สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ ผีห่าอโยธยา

 

สรดิเทพ ศุภจรรยา / 25 พ.ค. 2558

 
Share |
Print   
       
 

 

ผีห่าอโยธยา หนังซอมบี้ย้อนยุคเรื่องแรกของไทย มีอาการเหมือนเป็นซอมบี้ที่อยู่ระหว่างการกลายพันธุ์ ยังสะบัดข้อบกพร่องของหนังผีไทยออกไปไม่หมด และก็ยังขาดความมันส์ของฉากแอคชั่นหรือความลึกซึ้งของบทตามฉบับหนังซอมบี้ต่างประเทศ

โทนและจังหวะในหลายๆฉาก เห็นได้ตามหนังผีตุ้งแช่ทั่วไป ที่ให้คนดูลุ้นในความเงียบแล้วผีก็โผล่ออกมาพร้อมเสียงประกอบดังๆ เสน่ห์ของหนังซอมบี้จริงๆไม่ได้อยู่ที่การทำให้คนดูตกใจกลัวซอมบี้ แต่เป็นการทำฉากแอคชั่นให้บู๊ล้างผลาญ เลือดสาด อาวุธต้องเด่นต้องจัดเต็ม ตัวละครต้องวิ่งหนีซอมบี้แบบลุ้นทุกฝีก้าว และในขณะเดียวกันก็สอดแทรกด้านมืดของธรรมชาติมนุษย์ไปด้วย

ซึ่งในประเด็นนี้ ผีห่าอโยธยา ทำได้อย่างน่าผิดหวัง เช่น ฉากที่กลุ่มตัวละครหลักถกเถียงกันว่าจะเปิดประตูรับคนนอกหรือไม่ ฉากนี้จบลงในไม่กี่นาทีทั้งๆที่น่าจะขยายความมากกว่านี้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่ดี ถ้าเราสามารถช่วยคนได้ก็ควรช่วย แต่การเปิดประตูเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการโดนกองทัพซอมบี้บุกเข้ามาทำร้าย และระหว่างที่ข้างในเถียงกัน ข้างนอกน่าจะลุ้นมากกว่านี้ในการหนีกองทัพซอมบี้

ปูมหลังของตัวละครบางเรื่อง ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้ช่วยดำเนินเรื่อง หรือช่วยให้ตัวละครนั้นรอดพ้นจากซอมบี้ เช่นประเด็นเรื่องพระเอกถูกญาติผู้ใหญ่ของนางเอกกีดกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโรงชำเราชายกับสาวในหมู่บ้านคนหนึ่ง หรือตัวละครสาวใบ้ที่จริงๆไม่จำเป็นต้องใบ้

และบางตัวละครเหมือนเดินออกมาจากวิดีโอเกม โดยเฉพาะอดีตทหารและสาวแกร่งในหมู่บ้าน อยู่ๆก็โผล่มาพร้อมอาวุธคู่กาย นำพาชาวบ้านให้รอดพ้นจากซอมบี้ด้วยการฆ่าฟันซอมบี้อย่างสนุกสนาน มีการกล่าวถึงอดีตของสองตัวละครนี้น้อยมาก ทำให้ขาดมิติ

การแสดงของทุกคนมีข้อบกพร่องค่อนข้างมาก เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์ และแคท-ซอนญ่า สิงหะ ไม่สามารถทำให้ตัวเองให้เด่นสมเป็นคู่พระเอก-นางเอกในเรื่องนี้ คาน-คานธี วสุวิชย์กิต และโซดา-วีรี ละดาพันธ์ ในบทอดีตทหารและสาวแกร่งที่พูดถึงในย่อหน้าที่แล้ว ไม่สามารถสื่ออารมณ์ได้ ไม่รู้ว่ากำลังเศร้า เสียใจ ตกใจ แค้น หรือยอมรับในชะตากรรมตัวเอง หนึ่ง-ชลัฏ ณ สงขลา ในบทเจ้าของโรงชำเราชาย แสดงออกมาเป็นตัวตลกทั้งๆที่บทไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อาจมีแค่ แม็กกี้-อาภา ภาวิไล ที่รับบทเป็นสาวใบ้ ที่สื่ออารมณ์ทางสายตาได้ดี ทำให้คนดูเข้าใจในการตัดสินใจของตัวละครนี้ในฉากไคลแมกซ์

ผีห่าอโยธยา ใช้โลเคชั่นการถ่ายทำที่เดียวกับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และจัดเต็มเรื่องชุดแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบฉาก และการแต่งหน้า ซึ่งทำออกมาได้ดีเยี่ยม

แต่โดยรวม จุดบกพร่องยังมีมากกว่า ซึ่งทำให้ความสนุก ความลึกซึ้งของหนังแนวซอมบี้ ลดลงไปมาก ผีห่าอโยธยา ยังไม่ใช่หนังซอมบี้ไทย ที่สมกับการรอคอยของคนรักหนังแนวนี้

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.