สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ดูไปบ่นไป ม้ง สงครามวีรบุรุษ

  2 กันยายน 2555 / ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง
  LINK : ข้อมูลหนัง
 
Share |
Print   
 

 


ม้ง สงครามวีรบุรุษ ภาพยนตร์แนวอิงประวัติศาสตร์-สงคราม กำกับโดย เสรี พงศ์นิธิและเจมมี่ ว่างลี ได้ใช้เหตุการณ์จริงสมัยสงครามระหว่างรัฐบาลไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท. ช่วง พ.ศ. 2511-2525 มาเป็นฉากของภาพยนตร์ เนื้อหนังเล่าเรื่องของ เก๊ง (อัครัฐ นิมิตชัย) เด็กชายไทยเผ่าม้ง ที่ได้รับการเลี้ยงดูจาก ผู้พันเกรียงไกร (สรพงษ์ ชาตรี) ซึ่งช่วยชีวิตเขาไว้จากกองเพลิงตอนทหารบุกปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านเผ่าม้ง และ 15 ปีต่อมา เก๊ กลายเป็นนายทหารของกองทัพไทยที่มีความสามารถสูง เขาถูกส่งตัวไปรบที่เขาค้อเพื่อดึงมวลชนเผ่าม้งให้กลับมาเข้าร่วมกับรัฐบาลไทย แต่ด้วยสายเลือดม้งในตัว ทางกองทัพไม่อาจนิ่งนอนใจเกรงว่าเก๊งอาจจะเปลี่ยนฝ่ายและกลายมาสร้างปัญหาแก่กองทัพในภายหลัง กองทัพจึงส่ง ชาติ (พีระพันธ์ อารียาพันธ์) ลูกชายของผู้พันเกรียงไกรที่เก๊งนับถือเป็นพี่ชายไปตามดูความเคลื่อนไหว

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีปัญหาอย่างหนัก เริ่มจากความอ่อนปวกปียกของบทภาพยนตร์ หลายอย่างดูไร้ทิศทาง หนังดำเนินเรื่องด้วยความบังเอิญตลอดเวลาอย่าง เจ้อดัว (ณัฐพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์) พ่อชาวไทยเผ่าม้งของเก๊งถูกยิงแต่ไม่ตาย ซึ่งโชคชะตานำพาเก๊งได้กลับมาเจอพ่อตัวจริงอีกครั้งในฐานะฝ่ายปรปักษ์ หลังจากนั้นเก๊งยังเจอกับ ป้า (บุญยรัตน์ แซ่หยาง) พี่สาวแท้ๆ ที่พัดพรากหลายสิบปี ขนาดที่เจ้อดัวผู้พ่อยังไม่สามารถหาพบหรือไม่ได้ตามหาเลย และตอนช่วงท้ายเจ้อดัวสวมวิญญาณ บรูช วิลลิส กลายเป็นคนอึด แม้ถูกยิงอีกครั้งบริเวณหน้าอกข้างซ้าย แต่ก็ลากสังขารไปได้จนจบเรื่องไม่ยอมตาย จนเก๊งต้องเป็นฝ่ายขอตายเองก่อนพร้อมกับความในใจสั่งลา “สิ่งที่เสียใจคือพูดภาษาม้งไม่ได้ ความต้องการสุดท้ายก่อนตายคืออยากฟังเพลงชาติไทย” (ถ้าเป็นผู้เขียนคงอยากพูดว่า ทำไม..อ้ะ..ไม่ตามหมอมาให้ผมบ้าง ฮา) หรือจะเป็นเรื่องของ อารียา ลูกสาวบุญธรรมของผู้พันเกรียงไกรที่ผ่านไป 15 ปี เธอได้กลับเข้าป่าเพื่อตามหาศพของพ่อที่หายไปพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ตก และเหมือนฟ้าเห็นใจบันดาลให้เธอได้พบโครงกระดูกของพ่อเธอ เป็นต้น การวางคาแรคเตอร์ตัวละครขาดความแข็งแรง ยกตัวอย่างบทของ อารียา (อัฐมา ชีวนิชพันธ์) ซึ่งดูลอยไปลอยมา ไม่มีความสำคัญแทบจะตัดออกไปจากหนังได้เลยด้วยซ้ำ

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นงานยากและท้าทายของคนทำหนังอิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวที่ผ่านไปไม่นาน ซึ่งยังพอมีข้อมูลร่องรอยหลงเหลืออยู่มาก คือการทำการบ้านอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้อหา การลำดับเหตุการณ์ในยุคสมัย สถานที่ การแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบฉากและอื่นๆ เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ ตรงความเป็นจริงมากที่สุดและป้องกันให้เกิดการบิดเบือนน้อยที่สุด แม้บางครั้งอาจมีมุมมอง ทัศนคติของผู้สร้างไปบ้างก็ตาม

 


ฉากหน้าภาพของหนังดูเชิดชูทหารกล้าไทย แต่ในรายละเอียดตัวหนัง ดูราวกับว่าทหารไทยกลายเป็นผู้กระหายในสงคราม ผู้สร้างอาจจะไม่ได้ตั้งใจสื่อความหมายเช่นนี้ แต่ด้วยเรื่องที่ออกมาทำให้ผู้เขียนมองไปทางดังกล่าว เพราะการสู้รบทุกครั้งในหนังล้วนเกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและทหารไทยทั้งสิ้น ผกค.แค่นั่งคุยกันเป็นกลุ่มเกินกว่า 5 คนเท่านั้นเอง (ทหารไทยใจร้ายจัง) ทั้งๆ ที่เรื่องจริงแล้วผกค.เคลื่อนไหวโจมตีฐานปฏิบัติการของทางราชการหลายครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผกค.เขาค้อ เขต ข.33 กองร้อย 515 จนมวลชนเกรงกลัวอิทธิพลประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าป่าเพื่อร่วมกับผกค.และได้จัดตั้งสำนักอำนาจรัฐประชาชนขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้รัฐบาลและทหารต้องออกมาเคลื่อนไหวปราบปรามอย่างหนัก นับเป็นงานยากของเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องแยกระหว่างชาวบ้านกับผู้ร้าย การทำงานของรัฐบาลจึงเพลี่ยงพล้ำอยู่หลายครั้งและกลายเป็นอีกช่องทางที่ผกค.นำมาใช้เป็นกลยุทธหามวลชนแนวร่วม

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก” ช่วงปลายปีพ.ศ. 2511 สหายพิชัยผู้โด่งดังได้นำกองกำลังโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านบาดเจ็บเสียชีวิตหลายนาย รวมทั้งอีกหลายๆ เหตุการณ์สำคัญก็มิได้ถูกพูดถึง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะนำมาใส่อ้างอิงไว้บ้าง เช่น ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1 และ 2 ซึ่งทหารไทยบุกทำลายฐานที่มั่นของผกค.ได้สำเร็จ ทำให้ผกค.ล้มตายจำนวนมาก, ยุทธการหักไพรีเป็นการปราบอิทธิพลของผกค.ที่ยังหลงเหลือในพื้นที่ และยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ที่ถือว่าทหารไทยสามารถเข้ายึดพื้นที่ได้แทบเบ็ดเสร็จ และมีมวลชนขอมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) เป็นจำนวนมาก เป็นต้น ส่วนตัวผมยังแอบผิดหวังนิดๆ เพราะดูจากชื่อหนังแล้ว คิดว่าจะได้มารู้จักกับชนชาติม้งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่านี้ด้วย แต่ผู้สร้างเลือกที่จะเปิดเรื่องด้วยปมปัญหาความขัดแย้งแทนการปูเรื่องราว

ในเรื่องการคัดเลือกนักแสดงหลายๆ คาแรคเตอร์ทำได้ดีและเหมาะสม แต่การแสดงของนักแสดงนำแต่ละคนถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ไม่สามารถดึงอารมณ์ร่วมในการชมได้มากนัก ผมอดตลกไม่ได้กับการปรากฏตัวของตัวละคร ชาติ ที่โผล่ออกมาในฉากค่ายผกค.เหมือนกับเป็นแรมโบ้ ครั้งแรกยังพอทน แต่พอครั้งที่สอง (ตัวจี๊ดมันมาอีกแล้ว) รวมทั้งการคลานกระดึบกระดึบมาดูใจน้องชายเป็นครั้งสุดท้าย (ฮา) ปัญหาของการแสดงส่วนหนึ่งเกิดมาจากบทพูดของภาพยนตร์ที่ต้องกลับไปพัฒนาอย่างเร่งด่วน และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กัน เพราะมันทำให้คุณภาพหนังดูด้อยลงคือความทุ่มเทของนักแสดง อย่างนักแสดงนำที่รับบทนายทหารแต่ไม่สามารถตัดผมให้เรียบร้อยสมเป็นนายทหารแห่งกองทัพไทยได้ ดูแล้วรู้สึกหดหู่ใจ จากบทที่อ่อนและการแสดงที่ไม่ได้ชวนติดตาม ทำให้ความเชื่อของภาพยนตร์และตัวละครหมดไปอย่างสิ้นเชิง

ฉากสงครามขาดความตื่นเต้น ดูแล้วไม่สนุก จังหวะของสตันต์และสลิงล้วนดูผิดพลาด เราจะเห็นสตันต์แมนกลิ้งหรือกระโดดก่อนระเบิดอยู่หลายครั้งหลายครา และจุดเล็กๆ ที่สำคัญและผู้สร้างไม่ควรมองข้ามไปคือการถืออาวุธ ถ้าหากตัวละครนักรบเผ่าม้งหรือผกค.จะถือปืนไล่ยิงเหมือนเด็กเล่นคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากตัวละครเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารการจับปืนจะจับแบบเด็กเล่นไม่ได้ ควรระวังตรงจุดนี้ด้วย ด้านเอฟเฟคไม่ว่าจะเป็นคนถูกยิงหรือการยิงถูกวัตถุก็ดูออกมาไปสมเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ โดยเฉพาะฝนที่ทิศทางของน้ำในแต่ละมุมทำออกมาผิดธรรมชาติอย่างเห็นเด่นชัด จากหลายๆ อย่างผมรู้สึกเสียดายกับเฮลิคอปเตอร์ที่นำมาบินว่อนในภาพยนตร์ ปืนใหญ่ที่เข็นเอาออกมายิงให้ดู ระเบิดหลายสิบลูกและกระสุนอีกหลายร้อยนัดอย่างมาก

องค์ประกอบด้านภาพแม้จะไม่ได้สร้างปัญหากับภาพยนตร์ แต่ภาพในหลายฉากที่สำคัญๆ ก็ไม่ได้สื่อความหมายใดๆ ด้วยเช่นกัน จึงขาดจุดให้ผู้ชมจดจำ ส่วนต่อไปนี้ไม่อยากเอ่ยถึง แต่ก็อดไม่ได้จริงๆ คือคอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจี) ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร ให้สามคำ “ทำ-ทำ-ไม” เพราะถ้าไม่มีก็ไม่ได้ทำให้หนังเสียหายเลยแม้แต่น้อย แต่พอมีแล้วกลับทำให้หนังดูแย่ลง และยิ่งฉากปั้นอย่างซีจีลูกกระสุนออกจากปลายกระบอกปืนนั้น น่าแปลกที่กระสุนปืนสั้นหัวรูออกมาจากกระบอกปืนยาวเอ็ม16

ผมมาอุ่นใจได้เล็กน้อย ซึ่งยังพอเห็นถึงมาตรฐานของภาพยนตร์ไทยยุคพ.ศ. 2555 ที่ควรจะเป็นอยู่บ้างคือเรื่องของเสียง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบงานเสียงต่างๆ และดนตรีประกอบช่วยส่งเสริมหนังได้ดี การถ่ายภาพที่ลื่นไหลดูมีมิติ รวมกับเทคนิคสีของภาพที่ออกมาอย่างลงตัว

สิ่งที่ถือเป็นข้อดีของหนังกลับไม่ใช่ตัวหนัง แต่เป็นความกล้าหาญของทีมงานผู้สร้างที่พยายามจะบอกว่า เมื่อไรที่คนไทยมีแต่ความขัดแย้งขาดความสามัคคี ความสูญเสียจะก่อเกิดขึ้น รักและให้อภัยกันเถิด

 


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.