สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ ละติจูดที่ 6

 

สรดิเทพ ศุภจรรยา / 24 ก.ค. 2558

 
Share |
Print   
       
 

                                                                 




ละติจูดที่ 6 คือเส้นรุ้งที่วิ่งผ่านจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และหนังที่มีชื่อเรื่องเดียวกัน เป็นหนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะถ่ายทำที่จังหวัดปัตตานีจริง หนังเรื่องนี้จึงเป็นหน้าต่างให้เห็นบรรยากาศ การแต่งกาย สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมของชาวปัตตานีที่ชาวไทยนอกศาสนามุสลิมหรือต่างพื้นที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การละเล่นดิเกฮูลู กีฬาปันจักสีลัต และการทักทายแบบมุสลิม แม้แต่ฉากธรรมดาๆก็ถ่ายทอดออกมาได้งดงาม เช่น มัสยิดใต้แสงแรกของวัน แสงแดดที่เล็ดลอดผ่านหน้าต่างมาถึงคนที่กำลังทำพิธีกรรมละหมาด ผ้าคลุมฮิญาบของนางเอกที่พริ้วไหวไปกับสายลมริมแม่น้ำ หรือการซ้อมท่าปันจักสีลัตบนโขดหินริมทะเล

แน่นอน ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกอย่างจะสงบสุข เพราะมีรถถังและทหารถือปืนลาดระเวนทุกคืน เฝ้าโรงเรียนและพระที่ออกบิณฑบาตทุกวัน เห็นฉากสะเทือนใจ มีระเบิดคาร์บอมบ์ก่อการร้ายกลางตลาดสด และตัวละครที่ต้องสูญเสียคนรักไปในเหตุการณ์ไม่สงบ

เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หนังสารคดี แต่เป็นหนังรักที่ได้แรงสนับสนุนจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) หนังจึงไม่พูดถึงต้นตอหรือการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ละติจูดที่ 6 เป็นเรื่องราวความรักของชายหญิงสองคู่ที่ต่างศาสนา คู่แรก “ต้น” (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) หนุ่มธนาคารที่ย้ายจากกรุงเทพมาเซ็ทระบบที่สาขาปัตตานี กับ “ฟ้า” (โบว์ลิ่ง-ปริศนา กัมพูสิริ) ครูสาวชาวมุสลิมที่โรงรียนประถมในตัวเมือง และอีกคู่ “ชารีฟ” (เม้าส์-ณัฐชา จันทพันธ์) เด็กหนุ่มนักกีฬาปันจักสีลัต กับ “เฟิร์น” (มายด์-วิรพร จิรเวชสุนทรกุล) เพื่อนสนิทที่โรงเรียนมัธยม

บทจะแน่นกว่านี้ถ้าตัดคู่ใดคู่หนึ่งออก เพราะทั้งสองคู่แทบไม่มีส่วนเชื่อมโยงกันเลย แถมมีหลายประเด็นที่ซ้ำกัน เช่น การที่ชีวิตต้องดำเนินต่อไปแม้คนรักเราตายไปจากเหตุการณ์ก่อการร้าย การที่ต้องเลือกทางเดินอนาคตระหว่างศาสนากับหัวใจ และความคิดต่างวัยระหว่างพ่อลูก นอกจากนี้บทยังเปิดประเด็นย่อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลัก เช่น แม่ของฟ้าที่ยอมเปลี่ยนศาสนาเพื่อมาแต่งงานกับพ่อ ดราม่าระหว่างต้นกับหลานสาวเรื่องทำบุญพ่อแม่ ความฝันของต้นที่จะเป็นนักดนตรี และมือที่สามของคู่ชารีฟกับเฟิร์นที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย 

เรื่องราวและจุดจบของทั้งสองคู่จึงดูรวบรัดจนสร้างหลายคำถามขึ้นมา เช่น ทำไมชารีฟเขินอายที่จะบอกรักเฟิร์นทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็สัญญาแล้วว่าจะดูแลเธอตลอดไป มีเหตุผลอื่นไหมนอกจากความสวยที่ทำให้ต้นชอบฟ้า ทำไมฟ้าถึงชอบต้นกลับทั้งๆที่บทนำเสนอว่าเธอเป็นลูกสาวที่เชื่อฟังพ่อซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่เคร่งครัดมากและหมายมั่นให้ลูกสาวแต่งกับชายมุสลิมเท่านั้น และสุดท้ายพ่อฟ้ามองต้นเปลี่ยนไปหรือเปล่าเพราะหนังตัดจบไปอย่างง่ายดาย

หนังเรื่องนี้มีปัญหาด้านการแสดงอย่างมาก ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ทำได้ดีในฉากที่แอบรักฟ้าอยู่ไกลๆ แต่พอต้องใกล้ชิดกลับไม่สามารถสื่อความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ความรักต่างศาสนาได้ โบว์ลิ่ง-ปริศนา กัมพูสิริ ในการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก ทำได้ดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะฉากที่ทะเลาะกับพ่อ แต่ฉากโรแมนติกยังสื่ออารมณ์ไม่ถึงคนดู เม้าส์-ณัฐชา จันทพันธ์ ไม่สามารถทำให้คนดูเชื่อได้ว่าแอบชอบเฟิร์น หรือมุ่งมั่นเรื่องทางเดินชีวิตในฉากที่พ่อบังคับไม่ให้เล่นกีฬาปันจักสีลัตอีก ส่วน มายด์-วิรพร จิรเวชสุนทรกุล แสดงได้สดใสในฉากที่คุยกับพ่อผ่านวิทยุสื่อสารแต่กลับไม่เป็นธรรมชาติในฉากที่เห็นชารีฟแพ้การแข่งขัน

มีสองคนที่แสดงได้ค่อนข้างดี คือ ต๊อบ-สหัสชัย ชุมรุม ในบทพ่อของฟ้า ที่ในบทพูดเดียวทำให้เข้าใจถึงความรักลูก รักศาสนา และรักชุมชนได้พร้อมกัน และอีกคนคือน้องใยใหม-ชินารดี อนุพงษ์ภิชาติ ในบท “ฝ้ายฟู” หลานสาวของต้นที่ย้ายตามมาอยู่ด้วย แสดงได้สดใส น่ารัก ดูแล้วอมยิ้มตามโดยเฉพาะฉากที่พยายามจะนัดให้ต้นและฟ้ามาเจอกัน

ละติจูดที่ 6 หนังภาพสวย โปรดักชั่นงาม เจตนารมณ์ดี แต่ถูกจำกัดด้วยบทที่ขาดๆเกินๆ การดำเนินเรื่องที่สะดุดอารมณ์ และการแสดงที่ไร้มิติ ทำให้หนังเรื่องนี้พลาดที่จะเป็นหนังรักแห่งปีไปอย่างน่าเสียดาย

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.