สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

ไทย / English
หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
หนีตามกาลิเลโอ จากมุมมองของอดีตผู้แพ้
  อัญชลี ชัยวรพร
 

 


ก่อนอื่นดิฉันขอบอกก่อนสักนิดว่า สิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้  เป็นมุมมองส่วนตัวล้วน ๆ  มุมมองของคนที่เคยเลือกเมืองนอกเพื่อจะหนีจากเมืองไทย  และเพราะเงินที่มีอยู่จำกัด  ก็เลยต้องใช้ชีวิตเป็นพวกแบกเป้ไปโดยปริยาย  เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้อาจจะไม่เหมือนใคร  และคงจะเป็นที่ถูกด่าอย่างแน่นอน

หนีตามกาลิเลโอ เป็นหนังที่ดิฉันตั้งตารอคอยและคาดหวังมากที่สุด  เพราะฉะนั้นแม้เมื่อน้องณ็อบจะรีบเขียนวิจารณ์มาให้  แต่ดิฉันก็รีบไปดูหนังตั้งแต่วันแรก  พอดูแล้ว  ก็ต้องรีบเขียนทันทีเหมือนกัน

“ในหนังไทยละครไทยหลายเรื่อง  มักจะใช้สนามบินในฉากจบที่แฮ็ปปี้เอ็นดิ้งเสมอ  แต่ในชีวิตจริงของคนหลาย ๆ คน  สนามบิน คือ การเริ่มต้น ”

ดิฉันเปิดสมุดบันทึกที่เคยเขียนไว้ในวันนั้นขึ้นมาดูอีกครั้ง วันที่ตัดสินใจหนีออกจากเมืองไทย

"ฉันกอดเนา …เพื่อนสนิทคนเดียวที่แอบฝืนคำสั่งไปส่ง เป็นครั้งสุดท้าย ปล่อยเธอออก  เดินมุ่งไปยังประตูผู้โดยสารขาออก  อย่างแน่วแน่   ศรีษะก้มต่ำ  ไม่หันไปมองเนา   …เพียงเพื่อที่จะไม่ให้ใครเห็น หยดน้ำตาหยดหนึ่งกำลังกระทบกับปลายเท้า

เราต่างมีประสบการณ์ที่จะหนีไปตายเอาดาบหน้าเหมือนกัน  ประกอบกับเรื่องย่อที่ได้อ่านมาก่อนหน้านั้น  ทำให้ดิฉันคาดหวังว่า หนีตามกาลิเลโอ จะเสนอภาพของคนที่มีแผล  แล้วพยายามจะ “ก้าวผ่าน” วันเวลาแห่งความเจ็บปวดนั้น  โดยใช้สนามต่างแดนเป็นที่รักษาเยียวยา  ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการลงโทษตนเองเสียมากกว่า 

และถ้าหนังไปเน้นธีมตรงนั้นแล้ว  หนังจะออกมาเป็นอีกแบบ  เราเท่านั้นเองคือผู้ที่แบกเมืองไทยไปกับเราอยู่ตลอดเวลา  เราไม่เคยลืม  เพียงแต่เราเปลี่ยนสถานที่และเวลาที่จะคิดถึงมัน  จนกว่า ถึงวันที่เราจะค้นพบจุดสว่างในชีวิต เผชิญหน้ากับมันด้วยตัวของเราเอง

ในช่วงที่หนีจากเมืองไทยนั้น ดิฉันเคยดูหนัง Happy Together ของหว่องกาไวในความรู้สึกที่เปลี่ยนไป เคยเสียน้ำตาอย่างหนักเมื่อเหลียงเฉาเหว่ยบอกว่า เขาเลือกทำงานกะกลางคืนในโรงแล่เนื้อ   เพียงเพราะว่ามันเป็นเวลาเดียวกับฮ่องกง  และถ้ามองไปทางที่ตั้งของฮ่องกง ซึ่งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ฮ่องกงในขณะนั้นกำลังตีลังกา สวนทางกับอาร์เจนติน่า

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาคนนี้กลับนึกถึงบ้านตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฉากจบ ...เขาเลือกที่จะโทรศัพท์กลับหาพ่อ  เขายิ้ม และตัดสินใจกลับบ้าน

นั่นแหล่ะคือความรู้สึกของคนเหงา  ที่คิดถึงบ้านอย่างหนัก  คนที่อยู่ไกลบ้านจะเหมือนกันหมด  …คิดถึงบ้านเป็นเรื่องสามัญประจำวัน  บางครั้งใช้วิธีทำงานหนักให้ลืม  บางคนใช้วิธีกินเหล้าเมายา  ขณะที่บางคนก็ใช้วิธีแปลก ๆ ที่อาจจะไม่รู้จักตนเอง  ดิฉันพบว่า หลายเมืองที่ดิฉันไปอยู่  ฉันมักจะเช่าบ้านที่อยู่ใกล้สนามบิน หรือสถานีรถไฟเสมอ  ที่เซาท์แฮมตัน ฉันต้องขี่จักรยานไปสนามบินเล็ก ๆ ทุกอาทิตย์ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เพียงเพื่อที่จะไปดูเครื่องบิน  เพราะมันเป็นสัญญลักษณ์อย่างเดียวที่เชื่อมต่อเรากับที่บ้าน ที่กัวลาลัมเปอร์ ฉันมักจะเดินไปสถานีรถไฟเสมอ เพียงเพื่อจะเห็นคำว่า "หาดใหญ่"

แล้ว หนีตามกาลิเลโอ นำเสนออะไร 

หนังดูจะเน้นความทุกข์ยากและความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนของสาวในต่างแดน  บวกกับความรักใหม่ของตัวละครเสียมากกว่า 

เพราะหนังเน้นถึงซับพล็อต 3 อย่าง  ทำให้การเก็บรายละเอียดบางอย่างหายไป 


 

ความทุกข์ยากของภาพไทยในต่างแดนดูเหมือนจะชัดเจนมากที่สุดในฉากที่อังกฤษ  ซึ่งหนังก็ได้เก็บรายละเอียดตรงนี้ได้เกือบหมด  ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “โฮมลง” (หมายถึง Home Office ซึ่งเป็นกองควบคุมคนต่างด้าวที่อังกฤษ)  ความพยายามที่จะต้องหนีการถูกจับอยู่ทุกฝีก้าว  การเอาเปรียบของเจ้าของร้านอาหารไทยในต่างแดน  ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะบางคนก็เป็นเพียงอดีตเมียเช่าฝรั่งที่ได้ดี ก็เลยอาจจะกดขี่คนไทยด้วยกัน หรือแม้แต่การทำงานในร้านอาหารไทยที่รวมไปถึงขัดส้วม 

พอมาถึงปารีส  หนังเปลี่ยนไปเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและความรักใหม่แทน    โดยมีสถานที่เป็นเพียงตัวเสริมที่จะดำเนินเรื่องเท่านั้น  ซับพล็อตตรงนี้มันก็ไม่ได้แตกต่างกันถ้าจะมาเกิดที่กรุงเทพหรือเมืองไทย

เช่นเดียวกับเวนิซ  ที่ยังคงเน้นประเด็นความยากจนและมิตรภาพเป็นตัวดำเนินหลัก 

ปัญหาของ หนีตามกาลิเลโอ ก็คือ บทมีรายละเอียดดี ๆ บางอย่างมากเกินไป  แล้วคนเขียนรู้สึกเสียดาย  แค่เอ่ยถึง  ไม่ได้นำมาเน้น  มาขยาย  ทำให้ความรู้สึกที่เราจะเกิดขึ้นตรงนั้น  มันไม่เต็มที่

ตั้งแต่ความรู้สึกจากพ่อของเชอรี่ที่ไม่พูด  ไม่ยิ้ม  เหมือนไม่รู้สึกอะไร  แตกต่างจากพ่อของนุ่นที่สั่งห้ามไว้อย่างชัดเจน  แต่จริง ๆ แล้ว พ่อไม่อยากให้เชอรี่ไปเลย 

ตัวละครอย่างพี่ (ลืมชื่อค่ะ) ซึ่งทำงานในครัวที่ร้านไทย  ที่บันทึกวันเวลาที่อยู่ในอังกฤษเป็นวัน แทนที่จะเป็นปี มันแสดงความคิดถึงบ้าน เขามาอยู่ที่นั่นนานเกินไป 

ตัวละครอย่างตั้ม (เร) ที่เลือกใช้ชีวิตแบบแปลก ๆ ในปารีส

ชีวิตที่ต้องระมัดระวังในการเดินทางแบบพวกแบกเป้  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในโฮสเต็ล  ซึ่งดิฉันว่าค่อนข้างจะผิวเผิน  จริง ๆ แล้ว เรื่องขโมยนั้นก็มีจริงอยู่  แต่โฮสเต็ลก็ไม่ได้มีแง่ลบที่เต็มไปด้วยพวกกุ๊ยเพียงอย่างเดียว  โฮสเต็ลก็มีนักเดินทางที่จะมาช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เราอีก

จริง ๆ แล้ว ดิฉันอยากบอกว่า ในดินแดนที่เราไม่รู้จักใครนั้น  นักท่องเที่ยวด้วยกันนี้แหล่ะที่เราจะเชื่อใจได้มากที่สุด  เวลาจะถ่ายรูปทีไร  ดิฉันจะหาคนที่เป็นทัวริสต์ด้วยกันนั้นแหล่ะถ่ายรูปให้

ความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวละคร 2 คนแทบไม่เห็นเลย  ถ้าไม่เพราะเชอรี่พูดเอง  หรือการที่เชอรี่บันทึกเวลาในการถ่ายวิดีโอที่เวนิซเป็นเวลาไทย

ความรู้สึกเปรียบเทียบเรื่องงานของเชอรี่  เมื่อเจอเพื่อนที่ปารีส  จนทำให้ต้องโทรศัพท์หาพ่อเป็นครั้งแรก

เรื่องดี ๆ เหล่านี้ถูกบดบังไว้หมดเพราะธีมเรื่องมิตรภาพและความยากลำบากแทน  ซึ่งเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่จะเข้าถึงคนดูกลุ่มเป้าหมายของหนังได้ง่าย 

ถ้ามาพิจารณาถึงโจทย์ของหนังที่ทางผู้กำกับต้องการเน้นนั้น  หนังมันก็ทำได้ภายใต้กรอบอย่างนั้น  เพียงแต่ว่าหนังยาวไป  การปูพื้นฐานของตัวละครในกรุงเทพมันไม่จำเป็นบางอย่าง  โดยเฉพาะเรื่องตั้ม  แฟนของนุ่นในกรุงเทพ 


 

คือ วิธีการดำเนินเรื่องมันเหมือนแค่แตะ ๆ ไว้  แล้วก็ผ่านไป  ดิฉันไม่รู้ว่า คนที่ประสบการณ์ต่างแดนโชกโชนคนอื่นจะร้องไห้หรือไม่  แต่คนดูที่ชอบเรื่องมิตรภาพ  คงรู้สึกกับหนังอย่างเต็มที่

ส่วนที่ดิฉันชอบในหนังเรื่องนี้  กลับเป็นเรื่องการถ่ายภาพ  และผู้จัดองค์ประกอบศิลป์เสียมากกว่า  ภายใต้ข้อจำกัดทั้งสถานที่และเวลา  มุมกล้องในหนังเรื่องนี้มีจุดน่าสนใจหลายอย่าง

เช่นเดียวกับ ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่ค่อยมีหนังไทยดี ๆ ในปีนี้  หนีตามกาลิเลโอ คงจะขึ้นชั้นหนังดีประจำปีเรื่องหนึ่ง  เพียงแต่ว่า ถ้ามองในระดับโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้แล้ว  มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สรุป ดิฉันแก่เกินไปสำหรับหนังเรื่องนี้  : )     

 
ดูไปบ่นไป หนีตามกาลิเลโอ
  ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง
   
 

สะบายดีลอนดอน สะบายดีปารีส สะบายดีปิซ่า


 

เรื่องราวชีวิตของเด็กสาวช่วงรอยต่อระหว่างวัยเรียนกับวัยทำงานสองคนที่กำลังประสบปัญหาเข้ามาในชีวิต คนหนึ่ง เชอรี่ (ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ) นักศึกษาเรียนดีชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งถูกลงโทษปรับตกในรายวิชา ด้วยความผิดที่เจ้าตัวเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย นั่นคือการปลอมลายมืออาจารย์เพื่อขอขออนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ  จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้เชอรี่ต้องเรียนจบช้ากว่าเพื่อนๆ คนอื่น และโอกาสที่เธอจะได้เริ่มต้นในอาชีพที่เธอรักและทำงานหาเงินให้พ่อภูมิใจ ก็ต้องถูกเลื่อนไปอีกปีโดยปริยาย อีกคนหนึ่ง นุ่น (เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ) หญิงสาวอ่อนหวาน น่ารัก ร่าเริง แสนงอน ก่อนหน้านี้เธอได้รักรักเลิกเลิกกับ ตั้ม แฟนหนุ่มมาแล้วหลายครั้ง แต่กับครั้งนี้ทุกอย่างแตกต่างออกไป เมื่อตั้มตัดสินใจหยุดง้อ และปล่อยให้ชีวิตรักวัยหนุ่มสาวจบไปตามแรงดึงดูดของโลก

สองสาวทั้งคู่ตัดสินใจจูงมือกันบินลัดฟ้าสู่ทวีปยุโรป เมื่อสถานที่แปลกตา วันเวลาเปลี่ยนไป ชีวิตของทั้งคู่จึงเจอแต่เรื่องที่ไม่คาดคิดต่างๆ นานา มิตรภาพที่ยาวนานของทั้งคู่บวกกับคำสัญญาที่เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไม่ทิ้งกินก็เกือบจะเป็นแค่ความทรงจำลางๆ ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
การเดินทางครั้งนี้ นุ่นไม่คาดคิดว่า เธอจะหนีตั้มมาเพื่อจะเจออีก ตั้ม (เรย์ แมคโดนัลด์) หนึ่ง เช่นเดียวกับ เชอรี่ ซึ่งเธอก็คาดไม่ถึงว่า แม้เธอจะพยายามพาตัวเองให้หลุดพ้นจากกฎต่างๆ ทั้งหลายของโลกอย่างไร เธอและใครๆ ต่างต้องอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกัน อย่างน้อยที่สุดก็คือ กฎแห่งกรรม

หนีตาม กาลิเลโอ ผลงานของ GTH ที่มีผู้กำกับนักคิดนักเขียนอย่าง นิธิวัฒน์ ธราธร (SeasonsChange เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, แฟนฉัน) มารับหน้าที่หัวหน้ามัคคุเทศก์แต่งแต้มสร้างเรื่องราว ณ ต่างแดน ภาพยนตร์เปิดด้วยภาพสองสาวเพื่อนสนิท นุ่นกับเชอร์รี่ที่รู้สึกเบื่อกับชีวิตเดิมๆ ของตัวเอง และไม่อยากอยู่เมืองไทยจึงตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิต ณ ต่างประเทศด้วยกัน ด้วยความฝันมุ่งสู่สถานที่ยอดนิยมทั้งหลายอย่าง บิ๊กเบน สโตนเฮนจ์ หอไอเฟล หอเอนปิซ่า และอื่นๆ ทั้งสองวางแผนที่จะทำงานตามร้านอาหารไทยเพื่อหาเงินปะทังชีวิตและท่องเที่ยว โดยมีกฎข้อแรกระหว่างทั้งคู่เกิดขึ้นว่าจะต้องไม่ทิ้งกัน นุ่นได้มีคำถามกับเชอร์รี่ระหว่างอยู่บนหอคอยสูง ซึ่งระยะเพียงอีกหนึ่งก้าวเท่านั้นทั้งคู่ก็พร้อมจะตกลงสู่ด้านล่าง “กลัวไหม?” นอกจากที่นุ่นจะถามเพื่อนถึงความรู้สึกในการกระโดดสูงด้วยกันแล้ว

เมื่อลองขบคิดดูมันยังมีนัยยะที่ตัวละครนุ่นก็ยังไม่แน่ใจกับความคิดทันทีทันใดของเพื่อนสาว แต่อีกใจเธอก็แอบมีความคิดว่ามันน่าจะลองดูนะในเวลาเดียวกัน เมื่อนุ่นสื่อความหมายบางอย่างให้เชอร์รี่รับรู้ถึงแผนการครั้งนี้ว่าจะไปรอดหรือไม่ เชอร์รี่ก็ให้คำตอบกับนุ่นอย่างมั่นใจว่า “กลัวสิ” ทำให้นุ่นเกือบจะรู้สึกไม่มั่นใจกับการเดินทางครั้งนี้ แต่ก่อนที่นุ่นจะรู้สึกเช่นนั้นและอาจถอดใจ เชอร์รี่ก็รีบพูดออกมาก่อนเพื่อสื่อว่า ถ้าเรากลัว เราก็ต้องเอาชนะความกลัวให้ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลัว จากนั้นทั้งคู่จึงกระโดดลงจากหอคอยสูงมาด้วยกัน เสมือนเป็นการปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระ ขจัดความกลัวในใจ และย้ำถึงกฎของนิวตันที่ว่าด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก

 

 

ผู้กำกับเข้าใจเล่นติดตลกเพราะนำกฎแรงดึงดูดของโลก (Law of Gravitation) เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงของโลกของเซอร์ ไอแซก นิวตัน ที่ว่าด้วยแรงดึงดูดที่มวลของโลกกระทำกับมวลของวัตถุ เพื่อดึงดูดวัตถุนั้นเข้าสู่จุดศูนย์กลางของโลก มาขึ้นต้นเรื่อง และยังนำมาใช้หลายครั้งหลายคราว จนทำให้รู้สึกว่าเรื่องน่าจะใช้ชื่อเกี่ยวกับ ‘นิวตัน’ มากกว่า แต่ถ้าดูเรื่องราวไปเรื่อยๆ จนเมื่อทั้งคู่ได้ตัดสินใจหนีจากชีวิตเดิมๆ และออกไปเจอกับกฎของกาลิเลโอบ้างที่ต่างแดนที่ว่า วัตถุสองชิ้นที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วยมวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้ว่าจะมีน้ำหนักไม่เท่ากันก็ตาม จึงทำให้ผู้เขียนถึงบางอ้อ นี่แหละคงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง หนีตามกาลิเลโอ

สิ่งแรกเราจะพบทันทีว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้ภาษาทั่วไปที่เข้าใจง่าย ไม่ได้ลึกซึ้งหรือสวยงามมากนัก แต่ก็มีมุมมองให้คิดอย่างมากมาย ตอนหนึ่งที่มีประเด็นให้น่าคิดอย่างมาก เมื่อตั้มพูดคุยกับเชอร์รี่ในงานแสดงผลงานครั้งแรกของเธอในยุโรปก็ว่าได้ ตั้มพยายามบอกกับเธอให้กลับไปเรียนต่อให้จบเพราะเสียดายในผลงาน แม้หลายคนอาจพูดว่าปริญญาบัตรอาจจะเป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ดีปริญญาบัตรก็จะเป็นใบเบิกทางที่ดีของชีวิต ผู้เขียนจึงอยากฝากไว้ ถึงแม้ใครก็ตามอาจจะคิดว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลวไม่ทันสมัย แต่ระบบที่ล้มเหลวนั้นก็ได้สร้างทรัพยากรบุคคลของชาติให้เป็นคนดีและคนเก่งมาแล้วมากมาย และได้การยอมรับในระดับโลก ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อยากให้คนท้อแท้หรือคนขี้ขลาดต้องละทิ้ง กลับเข้าในเรื่องถึงตั้มจะเตือนสติเชอร์รี่เช่นไร แต่เธอก็ยังดื้อดึงไม่สนใจเพราะเธอกลับคิดว่าเธอไม่ใช่ฝ่ายที่ทำผิดจากเหตุการณ์ปลอมลายมืออาจารย์ ตั้มจึงบอกถึงสิ่งที่เธอทำผ่านมาให้รับรู้ว่ามันผิด อย่างไรก็ดีเชอร์รี่ยังพยายามอ้างถึงการใช้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ตั้มก็ยังคงยืนยันว่าผิดคือผิด แม้เขาจะเห็นใจถึงบทลงโทษที่เชอร์รี่ได้รับว่าอาจจะรุนแรงไปหน่อย แต่สุดท้ายเธอก็ผิด เหมือนกับอาจารย์ที่พูดกับเชอร์รี่แต่แรกเรื่องแล้วว่า “ผิดก็คือผิด เข้าใจไหม?” ตรงนี้เองมันทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงบ้านเมืองปัจจุบันของเรา ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นบางคนมองว่ามีความไม่ยุติธรรมทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้เขียนจึงขออนุญาตฝากคำถามในสังคมก่อนว่า แล้วสังคมประชาธิปไตยที่ผ่านๆ มา มีความยุติธรรมแล้วหรือ? บางเรื่องหลายกลุ่มหลายคณะมองว่าลงโทษตัดสินรุนแรงเกินไป หรือบางเรื่องหลายฝักหลายฝ่ายมองว่าแจ้งข้อกล่าวหารุนแรงเกินจริง แต่ถ้าเราตั้งสติ ใช้เหตุและผลมองย้อนกลับไปดูง่ายๆ ถึงสิ่งที่ทำว่ามันผิดหรือถูก บ้านเมืองของเราก็จะน่าหาทางออกได้ดีกว่านี้ ไม่ต้องรอให้จริยธรรมสังคมเสื่อมถอย ไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจย่ำแย่ เพียงแค่ใช้บรรทัดฐานที่สำคัญเดียวกันคือผิดคือผิดหรือถูกคือถูก แต่ที่น่าใจหายคือคนเราสมัยนี้ไม่มีสติ เอาแต่พรรคเอาแต่พวกจนทำอะไรแล้วไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ทำให้บ้านเมืองถึงมีสภาพเหมือนคนป่วยแบบนี้

บทภาพยนตร์ยังทำให้รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะคำพูดที่ใช้ก็เป็นภาษาคน เป็นคำพูดที่เรานึกคิดกันทั่วไป ทำให้ได้อรรถรสรู้สึกติดตามไปกับตัวละครอย่างดี อย่างตอนเตรียมจะกระโดดสูง ผู้เขียนยังรู้สึกว่า สองสาวจะกระโดดจริงหรือ? สองสาวไม่กลัวหรือ? ประกอบกับก่อนกระโดดทั้งคู่ก็มานั่งคิดกันว่า เชือกที่รัดเท้าและขาของตนมันจะขาดระหว่างกระโดดไหม หรือจะเป็นฉากที่ตั้มและนุ่นถือป้ายท่ามกลางผู้คนถามหา ‘ใครคิดถึงบ้านให้ยกมือขึ้น’ ผู้เขียนถึงแม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ต่างประเทศ แต่หลายครั้งก็ต้องไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ หลายๆ สัปดาห์ ก็หวนคิดถึงตัวเองยามที่คิดถึงบ้าน แม้บางทีเราอยู่บ้านอาจจะไม่ได้คุยหรือเหมือนไม่ได้สนใจกับใครมากนัก แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจที่ได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่เรารัก ซึ่งจุดนี้หลายคนคงจะคิดหรือเป็นเหมือนๆ กัน

เป็นเพราะบทภาพยนตร์ที่แข็งแรง มีเหตุมีผล ประกอบกับดำเนินเรื่องง่ายๆ กินใจผู้ชม ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดอารมณ์ร่วมของคนดู และน่าชมมากยิ่งขึ้น ต้องขอชม โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล และ นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้ร่วมกันสร้างสรรค์บทภาพยนตร์เรื่องนี้

 

 

ด้วยคาแรคเตอร์ของตัวละครนำอย่างเด่นชัดทั้ง เชอร์รี่ สาวลุยๆ กล้าคิดกล้าทำ นุ่น สาวอ่อนหวาน ที่เอนอ่อน และตั้ม เด็กนอกแบบชิลล์ๆ ประกอบกับได้ 3 นักแสดงนำ ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ, เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ และเรย์ แมคโดนัลด์มารับบทตามลำดับ ซึ่งแต่ละคนมีบุคลิกของตัวเองที่คล้ายคลึงกับคาแรคเตอร์ตัวละคร จึงทำให้ดูแล้วรู้สึกว่า ‘ใช่’  แต่ผู้เขียนก็อดไม่ได้กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตั้มและนุ่น เพราะด้วยวัยของ เรย์ ที่ห่างจาก เต้ย-จรินทร์พร อยู่มาก ทำให้บางช่วงบางตอนอาจดูขัดตาขัดใจ โดยเฉพาะบทสนทนาที่ถูกกำหนดมาให้เป็นการคุยแบบรุ่นเพื่อน และยิ่งบทบาทของนุ่นนำมาให้เป็นสาวอ่อนหวานแต่แรก จึงทำให้การสนทนาดูแข็งๆ ไป แต่อย่างไรก็ดีด้วยความสามารถของ เรย์ ที่แสดงได้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนใช้คำว่าน่าสนใจ รวมกับความสดใสน่ารักของ เต้ย-จรินทร์พร ส่งผลให้ปัญหาจุดนี้สามารถข้ามไปได้

นักแสดงอีกคนที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมคือ ชำนิ ทิพย์มณี รับบทเป็น พี่ทอม หนุ่มใหญ่ที่แสวงหาโอกาสมาเสี่ยงดวงหาเงินอยู่ที่ลอนดอน แม้จะเป็นเพียงบทสั้นๆ แต่ชำนิก็สามารถถ่ายทอดถึงชีวิตของแรงงานไทยที่มาทำงานในต่างประเทศได้ดีทีเดียว และน้ำเสียงที่เล่าถึงการมาใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนก็ไม่สุขใจเท่าอยู่บ้านเกิดเมืองนอนก็ทำให้รู้สึกคล้อยตามอย่างไม่รู้ตัว แม้ผู้ชมคนใดจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนก็ตาม

ผู้เขียนมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือเรื่ององค์ประกอบของภาพ เพราะถ้าใครหวังจะเห็นภาพที่งดงามของอาคารบ้านช่อง เมือง สถานที่ต่างๆ จากองค์ประกอบของการถ่ายภาพยนตร์คงต้องผิดหวัง เพราะสถานที่สำคัญๆ เป็นการถ่ายดิบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้แรงบันดาลใจที่จะเกิดจากภาพยนตร์จนมีผลทำให้อยากจะไปเยี่ยมชมตามรอยสองสาวหรือความตั้งใจว่าต้องไปสถานที่เหล่านั้นให้ได้ลดลง ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการถ่ายทำที่ยากลำบาก ทั้งเรื่องสถานที่ต่างแดน ระยะเวลา การสื่อสารก็คนละภาษา และยังมีอากาศที่หนาวเหน็บ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพในภาพยนตร์จะไม่สวยซะทีเดียว เพราะความมหัศจรรย์ของสถานที่หลายๆ แห่ง มันสวยงดงามในตัวของมันเอง
ผู้เขียนยังรู้สึกชอบกับการเลือกถ่ายภาพ และการเล่าเรื่องในแต่ละภาพของ นฤพล โชคคณาพิทักษ์ ที่เป็นเหตุเป็นผล ทำให้น่าติดตาม ส่วนการลำดับภาพของ วิชชพัชร์ โกจิ๋ว ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมีจังหวะและให้เวลากับภาพที่ดี เรื่องจึงเป็นที่เข้าใจง่าย และราบรื่นไปได้อย่างดี

ปัญหาที่ภาพยนตร์หลายเรื่องประสบ และน่าจะเกิดกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ด้วยการวางแผนและทำงานอย่างฉลาดของ จอกว้าง ฟิล์ม และปรานต์ ธาดาวีรวัตร สามารถทำให้การบันทึกเสียงนอกสถานที่ ท่ามกลางผู้คน และการเก็บรายละเอียดต่างๆ ออกมาน่าปรบมือให้ ยังได้ดนตรีประกอบจาก หัวลำโพงริดดิม ที่สร้างเสียงอย่างสวยงามประกอบแต่ละเมือง แต่ละสถานที่ได้อย่างลงตัว

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์แนววัยรุ่น แต่ผู้สร้างก็ยังไม่ลืมความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะผู้สร้างได้ให้คำตอบแล้วว่าคนทำผิดย่อมได้รับผิด ไม่มีครั้งสุดท้าย บางคนอาจได้รับผลเป็นรูปธรรม เช่นกรณีที่นุ่นถูกตำรวจจับและส่งกลับประเทศไทย หรือจะเป็นผลรูปนามธรรมที่เชอร์รี่ต้องรู้สึกถึงความเจ็บปวด และได้รู้สึกผิด เพราะเวลานี้ภาพยนตร์หลายเรื่องมักจะส่งเสริมคนผิด ผู้ร้ายมักจะลอยนวลอย่างได้ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องจริงในสังคม แต่อย่างที่ เรียว กิตติกร (ผู้กำกับ Goal Club, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม) เคยกล่าวไว้ให้เห็นแก่คนอื่นเขาบ้าง บ้านเราเป็นเมืองพุทธ... พยายามปรับมันให้เป็นตัวอย่างหรือบทเรียนอะไรก็ได้ อย่าส่งเสริมคนทำผิด

ด้วยระยะเวลา สถานที่ และกิจกรรมต่างๆ คัดกรองมาเป็นโปรแกรมทัวร์ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรอยยิ้ม และความรู้สึกที่อบอุ่นให้กับลูกทัวร์เป็นอย่างดี นี่จึงเป็นอีกผลงานสร้างสรรค์ในวงการภาพยนตร์ไทยของผู้กำกับที่น่าจับตามอง

เมื่อดูจบแล้วคุณอาจจะถามตัวเองว่า
ใครอยากหนีตามกาลิเลโอ ยกมือขึ้น !!!

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.