สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

ไทย / English
หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บทวิจารณ์ “เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน” - มาริโอืและสายป่าน เป็นเพียงส่วนที่ดีที่สุดของหนัง
 

24 มิถุนายน 2551 / ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล

  ©thaicinema.org
  ข้อมูลหนังเรื่อง เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน
   
 


 

เชื่อได้ว่าหนังเรื่องนี้คงเป็นที่รอคอยของใครหลายๆ คน ที่เป็นแฟนของมาริโอ้ เมาเร่อและสายป่าน  ทั้งสองต่างให้การแสดงที่น่าสนใจไว้ใน “รักแห่งสยาม” และ “พลอย” ตามลำดับ  แต่ในกรณีของมาริโอ้ ดูเหมือนจะมีฐานแฟนๆ อยู่มากกว่า  แต่เมื่อนำทั้งคู่มาไว้อยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน  ก็เหมือนมีความน่าสนใจขึ้นเป็นสองเท่า

“เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน” (ตั้งชื่อหนังได้เอาใจสปอนเซอร์รายหนึ่งสุดๆ)   กำกับโดย ฉัตรชัย นาคสุริยะ เริ่มเรื่องจากวัยผู้ใหญ่ของหนุ่มชื่อ สิงหา (เจตริน วรรธณะสิน)   ซึ่งย้อนหวนคิดไปถึงอดีตในวัยเรียนของเขา ระหว่างมาสังสรรค์งานเลี้ยงรุ่นกับ  เมื่อเริ่มเรียนชั้นสุดท้ายของ ม.ปลาย  (โดยมาริโอ้) เขาได้พบเจอกับนักเรียนใหม่สองคนที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ชื่อมิถุนา(สายป่าน) ผู้ที่เอาแต่เงียบขรึม  สิงหารู้สึกชอบเธอแต่ก็แสดงออกโดยการเสียดสีและแกล้งเธอต่างๆ นานา   แต่เมื่อรู้ว่าที่ทำมาทั้งหมดนั้นก่อผลอย่างไร   ความสัมพันธ์ระหว่างสิงหากับมิถุนาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป  ความรักก่อตัวขึ้นในใจทั้งคู่ แต่ก็เกิดเรื่องบางอย่างขึ้นที่ทำให้สิงหายังคงต้องเฝ้าหาคำตอบ จนวันหนึ่งเขาก็ได้พบคำตอบนั้น

สิ่งแรกที่สามารถสังเกตกันได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ การแคสติ้ง  ดูเหมือนว่าผู้ที่รับบทเดียวกันทั้งสองรุ่น หน้าตาจะไม่ค่อยเหมือนกัน  มีแต่ตัวละครที่ชื่อกานดากับป๋อง ที่หน้าตาออกจะใกล้กันอยู่บ้าง  นอกนั้นก็ดูไม่ได้ใกล้กันเลย และความรู้สึกนี้คงจะไม่ทวีคูณ  หากว่าหนังไม่ได้เลือกให้สายป่านเล่นเป็นตัวละครของเธอตอนโตด้วย  เลยหนีไม่พ้นกับคำถามที่ว่า “ทำไมนางเอกเหมือนเดิม แต่ทุกคนเปลี่ยนไปหมด?”

ผมรู้สึกอย่างหนึ่งว่า  หนังจะดีกว่านี้นิดหน่อยหาก 1.ตัดเรื่องส่วนตอนเป็นผู้ใหญ่ออก 2.ให้นักแสดงชุดเดียวกับตอนวัยรุ่นมาเล่นเป็นตอนโตด้วย  เพราะจริงๆ เรื่องราวหลักเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของหนังอยู่ที่วัยนักเรียนนี่แหละ และที่สำคัญก็คือการแสดงของมาริโอ้และสายป่าน น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้  มาริโอ้นั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความสำเร็จและคำยกย่องที่เขาได้รับจากหนังเรื่องก่อนหน้าไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค   แม้ว่าการแสดงของเขาจะลดความนิ่งลงไปใน “เฟรนด์ชิพ”   แต่เขาก็สามารถแสดงอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในใจลึกๆ และความรักของสิงหาได้เป็นอย่างดี   เขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ   เคยมีคนเปรียบเทียบมาริโอ้กับอำพล ลำพูน    ผมเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยแต่อย่างใด  เพราะนอกจากน้ำเสียงแล้ว ท่าทางและวิธีการแสดงของทั้งคู่คล้ายกันมาก  จนน่าจะเรียกได้ว่ามาริโอ้คืออำพลในรุ่นของเขา


 

ส่วนสายป่านก็เปล่งประกายเสน่ห์ออกมาอย่างที่ไม่เคยทำให้เห็นในหนังเรื่องไหนมาก่อน  มองดูเธอแล้วก็เลยทำให้คิดไปว่า  สายป่านก็เป็นเหมือนจินตรา สุขพัฒน์ในรุ่นของเธอเช่นกัน  และเมื่อมาริโอ้และสายป่านมาอยู่ร่วมจอกัน  ก็ดูเหมือนทั้งคู่มี “เคมี” ระหว่างกันอยู่  ทำให้ฉากที่ทั้งคู่ร่วมแสดงกัน  เข้าคู่กันยิ่งน่าดูเข้าไปอีก  น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะอยู่ในหนังผิดเรื่อง

เพราะส่วนประกอบอื่นๆ ของหนังดูไม่กลมกลืนกันอย่างแรก  ในช่วงแรกหนังอาจจะเดินเรื่องอย่างฉับไว โดยมีอารมณ์ขันที่ตลกบ้างไม่ตลกบ้างมาแทรกเป็นระยะๆ  แต่สักพัก ผู้กำกับไม่รู้ว่าจะให้หนังเดินหน้าไปทางไหน  เรื่องก็เลยเริ่มเป๋ไปบ้าง  คือไปเล่าเรื่องชีวิตของพระเอกและพ้องเพื่อนชาย ที่มีด้านซ่าส์ๆ เฮี้ยวๆ มากไปหน่อย   แล้วค่อย ๆ กลับไปเล่าเรื่องเดิม  ชวนให้นึกถึงหนังยุค “กระโปรงบาน ขาสั้น”   หนังที่ผู้กำกับอยากจะให้เรื่องมันไปทางไหน  ก็เปลี่ยนฉับเสียดื้อๆ   อยากจะให้ตัวละครนักเรียนไปออกค่ายพัฒนาชนบทก็ทำ   จุดจบของตัวละครตัวหนึ่งที่ปูมาตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า “ไอ้นี่มันต้องตายแน่ๆ”  หรือเรื่องราวในตอนจบของเรื่อง  ซึ่งชวนให้สงสัยว่า ทำไมพระเอกถึงไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นกับนางเอก?   ทุกอย่างเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วก็ได้ช่วยกันทำให้ความน่าเชื่อถือในเรื่องราวโดยรวมหมดไป

บทเพลงต่างๆ ที่ได้ยินในหนัง หลายๆ เพลงก็ดูจะเข้ากับช่วงเวลาเกิดเรื่องดี ยกเว้นก็แต่เพลง “เพื่อน” ของแกรนด์เอ็กซ์  ซึ่งกลายเป็นเหมือนเพลงธีมของหนัง  แต่ทำให้หลายๆ คนงงกันว่าหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วง 2530 (ระบุในเรื่องย่อที่แจกสื่อ แต่ในหนังไม่ได้ระบุชัดเจน) หรือถอยไปไกลกว่านั้นกันแน่ เพราะวัยรุ่นไม่น่าจะยังคงร้องหรือชอบเพลงที่เก่ากว่ายุคตัวเองหลายปี

นี่ยังไม่นับบทสรุปของหนัง  จากที่ดูเหมือนจะจบได้แล้วและน่าจะจบได้ซึ้งประมาณหนึ่ง  หนังกลับลากยาวเรื่องต่อไปและกระชากอารมณ์คนดู ด้วยการอธิบายเหตุการณ์บางอย่างแบบมืดหม่น และตัดจบลงอย่างห้วนๆ  การจบแบบนี้ยิ่งกว่าหักหลังคนดูเสียอีก  เพราะหนังทั้งเรื่องสร้างความผูกผันระหว่างคนดูกับตัวละครและมีโทนของหนังที่ดูสดใสมากกว่าเศร้า  แต่กลับเลือกที่จะทำให้ตัวละครทั้งทางกายและใจ  ผมเชื่อว่าหลายคนนอกจากตัวผมคงจะลุกออกจากโรงไปด้วยอาการงงๆ ว่า “เกิดอะไรขึ้น?”

คนที่น่าเสียดายไม่ได้มีแค่มาริโอ้กับสายป่าน  แจ๊คที่ยังคงเป็นตัวขโมยซีน  ก็ยังคงทำได้เช่นเดิมอยู่  แต่เขาก็ไม่อาจจะช่วยกอบกู้หนังเรื่องนี้ได้เท่าใดนัก   ส่วนนักแสดงวัยรุ่นคนอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ได้ตามน้ำ  แต่ก็น่าจะได้เปิดตัวในผลงานหนังยาวเรื่องแรกที่น่าสนใจกว่านี้

หวังว่าต่อไป มาริโอ้และสายป่านคงจะเลือกเล่นหนังด้วยความระมัดระวังมากกว่านี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีก  ส่วนผู้กำกับเจ้าของผลงานชิ้นนี้  ก็หวังว่าคงจะกลับไปทำละครทีวีตามเดิม  ซึ่งเท่าที่ได้ติดตามมาดูจะเป็นงานที่เขาถนัดมากกว่า

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.