สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ พี่ชาย My Hero (How to Win at Checkers Every Time)

 

สรดิเทพ ศุภจรรยา / 22 ก.ค. 2558

 
Share |
Print   
       
 

      


บางที ชาวต่างชาติมองสังคมไทยได้ชัดเจนกว่าคนไทยมองตนเองเสียอีก

สร้างโดย จอช คิม ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี และดัดแปลงจากสองเรื่องสั้นของ รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ นักเขียนชาวไทย-อเมริกัน พี่ชาย My Hero ตีแผ่สังคมไทยได้อย่างสมจริงและตรงไปตรงมา เป็นเรื่องราวของการเติบโตก้าวผ่านพ้นวัยของสองพี่น้องที่กำพร้าพ่อแม่ และต้องดิ้นรนในเกมชีวิตของคนยากจนที่ถูกกำหนดโดยคนที่มีฐานะและอำนาจ

“โอ๊ต” (ริว-อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล) เด็กชายวัย 11 ขวบ อยู่กับป้าและลูกสาวของป้าเพราะเสียทั้งพ่อและแม่ไปก่อนหน้านี้ โดยมีพี่ชาย “เอก” (อั้ม-ถิร ชุติกุล นักแสดงจากหนังเรื่อง ร่าง และ เพชฌฆาต The Last Executioner) เป็นเสาหลักของบ้านทำงานหาเงินเลี้ยงดู แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาที่เอกต้องไปจับใบดำใบแดงเข้ารับราชการทหารตามหน้าที่ของชายไทยอายุครบ 21 ปี โอ๊ตเริ่มหาวิธีที่จะช่วยพี่ของเขา ซึ่งทำให้เขาได้เห็นความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกับสังคมไทยและในตัวพี่ชายเขาเอง

โอ๊ตเห็นอำนาจเงินที่ทำให้ลูกคนมีฐานะไม่ต้องไปเป็นทหาร เห็นความไม่ยุติธรรมของระบบที่มีแต่คนจนไปตายเพื่อชาติ เห็นว่าคนยากจนทำได้มากสุดก็แค่เปลี่ยนเปลือกภายนอกอย่างใส่เสื้อผ้าและนาฬิกาหรูแต่ยังไงก็ยังอยู่ใต้สถานะเดิม เห็นการพึ่งเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมากมายเพราะพึ่งตัวเองและคนอื่นไม่ได้ เห็นความไม่รู้เท่าถึงการณ์ของตัวเองที่ไปขโมยเงินเสี่ยเจ้าของตลาดมาเพื่อช่วยพี่ชายแต่สุดท้ายยิ่งทำให้พี่ชายลำบากมากขึ้น และเห็นความจริงที่พี่ชายยอมเสียสละร่างกายและศักดิ์ศรีตัวเองเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว

ไม่ได้มีแต่โอ๊ตเท่านั้นที่โตขึ้น เอกก็โตขึ้นเหมือนกัน โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์ที่แฟนหนุ่มของเอกมาพบความจริง และถึงแม้ทั้งคู่ยังรักกันอยู่ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นความรักแบบเด็กๆ จนเอกเองต้องเป็นคนบอกว่า เราสองคนอยู่คนละโลกกัน และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างของหนังที่น่าชื่นชม ไม่ได้ใช้ความเป็นเกย์ของตัวละครมาเป็นเหตุผลการตัดสินใจ สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นมุขตลก ความเป็นเกย์เป็นอีกแค่มุมหนึ่งของตัวละคร ที่เพิ่มมิติและความสมจริง ทำให้คนดูเข้าใจบทภาพยนตร์และเข้าถึงตัวละครมากขึ้น

สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของหนัง คือการที่โอ๊ตเรียนรู้การเล่นเกมชีวิตจากการเล่นหมากฮอส (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษของหนัง) จากที่แพ้เอกมาตลอด ท้ายสุดโอ๊ตก็ชนะ ด้วยการฝึกฝน คิดสองก้าวล้ำหน้าคู่แข่ง และยอมเสียหมากบางตัวเพื่อให้ชนะเกม อย่างเช่นการตัดสินใจที่เฉียบขาดในฉากสุดท้ายของโอ๊ตวัยเด็ก และเมื่อย้อนกลับไปที่ฉากเปิดตัวหนัง โอ๊ตตอนโตตื่นมาบนคอนโดสูงกลางแยกอโศก ไม่ใช่ในบ้านหลังเก่าๆชานเมืองกรุงเทพ และเขาขับบิ๊กไบค์ไม่ใช่มอเตอร์ไซค์เก่าๆอีกต่อไป

ด้วยบทภาพยนตร์ที่ลึกซึ้ง ตัวละครที่มีหลายมิติ ความสัมพันธ์ของตัวละครที่อบอุ่น และการแสดงอันยอดเยี่ยม พี่ชาย My Hero คือหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ดีที่สุดของปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.