สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน

 อัญชลี ชัยวรพร / 2 เมษายน 2556
  เมนูคู่กรรม
 
Share |
Print   
 

 



กลายเป็นงานที่ถูกคาดหวังมากที่สุด เพราะชื่อเสียงของซุปเปอร์สตาร์ ณเดชน์ คูกิมิยะเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ที่นำแสดงโดยพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ โดยมีเรื่องการตีความใหม่้แบบหนังรักวัยรุ่นของเรียว กิตติกร เป็นแรงดึงดูดอันต่อไป

และอาจจะกลายเป็นหนังที่ถูกโจมตีมากที่สุด หลังจากการฉายรอบกาล่าเมื่อคืนนี้ แล้วคู่กรรม ฉบับ ณเดชน์ หรือในชื่อเต็ม ๆ ว่า “คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน” มันแย่ขนาดนั้นหรือ

มีความพยายามที่จะทำให้ “คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน" เเป็นหนังดีมีคุณภาพด้วยมุมมองใหม่ ๆ แต่เพราะงานค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเรียวไม่เคยคุมงานขนาดนี้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ก็เลยทำให้สิ่งอันเป็นที่คาดหวังไว้หายไป เขาอาจจะเคยช่วยท่านมุ้ยกำกับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร แต่งานนั้นมีผู้ช่วยหลายคน และมีผู้กำกับใหญ่อย่างท่านมุ้ยมาดูแลอีกที เรียกได้ว่านี่เป็นงานช้างโซโลครั้งแรกจริง ๆ

เรียวต้องการสร้างงานที่ฉีกแนวไปจาก “คู่กรรม” ก่อนหน้านี้ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะการตีความหรือภาพลักษณ์ของตัวละครเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบของฉาก เซ็ตติ้ง องค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าแฟนคลับคู่กรรมคงจะรับมันไม่ได้

เรียวไม่ได้ลุ่มหลงในบทประพันธ์ชิ้นนี้มาก เขาจึงไม่ได้นำเสนอมันออกมาในลักษณะ “บูชายัน” แต่เขา “เล่น” กับมัน ท้าทายทั้งเจ้าของบทประพันธ์ คนดู และตนเอง

เรื่องการตีความใหม่ของเรียวค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะทำให้เป็นหนังรักวัยรุ่น หรือการนำเสนอในมุมมองของโกโบริ ซึ่งเรียวก็ทำได้ค่อนข้างดีในเรื่องนี้ เราจะเห็นโกโบริในหลาย ๆ มุมที่แปลกไปจากเดิม โกโบริไม่ได้คลั่งรักจนแทบทุกคนบอกว่าญี่ปุ่นแบบนี้ไม่ได้มีจริงในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรอก

 

แต่โกโบริที่เราเห็นคือเด็กหนุ่มร่าเริง สนุกสนาน ต้องการเพื่อนเมื่อมายังดินแดนใหม่ ซึ่งเผอิญเพื่อนต่างชาติที่สื่อสารกับเขาได้คนแรกเป็นผู้หญิงที่ชื่ออังศุมาลิน โกโบริในชุดนี้มีความเป็นปุถุชนคนธรรมดามากขึ้น มีความหวั่นไหวเมื่อลูกระเบิดลง โกโบริไม่ได้มีภาพลักษณ์ของนายช่างที่เป็นหัวหน้าคุมอู่ต่อเรือชัดเจน

โกโบริเป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซึ่งณเดชน์ก็แสดงได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งพัฒนาการจากคนขี้เล่นจนกระทั่งมาถึงภาวะของเด็กหนุ่มอินเลิฟ เด็กหนุ่มที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนรัก แต่เพราะความรัก เขาจึงตัดสินใจกลับไป จนเสียชีวิตในที่สุด

ณเดชน์เหมือนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับบทนี้ ทั้งบุคลิกและความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา และพัฒนาการของตัวละคร สำหรับคนที่วางต้นฉบับคู่กรรมไว้บนหัวเตียงอย่างผู้เขียน   พร้อมที่จะหยิบมันขึ้นมาอ่านได้ทุกเมื่อ ผู้เขียนพบว่าแทบจะไม่มีผู้กำกับคนใดกล่าวถึงภาพร่าเริงของโกโบริในตอนแรกมากนัก ยกเว้นก็โกโบริฉบับพี่เบิร์ดภาคละครโทรทัศน์ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของโกโบริที่ต้องจมอยู่แต่ในความทุกข์ในช่วงหลัง

 

ฉากญี่ปุ่นทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงประกอบที่เป็นคนญี่ปุ่น 4 คน การจัดฉากและองค์ประกอบที่ลุคดูเป็นญี่ปุ่นจริง ๆ เปลี่ยนจากภาพแบบหนังเกาหลีที่เราเห็นในทีเซอร์   ในฐานะที่ี่ดูหนังญี่ปุ่นมาประมาณหนึ่ง และเคยใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นพักหนึ่ง ผู้เขียนพบว่า เรียว "เอาอยู่" ในการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่น รวมทั้งการจ้างคนญี่ปุ่นมาช่วยดูแลรายละเอียด แม้กระทั่งอากัปกิริยาของทหารญี่ปุ่น

นับจากคู่กรรมฉบับยุทธนา มุกดาสนิทแล้ว ก็มีเวอร์ชั่นนี้น่ะแหล่ะที่ญีุ่ปุุ่นในเรื่องนี้ดูสมจริงมากที่สุด

แต่จุดเสียหลักเป็นการแสดงของนักแสดงคนไทยในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเบิร์ดที่เล่นเป็นพ่อของอังศุมาลิน หรือน้องริชชี่ที่เล่นเป็นอังศุมาลินเอง แม่อรของอังศุมาลินนั้น ไม่ได้เลวร้ายนัก ผ่านไปได้ไม่น่าเกลียด ส่วนภาพตาผลกับตาบัวในเรื่องนี้จะไม่ตลกโปกฮาเลย แต่เป็นตาผลตาบัวที่เป็นเสรีไทยแฝงตัวในกลุ่มชาวบ้าน

น้องริชชี่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดจะต้องตบแล้วกระทืบซ้ำขนาดนั้น หลาย ๆ ตอนเธอก็เก็บอารมณ์ได้อย่างดีในฐานะของผู้หญิงที่กำลังสับสน พอจะเห็นพัฒนาการจากเด็กสาวสดใส ที่ว่ายน้ำไปแอบดูอู่ต่อเรือ หน้าบึ้งตึงเมื่อโกโบริทัีกขณะนั่งเรือผ่าน หรือฉากที่เบื่อสงครามบนสะพานพุทธ ริชชี่มีพัฒนาการ แต่มันไม่ต่อเนื่องเท่านั้น ก็เลยทำให้หลาย ๆ ตอนหลุดไป

 


จุดที่เสียของน้องริชชี่กลับเป็นเสียง กับการที่เรียวตัดสินใจสร้างภาพให้เธอรำพึงรำพันความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด เพราะเสียงของน้องริชชี่มีปัญหา และทำให้ความต่อเนื่องในการเสนอมุมมองโกโบริของหนังดร็อปลง

ความพยายามที่จะให้ลุคของหนังแตกต่างไปจากคู่กรรมฉบับเดิม ๆ ทำให้การสร้างองค์ประกอบของเรื่องดูฉีกแนวไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของตัวละคร รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างหลุมหลบภัย เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หลายตอนทำได้ผล อย่างฉากโกโบริตาย เราจะไม่ได้เห็นอังศุมาลินกอดโกโบริตายแทบตักเหมือนเวอร์ชั่นเก่า ๆ แต่ภาพใหม่นั้นน่าดูกว่า สะท้อนให้เห็นสัญญลักษณ์ที่มาจากแดนอาทิตย์อุทัยของโกโบริและชื่อฮิเดโกะของนางเอก แต่หลาย ๆ ฉากมันก็ดูแปลก ๆ ไปจริง ๆ ล่ะน่ะค่ะ โดยเฉพาะหลุมหลบภัย

เรียวไม่ได้หลงรักบทประพันธ์ “คู่กรรม” แบบบูชายัน แต่เขาเล่นกับมัน เขาเปลี่ยนรายละเอียดในเรื่องหลายๆอย่าง ซึ่งบางตอนก็เวิร์ค เพราะต้นฉบับของทมยันตีก็มีจุดอ่อนหลายๆ จุดเช่นกัน เหตุผลที่ทำให้โกโบริเมา็ดูมีน้ำหนักในเวลาที่จำกัดนั้นและ่ต้องตัดทิ้งเรื่องราวออกหลายเรื่อง หรือสาเหตุที่ทำให้โกโบริวิ่งไปหาความตายในตอนหลังนั้นเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เพราะมันทำให้เห็นความรักของเขาที่มีต่ออังศุมาลินชัดเจนขึ้น ขณะที่เวอร์ชั่นต้นฉบันนั้น โกโบรินิสัยเด็กเกินไปที่วิ่งไปหาความตายเพียงแค่เห็นเมียไปพบกับคนรักเก่า

หรือฉากที่โกโบริไล่ปล้ำอังศุมาลินบนพื้นนั้น อย่าลืมนะว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเป็นวัฒนธรรมตาตามิ คือนั่งกับพื้น ซึ่งการไล่ปล้ำของโกโบริแบบนั้นมันเหมือนกับที่เราเห็นในหนังญี่ปุ่นหลายเรื่อง เพียงแต่พระเอกนางเอกไม่ได้ใส่กิโมโน แต่ใส่ชุดทหารกับกระโปรงแบบไทย หรือการพลิกฉากนี้ให้แตกต่างจากต้นฉบับหลังจากนั้น ก็เพราะกระแสเฟมินิสต์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ขืนปล่อยให้นางเอกถูกข่มขืน มันดูไม่สวยนัก

เกือบได้ล่ะ แต่มาเสียตอน “ปูไต่” นี่แหล่ะ ….มันเซอร์มาก

มีฉากประทับใจหลายตอน อย่างเช่นฉากโกโบริขี่จักรยานบนสะพานพุทธ ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านทางความรู้สึกของนางเอก จากเกลียดเป็นรัก หรือฉากอังศุมาลินตามหาโกโบริในตอนจบ มันชวนให้นึกถึงนาง Solveig ที่ถือโคมไฟตามหาบุคคลอันเป็นที่รักในสนามรบจริง ๆ

ปัญหาก็คือสิ่งที่ดีเหล่านี้มันไม่ต่อเนื่อง ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือการคุมหนังของเรียวเอง หนังตัดฉับไวไปนิด จนยากจะสร้างอารมณ์ในใจผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง อย่างฉากแห่ขันหมากนั้นแรก ๆ ดูน่ารักตามความสดใสของโกโบริ แต่พอมาเจอหน้านางเอกแล้ว มันดูชวนขำมาก

ดนตรีประกอบน่าจะเป็นองค์ประกอบทางเทคนิคที่แข็งที่สุดในหนังเรื่องนี้ จากแรก ๆ ที่สดใส ก่อนจะเป็นช้า ๆ ตามอารมณ์ของเรื่องและตัวละคร  นอกจากการแสดงของณเดชน์กับองค์ประกอบญี่ปุ่น และมุมภาพในหนังเรื่องนี้

คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ไม่ใช่หนังเลวร้ายซะขนาดนั้น เรียวพยายามตีความใหม่และสร้างความคิดใหม่ ๆ เพียงแต่เพราะเขา “เล่น” กับมันมากไปหน่อย ตามสไตล์หนังของเรียวก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น โกลด์คลับ ดรีมทีม เมื่อนำมาใช้กับ “คู่กรรม” ที่เป็นโปรดักชั่นใหญ่มันยาก มันก็เลยมีปัญหา

จริง ๆ แล้ว ถ้าเรียวกล้าพอ ทำให้มันเป็นหนังเซอเรียลิสต์แบบ “หมานคร” ไปเลย ดิฉันคิดว่ามันจะมันส์กว่านี้น่ะ แต่คนรุ่นเก่าคงรับไม่ได้อย่างแน่นอน

หากเปรียบเทียบกับ “พี่มากพระโขนง” หนังทั้งสองเรื่องนี้เดินทางสวนกัน พี่มากพระโขนง ซึ่งบอกว่าตีความใหม่นั้น แท้ที่จริงแล้ว เอาสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จอย่างธีมความรักหรือการบอกความจริงเรื่องแม่นาคกับพี่มาก ซึ่งเคยเป็นเพียงฉากรอง ๆ มาจัดระเบียบใหม่ ทำให้มีคุณภาพ โดยผสมผสานมุมมองใหม่ของพี่มากในสิบนาทีสุดท้าย

ขณะที่ “คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน” พยายามตีความใหม่ ด้วยโจทย์และลุคใหม่ แต่วิธีการยังไม่ถึง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ เรียวก็จะถูกด่าอย่างมากที่สุดได้เช่นกัน แต่เพราะไม่กล้าทำให้มันเซอเรียลสุดไปเลย เขาก็ถูกตำหนิด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้เขียน ยอมรับในความคิดใหม่แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ คู่กรรมถูกนำมาสร้างไม่รู้กี่ครั้ง การนำมาสร้างใหม่ จะต้องมีโจทย์บางอย่างอยู่ในใจ เราบอกได้ว่าถ้าเราต้องการฉบับเคารพต้นฉบับอย่างแท้จริง ก็ต้องเป็นเวอร์ชั่นละครที่แสดงโดยพี่เบิร์ด – กวาง ถ้าเราต้องการเวอร์ชั่นเรียลิสต์ ก็ต้องเป็นเวอร์ชั่นยุทธนา มุกดาสนิท

แต่ถ้าต้องการเวอร์ชั่นชินจูกุ ก็ต้องเป็น คู่กรรม โกโบริ - อังศุมาลิน ที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีความพยายามที่จะเสนออะไรใหม่ ๆ ในทางสร้างสรรค์กับงานชิ้นนี้

ของใหม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ยังดีกว่าพวกเพลย์เซฟด้วยการเดินตามรอยความสำเร็จของงานเก่า อย่างเวอร์ชั่นละครทีวีล่าสุด ที่พยายามเคารพต้นฉบับเหมือนเวอร์ชั่นพี่เบิร์ด - กวาง แต่ความพยายามยังไม่เท่าเวอร์ชั่นนั้น ไม่ว่าการแคสติ้งตัวละคร ทั้งหลักและรอง หรือแม้แต่การฝึกภาษาเอง น่าจะเป็นเวอร์ชั่นแรกที่อังศุมาลินพูดญี่ปุ่นเก่งกว่าโกโบริ เป็นอะไรไม่ได้เลยไม่ว่าจะในทางคลาสิคหรือโพสต์โมเดิร์น เป็นอะไรแกน ๆ ที่รอการทำใหม่   

อย่างน้อยเรียวก็กล้าที่จะเล่นกับ “คู่กรรม” ฉบับนี้ และมันก็เป็นฉบับโพสต์โมเดิร์นที่สุดล่ะ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.