k
 สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ลำดับการและข้อสังเกตเกี่ยวกับ ทุนหนังไทย  200 ล้าน และงบนเรศวร 430 ล้าน

  5 เมษายน 2553 / อัญชลี ชัยวรพร
  แก้ไขครั้งที่ 1 / 4 มิถุนายน 2553
  LINK หลักเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละหมวดหมู่
  เหตุผลที่ให้ทุนกับหนังทั้งหมด 49 โปรเจ็คจากคณะกรรมการ 21 ท่าน
  การพบปะระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับผู้ได้รับทุน
  facebook  ถกเรื่อง ทุนหนังไทย - ไทยเข้มแข็ง 
  รายชื่ออผู้ได้ทุนรอบแรกและรอบสอง โปรดติดต่อข้อมูลได้จากเว็บ
   
 

กรณีทุนหนังไทย กับ งบหนังนเรศวร 430 ล้าน  กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และคงจะกลายเป็นประเด็นร้อนที่จะมีเหตุตามมาในหลายวันต่อไปนี้

ทางเว็บตัดสินใจลำดับการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก  เท่าที่เราทราบ  โดยได้แยกข้อมูลในส่วนที่เป็นความจริง  กับส่วนที่เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ในหัวข้อว่า “ข้อสังเกตุ” เพื่อให้ท่านพิจารณาประกอบ  และตัดสินว่าควรจะเชื่อในส่วนใด  มากน้อยเพียงใด

ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด  โปรดแจ้งมาทางเว็บ  โดยเราจะนำไปแก้ไขที่ ส่วนที่แก้ไข  แทนเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน 

27 พฤษภาคม 2553   คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งสนับสนุนภาพยนตร์ชุดใหญ่ หรือ ที่เรียกกันง่าย ๆว่า บอร์ดใหญ่ ตัดสินใจตัดงบที่ให้กับนเรศวรออก 53,903,098 บาท โดยสนับสนุนให้แค่ 46,096,902 บาท ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกระทรวงพาณิชย์ ด้วยเป็นงบที่ซ้ำซ้อน

สำหรับงบนี้จะพิจารณาให้กับโครงการที่เคยนำเสนอมาทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะภาพยนตร์เท่านั้น   โดยคณะอนุกรรมการจะพิจารณาทุนใหม่ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคมน

3 พฤษภาคม 2553 สศร. จัดประชุมแถลงข้อข้องใจกับกลุ่มผู้คัดค้าน มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งผู้กำกับหนังกระแสหลักและอิสระ  อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

7 เมษายน 2553  สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ทราบเรื่องความไม่พอใจของผู้ไม่ได้รับทุนส่วนหนึ่ง ได้เรียกให้มีการประชุมฉุกเฉินในวันที่ 8 เมษายน แต่ก็ถูกยกเลิกไป

4 เมษายน 2553  thaicinema.org ตัดสินใจโทรสอบถามผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรม  ว่า งบที่สอง จำนวน 280 ล้านนั้น ยังมีอยู่หรือไม่  เนื่องจากมีข่าวลือมาตลอดในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ว่า งบนี้ไม่มีแล้ว

ท่านตอบว่า งบ 280 ล้านในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมไม่มีแล้ว

2 เมษายน 2553 ทางเว็บพยายามติดต่อกับ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งวัน  แต่ไม่ได้รับการสัมภาษณ์  โดยท่านได้ให้เลขาส่ง มติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มาให้แทน   หลังจากที่เราบอกว่า จำเป็นที่จะต้องบอกกับสาธารณาชน ว่าได้ติดต่อกับท่านแล้ว  แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

1 เมษายน  2553 รายการ เนชั่นแชนเนล สัมภาษณ์ความคิดเห็นของคนในวงการภาพยนตร์ใน เรื่อง “ทุนหนังไทย หนังเพื่อใคร”  ในตอนท้าย คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ได้ต่อสายตรงถึง นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง งบ 330 ล้านบาท

ทางอธิบดีได้ตอบว่า งบ 330 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติผ่าน มติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม สำหรับ โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย เพื่อเชิดชูพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวร  ท่ามกลางความมึนงงของผู้ร่วมรายการทั้งหมดในวันนั้น

ข้อสังเกตุ ไม่มีคณะกรรมการที่จะพิจารณาให้ทุน 330 ล้าน แก่ “โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย” เฉกเช่นเดียวกับ ทุนหนังไทย 200 ล้านที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  ซึ่งตั้งคณะกรรมการถึง 20 ท่าน  รวมเลขานุการอีก 1 ท่าน เป็น 21 ท่าน

31 มีนาคม 2553 เว็บลงรายชื่อผู้ได้รับทุนทั้งหมด 49 โปรเจ็ค

ข้อสังเกตุ ผู้ขอทุนไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน  และไม่ได้ีรับการติดต่อจากกระทรวงวัฒนธรรมเลย แม้กระทั่งการประชุมวันที่ 5 เมษายน 2553 

30 มีนาคม 2553  กระทรวงวัฒนธรรมจัดแถลงข่าว เรื่อง 49 โปรเจ็คภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากงบ 200 ล้าน  รวมทั้ง ภาพยนตร์เรื่อง นเรศวร ได้งบ 100 ล้านบาท  โดยประกาศว่าจะเรียกชื่อผู้ได้รับทุนมาประชุมกันในวันที่ 5 เมษายน 2553

ข้อสังเกต  การแถลงข่าวดังกล่าว  สื่อมวลชนสายภาพยนตร์ หรือแม้แต่ผู้ที่สมัครทุนไม่ทราบเรื่อง (แม้แต่ thaicinama.org ก็ทราบข่าวในวันรุ่งขี้น)

9 มีนาคม 2553 ครม. อนุมัติงบโครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย จำนวน 330 ล้านบาท 

การอนุมัติงบนี้ อยู่ภายใต้ มติครม. เรื่องที่ 21 การบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555  มีดังต่อไปนี้

 

    ที่

โครงการ

หน่วยงาน

วงเงินล้านบาท)

1

โครงการต้นแบบของพสกนิกรไทย “ในหลวง” กับ “การสร้างสรรค์”

ทป./พณ.

50.00

2

โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

ทป./พณ.

330.00

3

โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทป./พณ.

50.00

4

โครงการส่งเสริมและต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทป./พณ.

60.00

5

โครงการเสริมสร้างความเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทป./พณ.

90.00

6

โครงการ Thailand Northern Handicraft and Financial Expo 2010   เปิดประตูสินค้าหัตถกรรม สู่เวทีโลก

สป./กค.

30.00

7

โครงการสร้างภาพลักษณ์ใหม่สินค้าไทยสู่สากล

ทป./พณ.

50.00

8

โครงการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับประเทศ

ทป./พณ.

20.00

9

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

ทป./พณ.

20.00

10

โครงการการพัฒนาศักยภาพดนตรีสู่ความเป็นเลิศ และพัฒนาศักยภาพเพื่อการแข่งขัน

ม.มหิดล/ศธ.

55.00

11

โครงการ “ศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”

ม.ศิลปากร/ศธ.

50.00

12

โครงการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ใน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ทป./พณ.

75.00

13

โครงการส่งเสริมศักยภาพผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสมุนไพรไทยเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก

สอ./ พณ.

20.00

14

โครงการพัฒนาทักษะเชิงสร้างสรรค์และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Product)

สอ./ พณ.

50.00

15

โครงการส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่สากล

พค./พณ.

30.00

16

โครงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้สู่ประชาชน

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์/วธ.

20.00

รวม

 

1,000.00

 

 
สำหรับแหล่งเงินทุนของโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ เห็นควรอนุมัติจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  พ.ศ. 2552 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดสรรเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ต้องเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง 6 จึงขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการดังกล่าวข้างต้นและจัดสรรวงเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของรายละเอียด กิจกรรม และค่าใช้จ่ายของโครงการ โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติการดำเนินโครงการจะต้องส่งข้อมูลใหสำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อขอจัดสรรเงิน ซึ่งรวมถึงแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติภายใน 15 วันทำการ และหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว หน่วยงานจะต้องลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ
อนึ่ง คณะกรรมการฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรพิจารณาในเรื่องการบริหารจัดการรายได้ที่จะเกิดขึ้น ความชัดเจนในการนำส่งรายได้เป็นรายได้แผ่นดิน เช่น รายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์ รายได้จากลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เป็นต้น

  

ข้อสังเกต : 16 โครงการภายใต้ งบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จำนวน 1,000 ล้านบาทนั้น  เป็นของกระทรวงพาณิชย์ 12 โครงการ โดยอยู่ภายใต้ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึง 7 โครงการ  กระทรวงการคลัง 1 โครงการ  กระทรวงศึกษาธิการ 2 โครงการ และกระทรวงวัฒนธรรม 1 โครงการ   

ในส่วนที่อาจจะเกี่ยวข้องกับ หนังพระนเรศวร คือ โครงการที่ 2 โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย  ซึ่งไม่ระบุว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องใด  อาจจะเป็นเรื่องใดก็ได้  

ปัญหาก็คือ คงไม่มีเรื่องไหนสามารถส่งเรื่องขอทุนนี้ได้ทัน  เพราะในย่อหน้าต่อมาได้กำหนดไว้ว่า “หน่วยงานที่ได้รับอนุมัติการดำเนินโครงการจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อขอจัดสรรเงิน ซึ่งรวมถึงแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติภายใน 15 วันทำการ และหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว หน่วยงานจะต้องลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ

สรุปก็คือ โครงการอนุมัติไปแล้ว  สำนักงบประมาณจะเซ็นชื่อภายในวันที่ 15 เมษายน เป็นอย่างช้า  และจะมีการเซ็นสัญญาภายในวันที่ 30 เมษายน เป็นอย่างช้า

ไม่มีใครในวงการหนังทราบเรื่องนี้

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ทำไมโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์  ไม่ไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม  แต่เป็นกระทรวงพาณิชย์  ทั้งที่มีโครงการ “ศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ก็อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม

ประเด็นสุดท้าย การรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นจริง

24 ธันวาคม 2552  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หน้าเศรษฐกิจ พาดหัวข่าวว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลิ่นโชย  ประจาน 7 โครงการรอผลาญงบ  ชี้สอดไส้สร้างหนังนเรศวร 3-4”

 

คลิกขยายภาพเพื่ออ่านได้

 

 

 

ข้อสังเกต เมื่อสอบถามไปยังหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้แจ้งให้ไปขอรายละเอียดกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง  ทางเราได้พยายามติดตามเรื่องนี้ตลอดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2552  แต่เข้าไม่ถึง  เนื่องจากเว็บเป็นเพียงสื่อทางเลือก  จนกระทั่งวันที่ 22 มกราคม  2553 เราขอคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งกล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ถูกยกออกจากทางกรมแล้ว เนื่องจากโครงการจะไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรมมากกว่า และทางกระทรวงการคลังก็มีคณะกรรมการที่จะไม่มอบงบซ้ำซ้อนกัน

 

17 ธันวาคม 2552 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ “โครงการและกิจกรรมส่งเสริมภาพยนตร์และวิดีทัศน์  ตามระเบียบคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ  เรื่อง มาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2552”  ซึ่งมีคนในวงการหนังทั้งกระแสหลักและกลุ่มอินดี้  เข้าร่วมประชุมเต็มห้อง กว่า 200 คน

สำหรับรายละเอียดให้อ่านจากข่าวนี้ (อยู่ท้ายหน้า)  โดยสาระตอนหนึ่งกล่าวว่า งบที่จะนำมาใช้ส่งเสริมส่วนนี้มีทั้งสิ้น 480 ล้านบาท  โดยงบก้อนแรกเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาทจะมาก่อนในเร็ว ๆ นี้  รอเพียงการเซ็นอนุมัติอย่างเป็นทางการเท่านั้น  ซึ่งถ้างบมาแล้ว  จะมีการเปิดรับอย่างเป็นทางการ  และให้เวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้นนับจากวันประกาศ  การแถลงข่าวในครั้งนั้นก็ต้องการให้ผู้ที่สนใจเตรียมตัวเขียนโครงการไว้ก่อน

ส่วนงบก้อนหลัง จำนวน 280 ล้านบาทจะตามมาในภายหลัง

ข้อสังเกต ในช่วงร่วม 5 เดือน  ตั้งแต่การแถลงข่าวของ นเรศวร และโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จนถึงการประกาศโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  มีข่าวลือในวงการหนังมาตลอดว่า หนังนเรศวรจะได้งบไปทั้งหมด  โดยไม่มีใครทราบว่า งบที่นเรศวรได้ยื่นกับรัฐบาล  หรือกับกระทรวงวัฒนธรรม เป็นจำนวนเงินเท่าไร  ตัวเลข 480 ล้านบาท  เพิ่งจะได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการจากเอกสารรายชื่อผู้ขอทุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จากการติดตามข้อมูล  ตัวเลข 480 ล้านที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจะได้มาเพื่อสนับสนุนหนังไทย  โดยแบ่งเป็น 2 ครั้ง คือ งบครั้งแรก 200 ล้าน และครั้งที่ 2 จำนวน 280 ล้านนั้น อาจจะุบังเอิญไปตรงกับงบของนเรศวร  เพราะตอนแรกงบในส่วนนี้จะมีสูงถึง 1,100 ล้านบาท  แต่ถูกตัดไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงเท่านี้

31 สิงหาคม 2552 ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลเปิด โครงการครีเอทีฟ ไทยแลนด์ (Creative Thailand ไทยสร้างสรรค์ ไทยเข้มแข็ง) อย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลได้ประกาศพันธสัญญา 12 ข้อ ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้งบ 20,130 ล้านบาท

ข้อสังเกต : จากเฟซบุ๊คของ นายอลงกรณ์ พลบุตร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  (ซึ่งได้เดินทางไปเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 นี้ด้วย อ่านข่าวได้ที่นี่)  ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการไทยสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ ไทยแลนด์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 15 อุตสาหกรรม โดยดูจากจุดแข็งและศักยภาพของประเทศไทย เช่น บันเทิง ของขวัญ  ของเล่น  แฟชั่น  ของใช้ในครัวเรือน  ภัตตาคาร และอื่น ๆ

4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ว่า ได้แก่

(1) กลุ่มวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่น งานฝีมือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ธุรกิจอาหารไทย และการแพทย์แผนไทย
(2) กลุ่มศิลปะ เช่น ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์
(3) กลุ่มสื่อ เช่น ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ กระจายเสียง เพลง
(4) กลุ่มงานสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น ออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา และซอฟต์แวร์

8 สิงหาคม 2552  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานแถลงข่าว รัฐบาลสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ 4 อ่านข่าวได้ที่นี่

 

 

ข้อสังเกต : ก่อนหน้านั้น เป็นที่ทราบกันมาตลอดว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้นจะมีเพียง 3 ภาค  และในการแถลงข่าวครั้งนี้  เพิ่งจะมีการประกาศเป็นครั้งแรกว่ามี 4 ภาค     

สำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น  ตอนแรกมิได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามีกี่ภาค  หนังเริ่มเปิดถ่ายทำตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2547 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  ซึ่งในตอนนั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานของทักษิณ ชินวัตร  ในงบประมาณ 700 ล้านบาท (ข้อมูลจาก ข่าวแจกภาษาอังกฤษจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  แต่ในทางปฏิบัติ  งบประมาณน่าจะมาไม่ถึง  คาดว่าประมาณ 520 ล้านบาท   อ่านข่าวเปิดหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่    

สองปีต่อมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 ท่านมุ้ย  ให้สัมภาษณ์ว่าหนังจะมี 3 ภาค 

ภาค 1 ฉายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 และ ภาค 2 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550

อ่านข่าวทุกอย่างเกี่ยวกับ นเรศวร ได้ที่นี่

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.