สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ฺBrave กล้าหยุดโลก : ความเหมือนกับความต่างจาก ต้มยำกุ้ง

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 15 พฤศจิกายน 2550
  ©thaicinema.org
   
 

 

เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีคนอดไม่ได้เมื่อเห็นตัวอย่างของหนังหรือโปสเตอร์หนังเรื่อง Brave กล้า หยุด โลก   จะต้องเอาไปเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ในหนังประเภทเดียวกันอย่าง “องค์บาก” หรือ “ต้มยำกุ้ง”  แต่ถ้าถามว่าเรื่องไหนเหมาะจะเปรียบเทียบได้มากที่สุด ก็น่าจะเป็น “ต้มยำกุ้ง”

ประการแรกในส่วนของความเหมือน ก็คือในส่วนของนักแสดง  ทั้งคู่ต่างดึงคู่หูพระเอกที่เป็นเหมือนตลกตามพระ   อีกทั้งนักแสดงหลายๆ คนในเรื่องยังเป็นชาวต่างชาติ รวมถึงความพยายามที่จะมีฉากแอ็คชั่นมุ่งหวังให้คนดูทึ่งเหมือนๆ กัน

เพราะเป้าหมายใหญ่คือฉากแอ็คชั่น  ความสมจริงเป็นเหตุเป็นผลในบทภาพยนตร์ก็ถูกลดความสำคัญลงไป  เหลือหน้าที่เป็นแค่เพียงเครื่องมือที่จะพาตัวละครไปสู่การต่อสู้เท่านั้น  ที่มันแย่ก็คือบางครั้งมันเป็นการลากไปสู่สถานการณ์แบบถูลู่ถูกังเสีย   ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เมื่อเริ่มต้นเรื่อง  พวกพระเอกต่อสู้กับเหล่าผู้ร้าย  แล้วหนีรอดมาได้ แทนที่จะไปหาตำรวจ   ก็ดันกลับไปที่บ้าน  ให้โดนผู้ร้ายตามล่าอีก  ไม่รู้จักจบ  เดี๋ยวพระเอกจะเจอผู้ร้าย  ก็ถูกหลอกให้คนพาไปเสียเฉย   สุดท้ายพระเอกของเราก็โดนจับเสียเฉย ๆ 

แต่พระเอกของเราก็ยังไม่ตาย   เพราะหัวหน้าตัว

ร้ายเกิดขี้เกียจฆ่าขึ้นมาเสียเฉย ๆ  แล้วก็มาเริ่มการต่อสู้กันอีก  ไม่รู้จักจบ

ผมคิดว่า ยังไม่มีคนทำหนังแอ็คชั่นหมัดๆ มวยๆ ของไทยคนไหนที่พยายามแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้กันอย่างจริงๆ จังๆ สักคน  เขาอาจจะคิดว่ายังไงคนดูก็คงสนุกไปกับภาพที่เห็น   ภาพแอ็คชั่นเพียงพอแล้ว  หลายคนอาจจะเป็นเช่นนั้นแต่ผมไม่เชื่อว่าทุกๆ คนจะเป็น

หนังมีส่วนในอารมณ์ขันค่อนข้างเยอะ  บางทีก็เป็นพระเอกที่เป็นคนทำตลกเสียเอง  แต่ว่ามุขส่วนใหญ่จะไม่ค่อยขำเอาเสียเลย เป็นได้แค่หัวเราะหึๆ  ช่วยทำให้หนังดูผ่อนคลายกว่า   ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตัวพระเอก บี-ไพโรจน์   ที่แตกต่างจากจา พนมและเดี่ยว ชูพงษ์  เขาไม่ใช่คนที่นิ่งๆ เป็นหุ่นยนต์ แต่พยายามเติมความกระล่อนเข้าไปในตัวละคร ให้มีสีสันมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกนิด แต่ไพโรจน์ก็ไม่อาจจะหลีกหนีปัญหาแบบเดียวกับที่พระเอกนักบู๊รุ่นพี่สองคนนั้นเจอได้  นั่นก็คือ การแสดงที่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ของเรื่อง

การแสดงที่เน้นเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาถูกฝึกฝนมา  บ่อยครั้งที่การแสดงสีหน้าท่าทางของพวกเขาเหล่านี้จึงยังดูไม่เป็นธรรมชาติ คือถ้าไม่แข็งๆ ก็ดูเกินๆ  ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยไป เพราะว่าเขาก็ไม่ได้เป็นนักแสดงโดยตรงแต่เป็นสตันท์มืออาชีพ  ถ้าหากว่าอยากเห็นการแสดงที่ดีเลิศของคนเหล่านี้ก็คงจะต้องรอดูเขาแสดงหนังไปเรื่อยๆ  พวกเขาก็คงจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองไป  อย่างน้อยสิ่งที่บี ไพโรจน์ทำ ก็ถือว่าน่าสนใจและน่าพอใจในความพยายามไม่น้อย



“BRAVE กล้า หยุด โลก” ดูจะทะเยอทะยานน้อยกว่า “ต้มยำกุ้ง”   ขณะที่  ต้มยำกุ้ง เป็นหนังเกรดบีที่พยายามให้ตัวเองดูเกรดเอ แต่  BRAVE คือหนังที่ยอมรับว่าตัวเองเกรดบี   เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่หนังพยายามนำไปสู่การต่อสู้ต่าง ๆ  อาทิ การขโมยข้อมูลบัตรเครดิต  ก็ไม่ได้ถูกเน้นย้ำลงลึกในรายละเอียด 
การดำเนินเรื่องก็ไม่ได้ดูสลับซับซ้อนถึงแม้จะมีการซ่อนปมและพยายามจะหักมุมเล็กน้อย  แต่ดูจะทำเป็นน้ำจิ้มมากกว่าโชว์ไอเดียคนทำหนัง 

หนังใช้วิธีพากย์  เพื่อที่จะทำให้ตัวละครคนไทยกับมาเลเซียสามารถสื่อสารกันได้  โดยไม่ต้องกระโดดข้ามไปใช้ภาษาอังกฤษ  แน่นอนว่าการเป็นหนังพากย์คงจะทำให้หลายคนรู้สึกขัดๆ ในใจ เมื่อเห็นคำพูดดูลอยๆ ไม่ตรงกับปาก และบางทีหลุดออกมาจากปากตัวละครทั้งๆ ที่ไม่ได้ขยับปาก แต่เมื่อผู้สร้างคงไม่ได้มองหนังเรื่องนี้อย่างซีเรียสอะไร  การยอมรับหรือไม่ยอมรับในสิ่งเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่กับว่าคนดูแต่ละคน  ว่าจะคาดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้อย่างไร   เพราะจะว่าไปแล้ว  มันมีหลายอย่างในเรื่องที่ดูไม่สมจริง  อาทิ การวางตัวนักแสดงหลายๆ คนที่ไม่เข้ากับบทเลย เช่นสาวหน้าฝรั่งที่มาเล่นเป็นคนรักเก่าของพระเอก ดูยังไงก็ไม่มีความเป็นสาวชาวบ้านอย่างที่หนังพยายามจะทำให้เป็น

ถ้าจะให้มองข้ามเรื่องการวางตัวนักแสดง (ที่อาจจะติดเงื่อนไขในการตลาดและการเป็นหนังร่วมทุนที่ต้องใช้นักแสดงจากมาเลเซียด้วย) และมองข้ามเรื่องการเป็นหนังพากย์  ไปยังเรื่องของการแสดง นอกจากไพโรจน์  นักแสดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศุภักษร ไชยมงคล นางเอกของเรื่อง หรืออาฟฟลิน เซากิ พี่เขยและคู่หูของพระเอก  รวมถึงเหล่าร้าย ไม่มีใครน่าประทับใจหรือมีการแสดงที่โดดเด่นออกมาเลย  เหมือนต่างก็เล่นไปตามบทและการกำกับ


นอกจากนี้  ฉากแอ็คชั่นคิวบู๊เตะต่อยอะไรทั้งหลาย  ถึงจะไม่มีการใส่ความเป็นไทยแฝงอยู่เลยแบบหนังของจาพนม ก็ไม่ได้แปลกใหม่ถึงกับต้องปรบมือ  แต่ก็น่าจะมีอะไรที่พิเศษบ้าง  แต่นอกจากจะไม่มีแล้ว บ่อยครั้งที่รู้สึกว่าการแสดงคิวบู๊มีการ “รอจังหวะ” ให้อีกฝ่ายหนึ่งมาทำร้าย  ซึ่งบางทีทำให้ดูแล้วไม่รู้สึกลุ้นไปกับฉากเหล่านี้สักเท่าไหร่

BRAVE มักจะไม่ค่อยมีความลงตัวกลมกล่อม  อันเป็นคุณสมบัติดีๆ ที่จะทำให้หนังสักเรื่องสนุกและเป็นที่จดจำ  อาจเพราะธรรมชาติของการเป็นหนังที่ต้องขายฉากต่อสู้  ซึ่งน่าจะมีคนดูหนังเฉพาะกลุ่มที่ชอบดูหนังแบบนี้อย่างจริงจัง  และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหนังศิลปะป้องกันตัวจึงไม่ได้โตเติบและเป็นที่นิยมในวงกว้างอย่างต่อเนื่องยาวนาน 

   
  ©thaicinema.org
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.