สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บทวิจารณ์ ปาดังเบซาร์
  สรดิเทพ ศุภจรรยา / 20 กันยายน 2555
  LINK : ข้อมูลหนัง
 
Share |
Print   
 

 

 

หลายครั้ง ความตายเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ตื่นขึ้นมา ได้มาเจอกันหลังจากเหินห่างไปนาน ได้ทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเอง ได้เห็นและเข้าใจสิ่งสำคัญต่างๆในชีวิต

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนำจากภาพยนตร์อินดี้เรื่องล่าสุด “ปาดังเบซาร์” หรือ “I Carried You Home” ภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ ต้องปอง จันทรางกูร ที่ได้รับรางวัล Asian Cinema Fund จากเทศการหนัง ปูซานอินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มเฟสติวัล ปี 2551

“ปาดังเบซาร์” เป็นเรื่องราวของพี่น้องสองคน พี่สาว ปิ่น (จักจั่น - อคัมย์สิริ สุวรรณศุข) และน้องสาว ป่าน (สายป่าน - อภิญญา สกุลเจริญสุข) ที่ทะเลาะกันและแยกกันอยู่ ไม่ได้เจอกันมาหลายปี แต่เมื่อแม่เสียชีวิตกระทันหันที่กรุงเทพ ทั้งสองจึงต้องมาเจอกัน และเริ่มต้นการเดินทางที่น่าอึดอัดใจ เพื่อนำศพแม่กลับไปบ้านเกิดที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา

แต่บทดำเนินด้วยความเงียบและเรียบง่ายเกินไป ตลอดการเดินทางทั้งสองวันไม่เห็นความพยายามจากทั้งสองฝ่ายที่จะคืนดีกัน นอกจากนี้หนังได้ย้อนเหตุการณ์ไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่แม่จะเกิดอุบัติเหตุ แทนที่จะเล่าปูมหลังมากกว่านี้ ทำให้เหตุผลของปิ่น ที่เฉลยตอนท้ายว่าทำไมได้หนีออกจากบ้าน ดูไม่หนักแน่นพอที่จะอธิบายว่าทำไมสองพี่น้องถึงโกรธกันขนาดนี้ ซ้ำยังมีคนขับรถพยาบาล (ต่อพงษ์ กุลอ่อน) มาทำหน้าที่ตัวตลก (ที่ไม่ค่อยตลกเท่าไหร่) มาทำลายอารมณ์ซึมเศร้า อึดอัด เฉื่อยชา เหมาะสมกับหนังอยู่แล้ว

และบางประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะทำให้หนังเรื่องนี้มีพลังมากขึ้น ก็ถูกปล่อยเลยตามเลยไป อย่างเช่น การที่ทั้งปิ่นและป่านไม่ได้อยู่ข้างแม่ในช่วงเวลาสุดท้าย มีผลต่อมุมมองและอคติต่อกันและกันอย่างไร ป่านโกรธไหมที่เห็นปิ่นพยายามคุยกับร่างที่ไร้ชีวิตของแม่ทั้งๆที่ตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่กลับไม่ยอมคุยด้วย ทำไมทั้งคู่ถึงไม่บอกพ่อเรื่องการตายของแม่ การที่บ้านเกิดของพวกเขาตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซียมีความหมายแฝงหรือเปล่า และภาพเงาสะท้อนต่างๆตอนต้นเรื่อง (เช่นเงาของป่านบนเพดาน เงาของปิ่นในประตูลิฟท์ หรือเงารถพยาบาลตามหน้าต่างของตึก) กลับหายไปอย่างน่าเสียดายเมื่อหนังดำเนินเรื่องต่อไป

สายป่าน ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าทำไมเธอจึงถูกทาบทามไปเล่นหนังหลายต่อหลายเรื่อง อารมณ์ ท่าทาง ความโกรธ และการดื้อเงียบของเธอตีบทแตกหมด แต่สำหรับจั๊กจั่น น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถสื่อบทลูกสาวที่ได้สูญเสียแม่และพี่สาวที่ต้องการคืนดีกับน้อง

“ปาดังเบซาร์” ตั้งใจเป็นภาพยนตร์ฟอร์มเล็กที่แฝงปรัชญาชีวิต สะท้อนถึงความสัมพันธุ์แม่-ลูก พี่-น้อง พูดถึงการสูญเสีย การให้อภัย การเริ่มต้นใหม่ แต่โดยรวมยังขาดปูมหลังและน้ำหนักทางด้านอารมณ์ ทำให้บทสรุปดูเบาเกินไป

 

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.