การเคลื่อนไหวของวงการหนังไทยในปีนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่สวนกระแสกันหลายอย่าง ขณะที่โปรเจ็คใหญ่ของผู้กำกับดังหลายคนถูกระงับในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาทิ โคตรมหาพิการ โดย Mike ประจำประเทศไทยอย่างยุทธเลิศ สิปปภาค เนื่องจากการชะลอตัวของหนังไทย (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)
แต่กลับกลายเป็นว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้กำลังจะมีบริษัทหนังเปิดใหม่เพียบ ทั้งระดับค่ายใหญ่ที่วางแผนจะผลิตหนังหลายเรื่อง กับบริษัทที่จะเน้นผลิตหนังอิงตามชื่อผู้กำกับเป็นหลัก
ก่อนที่จะแจกแจงบริษัทใหม่ ๆ ในปีนี้ มาดูกันสิว่า ขณะนี้มีค่ายหนังและบริษัทหนังกี่แห่งที่ทำหนังไทยบ้างในขณะนี้
ค่ายหนัง หรือที่สามารถเปรียบได้คู่ขนานกับ studio ของฮอลลีวู้ดนั้น คงจะต้องยกยอดให้ค่ายขนาดใหญ่มากที่ยึดตลาดมาแรมปี คือ สหมงคลฟิลม์ ซึ่งผลิตหนังหรือจัดจำหน่ายหนังปีหนึ่งเกือบ 20 เรื่อง ตามมาด้วย จีทีเอช อาร์เอสฟิลม์ พระนครฟิลม์ กับกำลังผลิตปีละประมาณ 6 เรื่องขึ้นไป
ส่วนบริษัทขนาดกลาง ก็มีมือเก่าผลิตหนังไทยมาตลอดอย่าง ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น กับบริษัทใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการบูมของหนังไทย บริษัทที่ทำกิจการหลายอย่าง อาทิ โมโนฟิลม์ (ทำเอาผู้ซื้อหนังไทยในญี่ปุ่นงง ๆ) กับค่ายเน้นตลาดวีซีดีอย่าง ไร้ท์บิยอนด์, เอจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ BOX OFFICE ซึ่งผลิตหนังร่วมปีละ 3-4 เรื่อง
ยังไม่นับรวม เอ็นจีอาร์ ที่ตอนแรกเน้นผู้กำกับอย่างพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ และเอกชัย เอื้อครองธรรม ก็เริ่มผลิตหนังเยอะขึ้นในปีนี้
จากรายได้มหาศาลของการสร้างภาพยนตร์ ที่มีลู่ทางการสร้างรายได้มากมาย แม้รายได้ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของหนังหลายเรื่อง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก แต่ถ้ารวมรายได้จากตลาดวีซีดี และตลาดในต่างประเทศ ก็ดูเหมือนว่าหนังไทยส่วนใหญ่สามารถนำรายได้เข้ากระเป๋าบริษัทต่าง ๆ ได้ไม่เลวนัก โดยเฉพาะในตลาดวีซีดี ซึ่งมีคนไทยในต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นแฟนหนังไทยตัวยง
จึงทำให้เกิดนายทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนนายทุนเดิมก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ทั้งการตลาด การทำประชาสัมพันธ์ ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพของตัวภาพยนตร์ รวมทั้งค้นหาวิธีการนำเสนอใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ชมไว้
|
ธนภณ มลิวัลย์ ทายาทเจ้าพ่อหนังแอ๊คชั่นไทยในอดีต เพชรพันนา โปรดักชั่น |
เมื่อปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2550 เกิดบริษัทอิสระ หรือจะเรียกว่า อินดี้ ได้ก็ไม่ผิดแผกนัก เพียงแต่ว่าเป็นงานอินดี้ที่แตกต่างจากงานของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล อาทิตย์ อัสสรัตน์ หรือพิมพกา โตวิระ อินดี้เข้ากรอบจึงเริ่มเปิดตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟิล์มเฟรมโปรดักชั่นส์ ของคุณธนภณ มลิวัลย์ ทายาทเจ้าพ่อหนังแอ๊คชั่นไทยในอดีต คุณโชคชัย เพชรพันนา (เพชรพันนา โปรดักชั่นส์) ที่ส่ง Brave กลัวกล้าหยุดโลก มาเอาใจคอบู๊ และอีกบริษัทคือ มีเดียสแตนดาร์ด ของ ดร. วัลลภา พิมพ์ทอง ผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทุ่มเงินส่วนตัวกว่า 80 ล้าน นำ ประวัติพระพุทธเจ้า มาสร้างใหม่เป็นแอนิมิชั่น ฝีมือคนไทย
และในปี พ.ศ. 2551 ยังมีบริษัทหน้าใหม่เตรียมส่งหนังเข้าฉาย เริ่มด้วย ANA Film Network บริษัทโปรดักชั่นโฆษณาที่หันมาลงทุนทำหนังเรื่องแรกอย่าง แปดวัน แปลกคน อลังการ สตูดิโอ ของคุณประสม เรืองศรี ที่นำประสบการณ์ในวงการมาลุยเปิด ถอดรหัสวิญญาณ แถมด้วย ทเว็นตี้จูน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ของคุณทรนง ศรีเชื้อ ที่กำลังเร่งผลิตภาพยนตร์เรื่อง TSUNAMI เพื่อให้ทันเข้าฉายในปีนี้ให้ได้
เพราะบริษัทที่เปิดตัวขึ้นมากมาย ทำให้หลายแห่งตัดสินใจจับขั้วกัน เหมือนสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ ด้วยความคิดที่ว่า ยิ่งรวมกันยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ดูตัวอย่างที่เกิดจากการรวมกันของ แกรมมี่, ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และหับโห้หิน จนได้แบรนด์ใหม่อย่าง GTH ที่แข็งแรง การจับขั้วใหม่ในวงการที่ว่าคือ บริษัทแรก หนังหนุก เป็นบริษัทร่วมของ 4 พันธมิตร นำโดยคุณสมศักดิ์ ทรงธรรมากุล (เอจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์), คุณสยามรัศมิ์ เลาหสุขเกษม (BOXOFFICE), คุณสุรเชษฐ์ แก้วธนกาญจน์ (กันตนา) และคุณสุริยัน บุญยมโนนุกุล (พรีเมี่ยมดิจิตอล) กับหนังผีที่นำเนื้อหาและดาราจากละครทีวีมาใช้ในการทำหนังเรื่องแรก สะใภ้บรื๊อ
|
วิชช์ เกาไศยนันท์ เมื่อครั้งทำหนังฮอลลีวูด |
ล่าสุด ที่กำลังจะเปิดตัว และกำลังเป็นที่น่าจับตามอง ก็คือ CINEMA PARADISO ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่าง คธา สุทัศน์ ณ อยุธยา (สยามสตูดิโอ) เจ้าพ่อวงการโฆษณาระดับแนวหน้าของไทย และ วิชช์ เกาไศยนันท์ ผู้กำกับฮอลลี่วู้ด ที่ขนเงินดอลกลับมาผลิตภาพยนตร์ในบ้านเกิดอีกครั้ง
บริษัทต่อไปที่จะกล่าวถึงถูกจับตามองมาตลอด ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือเครือ MAJOR ที่มีข่าวว่าจะสร้างภาพยนตร์ของตัวเองมาช่วงหนึ่งแล้ว ไม่นานเกินรอคงได้ชมผลงานของบริษัทนี้กัน สุดท้ายกับ ทราฟฟิก คอร์เนอร์ชื่อคุ้นๆ เหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสื่อโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ใช่แล้ว เพราะทางผู้บริหารอาจลงมาร่วมทำหนังกับเมเจอร์ด้วย
จากสถิติจำนวนบริษัทค่ายหนังไทยในปัจจุบัน คงเป็นเครื่องยืนยันอย่างดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตลาดภาพยนตร์ไทยในอนาคตว่าจะสดใสอย่างแน่นอน
เอาเป็นว่าใครมีฝีมือ ลองหยิบพล๊อตเรื่องไปคุยกับบรรดานายทุนเหล่านี้ดู แต่เนื้อหาและคุณภาพจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูอีกที |