สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
แม่โขงโฮเต็ล - บันทึกหนังไทยตรงรอยต่อ
  11 กรกฏาคม 2555 โดย อัญชลี ชัยวรพร
  LINK : ข้อมูลหนัง
 
Share |
Print   
 

 

คุณคิดว่าหลังจากความสำเร็จของ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” กับรางวัลปาล์มทองคำ อภิชาติพงศ์จะทำหนังแบบไหนสำหรับผลงานเรื่องต่อไป และแม้ว่าข่าวภาพยนตร์เรื่อง “แม่โขงโฮเต็ล” จะแพร่หลายออกมากระเส็นกระสายอยู่บ้างก็ตาม ไม่ว่าการแสดงที่จะมีทิลด้า สวินดัน ….แต่เมื่อหนังได้รับการคัดเลือกเข้าฉายพิเศษที่คานส์ ก็เป็นอะไรที่ไม่มีใครคาดคิดเช่นกัน

“แม่โขงโฮเต็ล” เป็นเสมือนหนังรอยต่อของอภิชาติพงศ์ ก่อนที่ผลงานเรื่องใหม่ฉบับเต็มรูปแบบจะออกมา อาจจะเป็นโปรเจ็คใหม่ที่ใหญ่กว่า หรือเป็นหนังเรื่องที่ฉีกแนวไปจากเดิม แต่แม้ว่าจะเป็นหนังรอยต่อ แม่โขงโฮเต็ล ก็แสดงให้เห็นพัฒนาทางความคิดของอภิชาติพงศ์ ทั้งในเนื้อหา และรูปแบบการทดลองใหม่ ๆ เช่นเดียวกับรากเดิมที่เป็นสไตล์ส่วนตัวของเขาก็ยังมีอยู่

แม่โขงโฮเต็ล มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับหนังสั้น Worldly Desires ผลงานที่เขาทำให้กับเทศกาลหนังจองจูเมื่อเจ็ดปีก่อน ตรงที่เป็นหนังซ้อนหนัง แตกต่างกันในรายละเอียดหลายอย่าง หนังเริ่มเรื่องที่อภิชาติพงศ์และทีมงานของเขาพูดคุยและหยอกล้อเรื่องราวต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นดาราเจ้าประจำอย่างศักดา แก้วบัวดี หรือป้าเจนจิรา เพียงแต่ว่าหนนี้ตัวอภิชาติพงศ์ ก็ร่วมแสดงในหนังของตนเองด้วย พร้อมด้วยดาราหน้าใหม่ ๆ อย่างนักดนตรีชัย พัฒนา ชาติชาย สุบรรณ และหลานป้าเจน ขณะเดียวกันก็มีฉากในหนังเข้ามาแทรก เป็นเรื่องราวของผีปอบแม่-ลูก กับความทนทุกข์ที่อยู่ในโลกมืดของตน พร้อมกับการไล่ล่าเหยื่อ ทั้งคนและสัตว์ ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องราวความรักหนุ่มสาว ทั้งในและนอกจอ

 


 

อภิชาติพงศ์ยังคงรักษาแบบฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาอยู่ เขาอาจจะเป็นผู้กำกับอิมเพรสชั่นนิสต์เชิงทดลองที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้ ใน “ลุงบุญมีระลึกชาติ” เราจะเห็นความประทับใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เขาเติบโตมาตั้งแต่เด็ก ถ่ายทอดออกมาไม่ว่าจะเป็นผีลิง นิทานพื้นบ้านเจ้าหญิงกับปลา หรือแม้แต่ละครน้ำเน่า ซึ่งเขาก็เก็บมาแสดงออกอีกครั้งในรูปแบบของนิทานเรื่องผีปอบใน แม่โขงโฮเต็ล เพียงแต่ว่าสิ่งที่เคยเป็นแบบฉบับเดิมได้ขยายและพัฒนาให้กว้างขึ้นในมิติต่าง ๆ ตำนานพื้นบ้านอาจจะไม่ได้มีให้เห็นมากมายอย่างใน ลุงบุญมีระลึกชาติ แต่มันก็ทดแทนด้วยสิ่งอื่น ๆ

ความประทับใจของอภิชาติพงศ์ที่มีต่อการทำหนังของเขากับทีมงาน หนนี้ได้ขยายรวมไปถึงความประทับใจและประสบการณ์ของทีมงานเขา ไม่ใช่แต่ของอภิชาติพงศ์เท่านั้น เราถึงได้เห็นการล้อเลียนของศักดากับทีมงานในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเสื้อของผู้กำกับเจ้ยมาใส่ รวมไปถึงประสบการณ์ในวัยเด็กของป้าเจนกับเรื่องราวของผู้อพยพลาวในค่ายผู้อพยพในไทย ยังไม่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างป้าเจนและหลานสาว

หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้น แม่โขงโฮเต็ลเป็นงานอิมเพรสชั่นนิสต์มิติทับซ้อน เป็นการสร้างความประทับใจของอภิชาติพงศ์กับทีมงานและเรื่องราวของพวกเขา ...ซึ่งเขาก็สามารถเล่ามันออกมาได้อย่างดี

ผู้เขียนชอบมากที่สุดก็ตอนศักดาหยิบเสื้อของอภิชาติพงศ์มาใส่ แล้วล้อว่ามีแต่โจ โจ และอีกตอนก็ตอนที่ป้าเจนเล่าเรื่องผู้อพยพลาวในค่ายผู้อพยพให้หลานฟัง ดิฉันคิดว่ามันเรียบง่าย แต่แฝงด้วยมิติหลายชั้น ทั้งความผูกพันที่อภิชาติพงศ์มีต่อทีมงานของเขา และของทีมงานที่มีต่อเขา รวมทั้งประสบการณ์ของพวกเขาในเรื่องราวต่าง ๆ

ใน “แม่โขงโฮเต็ล” เราได้เห็นความคิดทางการเมืองของอภิชาติพงศ์ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งพูดถึงตรงนี้ หลายคนคงจะคิดว่าเขาเป็นผู้ฝักใฝ่อิงสี และน่าจะฉายในไทยไม่ได้ แต่ “แม่โขงโฮเต็ล” ได้สะท้อนให้เห็นทัศนคติของอภิชาติพงศ์ที่ชัดเจนขึ้น เขาได้วิพากษ์เรื่องราวประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ หรือความพยายามที่จะปกป้องเมืองหลวงจากการป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันกับการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งถ้าคุณได้ดูเองแล้ว จะบอกคุณเองว่าเขาอิงสี หรือเขาเพียงแค่ต้องการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นปัญหาในบ้านเรา ซึ่งไม่ได้รวมเฉพาะเรื่องราวในบ้านเราเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเมืองข้ามประเทศอย่างเรื่องพระแก้วมรกตเป็นของใครกันแน่ รวมทั้งความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้วคือน้ำตาของพระแก้วมรกตที่ต้องการกลับบ้านที่แท้จริง

อภิชาติพงศ์ใช้ดนตรีมากขึ้นกว่าเดิมมาก เสียงกีตาร์ดังประกอบตลอดทั้งเรื่อง จนฝรั่งหลายคนบอกว่า เสียงกีตาร์มากไปหน่อย ในตอนแรกนั้น หูของผู้เขียนมันเฟือนไปคิดว่า จังหวะเสียงกีตาร์นั้นมันคล้ายกับดนตรีที่เคยประพันธ์ไว้โดยใครคนหนึ่ง อภิชาติพงศ์ต้องการตั้งคำถามกับคน ๆ นั้นหรือเปล่า แต่คิดไปคิดมา อาจจะไม่ใช่ ยิ่งเมื่อฟังเสียงกีตาร์ที่พริ้วไหว ผู้เขียนคิดว่าอภิชาติพงศ์อาจจะต้องการเพียงให้เสียงกีตาร์เป็นเสมือนตัวแทนของสายน้ำ เช่นเดียวกับน้ำในแม่น้ำโขง

ใน “แม่โขงโฮเต็ล” อภิชาติพงศ์ได้ทดลองใช้ภาพ extreme long shot และ long take ยิ่งนานกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็นภาพที่แทบจะอยู่กันคนละฝั่งตึก แทบบางตอน เขาได้นำมันมาผสมกัน ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกฉงนฉงายและตั้งคำถามกับประเด็นต่าง ๆ ที่เขาได้จุดประกายไว้แทบตลอดเรื่อง

..”แม่โขงโฮเต็ล” เปรียบเสมือนการบันทึกตรงรอยต่อ เช่นเดียวกับสายน้ำในแม่น้ำโขงที่กั้นอาณาเขตสองประเทศ ….เราคงต้องรอดูต่อไปว่า เขาจะเลือกเดินอยู่พรมแดนในผลงานต่อไป เพียงแต่ว่ารอยต่อครั้งนี้ มันได้เห็นการปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่างในตัวเขา


   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.