สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ชมรมวิจารณ์บันเทิงจัดงานเล็กๆ ต้อนรับเดือนมีนาหน้าหนาว
  5 มีนาคม 2551/ ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล
  LINK : ตารางเปรียบเทียบรางวัลทั้งหมด
 

งานประกาศผลของชมรมวิจารณ์บันเทิง แตกต่างเป็นหน้ามือและหลังมือกับงานสุพรรณหงส์ เพราะมักจะจัดงานเล็กๆ และเรียบๆ เสมอ ดูอบอุ่นเป็นกันเองอยู่เสมอ เมื่อก่อนประมาณหลายปีได้ก็เคยมีการบันทึกเทปแล้วนำมาออกสถานีโทรทัศน์ แต่หลังๆ อาจจะด้วยเหตุที่งบประมาณน้อย ก็เลยเหลือแต่การจัดงานอย่างเดียวเฉยๆ สำหรับการประกาศผลประจำปี 2550 ทางผู้จัดได้เลือกเอาวันที่ 5 มีนาคม 2551 เป็นวันประกาศผล และจัดกันที่โรงแรมมิราเคล แกรนท์ หลักสี่  ซึ่งทำเอาผมตื่นเต้นมาก เพราะหลักสี่เป็นดังดาวอังคารสำหรับผม 

อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน เคยเล่าให้ฟังว่า งานของชมรมวิจารณ์ดูสบายกว่าและทางการน้อยกว่างานสุพรรณหงส์  ไม่มีการเดินพรมแดงให้วุ่นวายอะไร (แต่ว่าก็มีดารามาร่วมงานด้วยน้อยมาก) ก่อนจะเริ่มงานเล่าผู้กำกับก็จับกลุ่มคุยตามจุดต่างๆ อย่างออกรส 

ช่วงนี้คนที่สื่อให้ความสนใจมากที่สุด กลับเป็นพี่อุ๋ย นนทรีย์ ที่ปีนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังเรื่องไหนเลย แต่สื่อไม่ว่าทีวีหนังสือพิมพ์ต่างรุมสัมภาษณ์ไม่หยุดหย่อน เมื่อเวลาผ่านไป ดาราก็ค่อยๆ ทยอยกันมา  แอบเซ็งเล็กน้อยเมื่อไปยืนฟังนักข่าวสัมภาษณ์คุณสินจัยเรื่องลูกชายของเธอมีกิ๊ก

สปิริตดี อุ๋ย นนทรีย์ มาร่วมงาน แม้จะไม่มีหนังเข้าชิง

ทีมจีทีเอช

ทีมอาร์เอส

ทีมรักแห่งสยาม


คุณประวิทย์ แต่งอักษร หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน เล่าให้ฟังว่ากว่าจะได้ผลรางวัลมาก็ผ่านการถกเถียงกันอย่างดุเดือด มากกว่าทุกสถาบันเพราะว่ากรรมการทุกคนรู้จักกัน ไม่ต้องเกรงใจกันและแสดงความคิดเห็นได้ตรงไปตรงมามากกว่า ส่วนสถาบันอื่นอาจจะรักษามารยาททางสังคมพอสมควร ซึ่งเป็นบุคลิกที่ต่างไปของแต่ล่ะรางวัล

นอกจากนี้  คุณประวิทย์ยังอธิบายถึงการทำงานของชมรมวิจารณ์บันเทิงว่า “มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นตรงที่ คณะกรรมการเป็นกลุ่มเดิมมาตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าผมจำไม่ผิดตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เนี่ย  ผมคิดว่าจนถึงตอนนี้คนที่ร่วมตัดสินมาตั้งแต่ตอนนั้นน่าจะมีสัก 70% น่ะ มันก็เป็นรสนิยมของคนกลุ่มเดิมที่มีมาตลอดเวลา เกณฑ์การตัดสินก็คล้ายคลึงกันใช้บรรทัดฐานทางศิลปะของแต่ล่ะสาขาเป็นตัวพิจารณา เช่น สาขาดนตรีประกอบก็ดูว่ามันมีบทบาทอย่างไรต่อการเล่าเรื่อง แต่ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือว่า รางวัลของชมรมฯ เนี่ย ผมคิดว่าเขาจำกัดไว้ 11 รางวัลก็คือเท่าที่ศักยภาพของคนดูหนังคนหนึ่ง จะสามารถตัดสินได้หรือประเมินคุณค่าได้ สังเกตุได้ว่าเราจะไม่ล่วงไปที่เอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม หรือบันทึกเสียงซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นงานเทคนิคเคิลเกินไป  ตัดสินแค่ในแง่ศิลปะ ที่นี่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ล่ะคนว่ามีพื้นฐานแค่ไหน ซึ่งข้อได้เปรียบของชมรมฯ คือเกือบทุกคนเป็นนักวิจารณ์ คลุกคลีกับการดูหนังอยู่แล้ว มันไม่ใช่เป็นฤดูกาลที่มาตัดสินน่ะ ก็วิเคราะห์วิจารณ์ประเมินคุณค่าอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร”

คงเป็นสถานที่เดียวที่แฟน ๆ จะขอลายเซ็นดาราได้

ยิ้มหวานครับ ก็เลยขอรูปใหญ่กว่าปรกติ

 

ตัดมาที่บรรยากาศภายในงาน ข้อแตกต่างอีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ  แฟนคลับสามารถมาถ่ายรูปมาริโอ้หรือพิชได้โดยไม่ลำบากอะไร สองพระเอกของ “รักแห่งสยาม” ก็ดูจะยิ้มแย้มต้อนรับแฟนคลับเป็นอย่างดี  อีกด้านนึง ป๋าเทพ,ซูโม่กิ๊ก,คุณเรียว ผู้กำกับ “เมล์นรก หมวยยกล้อ” ก็เมาท์กันเพลินกับคุณสนานจิตต์ บางสะพาน โดยสักพักหนึ่งก็มีคุณจินตรา สุขพัฒน์มาร่วมวงด้วย

ในที่สุดการประกาศผลก็เริ่มตอนบ่ายสามโดยสามพิธีกร คุณทศพล,คุณวิชัยและคุณคมสัน โดยคุณทศพลประเดิมด้วยการนั่งคุกเข่ากราบพื้นเวที  เลียนแบบใครบางคนที่ไปอยู่เมืองนอกมาพักใหญ่  ทั้งสามคนก็ช่วยกันปล่อยมุขฮาบ้างไม่ฮาบ้าง ส่วนการประกาศผลก็เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่น่าเบื่อ  ไม่มีการแสดงประกอบเพลงประหลาดๆ ออกมาให้เห็น จะมีก็แต่แซวและหยอกผู้รับและผู้เชิญรางวัล อย่างเช่นเจ้าตัวเล็ก นักแสดงจากเรื่อง “ดรีมทีม ฮีโร่ฟันน้ำนม” ที่เชิญรางวัลด้วยสีหน้าตื่นเต้นให้พวกพี่บนเวทีได้หยอกว่า “นี่ตื่นเต้นยิ่งกว่าคนได้รางวัลเสียอีก” หรือทราย เจริญปุระที่ไปรับรางวัล HBO ให้หนัง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชฯ” ที่หยุดคุยกับคุณทศพลบนเวที จนโดนแซวว่าคุณทศขอเบอร์คุณทราย 

แต่ใช่ว่าจะมีแต่อะไรดีๆ นะครับ  หลังคุณอัครารับรางวัล ก็จะมีการถ่ายรูป นักข่าวดูเหมือนจะส่งเสียง “มองกล้องทางนี้ครับ” “ขอกล้องนี้ด้วยค่ะ” เยอะและดังไปหน่อย ขณะที่บนเวที คุณนพพล โกมารชุนกำลังประกาศรางวัลเกียรติยศ  พี่นก สินจัยถึงกับต้องจุ๊ปากให้ทุกคนเบาลง ก่อนที่คุณสนานจิตต์จะมาพาเหล่านักข่าวย้ายมุมถ่าย  เรื่องแบบนี้นักข่าวควรจะระวังให้มาก

จุ๊ ๆ

 

ผลตอบรับรางวัลทุกรางวัลก็กิ๊วก๊าวกันทั่วหน้า ตั้งแต่ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงยังประกาศผล  เพราะทุกคนรู้ดีว่าผลรางวัลของที่นี่เชื่อถือได้  อย่างน้อยก็มีการอธิบายว่าบทภาพยนตร์แต่ล่ะเรื่องเข้าชิงได้เพราะอะไร แต่ที่มีเสียงเชียร์มากที่สุดหนีไม่พ้นไชยากับรักแห่งสยาม และมีเสียงกรี๊ดดีใจด้วยความเซอร์ไพร์สเล็กๆ กับ Final score แต่เชื่อได้แน่ครับว่าคงไม่มีใครนินทากับผลรางวัลหลังงานจบแน่ๆ

สำหรับผลรางวัลทั้งหมด ตรงนี้ได้เลยครับ

รวมรางวัลทั้งสิ้น 11 รางวัล แต่รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม มีหนังได้รางวัล 2 เรื่อง

รักแห่งสยาม ได้ 6 รางวัล
ไชยา ได้ 4 รางวัล
พลอย และ Final Score ได้เพียงเรื่องละ  1  รางวัล

สหมงคลฟิลม์ ได้ 6 รางวัล จากเรื่อง รักแห่งสยาม
ไฟว์สตาร์ ได้  5 รางวัลจากเรื่อง ไชยา และ พลอย
จีทีเอช ได้ 1 รางวัล จาก Final Score

 

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
รักแห่งสยาม โดย สหมงคลฟิล์ม

ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จาก รักแห่งสยาม

ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม
อัครา อมาตยกุล จาก ไชยา

ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
สินจัย เปล่งพานิช จาก รักแห่งสยาม

 

 

 

ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
สนธยา ชิตมณี จาก  ไชยา

ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ จาก รักแห่งสยาม

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
รักแห่งสยาม – ชูเกียรติ  ศักดิ์วีระกุล

กำกับภาพยอดเยี่ยม
พลอย – ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์     พลอย เคยได้รับรางวัลเดียวกันนี้ที่เทศกาลหนังคืนเดือนมืด อ่านได้ที่นี่

ลำดับภาพยอดเยี่ยม
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ - ชาติชาย เกษนัส, สราณี วงศ์พันธ์

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ได้ 2 เรื่อง
ไจแอนท์ เวฟ จาก ไชยา และ กิตติ เครือมณี - รักแห่งสยาม

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
ไชยา - ณัฐนิธิ เศรษฐการวิจิตร

รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ (Lifetime Achievement Award) ได้แก่ อดุลย์ ดุลยรัตน์

รางวัล HBO Award สำหรับภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในรอบปีได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ภาคองค์ประกันหงสา” ของพร้อมมิตรภาพยนตร์

   

รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง

  5 กุมภาพันธ์ 2551
   
 

นคร วีระประวัติ ประธานชมรมวิจารณ์บันเทิงแถลงข่าวการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมครั้งที่ 16 ประจำปี 2550 ของชมรมวิจารณ์บันเทิง โดยคณะทำงานด้านพิจารณาตัดสินภาพยนตร์ไทยซึ่งมี ยิ่งศักดิ์ โควสุรัตน์ หรือ “อีแร้ง” เป็นประธานพร้อมด้วยสมาชิกนักวิจารณ์ด้านภาพยนตร์ของชมรมได้ร่วมกันพิจารณา

มีภาพยนตร์ไทยที่ผ่านการพิจารณารวมทั้งหมด 44 เรื่อง ซึ่งเปิดฉายยังโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550

รักแห่งสยาม 11 รางวัล (13 ครั้ง ซ้ำในสายนักแสดงนำชาย และสมทบหญิง)
ไชยา 9 รางวัล
พลอย 8 รางวัล
เมล์นรก หมวยยกล้อ 6 รางวัล (นักแสดงสมทบเสนอ 2 ชื่อ)
แฝด 4 รางวัล
Final Score, บอดี้ ศพจองเวร,Me Myself และ เพื่อนกูรักมึงว่ะ เรื่องละ 3 รางวัล
บ้านผีสิง 2 รางวัล

ไฟว์สตาร์ ได้รับการเสนอชื่อ 17 ครั้ง จากเรื่อง ไชยา และ พลอย
สหมงคลฟิลม์ ได้รับการเสนอชื่อ 16 ครั้ง จากเรื่อง รักแห่งสยาม และ เพื่อนกูรักมึงว่ะ
จีทีเอช ได้รับการเสนอชื่อ 10 ครั้ง
อาร์เอส ได้รับการเสนอชื่อ 9 ครั้ง
โมโน ได้รับการเสนอชื่อ 3 ครั้ง

สำหรับผู้ได้รัับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่าง ๆ ดังนี้

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ไชยา โดย ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ โดย จีทีเอช
พลอย โดย ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น
เมล์นรก หมวยยกล้อ โดย อาวอง
รักแห่งสยาม โดย สหมงคลฟิล์ม

ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
กิตติกร เลียวศิริกุล จาก เมล์นรก หมวยยกล้อ
ก้องเกียรติ โขมศิริ จาก ไชยา
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จาก รักแห่งสยาม
เป็นเอก รัตนเรือง จาก พลอย
โสรยา นาคะสุวรรณ จาก Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล  จาก รักแห่งสยาม
มาริโอ้ เมาเร่อ จาก รักแห่งสยาม
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม จาก Me..Myself ขอให้รักจงเจริญ
อัครา อมาตยกุล จาก ไชยา
อุดม แต้พานิช จาก เมล์นรก หมวยยกล้อ

ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ จาก Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ
มาช่า วัฒนพานิช จาก แฝด
ลลิตา ปัญโญภาส จาก พลอย
สินจัย เปล่งพานิช จาก รักแห่งสยาม
อินทิรา เจริญปุระ จาก บ้านผีสิง

ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
เกียรติ กิจเจริญ จาก เมล์นรก หมวยยกล้อ
ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี  จาก รักแห่งสยาม
ปรเมศร์ น้อยอ่ำ จาก บอดี้..ศพ#19
สนธยา ชิตมณี จาก  ไชยา
สุเทพ โพธิ์งาม จากเมล์นรก หมวยยกล้อ

ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
กัญญา รัตนเพชร - รักแห่งสยาม
เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ - รักแห่งสยาม
พุทธชาติ พงษ์สุชาติ - Me..Myself ขอให้รักจงเจริญ
อภิญญา สกุลเจริญสุข - พลอย
ภัทรวริทนทร์ ทิมกุล - บอดี้ ศพ # 19

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
รักแห่งสยาม – ชูเกียรติ  ศักดิ์วีระกุล
บอดี้ ศพ # 19 - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์
พลอย – เป็นเอก รัตนเรือง
เมล์นรก หมวยยกล้อ – กิตติกร เลียวศิริกุล
ไชยา – ก้องเกียรติ โขมศิริ

กำกับภาพยอดเยี่ยม
ไชยา – สยมภู มุกดีพร้อม
แฝด - นิรมล รอสส์
พลอย – ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
เพื่อน..กูรักมึงว่ะ - ทิวา เมยไธสง
รักแห่งสยาม – จิตติ เอื้อนรการกิจ

ลำดับภาพยอดเยี่ยม
ไชยา – สุนิตย์ อัศวนิกุล
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ - ชาติชาย เกษนัส, สราณี วงศ์พันธ์
พลอย – ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล
เมล์นรก หมวยยกล้อ – พรรณพันธ์ ทรงขำ
รักแห่งสยาม – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, ลี ชาตะเมธีกุล

ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
ไชยา
บ้านผีสิง
แฝด
เพื่อน กูรักมึงว่ะ
รักแห่งสยาม

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
ไชยา
พลอย
แฝด
เพื่อนกูรักมึงว่ะ
รักแห่งสยาม

(สองสาขาหลังนี้ เราตัดสินใจไม่เขียนรายชื่อผู้เข้าประกวดนะคะ เพราะไม่ตรงกันเลยสักสถาบัน)

รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ (Lifetime Achievement Award) ได้แก่ อดุลย์ ดุลยรัตน์

รางวัล HBO Award สำหรับภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในรอบปีได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ภาคองค์ประกันหงสา” ของพร้อมมิตรภาพยนตร์

ชมรมวิจารณ์บันเทิง จะจัดงานประกาศผลและแจกรางวัล ในวันพุธที่ 5 มีนาคม 2551 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมมิราเคิ่ลแกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในเวลา 14.00 – 17.00 น.

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.