สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
บทวิจารณ์ : เมล์นรก หมวยยกล้อ
  LINK:   แนะนำนักแสดง    เรื่องย่อ  ผู้กำกับพูดถึงนักแสดงและการถ่ายทำบนรถเมล์  รายชื่อทีมงาน
   
 

 

โดย แชมป์ สรดิเทพ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนขับรถเมล์จอมซ่ากับคู่อริกระเป๋ารถเมล์จอมกวน  ปะทะกับผู้โดยสารสติแตก  พกปืนมาจี้รถเมล์สายรังสิต-สนามหลวงในวันสงกรานต์ พร้อมด้วยผู้โดยสารร่วมสิบที่ต้องตกบันไดพลอยโจรเป็นตัวประกัน แต่เป็นตัวประกันที่ชวนน่าปวดหัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น แม่ค้าปากร้ายที่เอาแต่หาเรื่องหมอสวยเซ็กซี่ หมอผู้น่าจะถนัดทางนวดมากกว่า สามีขี้บ่นกับภรรยาท้องแก่ที่พร้อมจะคลอดทุก และหนุ่มแว่นบ้ากาม กับสาวสวยที่ต้องการเข้าห้องน้ำตลอดเวลา ผลลัพธ์ก็คือความโกลาหลที่ตลกบ้าง หลงทางบ้าง แต่สุดท้ายก็พาคนดูถึงที่อย่างปลอดภัย

“เมล์นรก หมวยยกล้อ” เป็นอีกเรื่องหนึ่งของผู้กำกับ เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล ที่มีคอนเซปต์แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ผมทึ่งในความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำกับคนนี้ ตั้งแต่ที่นำการเต้นแทงโก้ มาใช้กับท่วงท่ายิงปืนของบรรดาเหล่าเมียน้อยเมียหลวงใน “ เดอะเมีย” (แม้ว่าเอาเข้าจริง นักแสดงจะไม่มีเวลาไปฝึกกระบวนท่าก็ตาม ทำให้ท่าดวลดูเคอะเขินอย่างบอกไม่ถูก) หรือ “ อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม” ที่ตัวเวรกรรมใส่ชุดวอร์มสีแดงรองเท้าไนกี้ วิ่งตามทันในชาตินี้ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

“เมล์นรก” มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจเช่นกัน ทั้งเรื่อง (ยกเว้นตอนท้าย) เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์คือตามเวลาจริง 90 นาทีตามบทก็คือ 90 นาทีบนจอ แถมทั้งเรื่องมีโลเคชั่นเดียวคือรถเมล์สาย 39 (คงจะประหยัดดี) และตัวละครแทบจะไม่มีชื่อเลย ถึงมีก็ถูกเอ่ยขึ้นไม่บ่อยจนพอจะจำได้ สามีขี้บ่นก็ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า เฮีย แม้ค้าปากร้ายก็ถูกเรียกว่า เจ๊ แม้กระทั่งตัวคนจี้รถเมล์เอง ผมก็จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร คิดๆไปก็เหมือนกับชีวิตจริง บางทีเราก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมด้วยนั้นชื่ออะไร แต่เรารู้จักเขาแค่ในฐานะ คนขายของ คนขับรถ คนบริการในร้านอาหาร ฯลฯ

แต่คอนเซปต์แหวกแนวก็ไม่ได้กลายเป็นหนังที่สมบูรณ์เสมอไป เรื่องนี้มีปัญหาอยู่ที่พล็อต ซึ่งดำเนินเรื่องไปอย่างตะกุกตะกัก เดี๋ยวลงจากรถได้ เดี๋ยวไม่ได้ เดี๋ยวเรื่องเหมือนจะคลี่คลาย เดี๋ยวก็ปะทุขึ้นมาอีก สาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารคนหนึ่งสติแตกก็ไม่สมเหตุสมผล (คนขับทะเลาะกับรถคันอื่น และพยายามขับแซงซ้ายปาดขวาจนเลยมาหลายป้าย ทำให้ผู้โดยสารคนนั้นพลาดรถที่จะกลับบ้านไปหาลูกที่โคราช) หนังพยายามให้เหตุผลว่า เรื่องที่ดูเล็กดูน้อยสำหรับคน ๆ หนึ่ง อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอื่น มันก็ฟังไม่ขึ้นอยู่ดี เป็นเหมือนคำแก้ตัวของคนสิ้นคิดมากกว่า

เอหรือว่าผู้กำกับจะพาดพิงไปถึงสถานการณ์การเมืองหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ

หนังเรื่องนี้เด่นที่มุขตลก ที่ไม่ได้เน้นคำหยาบ (ถึงแม้จะมีเยอะก็เถอะ) แต่เน้นที่คำเสียดสีและท่าทาง เช่น หญิงใกล้คลอดที่ต้องสูดอากาศเป็นพิษจากกลิ่นตดของสวยท้องเสีย หรือฉากโกลาหลในการแย่งไม้ช็อตตบยุง

 

 

ตัวละครที่มีสีสันต่างๆ ก็เพิ่มเสียงหัวเราะได้ไม่น้อย ทุกคนเล่นบทบาทของตัวเองได้ดี ไม่ว่าเป็น โน้ส-อุดม แต้พานิช ในบทกระเป๋ารถเมล์ ป๋าเทพ โพธิ์งาม ในบทคนขับรถ ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ ในบทคนจี้รถเมล์ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ในบทแม่ค้าปากร้าย คมสัน นันทจิต ในบทหนุ่มแว่นบ้ากาม อริศรา วงษ์ชาลี ในบทหมอหรือหมอนวด และ อิม-อชิตะ ธนาศาตนันท์ ในบทสวยท้องเสีย

แต่น่าเสียดายที่ตัวละครมีมิติเดียวมากไปหน่อย สาวสวยท้องเสียก็ผายลมทั้งเรื่อง แม่ค้าปากร้ายก็ทะเลาะกับหมอนวดทั้งเรื่อง แว่นบ้ากามก็ปัดความรับผิดชอบทั้งเรื่อง แม้กระทั่งคนจี้รถเมล์ก็ไม่ได้สื่อความรู้สึกอะไรมากนัก นอกจากอยากกลับไปหาลูก มีเพียงแต่กระเป๋ารถเมล์เท่านั้นที่คนดูพอจะเข้าถึงได้ เพราะเราได้เห็นถึงเรื่องราวส่วนตัว ความผิดพลาด ความรู้สึกผิด และการกลับใจ คู่สามีภรรยาก็มีปัญหาแต่จบง่ายและเร็วไปหน่อย

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้จบง่ายไปนิดหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงของตัวละครและปัญหาทุกอย่างคลี่คลายอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจะมองข้ามธีมหลักของหนัง ซึ่งเหมือนกับจะบอกว่า ไม่มีใครถูก 100 % หรือผิด 100% ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้เหตุการณ์แย่ลง สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาอาจไม่ใช่การตัดสินว่าใครคนใดคนหนึ่งชนะหรือแพ้ แต่ forgive and forget ให้อภัยและดำเนินชีวิตต่อไป

ซึ่งก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้อีกละ ว่าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้จงใจจะบอกอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันหรือเปล่า อันนี้ให้ผู้กำกับมาเคลียร์เองละกัน

   
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.