
ตอนที่ได้ยินว่า หม่อมน้อย มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล นำผลงาน ชั่วฟ้าดินสลาย มากำกับใหม่ บอกตรง ๆ ว่าทั้งดีใจและหวาดหวั่น ดีใจเพราะบทประพันธ์ชิ้นเอกจะได้กลับมาโลดแล่นทางภาพยนตร์อีกครั้ง โดยผู้กำกับที่มีฝีมืออย่างหม่อมน้อย แต่ที่หวาดหวั่นเพราะหม่อมน้อยทิ้งงานกำกับภาพยนตร์ไปนานมาก แถมผลงานชิ้นหลัง ๆ เมื่อ 12 ปีก่อนนั้น มีลักษณะเหมือนละครเวทีมากกว่าหนัง
ความหวาดหวั่นนั้นหายไปหลังจากที่ได้ไปดู ชั่วฟ้าดินสลาย มา หนังยังคงเป็นงานชั้นดีอย่างไม่ลำบากนัก เป็นงานคุณภาพของหม่อมน้อยที่แซงผลงานของเขาก่อนหน้านั้น โปรดักชั่นดี โดยเฉพาะงานทางด้านศิลปะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉาก เสื้อผ้า และการแต่งหน้า ดนตรีไพเราะ การแสดงสอบผ่านไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความเป็นครูการแสดงชั้นนำของประเทศ
ชั่วฟ้าดินสลาย น่าจะเป็นผลงานกอบโกยรางวัลหนังไทยที่จะมีขึ้นต้นปีหน้าได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก และอาจจะจัดขึ้นชั้นหนังคลาสิคของไทยได้เช่นกัน เพียงแต่ว่ามีบางจุดในหนังที่ดิฉันเห็นว่าอาจจะสกัดกั้นความเป็นคลาสิคตรงนั้น
จุดที่น่าชมที่สุดของหนังเรื่องนี้ คือ บท ดิฉันไม่เคยอ่านบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อน ความทรงจำของดิฉันที่มีต่อ ชั่วฟ้าดินสลาย เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ชมหนังด้วยตนเอง เป็นเวอร์ชั่นวิฑูรย์ กรุณา และธิติมา สังขพิทักษ์ มีสมจินต์ ธรรมทัตเป็นพะโป้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำในรายละเอียดก็เลือนหายไป เท่า ๆ กับที่ความทรงจำในบทประพันธ์ของ The Prophet ซึ่งหม่อมน้อยได้ดัดแปลงให้เข้ากันนั้น ก็หายไปอีกเช่นกัน เพราะอ่านตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนภาษาและวรรณกรรม
ชั่วฟ้าดินสลาย เวอร์ชั่นล่าสุดมีการตีความหมายและที่มาของตัวละครมากที่สุด ทั้งตัวส่างหม่องที่เป็นหนุ่มน้อยพรหมจรรย์ ที่มาตกหลุมกลกามแห่งความรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น หรือตัวยุพดี หญิงล้ำยุคที่ต้องการอิสรภาพในชีวิต แต่เกิดมาผิดยุคผิดสมัย และเพราะความรักในอิสรภาพนี้แหล่ะที่ทำให้เธอตกลงปลงใจแต่งงานกับพะโป้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้พะโป้ต้องลงโทษคนทั้งสองจนเกิดโศกนาฎกรรมในตอนจบเช่นนี้ เพราะรักมาก ก็แค้นมาก
ตัวละครมันมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน พะโป้ถูกวางตัวไว้ราวกับกษัตริย์ที่ใช้อำนาจทำลายคนที่เขารักอย่างไม่เกรงกลัว และไร้ความปรานี ดิฉันชอบจุดที่แสดงให้เห็นถึงความสุขุมของพะโป้ที่เยือกเย็น รอดูหายนะของส่างหม่องและยุพดีจากการลงทัณฑ์ของเขา มันแสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจที่ลุ่มลึกของคนสูงวัย ยิ่งเมื่อตอนที่เขาล่ามโซ่คนทั้งสองไว้และเดินหนีไป ขณะที่หนุ่มสาวกลับหัวเราะคิกคัก เห็นการกระทำของพะโป้เป็นเรื่องไร้้สาระ แต่กลับเริงร่าในอิสรภาพ หนุ่มสาวคะนอง อยากเป็นขบถ อยากต่อต้าน เก่งจริง ๆ งั้นปล่อยไป ไปอยู่ด้วยกันไป
ท้ายที่สุด ไม่รอด
ตัวละครนำทั้งสามทำงานตามหน้าที่ของตนได้ในระดับหนึ่ง มาพูดถึงบทบาทของส่างหม่องก่อน ช่วงแรก ๆ เขาทำให้เราเชื่อว่าเป็นเด็กดี บ้างาน รักอา ไร้เดียงสา ดูอนันดาแล้ว ชวนให้นึกถึงสมัยที่ยังเล่นเรื่อง อันดากับฟ้าใส ดูบริสุทธิ์ ยิ่งตอนที่เขาหัวเราะเยอะการล่ามโซ่พวกเขาของพะโป้ เขาดูเหมือนเด็กที่เห็นคนแก่ไร้สาระ แต่ยิ่งเมื่อหนังพัฒนาขึ้น ตัวละครส่างหม่องยิ่งตกหลุมพรางแห่งความมืดมนมากขึ้น ซึ่งอนันดาก็แสดงได้ไม่เลวนัก แต่อนันดายังเล่นบทคนบ้า ซึ่งเป็นบทยากที่สุดไม่ได้
เขาเป็นเพียงแค่คนธรรมดา ๆ ที่ไม่หวีผม และเพี้ยน ๆ
แววตามันยังไม่ใช่
ส่วนพลอยในบทยุพดีนั้น ในส่วนของการยั่วยวนทางวาจากับส่างหม่องนั้น เธอทำได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแต่งหน้าที่ช่วยเสริมแคแรกเตอร์ของเธอ รวมทั้งตอนที่เธอถูกสามีฝรั่งข่มขืนในคืนแรก ก็ทำให้เราเชื่อในความไร้เดียงสา แต่พลอยก็ยังดูเหมือนพลอยที่เราเห็นในจอทีวี พลอยยังคงมีความเป็นดาราสูง โดยเฉพาะในงานเลี้ยงที่เธอพบกับพะโป้เป็นครั้งแรกนั้น พลอยไม่สามารถทำให้เรารู้สึกว่าเธอเป็นเลขาฝรั่งที่เหมือนเป็นแม่งาน (จนตอนนี้ชักไม่แน่ใจในหน้าที่ของเธอในงานเลี้ยงคืนนั้น) ทั้งกล้อง ทั้งอะไรต่อมิอะไร มันอดรู้สึกไม่ได้ว่า ยุพดีเป็นแขกที่มีเกียรติในงานมากกว่า คือ นอกจากเรื่องของการปะทะทางอารมณ์สวาท พลอยยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกได้ว่าเธอเป็นหญิงมีความรู้ ชอบอ่านงานวรรณกรรม เป็นหญิงล้ำหน้าแห่งยุคที่เกิดผิดสมัย

ถ้าพูดถึงการแสดงแล้ว ดิฉันกลับเห็นว่า ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ทำหน้าที่ตนเองในบทของทิพย์ ผู้ช่วยมือขวาของพะโป้ ได้ดีที่สุด ทิพย์เป็นคนซื่อสัตย์ที่ลุ่มลึก แต่ก็ไม่ได้รักนายจนตาบอด เขามีทั้งความรักในตัวนาย เป็นคนจงรักภักดีที่ไม่ได้โง่ดักดาน แต่ก็รับรู้ความเลวร้ายของนาย เขารู้ว่าอะไรควรจะพูด เป็นคนที่เห็นใจนายมากที่สุด หลั่งน้ำตาเมื่อนายเป็นทุกข์ ให้กำลังใจในการต่อสู้กับมโนธรรมของนาย รวมทั้งความกล้าหาญที่ไปขอชีวิตของส่างหม่องกับนายในตอนหลัง ศักราชทำหน้าที่เล็ก ๆ เหล่านี้ได้ดีที่สุด ลุ่มลึก ใจเย็น อ่อนไหว และพร้อมที่จะแข็งกร้าวได้เช่นกัน
ถ้าจะติในเรื่องบท ดิฉันเห็นว่าการเพิ่มบทของตัวเล่าเรื่องของนิพนธ์ในตอนต้นนั้นไม่จำเป็นเท่าไรนัก ทำให้หนังดูยาวเกินเหตุ ถ้าหนังใช้กล้องหรือดนตรีในการเปิดเรื่องไปที่คุ้มไม้แห่งนี้อาจจะดีกว่า อาจจะเหมาะกว่ากับการคุมโทนภาพของเรื่องนี้ ซึ่งดูคลุมเครือ ไม่ชัดเจน
แรก ๆ ที่มีโอกาสได้ดูภาพนิ่งของหนังเรื่องนี้ เห็นว่าภาพสวยอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมาเป็นหนังแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าการคุมโทนภาพมันไม่รื่นไหล หลายตอนดูคม แสงสีจัดจ้าน หลาย ๆ ตอนก็ดูเรียบ ๆ แต่หลาย ๆ ตอนก็ดูมัว ๆ เหมือนใช้ซอฟท์เลนสมากเกินไป ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้ใช้ฟิลม์หรือกล้องเอชดีถ่าย ภาพถึงได้ออกมาแบบนั้น หรือถ้าหนังต้องการจะสื่อความใสบริสุทธิ์ในต้นเรื่อง ก่อนที่จะลงท้ายด้วยด้านมืดของเรื่องของตัวละคร มันก็ไม่ชัดเจน และความไม่ต่อเนื่องของโทนภาพนี้ กลายเป็นจุดอ่อนไปอย่างน่าเสียดาย
เหมือนกับการตัดต่อตอนที่ยุพดีคร่ำครวญเล่าชีวิตในอดีตของตนนั้น มันเหมือนกับโดดขึ้นมา ไม่ได้เข้ากับบริบทของหนังก่อนหน้านั้น รวมทั้งฉากการแสดงของเมียผู้ว่าที่ดูเหมือนจำอวด ก็ลดความยิ่งใหญ่ของหนังไปอยู่ไม่น้อย
ดิฉันชอบเพลงและดนตรีประกอบจากฝีมือของจำรัส เศวตาภรณ์ในเรื่องนี้มาก เขารู้จักที่จะคุมโทน คุมจังหวะ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป รู้ว่าจะเพิ่มโทนเข้าไปเมื่อไร จะเฟดเอาท์เมื่อไร เพราะความเข้มข้นเช่นนี้ ทำให้ดิฉันลืมข้อสงสัยว่า ทำนองดนตรีเพลงไทยสากลอย่างชั่วฟ้าดินสลายนั้น มันยังไม่เกิดจนกระทั่งปี พศ.2476 (จากข้อเขียนของกาญจนาคพันธุ์ เพลงกล้วยไม้เป็นเพลงไทยสากลเพลงแรก) มันมีแต่เพลงไทยเดิม อย่าง ลาวดวงเดือน เท่านั้น
แม้จะมีรายละเอียดที่ทำให้ความยิ่งใหญ่ของหนังลดน้อยลง แต่ ชั่วฟ้าดินสลาย ในเวอร์ชั่นล่าสุดนั้น ยังคงเป็นหนังชั้นดีของไทย ดิฉันเชื่อว่าหนังน่าจะได้รับการเสนอชิงรางวัลมากมายในปีหน้านี้ |