สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ชั่วฟ้าดินสลาย อีกนิดเดียวจะขึ้นชั้นคลาสิค

 

อัญชลี ชัยวรพร / 21 กันยายน

  LINK : เมนูชั่วฟ้าดินสลาย  
 
Share |
Print 
     
 

 

ตอนที่ได้ยินว่า หม่อมน้อย มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล นำผลงาน “ชั่วฟ้าดินสลาย” มากำกับใหม่  บอกตรง ๆ ว่าทั้งดีใจและหวาดหวั่น  ดีใจเพราะบทประพันธ์ชิ้นเอกจะได้กลับมาโลดแล่นทางภาพยนตร์อีกครั้ง  โดยผู้กำกับที่มีฝีมืออย่างหม่อมน้อย แต่ที่หวาดหวั่นเพราะหม่อมน้อยทิ้งงานกำกับภาพยนตร์ไปนานมาก  แถมผลงานชิ้นหลัง ๆ เมื่อ 12 ปีก่อนนั้น  มีลักษณะเหมือนละครเวทีมากกว่าหนัง

ความหวาดหวั่นนั้นหายไปหลังจากที่ได้ไปดู “ชั่วฟ้าดินสลาย” มา หนังยังคงเป็นงานชั้นดีอย่างไม่ลำบากนัก  เป็นงานคุณภาพของหม่อมน้อยที่แซงผลงานของเขาก่อนหน้านั้น  โปรดักชั่นดี  โดยเฉพาะงานทางด้านศิลปะทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉาก  เสื้อผ้า และการแต่งหน้า  ดนตรีไพเราะ  การแสดงสอบผ่านไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย  ด้วยความเป็นครูการแสดงชั้นนำของประเทศ    

ชั่วฟ้าดินสลาย น่าจะเป็นผลงานกอบโกยรางวัลหนังไทยที่จะมีขึ้นต้นปีหน้าได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก  และอาจจะจัดขึ้นชั้นหนังคลาสิคของไทยได้เช่นกัน  เพียงแต่ว่ามีบางจุดในหนังที่ดิฉันเห็นว่าอาจจะสกัดกั้นความเป็นคลาสิคตรงนั้น  

จุดที่น่าชมที่สุดของหนังเรื่องนี้ คือ บท  ดิฉันไม่เคยอ่านบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อน  ความทรงจำของดิฉันที่มีต่อ “ชั่วฟ้าดินสลาย” เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ชมหนังด้วยตนเอง  เป็นเวอร์ชั่นวิฑูรย์ กรุณา และธิติมา สังขพิทักษ์  มีสมจินต์ ธรรมทัตเป็นพะโป้  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ความทรงจำในรายละเอียดก็เลือนหายไป  เท่า ๆ กับที่ความทรงจำในบทประพันธ์ของ The Prophet ซึ่งหม่อมน้อยได้ดัดแปลงให้เข้ากันนั้น  ก็หายไปอีกเช่นกัน  เพราะอ่านตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนภาษาและวรรณกรรม

ชั่วฟ้าดินสลาย เวอร์ชั่นล่าสุดมีการตีความหมายและที่มาของตัวละครมากที่สุด  ทั้งตัวส่างหม่องที่เป็นหนุ่มน้อยพรหมจรรย์   ที่มาตกหลุมกลกามแห่งความรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น  หรือตัวยุพดี หญิงล้ำยุคที่ต้องการอิสรภาพในชีวิต  แต่เกิดมาผิดยุคผิดสมัย  และเพราะความรักในอิสรภาพนี้แหล่ะที่ทำให้เธอตกลงปลงใจแต่งงานกับพะโป้อย่างรวดเร็ว   รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้พะโป้ต้องลงโทษคนทั้งสองจนเกิดโศกนาฎกรรมในตอนจบเช่นนี้  เพราะรักมาก  ก็แค้นมาก

ตัวละครมันมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน พะโป้ถูกวางตัวไว้ราวกับกษัตริย์ที่ใช้อำนาจทำลายคนที่เขารักอย่างไม่เกรงกลัว และไร้ความปรานี ดิฉันชอบจุดที่แสดงให้เห็นถึงความสุขุมของพะโป้ที่เยือกเย็น  รอดูหายนะของส่างหม่องและยุพดีจากการลงทัณฑ์ของเขา  มันแสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจที่ลุ่มลึกของคนสูงวัย  ยิ่งเมื่อตอนที่เขาล่ามโซ่คนทั้งสองไว้และเดินหนีไป  ขณะที่หนุ่มสาวกลับหัวเราะคิกคัก  เห็นการกระทำของพะโป้เป็นเรื่องไร้้สาระ  แต่กลับเริงร่าในอิสรภาพ  หนุ่มสาวคะนอง  อยากเป็นขบถ  อยากต่อต้าน  เก่งจริง ๆ  งั้นปล่อยไป  ไปอยู่ด้วยกันไป  …ท้ายที่สุด ไม่รอด 

ตัวละครนำทั้งสามทำงานตามหน้าที่ของตนได้ในระดับหนึ่ง  มาพูดถึงบทบาทของส่างหม่องก่อน  ช่วงแรก ๆ เขาทำให้เราเชื่อว่าเป็นเด็กดี  บ้างาน  รักอา  ไร้เดียงสา  ดูอนันดาแล้ว  ชวนให้นึกถึงสมัยที่ยังเล่นเรื่อง “อันดากับฟ้าใส”  ดูบริสุทธิ์  ยิ่งตอนที่เขาหัวเราะเยอะการล่ามโซ่พวกเขาของพะโป้  เขาดูเหมือนเด็กที่เห็นคนแก่ไร้สาระ  แต่ยิ่งเมื่อหนังพัฒนาขึ้น ตัวละครส่างหม่องยิ่งตกหลุมพรางแห่งความมืดมนมากขึ้น  ซึ่งอนันดาก็แสดงได้ไม่เลวนัก  แต่อนันดายังเล่นบทคนบ้า ซึ่งเป็นบทยากที่สุดไม่ได้  …เขาเป็นเพียงแค่คนธรรมดา ๆ ที่ไม่หวีผม และเพี้ยน ๆ  …แววตามันยังไม่ใช่

ส่วนพลอยในบทยุพดีนั้น  ในส่วนของการยั่วยวนทางวาจากับส่างหม่องนั้น  เธอทำได้ดีอยู่แล้ว  โดยเฉพาะการแต่งหน้าที่ช่วยเสริมแคแรกเตอร์ของเธอ  รวมทั้งตอนที่เธอถูกสามีฝรั่งข่มขืนในคืนแรก  ก็ทำให้เราเชื่อในความไร้เดียงสา  แต่พลอยก็ยังดูเหมือนพลอยที่เราเห็นในจอทีวี  พลอยยังคงมีความเป็นดาราสูง  โดยเฉพาะในงานเลี้ยงที่เธอพบกับพะโป้เป็นครั้งแรกนั้น  พลอยไม่สามารถทำให้เรารู้สึกว่าเธอเป็นเลขาฝรั่งที่เหมือนเป็นแม่งาน (จนตอนนี้ชักไม่แน่ใจในหน้าที่ของเธอในงานเลี้ยงคืนนั้น)  ทั้งกล้อง  ทั้งอะไรต่อมิอะไร  มันอดรู้สึกไม่ได้ว่า ยุพดีเป็นแขกที่มีเกียรติในงานมากกว่า  คือ นอกจากเรื่องของการปะทะทางอารมณ์สวาท พลอยยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกได้ว่าเธอเป็นหญิงมีความรู้  ชอบอ่านงานวรรณกรรม  เป็นหญิงล้ำหน้าแห่งยุคที่เกิดผิดสมัย

 

 

ถ้าพูดถึงการแสดงแล้ว ดิฉันกลับเห็นว่า ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ทำหน้าที่ตนเองในบทของทิพย์ ผู้ช่วยมือขวาของพะโป้  ได้ดีที่สุด  ทิพย์เป็นคนซื่อสัตย์ที่ลุ่มลึก  แต่ก็ไม่ได้รักนายจนตาบอด  เขามีทั้งความรักในตัวนาย  เป็นคนจงรักภักดีที่ไม่ได้โง่ดักดาน  แต่ก็รับรู้ความเลวร้ายของนาย เขารู้ว่าอะไรควรจะพูด  เป็นคนที่เห็นใจนายมากที่สุด  หลั่งน้ำตาเมื่อนายเป็นทุกข์  ให้กำลังใจในการต่อสู้กับมโนธรรมของนาย  รวมทั้งความกล้าหาญที่ไปขอชีวิตของส่างหม่องกับนายในตอนหลัง  ศักราชทำหน้าที่เล็ก ๆ เหล่านี้ได้ดีที่สุด  ลุ่มลึก  ใจเย็น  อ่อนไหว และพร้อมที่จะแข็งกร้าวได้เช่นกัน

ถ้าจะติในเรื่องบท  ดิฉันเห็นว่าการเพิ่มบทของตัวเล่าเรื่องของนิพนธ์ในตอนต้นนั้นไม่จำเป็นเท่าไรนัก  ทำให้หนังดูยาวเกินเหตุ  ถ้าหนังใช้กล้องหรือดนตรีในการเปิดเรื่องไปที่คุ้มไม้แห่งนี้อาจจะดีกว่า  อาจจะเหมาะกว่ากับการคุมโทนภาพของเรื่องนี้  ซึ่งดูคลุมเครือ  ไม่ชัดเจน 

แรก ๆ ที่มีโอกาสได้ดูภาพนิ่งของหนังเรื่องนี้  เห็นว่าภาพสวยอยู่ไม่น้อย  แต่เมื่อมาเป็นหนังแล้ว  ดิฉันรู้สึกว่าการคุมโทนภาพมันไม่รื่นไหล  หลายตอนดูคม  แสงสีจัดจ้าน  หลาย ๆ ตอนก็ดูเรียบ ๆ  แต่หลาย ๆ ตอนก็ดูมัว ๆ เหมือนใช้ซอฟท์เลนสมากเกินไป    ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้ใช้ฟิลม์หรือกล้องเอชดีถ่าย ภาพถึงได้ออกมาแบบนั้น  หรือถ้าหนังต้องการจะสื่อความใสบริสุทธิ์ในต้นเรื่อง  ก่อนที่จะลงท้ายด้วยด้านมืดของเรื่องของตัวละคร  มันก็ไม่ชัดเจน  และความไม่ต่อเนื่องของโทนภาพนี้  กลายเป็นจุดอ่อนไปอย่างน่าเสียดาย

เหมือนกับการตัดต่อตอนที่ยุพดีคร่ำครวญเล่าชีวิตในอดีตของตนนั้น  มันเหมือนกับโดดขึ้นมา  ไม่ได้เข้ากับบริบทของหนังก่อนหน้านั้น  รวมทั้งฉากการแสดงของเมียผู้ว่าที่ดูเหมือนจำอวด  ก็ลดความยิ่งใหญ่ของหนังไปอยู่ไม่น้อย

ดิฉันชอบเพลงและดนตรีประกอบจากฝีมือของจำรัส เศวตาภรณ์ในเรื่องนี้มาก  เขารู้จักที่จะคุมโทน  คุมจังหวะ  ไม่ให้มากเกินไป  ไม่ให้น้อยเกินไป  รู้ว่าจะเพิ่มโทนเข้าไปเมื่อไร  จะเฟดเอาท์เมื่อไร  เพราะความเข้มข้นเช่นนี้  ทำให้ดิฉันลืมข้อสงสัยว่า ทำนองดนตรีเพลงไทยสากลอย่างชั่วฟ้าดินสลายนั้น  มันยังไม่เกิดจนกระทั่งปี พศ.2476 (จากข้อเขียนของกาญจนาคพันธุ์ เพลงกล้วยไม้เป็นเพลงไทยสากลเพลงแรก)  มันมีแต่เพลงไทยเดิม อย่าง ลาวดวงเดือน เท่านั้น 

แม้จะมีรายละเอียดที่ทำให้ความยิ่งใหญ่ของหนังลดน้อยลง  แต่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ในเวอร์ชั่นล่าสุดนั้น ยังคงเป็นหนังชั้นดีของไทย  ดิฉันเชื่อว่าหนังน่าจะได้รับการเสนอชิงรางวัลมากมายในปีหน้านี้ 

   
ดูไปบ่นไป ชั่วฟ้าดินสลาย
  ณ๊อบ ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง / 15 กันยายน 2553
 

 

 

จากบทประพันธ์เรื่องเยี่ยมของ มาลัย ชูพินิจ ซึ่งเล่าเรื่องของ พะโป้ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีชาวพม่า เจ้าของกิจการป่าไม้ผู้ใหญ่โต ได้แต่งงานกับสาวม่ายรุ่นลูกผู้มีแนวคิดสมัยใหม่อย่าง ยุพดี (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ในเมืองกรุง และได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่ปางไม้เขาท่ากระดาน บ้านของพะโป้ ทำให้ยุพดีได้พบกับส่างหม่อง (อนันดา เอเวอริงแฮม) หนุ่มพม่าผู้เพรียบพร้อมซึ่งเป็นหลายชายสุดที่รักของพะโป้นั่นเอง และด้วยความสนิทชิดใกล้กันของยุพดีและส่างหม่อง ตัณหาราคะของหนุ่มสาวทำให้ทั้งคู่เกิดความรักที่มากเกินกว่าอาหลาน และลักลอบเป็น ชู้ กัน

เมื่อพะโป้ได้ล่วงรู้ความจริงอันแสนอัปยศ เขารู้สึกเจ็บปวดและโกรธแค้นอย่างหาที่สุดมิได้ แต่เขาก็จำใจยกยุพดี เมียสุดที่รัก ให้แก่ ส่างหม่อง หลานชายสุดที่รัก พร้อมด้วยของขวัญชิ้นสำคัญคือ โซ่ตรวน เพื่อพันธนาการทั้งคู่ให้ได้ครองรักกันชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งนำมาสู่โศกนาฏกรรม และความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

บางคนอาจมองภาพหนังภาพแรกแล้วรู้สึกน่าเบื่อ ซึ่งเหมือนกันกับความคิดแรกของผมเช่นกัน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนใจเหมือนกับผมเมื่อได้ชมภาพยนตร์จนจบแล้ว เพราะภาพยนตร์ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าติดตาม สนุกและน่าสนใจ แม้ใครจะเคยอ่านบทประพันธ์มาแล้ว หรือเคยชมภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นก่อนๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถคาดเดาทิศทางของหนังได้ คุณจะรู้แค่เพียงตอนเริ่มเรื่องและจุดจบของเรื่องเท่านั้น แต่ระหว่างทางของเรื่องและการจบของเรื่องคุณจะต้องมาติดตามในภาพยนตร์เวอร์ชั่นของ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุลนี้ ด้วยการถ่ายทอดมุมมองใหม่ของผู้กำกับ ที่ทำให้ภาพยนตร์ดูเข้ากับยุคสมัย มีสีสัน ไม่น่าเบื่อ แต่ยังคงความคลาสสิค และความสมบูรณ์แบบไว้อย่างไม่มีข้อสงสัย

การควบคุมโทนสีของภาพยนตร์ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะสีในแต่ละฉากสามารถดึงอารมณ์ของคนดูร่วมไปกับเรื่องได้อย่างดี เรายังจะได้ยินได้ฟังคำพูดเพราะๆ ซึ่งเป็นภาษาในบทประพันธ์ที่สวยงาม และได้ดัดแปลงมาใช้ในภาพยนตร์อย่างลงตัว ผนวกกับฉาก สถานที่ งานสร้างต่างๆ ผมเชื่อว่าหลายคนจะไม่ผิดหวังกับกระบวนการผลิตของงานชิ้นนี้

ในเรื่องการคัดเลือกนักแสดงให้มารับบทเป็นตัวละครนำต่างๆ ทั้ง พะโป้ ยุพดี ส่างหม่อง ลุงทิพย์ (ศักราช ฤกษ์ธำรง) สามารถคัดมาได้อย่างเหมาะสม รวมกับฝีมือการแสดงของนักแสดงทุกท่านแล้ว ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น

บทภาพยนตร์ การกำกับภาพ (ธีวัฒน์ รุจินธรรม) องค์ประกอบศิลป์ (สิรนัท รัชชุศานติ) การลำดับภาพ (สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกะวานิชย์) เครื่องแต่งกาย (อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ, นพดล เดโช, ทศฤทธิ์ สามิภักดิ์) ฯลฯ เป็นความพิถีพิถันในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ของทีมงานทุกฝ่าย ผมแทบมองไม่เห็นความผิดพลาดอะไรเลยในตัวเนื้องาน หรือบางทีอาจจะมี แต่ก็สามารถมองข้ามไปอย่างไม่รู้ตัว นับว่าเป็นการรวมตัวของทีมงานที่เหมาะสมและลงตัว

นานมาแล้วครับ ที่ผมไม่ได้เห็นหนังไทยคุณภาพเยี่ยมอย่าง โหมโรง (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, 2547) วันนี้ผมได้มาพบอีกหนึ่งเรื่องที่ขอร่วมภูมิใจเสนอ ชั่วฟ้าดินสลาย ภาพยนตร์โดย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล จากบทประพันธ์ของ มาลัย ชูพินิจ   

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.