สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

ไทย / English
หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ฺบทวิจารณ์หนัง เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะ

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 23 ธันวาคม 2550
  ©thaicinema.org
   
 

 

คุณพจน์ อานนท์ มักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า หนังของเขานั้นทำขึ้นมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายของเขา   ผมซึ่งไม่ใช่เสียทีเดียวเลยนึกไม่ค่อยออกว่ากลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้พอใจกับงานของคุณพจน์แค่ไหน  จนวันหนึ่ง ได้เดินทางโดยแท็กซี่ และคนขับก็เปิด “หอแต๋วแตก” ดูไปด้วยขับรถไปด้วย  เขาดูจะสนุกสนานไปกับหนังได้ท่ามกลางเรื่องราวแปลกประหลาด  แม้แต่ตัวผมเองก็คิดว่าหนังเรื่องนั้นบ้าดีและดูได้เพลินๆ  พอถึงตอนนี้ก็เลยเริ่มเข้าใจแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายในหนังของคุณพจน์ โดยเฉพาะหนังตลกนั้น ก็คือคนที่พร้อมจะเสพความบันเทิงเฮฮาในหนังแบบไม่ต้องไปคิดอะไรมาก  ไม่ต้องไปสนใจเหตุและผลอะไรเท่าไหร่

มาถึงเรื่องล่าสุด “เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะ” ก็ยังคงเป็นหนังตลกแบบพจน์ อานนท์ มีพล็อตเรื่องคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวเอกสามคนที่ฟันเหยินคนหนึ่ง(จตุรงค์),ขาเป๋คนหนึ่ง(เมย์ พิชญ์นาฎ)และตาเหล่(โก๊ะตี๋) อยากเป็นมาเฟียเพื่อชีวิตจะได้ร่ำรวยขึ้น เลยไปสมัครงานกับนักเลง(เฉลิมชัย มหากิจศิริ)งานแรกคือไปลักพาตัวเด็กคนหนึ่งที่ดันจับผิดไปจับเอาลูกเจ้าพ่อใหญ่(เอกชัย ศรีวิชัย) เลยโดนตามล่าวุ่นวายกันไป

จะเห็นได้ว่ามีพล็อตเรื่องเพียงแค่นี้เอง  เหตุการณ์ในหนังส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อปูทางให้มุกตลก หลายฉากยืดยาวและเอาเข้าจริงในตอนแรกก็ตลกดี แต่หลังๆ เมื่อมันยาวมากเกินไปก็เริ่มไม่ค่อยจะตลกนัก เช่น ฉากในโรงพยาบาลร้าง (ที่น่าจะได้เห็นกันในหนังตัวอย่าง) ส่วนตัวมีความรู้สึกมาตลอดว่าคุณพจน์เป็นคนที่ทำอะไรเน้นปริมาณมากไว้ก่อน  มุกตลกบางฉากจึงยิงกันหูดับตับไหม้ เหมือนเผื่อว่าอันไหนไม่เวิร์คก็คงจะต้องมีขำกันสักอันแหละ อันที่ขำมันก็มีแหละครับอาจจะไม่ขำแบบตกเก้าอี้ แต่ก็สร้างเสียงหัวเราะพอประมาณ ยกเว้นแต่คุณเป็นคนเส้นตื้น คุณอาจจะหัวเราะเสียงดังก็ได้  แต่มุกที่ไม่ได้ผลหรือได้แค่ฮึ ๆ มันก็กว่าครึ่งเลย  มุกแบบนี้ช่วยทำให้หลายช่วงเวลาในหนังยืดยาวเกินความจำเป็น

ดนตรีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สังเกตมานานในหนังของพจน์ อานนท์ มักจะไม่มีจังหวะไหนเลยที่ไม่มีเพลงประกอบเข้ามาคลอ  บางทีก็เหมาะดี บางทีก็กล้อมแกล้ม แต่บางทีภาพกับเสียงมันก็ไม่เข้ากันเอาซะเลย และดูเหมือนจะเป็นความเคยชินของผู้กำกับไปแล้วด้วย  เข้าใจดีครับว่าผู้กำกับกลัวคนไม่เข้าใจอารมณ์ในซีนนั้นๆ ว่า นี่กำลังเศร้าอยู่นะ นี่กำลังโรแมนติก นี่กำลังแอ็คชั่น  แต่บางเรื่องก็ไม่ได้เอาดนตรีประกอบมากระหนำใส่ตลอดเวลา  ภาพและบทสนทนาก็ช่วยเล่าเรื่องและอารมณ์ตรงนั้นได้  มันสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ คุณพจน์ก็ยังไม่แม่นตรงนี้สักเท่าไหร่ และก็คงเป็นเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

การแสดงก็เป็นอีกอย่างที่ดูเหมือนผู้กำกับจะชอบปล่อยให้เล่นกันตามใจชอบ และนักแสดงทุกคนก็ช่วยกันเล่นออกมาโอเวอร์แอ็คติ้งเป็นตัวการ์ตูนกันไปหมด  เลยไม่มีใครโดดเด่นน่าจดจำเป็นพิเศษ

(ย่อหน้านี้แอบเฉลยเรื่องเล็กน้อย) พูดถึงเรื่องการแสดงแบบตัวการ์ตูน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเราไม่สามารถเข้าถึงและเอาใจช่วยตัวละครได้เลย ในฉากวิกฤตถึงเลือดถึงเนื้อจึงอาจจะมีคนคิดว่า “เดี๋ยวก็ไม่เป็นไรแล้ว” และก็ไม่เป็นไรจริงๆ เรื่องคลี่คลายอย่างง่ายๆ จากที่ยิงกันตูมตามบทจะเป็นพวกเดียวกันก็เป็นเฉยเลย  ข้อดีคือ คงไม่มีใครคิดจริงจังกับความคิดสนับสนุนคนให้เป็นโจรอย่างที่ส่งผ่านมาในหนัง 

งานด้านภาพที่ยังคงเป็นคุณปัญญา นิ่มเจริญพงศ์(เว้นไม่ได้ถ่ายให้ตอน “เพื่อน กูรักมึงว่ะ”) ก็เป็นไปตามมาตราฐาน ภาพบรรยากาศในพัทยาซึ่งเป็นโลเคชั่นหลักของหนังก็ไม่ได้แปลกแตกต่างจากที่เคยเห็นกันมา ส่วนงานตัดต่อของทิวา เมยไธสง ก็มีความกระชับพอจะช่วยให้หนังเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ 

อีกอย่างที่ยังคงได้เห็นในหนังของคุณพจน์ อันที่จริงก็หนังตลกทุกๆ เรื่องในระยะหลังๆ คือ เรื่องคำหยาบนี่แหละครับ  ผมคงจะไม่รู้สึกอะไรถ้าหากหนังไม่มีการออกป้ายโฆษณาว่า “หนังเรื่องนี้ไม่มีคำหยาบ” (คล้ายๆ ทำนองนี้น่ะครับ) ออกมาให้เห็น  แต่จริงๆ แล้ว “เหยิน เป๋ เหล่ฯ” ก็ยังคงมีสิ่งเหล่านั้นครบถ้วน สารพัดสัตว์อาจจะไม่ถึงวิ่งพล่าน แต่ก็ยังเดินไปเดินมา  ดูเหมือนจะเป็นโฆษณาที่หลอกให้พ่อแม่จูงลูกจูงหลานมาดู ไม่ค่อยรับผิดชอบต่อสังคมเท่าไหร่ เพราะนอกจากคำหยาบแล้ว ในหนังยังมีความทะลึ่งหยาบโลนต่างๆ นานาแทรกอยู่ตลอด  แถมในเรื่องยังมีแต่คนกระทืบกัน ทำร้ายกันอย่างไม่มีเหตุผลอีก ถึงตัวละครจะดูการ์ตูนแต่เวลาต่อยตีกันยังเลือดท่วมจออยู่  ผมจึงพูดได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ไม่เหมาะแก่เด็กๆ แน่  พ่อแม่ถ้าไม่อยากให้ลูกซึมซับอะไรที่ไม่ดีก็ควรจะพาลูกไปดูอย่างอื่น

นอกจากพ่อแม่แล้ว คนที่ไม่ชอบหนังพจน์ อานนท์มาตลอด ก็น่าจะยังไม่ชอบหนังเรื่องนี้อยู่ต่อไป ส่วนคนที่ชอบก็คงไม่น่าจะพลาดหนังเรื่องนี้  ซึ่งไม่ใคร่จะมีอะไรแปลกแตกต่างจากงานเดิมๆ ของเขา

 

 

  ©thaicinema.org
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.