สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บทวิจารณ์ "แผลเก่า"
  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 14 ส.ค. 2557
 
Share |
Print   
 

 

 

ผลงานของหม่อมน้อย-หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หลังจากหวนกลับมากำกับอีกครั้ง เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย อุโมงค์ผาเมือง และจันดารา ล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความประณีตใส่ใจเรื่ององค์ประกอบต่างๆของหนัง ไม่ว่าจะเป็น เพลงประกอบ อุปกรณ์ เสื้อผ้า ฯลฯ รวมทั้งมีการสอดแทรกประเด็นกับสังคมและการเมืองไว้ด้วย

“แผลเก่า” โศกนาฏกรรมรักฉบับปี 2557 ก็เหมือนกัน ยังคงใช้สไตล์การกำกับแบบที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว แต่น่าเสียดายที่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องตัวละครและการดำเนินเรื่อง ที่ทำให้ผลลัพธ์ยังไม่ครบเครื่องเท่าที่ควร

เนื้อเรื่องยังคงตามบทประพันธ์โดยส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านกับกำนันทุ่งบางกะปิไม่ถูกกัน แต่ลูกชายกับลูกสาวของทั้งสอง ขวัญ-เรียม รักกันและสาบานว่าจะรักกันตลอดไป แต่พ่อเรียมขายเรียมให้กับคุณหญิงทองคำเปลว เศรษฐีนีม่ายในบางกอก ที่ดูแลเรียมอย่างดีเพราะหน้าตาคล้ายลูกสาวที่ได้ตายไป จนหลายปีผ่านไป ทั้งสองได้มาเจอกันอีกครั้งในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ ความทรงจำ และความสูญเสีย

โปรดักชั่นดีตามคาดไม่มีที่ติ คอสตูมสวย แต่งหน้าทำผมเยี่ยม โลเคชั่นงาม ฉากทุ่งนา หิ่งห้อย ศาลเจ้าพ่อ เรือข้ามมหาสมุทร ถนนในกรุงเทพ คฤหาสน์คุณหญิงทองคำเปลว ฯลฯ ทำออกมาให้คนดูรู้สึกได้ย้อนไปอยู่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

หากมองข้ามความเป็นลูกครึ่งของ นิว-ชัยพล พูพาร์ต กับใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทหนุ่มสาวชาวนา นักแสดงนำทั้งสองทำได้ดี ฉากจีบกันในคลองแสนแสบดูมีเคมีเข้ากันได้ ฉากที่ต้องพลัดพรากจากกัน หรือฉากที่ได้กลับมาเจอกันใหม่ สามารถเรียกน้ำตาได้ อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ในบทพ่อของขวัญ ออกมาน้อยแต่ทุกฉากเต็มไปด้วยพลัง

แต่น่าเสียดายที่บททำให้นักแสดงไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ เพราะทุกตัวละครถูกกำหนดให้มีมิติเดียว ขวัญก็มุ่งมั่นกับเรียมอย่างเดียว เรียมก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตได้ง่าย พ่อของเรียมก็ดูเป็นคนใจร้ายตลอดเวลา คุณหญิงทองคำเปลวก็ดูทุ่มเทกับเรียมอย่างเดียว ทั้งๆที่บทได้มีการพูดถึงมุมอื่นๆของตัวละครหล่าวนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ขยายความ เช่น ขวัญดูเป็นคนที่กล้าชกต่อยแต่ขาดความมั่นใจเรื่องความรัก เห็นเรียมอยู่กับหนุ่มอื่นก็รีบด่วนคิดว่าเรียมหมดรักแล้ว เรียมปรับตัวเข้ากับสังคมสูงได้เร็ว แต่ลึกๆแล้วเธอคิดอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เธอลังเลที่จะหนีกลับทุ่งบางกะปิหรือเปล่า พ่อแม่เรียมและพ่อขวัญมีอดิตกันมาก่อนซึ่งทำให้ทั้งสองครอบครัวไม่ถูกกัน แต่บทก็ข้ามประเด็นนี้ไป และคุณหญิงทองคำเปลวมีความทะเยอทะยานหรือเปล่าที่พยายามหมายหมั้นให้เรียมได้แต่งงานกับหนุ่มนักการเมืองไฟแรง

การดำเนินเรื่องเองก็ดูไม่ราบรื่น ขวัญเดี๋ยวซึ้งเดี๋ยวโกรธเลือดร้อน เรียมก็เดี๋ยวรักขวัญ เดี๋ยวลืมบ้านเกิดลืมคนรัก เดี๋ยวเปลี่ยนใจ และที่น่าผิดหวังสุดน่าจะเป็นการใช้ตัวละครเด็กคนหนึ่ง เป็นคนวิ่งไปมาบอกเรื่องราวต่างๆให้กับขวัญกับเรียม และกลายเป็นบุคคลที่ผลักเคลื่อนเหตุการณ์สำคัญเกือบทุกเรื่องในหนัง  แทนที่จะให้การกระทำของตัวละครหลักเองดำเนินเรื่อง

กรุงเทพเมื่อ 80 ปีก่อนแตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ทั้งสภาพแวดล้อมและความคิด การที่จะทำให้คนดูในยุคสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย สนใจเหตุการณ์ในยุคนั้นได้ ต้องใช้มากกว่าโปรดักชั่นดีๆ เพลงประกอบเพราะๆ หรือการนำเดอะสตาร์กว่าสิบคนมารับบทสมทบและร้องเพลงประกอบ ตัวภาพยนตร์เองควรต้องมีการนำเสนอบางแง่มุมที่เข้าถึงคนยุคนี้ได้ เช่น การรักเดียวใจเดียว การเลือกคู่ครองที่มีเงินและความสบายทางกายเป็นหนึ่งในปัจจัย การอยู่อย่างพอเพียงหรือความทะเยอทะยาน

“แผลเก่า” มีความงดงามในสไตล์ของหม่อมน้อย แต่ยังขาดการขัดเกลาเรื่องบท ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง หรือถ้าจะสรุปสั้นๆ “แผลเก่า” เวอร์ชั่นใหม่ ยังใช้การกำกับแบบเก่าๆ แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกใหม่ๆ

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.