สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
์สาวคาราโอเกะ
 

อัญชลี ชัยวรพร / 4 ต.ค. 2556

  เมนูสาวคาราโอเกะ
 
Share |
Print   
       
 

สาวคาราโอเกะ อาจไม่ได้โดดเด่นในการสัมผัสชีวิตผู้หญิงคนจนในสังคมไทย แต่ความพยายามของวิศรา วิจิตรวาทการ ที่ก้าวผ่านจากประสบการณ์ต่างแดนของเธอ มาเรียนรู้ชีวิตเพื่อนมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ถ่ายทอดออกมาด้วยความเรียบง่าย แสดงให้เห็นความเป็นตัวของตัวเองของผู้กำกับที่กำลังเรียนรู้โลกของหนังกับชีวิตจริงโดยไม่เลียนแบบใคร

หนังเล่าเรื่องชีวิตของ “สา” สาวคาราโอเกะ โดยผสมผสานระหว่างชีวิตจริงของเธอในเรื่องบ้านและการทำงาน กับเรื่องแต่งในเรื่องชีวิตรัก โดยใช้กล้องดิจิตัลเล่าเรื่องในส่วนที่เป็นสารคดี และฟิลม์ 16 มม. สำหรับส่วนที่เป็นชีวิต กลายเป็นพลังของหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะความจริงที่ว่าภาพของหนังที่ถ่ายด้วยฟิลม์ทุกวันนี้มันลดน้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย พร้อมกับสิ่งที่เห็นนั้นแสดงให้เห็นพลังของสื่อเก่านี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะการใช้ฟิลม์ 16 มม ที่เห็นนั้น ช่างเหมาะกับเรื่องราวดราม่าในชีวิตสมมุติที่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับผู้หญิงทำงานกลางคืน หรือคนที่เคยดูหนังท่านมุ้ยมาก่อน ชีวิตของสาอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสารคดีหรือเรื่องสมมติ เราเคยเห็นเรื่องราวแบบนี้มานับไม่ถ้วน ว่าไปแล้วชีวิตของสาออกจะดีกว่าเพื่อน ๆ คนอื่นอีกจำนวนมาก ภาพสารคดีที่เห็นก็ไม่ได้บอกที่มาที่ไปของการที่เธอต้องมาเป็นสาวคาราโอเกะอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เผยให้เห็นชีวิตประจำวัน “ส่วนหนึ่ง” ของ “สา” ความสัมพันธ์ของเธอกับคนในชุมชน มากกว่าความผูกพันกับคนที่บ้านหรือเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าหลาย ๆ ตอนของการสัมภาษณ์ อาจจะดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร ตามธรรมชาติของชาวบ้านที่เห็นใครถูกตามถูกสัมภาษณ์ กลายเป็นฮีโร่ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ชีวิตของสาก่อนหน้านั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

หนังเล่าเรื่องชีวิตในอดีตของสาวคาราโอเกะ แต่ดูเหมือนว่าผู้กำกับอาจจะมีปัญหาในการถ่ายทอดชีวิตการทำงานกลางคืนของสา เธอเคยทำงานเป็นสาวคาราโอเกะ แต่ภาพชีวิตตรงนั้นออกมาชัดเจนเพียงครั้งเดียว เราไม่รู้แน่ชัดว่าชีวิตการทำงานของสาวคาราโอเกะเป็นอย่างไร ลึกแค่ไหน ทั้งที่ส่วนภาพชีวิตในฉากร้องเพลงคาราโอเกะตอนนั้นมีพลังอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง สีสัน การแสดงต่าง ๆ

 

 

เจตนารมณ์ของวิศราที่จะไม่ทำให้หนังออกมาดูดราม่ามากนัก น่าจะทำให้หนังขาดพลังที่จะทำให้คนดูสัมผัสชีวิตของสาและสาวคาราโอเกะได้อย่างลึกซึ้ง ทั้ง ๆ ที่หลายตอนแสดงให้เห็นแววของผู้กำกับที่จะถ่ายทอดออกมาได้ดี ผู้เขียนชอบหลาย ๆ ฉากในเรื่องนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นตอนสานั่งรถกลับกรุงเทพหลังจากถูกทิ้งในต่างจังหวัด ฉากในบาร์ ฉากเด็กเล่นน้ำ โดยเฉพาะฉากสาอยู่กับแฟน ซึ่งแสดงให้เห็นความละมุนละไมของผู้กำกับที่เป็นหญิง แต่เต็มไปด้วยพลังของสาวสมัยใหม่ที่เติบโตในโลกตะวันตก ผู้เขียนคิดว่าถ้าผู้กำกับเป็นหญิงที่โตในไทย ภาพจะไม่ออกมามีเสน่ห์และเต็มไปด้วยพลังเช่นนี้

ผู้เขียนคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนดูผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือกมากนักในสังคมไทยได้ดี แต่น่าเสียดายว่าหนังฉายโรงค่อนข้างจำกัด อาจจะไม่ถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้มากนัก แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า วิศราจับหนังเรื่องแรกของตนได้ดีอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนชอบความเป็นตัวของตัวเองของวิศราที่ไม่ได้ไล่ตามรุ่นพี่อย่างอภิชาติพงศ์ กับการเล่าหนังที่ดูรอบเดียวไม่เคยรู้เรื่อง

เป็นหนังที่ควรจะดูเป็นอย่างยิ่งสำหรับคอหนังทั้งหลาย

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.