างมีปัญหาในการพูดและสื่ออารมณ์

นอกจากการแสดงแล้ว อีกจุดอ่อนหนึ่งของหนังคือบทภาพยนตร์ที่ดำเนินไปอย่างเรื่อยๆไม่มีจุดพีค ทั้งๆที่บางฉากสามารถทำให้ตื่นเต้นเร้าใจได้มากกว่านี้ อย่างเช่นไฟท์ชี้ชะตาแชมป์มวยไทยรุ่นเล็กที่ต่อยกับ พฤหัสเล็ก ศิษย์ชุนทอง คู่ปรับเก่าที่เคยแพ้มาก่อนหน้านี้ถึงสามครั้ง รวมถึงแพ้น็อกอย่างเจ็บปวดด้วย กลับตัดตอนไปที่ผลคะแนนอย่างรวดเร็ว หรือไฟท์ที่ชนะน็อก กัวดาลูเป้ พินเตอร์ นักชกชาวเม็กซิโกจนได้เป็นแชมป์โลกคนที่สิบของประเทศไทย กลับเอาแค่คลิปตอนท้ายของยกสุดท้ายมาให้ดู ในทั้งสองไฟท์สำคัญนี้ หนังน่าจะถ่ายให้เห็นถึงความตั้งใจอุตสาหะในการฝึกซ้อม ความน่ากลัวของคู่แข่ง และความยากลำบากในการแก้เกมต่อสู้และล้มคู่แข่งแบบให้คนดูลุ้นไปด้วยกัน

และในช่วงชีวิตหลังถูกสังคมกล่าวหาว่าล้มมวย หนังน่าจะให้เวลามากกว่านี้ เพื่อที่จะได้เจาะลึกถึงเหตุผลที่เขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป อธิบายถึงผลกระทบต่อจิตใจของสามารถจนกระทั่งต้องลาไปบวช และแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการฮึดต่อสู้อย่างลำบากเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงตนเองจนสำเร็จ

หนังได้กล่าวถึงบทบาทที่โค้ชและโปรโมเตอร์มวยมีต่อสามารถ แต่อีกคนหนึ่งที่หนังน่าจะชูให้เด่นกว่านี้คือพี่ชายแท้ๆของสามารถเอง “ก้องธรณี พยักฆ์อรุณ” ซึ่งป็นคนชักชวนเขาเข้าวงการมวยและเป็นคนปูทักษะพื้นฐานให้เขาในตอนเด็ก และไฟท์ที่สามารถต่อยชนะ ฉมวกเพชร ช่อชะมวง เพื่อล้างแค้นให้กับพี่ชาย ควรที่จะเป็นฉากที่สำคัญ ตื่นเต้น และสะใจกับชัยชนะมากกว่านี้

ทั้งนี้ การที่ได้เห็นประสบการณ์ชีวิตของนักมวยในตำนานอย่าง “สามารถ พยักฆ์อรุณ” ที่มีขึ้นมีลง มีชนะมีแพ้และมีชนะอีกครั้ง เป็นแรงบันดาลใจอย่างดีให้กับคนดูทุกคน โดยเฉพาะกับเยาวชนและนักกีฬารุ่นใหม่ ว่าทั้งบนสังเวียนมวยและในชีวิตจริง ไม่มีใครชนะทุกครั้ง และก็ไม่มีใครแพ้ตลอด

และถ้าจะเปรียบหนังเรื่อง มาดพยักฆ์ เป็นนักมวย ก็เป็นนักมวยที่มีทักษะดี ซ้อมมาดี ต่อยตรงจุดซะส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางจุดที่พลาดเป้าและบางครั้งที่ออกหมัดแบบกั๊กๆ แต่สุดท้ายก็น่าจะสามารถชนะใจจากกรรมการและผู้ชมได้

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.