สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

บทวิจารณ์ ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ “แด่พระผู้ทรงธรรม”

  ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 7 ตุลาคม 2550
  ©thaicinema.org
   
 

จุดที่น่าสนใจที่สุดสำหรับหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติ “แด่พระผู้ทรงธรรม” คือความแตกต่างหลากหลายของคนทำ ตั้งแต่รุ่นเก่าที่ทำหนังไทยมาหลายสิบปี  ไปจนกระทั่งรุ่นใหม่มาแรงที่กำลังสร้างชื่อในเวทีนานาชาติ  รวมไปถึงผู้กำกับที่ยังไม่มีชื่อเสียงและเป็นหน้าใหม่ในแวดวงหนังไทย  ความหลากหลายดังกล่าวนำมาทั้งข้อดีและข้อเสีย  ข้อดีคือหนังก็มีแนวทาง รูปแบบ และเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแนวทางของผู้กำกับแต่ล่ะคน  แต่ข้อเสียคือ  กลุ่มผู้กำกับที่ยังไม่อยู่ในระดับ “มือโปร”  คือไม่ใช่คนประสบการณ์เยอะอย่างบัณฑิต ฤทธิ์ถกล หรือวิศิษฐ์,เป็นเอก รวมถึงอภิชาติพงศ์  ก็จะสร้างงานได้เท่าที่ความสามารถมี  และผลงานของกลุ่มนี้ก็จะดูแตกต่างพอสมควรกับงานที่สร้างโดยผู้กำกับแถว

ผมได้ดูหนังทั้งหมดในรอบสื่อมวลชน จึงไม่แน่ใจว่าลำดับในการฉายจริงจะเป็นเช่นเดียวกันกับรอบนี้หรือเปล่า  แต่คาดว่าผู้ชมรอบปรกติคงจะไม่ต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งเพื่อดูหนังทั้งหมด  เพราะเมื่อเป็นแบบนี้ก็ถือว่ายากลำบากอยู่  คิดว่าเมื่อถึงเวลาเปิดฉายให้แก่บุคคลทั่วไปเข้าชม น่าจะมีการแบ่งฉายหนังออกเป็นสองชุดเพื่อคนดูจะได้ไม่ลำบากจนเกินไปนัก

ขอกล่าวถึงหนังแต่ล่ะเรื่องตามลำดับความจำและการได้ชมของตัวเองก็แล้วกันนะครับ  เรื่องแรก “นรสิงหาวตาร” ของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ดัดแปลงจากปางที่ 4 ในนารายญ์สิบปาง ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้สมควรเป็นหนังปิดมากกว่า  เพราะนี่เป็นหนังที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด  เต็มเปี่ยมไปด้วยลายเซ็นของคุณวิศิษฐ์  โดยเฉพาะการนำเอาความเป็นไทยผสมกับการนำเสนอศิลปะแบบสมัยใหม่  เป็นหนังแฟนตาซีที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ถ้าเอาไปประกวดในเทศกาลหนังสั้นต่างประเทศคงจะได้เสียงตอบรับที่ดีแน่ๆ เรื่องนี้จะมีข้อเสียบ้างก็ตรงที่  หนังเล่าเรื่องด้วยภาพและคำบรรยาย  เมื่อขาดเสียงพูดไป  เรื่องบางอย่างจึงเหมือนไม่ค่อยได้รับการอธิบายให้ชัดเจนเท่าที่ควร  ชัดๆ คือตอนที่พระนารายญ์ที่แปลงเป็นนรสิงห์ แล้วพูดคุยกับหิรัณยกศิปุก่อนจะสังหาร ถ้าหากมีเสียงสนทนาฉากนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น  แต่นี่ก็เป็นข้อด้อยเล็กๆ น้อยๆ ครับ  ส่วนในฐานะของหนังเฉลิมพระเกียรติ  ผมคิดว่าเรื่องนี้สื่อถึงพระบารมีของในหลวงทางอ้อมครับ  ซึ่งถือว่าเป็นการนำเสนอที่ฉลาดและไม่ยัดเยียดแต่อย่างใด 

ในการจัดฉายรอบพิเศษโครงการภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ “แด่พระผู้ทรงธรรม” ให้สื่อมวลชนและแขกผู้ใหญ่ได้ชมกัน ณ โรงภาพยนตร์พารากอนซีเนเพล็กซ์   เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีแขกมาร่วมงานอย่างคับคั่ง  อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และผู้บัญชาการทหารสี่เหล่าทัพ ยกเว้น เป็นเอกกับอภิชาติพงศ์ที่ติดภารกิจต่างประเทศ  

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งให้เกียรติมาร่วมชมภาพยนตร์สั้นในโครงการครบทั้ง 9 เรื่อง ซึ่งท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นไว้ว่ารู้สึกชื่นชมในผลงานหนังทุกเรื่อง “ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า บรรดาศิลปินร่วมสมัยก็ได้มีโอกาสแสดงออก ถึงวิธีคิด วิธีที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ ด้วยภาพ ด้วยวิธีการ ด้วยเสียง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประกอบกันในหลายๆ เรื่องน่ะครับ ตรงจุดนี้เองถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ เป็นสิ่งที่ศิลปินร่วมสมัย จะได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก แสดงความคิดออกมาเป็น ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ทั้งภาพและก็เสียงด้วยนะครับ”

เมื่อมีนักข่าวท่านหนึ่งถาม พล.อ.สุรยุทธ์ ว่าชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษ ท่านก็ตอบออกมาว่า “ก็มีหลายเรื่องนะครับ ที่ผมคิดว่า..ความต้องการของศิลปิน ก็คงต้องการที่จะถ่ายทอดถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลายๆ ด้าน” แต่ก็มีผลงานเรื่องนี้ที่ท่านไม่สามารถติดตามได้สะดวกคือ “นิมิต” ผลงานของอภิชาติพงศ์ ท่านกล่าวว่าสายตาท่านไม่สามารถรับชมภาพที่มีการเคลื่อนไหวกล้องแบบที่หนังสั้นเรื่องนี้ทำได้ทัน  แต่ถึงอย่างนั้น  พล.อ.สุรยุทธ์ก็ยังคงชื่นชมในความสามารถและความตั้งใจของคนทำหนังในโครงการนี้ทุกคน


เรื่องต่อมา “ข่าวที่ไม่สำคัญ” กำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล จากเรื่องของสมเกียรติ์ ไตรทิพยากร เรื่องของนักข่าวสาวที่ต้องทำข่าวสำคัญแต่เจอเรื่องติดขัด ระหว่างนั้นเธอก็ได้พบกับข่าวที่ไม่สำคัญเหมือนชื่อเรื่องน่ะแหละครับ  เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานของคุณบัณฑิตนะครับ แต่เป็นมาตรฐานแบบหนังที่ปราศจากเงื่อนไขทางการตลาดเหมือนเช่นหนังของเขาระยะหลังๆ อย่าง “พระ เด็ก เสือ ไก่ วอก” เจอ  เป็นหนังที่ดูได้เพลิน มีแง่คิดสาระ สะท้อนถึงพระบารมีของในหลวงชัดเจน  แต่ตัวหนังก็ไม่ได้มีความพิเศษมากมายอะไรเมื่อเทียบกับเรื่องแรก  ในส่วนของการแสดงรวมไปถึงงานด้านภาพ ก็จัดว่าอยู่ในมาตรฐานของคุณบัณฑิตเช่นเดียวกัน

“เสียงเงียบ” ของศิวโรจน์ คงสกุล เรื่องของนักอัดเสียงที่อยู่กับงานของตัวเองจนไม่สนใจคนรอบข้าง และชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาเปิดประตูรับสิ่งใหม่ๆ เป็นหนังที่ไม่ได้มีเรื่องราวซับซ้อนอะไรมาก แต่อาจจะเข้าใจยากเสียหน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับหนังที่เน้นการนำเสนออารมณ์ของตัวละครและอารมณ์ของหนังเป็นหลัก  งานด้านภาพของธนนท์ สัตตะรุจาวงษ์น่าจะได้ชื่อว่าเป็นพระเอกของเรื่องนี้  แต่ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้ตั้งใจจะเทิดพระเกียรติในหลวงอย่างไร  ก็อาจจะตอบยากเสียหน่อย  แต่ในมุมมองของผู้เขียน  คิดว่าผู้กำกับต้องการสื่อว่าเราเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่อย่างมีความสุขภายใต้ร่มพระบารมี

“นิทานพระราชา” กำกับโดยพรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล เป็นเรื่องของชาวเขาสามรุ่น รุ่นลูกต้องการนำฬ่อ (สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายม้า) ไปขาย  ส่วนรุ่นพ่อเห็นว่าไม่ควร เพราะครั้งหนึ่งสัตว์อย่างฬ่อเคยทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว หนังเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญ คือเรื่องการอยู่อย่างพอเพียง (การขาย/ไม่ขายฬ่อ) แต่ก็ไม่ได้นำเสนอภาพชาวบ้านที่เดือดร้อนจากความไม่พอเพียงอย่างชัดเจน  ประเด็นหลักของหนังก็เลยไม่หนักแน่นเท่าไหร่  บางช่วงที่พยายามจะเทิดพระเกียรติในหลวง  ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แทรกต่อเข้ามาในเรื่องราวหลักที่เล่าจบเสียดื้อๆ และไม่มีชั้นเชิง  เหมือนสารคดีที่นำเสนอภาพชาวบ้านพากันถวายความเคารพในหลวง  แต่ก็มีแค่ภาพ  ไม่สามารถสร้างความซาบซึ้งให้เกิดขึ้นมาได้  อาจจะเพราะนักแสดงที่ล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านไม่ใช่มืออาชีพ รวมถึงวิธีการสื่อสารด้วยภาพและเสียงของผู้กำกับด้วย  ถึงอย่างไรก็ถือได้ว่าผู้กำกับก็ดูมีความพยายามที่จะถ่ายทอดผลงานออกมาให้ดี  การเลือกที่จะให้ชาวเขาพูดภาษาพื้นเมืองและขึ้นซับไทยถือได้ว่าน่ายกย่องในการพยายามสร้างความสมจริงและน่าเชื่อให้เกิดขึ้นแก่หนัง  คิดว่าต่อไปเขาก็คงจะสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากกว่านี้ขึ้นมาได้

“9 ของวิเศษ” กำกับโดยอารยะ บุญเชิด ใจความหลักของเรื่องอยู่ในนิทานที่พ่อเล่า (และแสดงให้คนดูเห็นเป็นภาพผ่านหุ่นมือ) เรื่องของอัศวินที่ต้องต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย และได้รับของวิเศษ 9 อย่าง เรื่องนี้น่ารักครับ  เหมาะแก่การให้เด็กๆ ดู  เสียแต่ว่าส่วนของคนแสดงดูจะเป็นส่วนเกินของเรื่องราวทั้งหมดชนิดที่ตัดทิ้งไปก็ยังได้  เพราะนอกจากไม่จำเป็นแล้ว การแสดงของนักแสดงเด็กก็ยังดูเป็นการท่องบทไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่  เช่นเดียวกับความพยายามที่จะดึงให้คนดูติดตามว่าอะไรคือของวิเศษอันที่ 9 ของผู้กำกับก็ดูเหมือนจะไม่ได้ชวนให้ติดตามดูสักเท่าไหร่  แต่นี่ก็เป็นมุมมองแบบผู้ใหญ่นะครับ เพราะหากให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรื่องนี้มาดู  พวกเขาอาจจะสนุกไปกับมันก็ได้

 

 

“นิมิต” ผลงานที่เชื่อว่าหลายๆ คนอยากดูของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล  แน่นอนว่ายังคงความเป็นอภิชาติพงศ์ไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยเขาเลือกที่จะเล่าเรื่องด้วยภาพโฮมวีดีโอสมาชิกในครอบครัวของเขา งานด้านภาพอาจจะชวนให้ปวดลูกตาไปบ้าง  แต่ในฐานะหนังเรื่องหนึ่งก็เต็มไปด้วยอารมณ์และศิลปะที่น่ายกย่อง  แต่ถ้ามองในฐานะของหนังเทิดพระเกียรติในหลวง  เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงยากที่จะเข้าใจว่าคุณอภิชาติพงศ์ต้องการจะพูดถึงในแง่มุมไหน  ผมคิดว่าอาจจะด้วยมุมมองใกล้เคียงกับคุณศิวโรจน์ก็เป็นได้

เรื่องต่อมา “รักพอเพียง” ของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีครอบครัวหนึ่งอยู่อย่างมีความสุข และมีลูกซึ่งพยายามจะเป็นอย่างพ่อ  หนังเน้นเล่าเรื่องด้วยภาพที่ถ่ายโดยสยมภู มุกดีพร้อม และแทบจะปราศจากบทพูด  แต่ก็เล่าเรื่องง่ายๆ ได้อย่างราบรื่น  และในฐานะหนังเทิดพระเกียรติก็เป็นหนังดูดีตรงที่ไม่พูดถึงประเด็นนี้ตรงเกินไป  และปล่อยให้คนดูซึมซับบรรยากาศและทำความเข้าใจกับสิ่งที่หนังต้องการจะบอกด้วยตัวเอง  ตัวผู้กำกับคนนี้ก็ถือว่าน่าจับตามองไม่น้อยครับ

อีกเรื่องคือ “ทะเลของก้อย” กำกับโดยผู้กำกับคู่ ศุภรัฐ บุญมาแย้มกับปรามธนี วงศ์พรหมเมศร์ ซึ่งน่าจะได้ชื่อว่ามีประสบการณ์น้อยที่สุดในบรรดา 9 เรื่อง  หนังผสมระหว่างคนแสดงจริง ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่หลักของคุณศุภชัย ที่ทำหนังสั้นหลายเรื่องตอนเป็นนักศึกษา กับภาพอนิเมชั่นที่น่าจะเป็นงานของคุณปรามธนี  ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูน  หนังว่าด้วยเรื่องของก้อย นักเรียนที่พิการทางการได้ยิน และกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเรียน แต่เธอก็ฮึดสู้โดยมีเรื่องราวของพระมหาชนกเป็นแรงบันดาลใจ  เรื่องที่คนแสดงกับการ์ตูนสอดคล้องกันดีครับ  เล่าได้อย่างน่าติดตาม  ผู้กำกับไม่ได้แสดงถึงความทะเยอทะยานใหญ่โต  ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ทำให้หนังดูออกมาเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ  แม้การแสดงของนักแสดงหน้าใหม่อาจจะไม่มีพลังพอที่จะพาหนังก้าวผ่านไปสู่ผลงานที่ยอดเยี่ยมได้  หนังสามารถถ่ายทอดเรื่องความเพียร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชดำรัสของในหลวงได้เข้าใจง่ายและชัดเจนครับ     

เรื่องสุดท้าย งานของเป็นเอก รัตนเรือง “เสียงสว่าง” โดยคุณเป็นเอกสัมภาษณ์นักเปียโนตาบอดถึงเรื่องชีวิตและการเล่นดนตรีของเขา  เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องการจะเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี  แม้จะไม่พูดเรื่องนี้ตรงๆ  แต่ก็ทำให้เรามองขึ้นไปเบื้องบนและเห็นภาพของพระองค์ในฐานะนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ได้  ส่วนในฐานะของหนังเป็นเอก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนังที่โรแมนติกและอ่อนหวานที่สุด คนที่ชอบหนังเป็นเอกน่าจะชอบเรื่องนี้  ส่วนคนที่ไม่ชอบก็อาจจะเปลี่ยนใจมาชอบได้  อย่างน้อยเรื่องนี้ก็ดำเนินเรื่องได้กระชับกว่า “พลอย”  การพูดคุยระหว่างเป็นเอกกับคุณศิลานักเปียโนก็เต็มไปด้วยรสชาติและอารมณ์ขัน  เพลงพระราชนิพนธ์ที่คุณศิลาบรรเลงก็ทำได้อย่างไพเราะมาก  ติดตรงที่ว่ามุมกล้องหลายๆ ช่วงดูจะดีไซน์เยอะเกินความจำเป็นสำหรับการนำเสนอเรื่องซึ่งหัวใจอยู่ที่การสนทนา 

ถ้าพูดถึงหนังทั้งหมดเป็นเรื่องๆ ไป  ก็อาจจะพบข้อดีและข้อเสียในแต่ล่ะเรื่องคละกันไป  แต่สุดท้ายแล้ว  โครงการนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในเป้าหมาย นั่นคือการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ในหลวงของคนไทยเรา  หนังสองสามเรื่องอาจจะพูดถึงหัวข้อเดียวกัน (เช่น เศรษฐกิจพอเพียง) แต่ก็ไม่ถึงกับดูซ้ำจนน่าเบื่อแต่อย่างไร คิดว่าสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นแม่งาน  น่าจะรู้สึกพอใจไม่น้อยทีเดียวครับ

โครงการสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ “แด่พระผู้ทรงธรรม” จัดฉายให้ชมพรี ทุกรอบ ทุกที่นั่งระหว่างวันที่ 11-17ตุลาคมนี้ที่พารากอนซินีเพล็กซ์  เมเจอร์ปิ่นเกล้า และ อีจีวี ซีคอนสแควร์ สอบถามและจองตั๋วภาพยนตร์ได้ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โทร 0 2422 8819-22 

  ©thaicinema.org
 
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.