สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

13 หนังสั้นสึนามิ : ดอกไม้หายไปไหน ?

 

อัญชลี ชัยวรพร                            

 

5 พฤศจิกายน 2548

 

Tsu ของปราโมทย์ แสงศร

          ไปดูหนังสั้นสึนามิในช่วงเทศกาลหนังกรุงเทพที่ผ่านมา หนังได้รับการแบ่งฉายออกเป็น 2 กลุ่ม ดูจบออกมาแล้วได้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

          ออกจากโรงในหนังโปรแกรมแรก  ด้วยความรู้สึกว่าคนทำหนังสั้นกลุ่มนี้ ได้้ก้าวพ้นจากการเป็นมือสมัครเล่นไปแล้ว ดีกว่าหนังสั้นไทยหรือหนังสั้นละแวกเพื่อนบ้านที่ได้ดูมาในสองปีนี้

         งานของพวกเขากำลังก้าวเข้าสู่ ความเป็นมืออาชีพเลยทีเดียว …. มืออาชีพในการทำหนังศิลปะระดับสากล และดีกว่าหนังที่ฉายในโรงทั่วไปส่วนใหญ่

          พอได้ดูหนังจนครบทั้งสองโปรแกรม    คราวนี้กลับเกิดคำถามขึ้นในใจ และคำถามนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะงานในกลุ่มที่สอง  แต่เป็นการประมวลภาพรวมจากงานว่า  

          “เหตุการณ์สึนามิมีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนทำหนังกลุ่มนี้อย่างไร”

          ดิฉันจำความรู้สึกหรือกระแสการตอบรับของคนไทย หรือคนที่อยู่ในไทยขณะเกิดเหตุการณ์สึนามิได้ดี คนใกล้ตัวหรือถ้าจะบอกให้ถูกคนไทยทั้งชาติอยู่ในอาการไม่เป็นสุข ทุกคนต่างจดจ้องอยู่หน้าทีวี ต่างเสียน้ำตาแม้เมื่อผู้ได้รับผลกระทบนั้นจะไม่ได้เป็นญาติ ไม่ได้เป็นที่รู้จักส่วนตัว หลายคนรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องออกไป ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บางคนออกไปรับโทรศัพท์ที่ธรรมศาสตร์ บางคนรีบบริจาคสิ่งของ  แม่รีบโอนเงินก้อนใหญ่ให้กับครอบครัวหนึ่ง โดยที่ไม่รู้จักกันส่วนตัวจนถึงทุกวันนี้  ด้วยเหตุผลซื่อ ๆ ว่าเราต้องรีบช่วยเขาก่อน เพราะเขาไม่ได้รับผลกระทบมากและเขาจะเป็นพวกกลุ่มหลังที่จะได้รับความช่วยเหลือ

          แต่ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนกลับมิได้สัมผัส มิได้แลเห็นจากงานหนังสั้นชุดนี้เกือบทั้งหมด   งานที่เกิดขึ้นมิได้แสดงให้เห็นพลังและความรู้สึก อย่างที่ตัวเองเคยเห็นจากคนใกล้ตัวหรือเพื่อนคนไทยส่วนใหญ่ขณะเกิดเหตุการณ์สึนามิ

          สิ่งที่ดิฉันได้เห็นกลับมีแต่ความต้องการจะสร้างงานให้แตกต่างจากคนอื่น จนอดรู้สึกไม่ได้ว่า โจทย์สำคัญในการทำหนังสั้นของแต่ละคนก็คือ จะทำหนังที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไรดี มากกว่าจะทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิอย่างไร

          ฤาเราจะหวังจิตสำนึกทางสังคมจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้เสียแล้ว? บางทีสิ่งที่ “ ผู้อาวุโส ” หลายท่านเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้อาจเป็นจริง และนี่คือเหตุผลที่ดิฉันเฝ้าบอกอยู่เสมอว่า ดิฉันชอบงานของนิวเวฟรุ่นแรกอย่างท่านมุ้ย ยุทธนา มุกดาสนิท วิจิตร คุณาวุฒิ กลุ่มหนองหมาว้อที่ทำ ครูบ้านนอก มากกว่า เพราะหนังเหล่านั้นมันมาจากข้างใน มาจากอารมณ์คุกรุ่นของคนทำที่โมโหต่อความไม่ยุติธรรมของสังคมในขณะนั้น แม้งานเหล่านั้นจะอ่อนด้อยกว่าคลื่นลูกที่สองในปัจจุบันในเชิงภาษาหนัง ในเชิงศิลปะ แต่ในเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ .....มันเหนือกว่า

          “ดอกไม้หายไปไหน” Where have all the flowers gone? เป็นคำถามที่กลุ่มนักพัฒนาเคยตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ และดิฉันก็อดไม่ได้ที่จะโยนคำถามนี้ต่อคนทำหนังสั้นชุดนี้

           หนังสึนามิเป็นงานที่จะต้องมาคู่กันทั้งเนื้อหาและสไตล์ ซึ่งหนังทั้ง 13 เรื่องถ่ายทอดจุดตรงนี้ได้บ้างไม่ได้บ้างแตกต่างกันไป พอจะสรุปได้ดังนี้

         1.หนังที่มีเนื้อหาสึนามิ แต่มีปัญหาในการถ่ายทอด เพราะประสบการณ์ที่อ่อนด้อยของผู้กำกับ หนังมาเลเซียเรื่อง Lie Beneath ด้อยกว่าเพื่อนทั้งที่เนื้อหาและวิธีการของหนังไม่ซับซ้อน เรื่องราวของเด็กน้อยที่พยายามเล่าเหตุการณ์ข่าวสึนามิที่เขาได้ดูจากโทรทัศน์ให้เพื่อนฟัง แต่เพราะบทและการแสดงอันติดขัด จนทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่อ่อนที่สุดไป

          Trail of Love เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาว ที่เดินค้นหาร่องรอยของคนที่เธอผูกพัน จากแผนที่ในขวดใบหนึ่ง เธอสูญเสียเพื่อนคนนี้ไป  แม้หนังจะดีกว่า Lie Beneath มาก   แต่เนื้อเรื่องราบเรียบรำพันพิลาปเช่นนี้ ถ้าผู้กำกับมือยังใหม่ จะมีปัญหาในการถ่ายทอด  ทำให้หนังกลายเป็นของธรรมดาไป หลาย ๆ ตอนดูไม่เนียนเท่าที่ควร

          Forget It หนังแอนิเมชั่นเพียงเรื่องเดียว เล่าเรื่องราวของนักธุรกิจที่สูญเสียภรรยาจากเหตุการณ์สึนามิ และตระหนักได้ว่าเงินไม่มีค่าอะไรเลย หนังไม่ยากต่อการเข้าใจ แต่มันไม่มีอะไรใหม่ แถมผู้กำกับไปปูพื้นตัวละครมากเกินไป ขณะผลกระทบจากสึนามิไม่ชัดเจน ทำให้งานดูอึมครึมโดยเฉพาะเมื่อผ่านตัวละครที่เป็นการ์ตูนอีก

          World Precious Day เป็นเรื่องราวของชายที่สูญเสียทุกอย่างจากเหตุการณ์สึนามิ และพยายามทำอะไรมีค่าเพื่ออุทิศแก่เพื่อน วิธีการนำเสนอมันไม่ชัดเจน มันไม่เป็นองค์รวม พร้อมกับปัญหาของนักแสดงที่ไม่ลึกซึ้งพอ ทำให้เนื้อหาที่น่าจะมีพลังกลายเป็นหนังธรรมดาไป

          2. หนังที่นำเสนอเนื้อหาสึนามิ การนำเสนอง่ายต่อการเข้าใจ แต่ยังขาดตกบกพร่องในบางจุด

          The Helping Hand สารคดีเกี่ยวกับหนุ่มไทยคนหนึ่งที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ หนังไม่มีพลังเลยค่ะ เป็นสารคดีที่ธรรมดามาก สารคดีตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิใหม่ ๆ ยังดีกว่า

          Waves of Souls ของพิภพ พานิชภักดี เรื่องราวการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มเอ็นจีโอกับมูลนิธิ เรื่องนี้ดีกว่าที่ผู้เขียนคิดไว้ เพียงแต่ว่ามันสั้นไปหน่อย ดูยังไม่ทันรู้เรื่องเลย ก็จบแล้ว

          3. หนังที่ดูเหมือนจะเสนอเนื้อหาสึนามิ มีสไตล์หรือภาษาหนังที่น่าสนใจ แต่ไม่รู้ว่าจะบอกอะไร

          Smiles of the fifth Night เป็นหนังทดลองเชิงกวี สะท้อนให้เห็นการสูญเสียและการฟื้นคืนที่จะมีแสงสว่างเกิดขึ้นเสมอ ตัวเนื้อหาของหนังจะนำมาจากเรื่องจริง แต่ผู้เขียนก็ยังตีความหนังไม่ออกจนถึงทุกวันนี้

          Tune In เด็กสาวคนหนึ่งกำลังขับรถไปภูเก็ต เพื่อนำความฝันและความจริงของชีวิตกลับคืนขึ้นมาอีกครั้ง สไตล์ดี มุมกล้องดี นักแสดงดี แต่ถ้าจะถามว่าเข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ชักไม่แน่ใจ แล้วที่เข้าใจมา ก็เพราะเคยคุยกับผู้กำกับมาก่อนหรือเปล่า ก็ไม่รู้ ตอนนี้ก็พยายามนั่งนึกว่าเด็กสาวกำลังค้นหาอะไร  แล้วคนดูคนอื่น เขาจะเข้าใจอย่างเราหรือเปล่า

 

Tune In ของพิมพกา โตวิระ
Tits & Bums ของสันติ แต้พานิช

          4 . หนังที่ไม่เกี่ยวกับสึนามิเลย Tits & Bums ของสันติ แต้พานิช พูดถึงการถ่ายหนังวีดีโอคาราโอ เกะ หนังดูสนุก ตลก ง่ายต่อการเข้าใจ แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับสึนามิเลย นอกจากความพ้องจองของผลเสียจากทะเลกับคลื่นสึนามิ

          ผู้เขียนขอยกเว้นไม่วิจารณ์เรื่อง Andaman ตัวเองจำรายละเอียดหนังเรื่องนี้ไม่ออกเลย พยายามนึกมาเป็นอาทิตย์แล้ว ผลก็ยังเหมือนเดิม ก็เลยขอยกเว้นไม่เขียนดีกว่า

 

          สรุปแล้ว มีหนังเพียง 2 เรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าดีที่สุด นั่นก็คือ Ghost of Asia ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุลกับ Christelle Lhereux ลักษณะเป็นการจัดวางวีดีโอ ผู้กำกับเล่นซ่อนเงื่อนกับการทดลองทำหนังเรื่องนี้ โดยวางให้เด็กมาเป็นผู้กำกับตัวละครผีของเรื่อง เป็นเกมซ้อนชั้นอีกที   แม้เนื้อเรื่องจะไม่ได้ถ่ายทอดให้เห็นแรงบันดาลใจที่เกิดจากเหตุการณ์สึนามิจริง ๆ   แต่หนังมันเปิดประเด็นให้คนดูตีความได้หลายอย่าง อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กในเขตที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ   กลับมีความสุขสัก 
Ghost of Asia (อภิชาติพงศ์)

ครั้ง  อาจจะเป็นความพยายามของผีสึนามิกลับมาเยี่ยมบ้าน และนักวิจารณ์อาจจะตีความผิดเองด้วยซ้ำ ก็เลยรู้สึกครึกครื้นขณะชมหนังเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

          Tsu ของปราโมทย์ แสงศร เป็นหนังที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดทั้งเนื้อหาและสไตล์ เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่สูญเสียบุคคลรอบข้างไปหมด พยายามหวนคืนสู่ทะเลอีกครั้ง รำลึกถึงวันคืนเก่าๆ มากกว่าจะตรมอยู่กับความทุกข์

          ในช่วงครึ่งแรกหนังไม่ให้เห็นอะไร นอกจากกล้องที่จับภาพบริเวณขาและเท้าของตัวละคร ขณะเดินขยับไปตามพื้นทราย ปราโมทย์จับภาพนี้มากกว่า 5 นาที ดูแล้วน่าจะเบื่อ แต่ความต่อเนื่องของจังหวะ มันกลับทำให้เราอยากติดตาม เราอยากค้นหาว่าสองเท้านั้นกำลังจะก้าวไปสู่ที่ใด

          หลังจากนั้นแล้ว เราก็ค้นพบคำตอบ ปราโมทย์สามารถคุมโทนจังหวะของหนังได้อย่างดี กับการถ่ายทอดความรู้สึกของเด็กชายที่มีต่อเหตุการณ์ และผลกระทบจากเหตุการณ์ หนังไม่โตกตาก ไม่ดัดจริต ไม่น้อยไป และเมื่อถึงจุดสุดท้าย เราเข้าใจความรู้สึกของเอิน ความรู้สึกดี ๆ ในการเก็บความทรงจำ ของเขา ที่น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อคนอื่นต่อไป

          Tsu เป็นหนังเรื่องเดียวที่ได้ถ่ายทอดให้เห็นพลัง และความรู้สึกเช่นเดียวกับที่คนไทยทั้งชาติเคยมีในขณะเกิดเหตุการณ์สึนามิ           และเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้ดิฉันรู้สึกดีว่า อย่างน้อย ดอกไม้ยังไม่ได้หายไปทั้งหมด …..

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.