สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
สรุปความเคลื่อนไหวของ "ที่รัก" ที่ปูซาน
  18 ตุลาคม 2553
 

 

แม้จะพลาดรางวัลไป โดยหนังชนะเลิศปีนี้ตกเป็นของหนังเกาหลีเสียส่วนใหญ่  แต่ "ที่รัก" ของศิวโรจน์ คงสกุล ก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวที่จัดได้ว่าแข็งขันเป็นอย่างยิ่ง

หนังเิ่ริ่มจากการฉายให้คนดู และเปิดให้ถาม - ตอบหนึ่งครั้ง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับหลากหลาย (โปรดอ่านได้จากรายงานข้างล่างนี้

นอกจากนี้ ศิวโรจน์ คงสกุล ได้นำ "ที่รัก" เข้าร่วมงานฉลองรับทุนเอซีเอฟ หรือเอเชียนซีเนม่าฟันด์   ซึ่งมีผู้กำกับชื่อดังก้องโลกอย่างอับบาส เคียรอสตามิ หรือหัวเฉี่ยวเฉี้ยนเข้าร่วมงานฉลองด้วย

ก็มาดูลุ้นต่อไปว่า ปีหน้าจะมีหนังไทยเรื่องไหนที่มีโอกาสลุ้นประกวดหรือรับทุนนี้เป็นเรื่องต่อไป

 

งานฉลองผู้ได้รับทุนเอเชียนซีเนม่าฟันด์ประจำปี 2553

 

โฉมหน้าเจ้าของผลงานเข้าประกวดสายนิวเคอเรนท์ประจำเทศกาลหนังปูซานครั้งที่ 15

   


รายงานตรงจากปูซาน เมื่อ “ที่รัก” เปิดตัว
  9 ตุลาคม 2553 / ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล รายงาน
   
 

 

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 15 เริ่มต้นเมื่อวันพฤหัสที่ 7 เป็นต้นมา แต่ผ่านไปแล้วกว่าสองวันผมถึงจะได้เดินทางไปร่วมด้วย โดยจุดประสงค์หลักในการไปครั้งนี้ ออกแนวไปเที่ยวมากกว่าตั้งใจจะไปเทศกาลจริงๆ จังๆ และหากปราศจากที่พักที่เอื้อเฟื้อโดยคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิตแห่งมูลนิธิหนังไทย ก็คงไม่ได้ไปเข้าร่วมกับเขาด้วย

หลายๆ คนคงจะทราบกันแล้วว่า เทศกาลหนังปูซานถือว่ามีบทบาทต่อวงการหนังนานาชาติระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่ผ่านมา ผลงานที่น่าสนใจหลายๆ เรื่องแจ้งเกิดจากที่นี่ เลยพลอยทำให้โปรแกรมเมอร์จากเทศกาลภาพยนตร์ที่อื่นๆ ต้องมาดูหนังที่เปิดตัวรอบปฐมทัศน์ที่นี่ เพื่อจะได้เลือกหยิบไปฉายในงานของตนตั้งแต่เนิ่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Wonderful Town ของอาทิตย์ อัสสรัตน์ ที่หลังจากเปิดตัวที่ปูซาน ก็ได้ไปเยื่อนเทศกาลต่างๆ กว่า 50 เทศกาล

และเชื่อว่าความสำเร็จของหนังเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายคนจับตามองภาพยนตร์เรื่อง Eternity หรือในชื่อไทยว่า “ที่รัก” ในฐานะผลงานจากบริษัทเดียวกัน มีโปรดิวเซอร์คนเดียวกันซึ่งก็คือโสฬส สุขุม รวมทีมงานหลังกล้องหลายๆ คนก็มาจาก Wonderful Town ส่วนตัวผู้กำกับ ศิวโรจณ์ คงสกุล แม้จะเป็นหน้าใหม่สำหรับหนังยาว แต่สำหรับหนังสั้น เขาก็กวาดรางวัลและคำชมจากหนังหลายเรื่อง

Eternity ก็เหมือนเพื่อนร่วมสายประกวด New Currents โดยฉายทั้งหมดหกรอบ ในวันที่ 9,11 และ 13 ตามลำดับ โดยฉายวันล่ะสองรอบในเวลาเดียวกัน มีเพียงวันที่ 9 ซึ่งเป็นรอบปฐมทัศน์โลกวันเดียวที่มีผู้กำกับมาร่วมพูดคุยกับผู้ชมด้วย และจากที่ทราบก่อนหน้านี้ บัตรของรอบนี้ (รวมถึงบัตรรอบอื่นๆ ด้วย) ขายหมดเกลี้ยง บัตรแจกเองก็หมดเช่นกัน ผู้เขียนเกือบไม่ได้ดูหนัง โชคดีที่ทีมงานของป็อบพิคเจอร์มีบัตรบางส่วนเก็บไว้ เลยได้เข้าไปดูด้วย

หลังจากที่หนังฉายจบ ในโรง 6 ซึ่งเป็นโรงสำหรับคิวแอนด์เอ มีเดินออกไปประมาณครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งซึ่งเป็นคนเกาหลียังคงอยู่รอ (การสัมภาษณ์เป็นการแปลจากภาษาไทยเป็นเกาหลี) และมีคนจากโรง 5 ซึ่งเลิกพร้อมกันมาสมบทด้วยอีกส่วน โดยนอกจากศิวโรจณ์ที่มาพูดคุยกับคนดูแล้ว โปรดิวเซอร์ของหนังทั้งสามท่าน (อาทิตย์,โสฬส และ ม.ร.ว อัมพรพล ยุคล) ก็ปรากฎตัวและตอบคำถามบ้าง

คำถามส่วนใหญ่ที่คนดูถามศิวโรจณ์ก็เป็นคำถามทั่วไป เช่น แรงบันดาลใจของเรื่องราว ศิวโรจณ์กล่าวว่าเป็นเรื่องของพ่อและแม่ของเขา แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเป็นอัตชีวประวัติ เป็นการเลือกจะนำเสนอในแง่มุมของเขาเอง แล้วก็มีคนถามว่า นักแสดงหลักสองคน ที่เล่นในช่วงหนุ่มสาว เป็นนักแสดงมืออาชีพหรือเปล่า ศิวโรจณ์ตอบว่าตัวผู้ชายเป็นเพื่อนของเขาเองที่ไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อน ส่วนตัวผู้หญิงก็เป็นคนธรรมดาเช่นกัน ลักษณะโดยรวมของคำถาม ไม่ได้แสดงความสับสนต่อเนื้อเรื่องเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังคงจับความเกี่ยวพันระหว่างพาร์ตแรกของหนัง ซึ่งเป็นเรื่องของวิญญาณ กับช่วงหลังๆ ไม่ออก

สำหรับคำวิจารณ์ คุณโรเจอร์ ผู้คัดเลือกหนังจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแคลมองต์ เฟอรองต์ ประเทศฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า แม้ในช่วงแรกจะมีความเนิบอยู่มาก และช่วงหลังโดยเฉพาะช่วงท้าย อาจจะเดินเรื่องเร็วเกินไป จนจับรายละเอียดที่ผู้กำกับใส่ไว้ไม่ทันบ้าง แต่ภาพรวมของหนังก็จัดได้ว่าน่าสนใจ สไตล์ของศิวโรจณ์ก็มีลักษณะเฉพาะ บรรยากาศของหนังช่วยส่งเสริมให้หนังน่าติดตามมากขึ้น เมื่อดูจบแล้ว ระหว่างที่ฟังเพลง End Credit จะค่อยๆ ย้อนคิดถึงเรื่องราวทั้งหมดอีกที แต่โรเจอร์ก็แสดงความเห็นอีกด้านหนึ่งว่า หากคนดูไม่ได้รับรู้เนื้อเรื่องมาก่อน หนังเรื่องนี้ก็อาจจะกลายเป็นของยากได้เช่นกัน

ส่วนหนุ่มเกาหลีที่ติดตามหนังไทยอยู่บ้างท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ในบรรดาหนังสามเรื่องที่เขาดูในวันนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุด และเขาไม่รู้สึกสับสนต่อการเล่าเรื่องราวที่แบ่งเป็นสามส่วนแต่อย่างใด ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการที่เขาทราบเนื้อเรื่องมาก่อนล่วงหน้า

ส่วนความเห็นจากกรรมการและนักวิจารณ์ยังคงเงียบอยู่ อาจจะต้องรอให้เทศกาลผ่านไปนานกว่านี้ก่อน

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.