สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
เปิดแฟ้มเอฟบีไอ กับการสืบสวนกรณีคอรัปชั่นในเทศกาลหนังกรุงเทพ
  อัญชลี ชัยวรพร / 20 ธันวาคม 2550
  LINK : ลำดับปัญหาเทศกาลหนังกรุงเทพ  
   
 

จากกรณีที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวที่ว่า  กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้จับกุมนายเจอรัลด์ กรีน นักธุรกิจชาวอเมริกันในนครลอส แองเจลีส วัย 75 ปี กับนางแพทริเซีย ภรรยาวัย 52 ปี  ในข้อหาจ่ายเงินสินบนมากกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 56 ล้านบาทให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนต์นานาชาติกรุงเทพฯ ( the Bangkok International Film Festival) กับข้อตกลงอื่นๆรวมมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 330 ล้านบาท  โดยได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น 

ล่าสุด  ทางเว็บไซต์ thaicinema.org ได้ไปพบสำนวนการฟ้องร้องจากการสอบสวนของ Elizabeth Rivas เจ้าหน้าที่เอฟบีไอฝ่ายสอบสวนพิเศษ (Special Agent)  ความยาวถึง 28 หน้า  โดยได้เผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ  ไม่ปิดบัง พร้อมดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ดังนี้


http://www.usdoj.gov/criminal/pr/press_releases/month_index.html?200712

ดาวน์โหลดข่าวแถลงจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเรื่องการคอรัปชั่น

ดาวน์โหลดสำนวนการสอบสวนของเอฟบีไอ

หลังจากได้อ่านสำนวนการฟ้องทั้งหมดนั้น  บอกได้คำเดียวว่า ช็อก  เพราะการสอบสวนของ Elizabeth นั้น  เต็มไปด้วยความละเอียด  มีการเก็บหลักฐานทั้งหมดแม้กระทั่งกระดาษโน้ตของผู้ที่เกี่ยวข้อง  หรือเงินเดือนของเจ้าของบัญชีในไทย  ซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังมีเงินเดือนไม่ถึงหมื่นบาท อีกทั้งยังได้แอบติดตามนายเจอรัลด์ กรีน ซึ่งเดินทางมาประเทศไทย หลังจากที่เอฟบีไอเข้าตรวจค้นที่บริษัทของเขาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ในฐานะที่เป็นเพียงสื่อเล็ก ๆ  thaicinema.org   ขออ่านและแปลคำกล่าวหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย  ให้คนไทยได้รับรู้  และอยากให้คนไทยส่งสำนวนนี้ไปให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยคนนี้ด้วย

Elizabeth Rivas  เธอเริ่มสืบสวนคดีนี้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว  เมื่อเริ่มระแคะระคายว่า “ผู้ถูกกล่าวหา นายเจอรัลด์ กรีน ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) เพื่อให้ได้สัญญาที่จะจัดงานเทศกาลหนังกรุงเทพ  ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลทุกปี (defendant Gerald Green had bribed a senior Thai official of the Tourism Authority of Thailand (“TAT”) for the award of a contract to run a state-funded international film festival held annually in Bangkok ข้อ 7 หน้า 4)

ในข้อ 9 หน้า 4 ได้กล่าวหาต่อไปอีกว่า มีการแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้กับเจ้าหน้าที่ไทย “นายเจอรัลด์ กรีน ได้รับสัญญาที่จะดำเนินการเทศกาลหนังและสัญญาอื่น ๆ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย “ความสัมพันธ์อันยาวนานของเขาที่มีกับข้าราชการไทยผู้นี้  โดยเขาและนางแพทริเซีย กรีน ได้ให้ “ค่าคอมมิชชั่น” แก่เจ้าหน้าที่ไทยผู้นั้น (defendant Gerald Green obtained the film festival contract and other contracts with the TAT through his longstanding relationship with the Thai official, and that he and defendant Patricia Green directed the payment of “commissions” to the Thai official from inflated budgets.)

มีการโอนเงินผ่านธนาคารหลายแห่งไปยังลูกสาวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น  จาก ข้อ 10 “หลักฐานทางธนาคารและอื่น ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า มีใบเสร็จรับเงินมูลค่าถึง $10,09,179 จากรัฐบาลไทย  และมีการโอนเงินจำนวนถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 60 ล้านบาท) เข้าบัญชีลูกสาวของเจ้าหน้าที่ ททท. ผู้นั้นที่สิงคโปร์  อังกฤษ และ Isle of Jersy  โดยผู้ถือบัญชีเหล่านี้คือลูกสาวของเจ้าหน้าที่ ททท. ผู้ที่ให้สัญญาจัดการเรื่องเทศกาลหนัง (ข้อ 10 หน้า 5)

วิธีการที่ผู้กล่าวหาทั้งสองดำเนินการเพื่อประพฤติผิดมิชอบนั้นมีหลายวิธี  ได้แก่ (a)  ใช้ชื่อบริษัทธุรกิจหลาย ๆ แห่ง  โดยบางรายนั้นมีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่มีอยู่จริง   เพื่อที่จะปกปิดเงินจำนวนสูงภายใต้สัญญานั้น (ข้อ 12 หน้า 5)  ซึ่งจากคำกล่าวหาข้อ 13c หน้า 7 ได้ประกาศรายชื่อบริษัทอื่น ๆ ที่นายเจอรัลด์ กรีน ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อปกปิดเงิน  ได้แก่ บริษัท SASO, บริษัท FestoFestival, บริษัท Creative Ignition, และบริษัท Ignition เป็นต้น ซึ่งเอฟบีไอผู้นี้  ได้มีการสืบหาประวัติเหล่านี้จริง ๆ พบว่า  ล้วนเป็นของนายเจอรัลด์ หรือนางแพทริเซีย กรีน  หรือคนที่มีชื่อย่อว่า E.B. หรืออื่น ๆ (ข้อ 17 หน้า 8 – 10)  

ก่อนที่จะมีการสรุปสำนวนเพื่อฟ้องร้องนั้น  ทางเอฟบีไอได้เรียกพยานบุคคล  ซึ่งทางเอฟบีไอเรียกว่า พยานหลักฐานที่ 1 ‘a cooperating witness – CW – 1 ข้อ 18 หน้า 10 - 11)  ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากนายเจอรัลด์ กรีน ให้ทำงานให้กับเทศกาลตั้งแต่ปี 2003 และดำเนินงานเทศกาลตั้งแต่ปี  2004 – 2006  แต่นายเจอรัลด์ กรีน ได้เซ็นสัญญาให้ดำเนินเทศกาลหนังกรุงเทพนี้ก่อนที่จะว่าจ้างพยานคนที่ 1 นี้  ทั้งที่นายเจอรัลด์ กรีน  ไม่เคยมีประสบการณ์ดำเนินการเทศกาลหนังมาก่อน  และในหน้า 11 ข้อ d เท่าที่ผ่านมา “มีเฉพาะเทศกาลหนังกรุงเทพเท่านั้นที่เป็นลูกค้าแต่เพียงผู้เดียวของบริษัทนี้”

แม้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้นี้จะไม่ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงไทยผู้นี้อย่างชัดเจน  แต่เธอได้ชี้ให้เห็นบางอย่างว่า  เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นี้คือใคร  ในข้อ 14 หน้า 7 ว่า “ในเว็บไซต์ที่แนะนำเทศกาล  มีจดหมายแนะนำเทศกาล โดยเจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุว่า เธอเป็นประธานเทศกาลหนังกรุงเทพ และผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (I have reviewed a screen shot from the official website of the 2006 BKKIFF (held in February 2006) containing a letter welcoming viewers to the website, signed in the name of a person who described herself as President of the BKKIFF and as the Governor of the TAT. I will refer to this person hereinafter in this affidavit as “the Governor.”)

และหลังจากนั้น  เจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้นี้ได้ใช้คำเรียกเจ้าหน้าที่ผู้นี้ว่า “The Governor”  ซึ่งเธอได้กล่าวต่อในเอกสารหน้า 11 ว่า “นายเจอรัลด์ กรีน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ “ผู้ว่าการคนนี้" (the Governor).  การประชุมเพื่อที่จะตกลงกันในเรื่องรายละเอียดทางการเงินและสัญญาเกี่ยวกับเทศกาลหนังกรุงเทพ  ล้วนดำเนินการภายใต้ประตูที่ถูกปิด  ซึ่งมีเพียงผู้ว่าการและนายเจอรัลด์ กรีนที่เข้าประชุมเท่านั้น  พยานหลักฐานที่  1 และพนักงานคนอื่น ๆ รวมทั้งนางแพทริเซีย กรีน ภรรยาของนายเจอรัลด์  ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประชุมด้วย 

เอฟบีไอได้สืบสวนพยานบุคคลที่สอง  ซึ่งทำงานเป็นฝ่ายจัดการทางการเงินให้กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีนมาหลายปี  พยานที่ 1 กล่าวว่า ในช่วงที่เขาได้เตรียมเสนองบประมาณสำหรับดำเนินการเทศกาลหนังกรุงเทพ  พยานคนที่สองบอกพยานคนที่หนึ่งว่า “อย่าลืมใส่ยอดเงิน ค่าคอมมิชชั่นให้ผู้ว่าการ ในงบประมาณของเขาด้วย (not to forget to leave enough money in his budget for “the Governor’s commission.” (ข้อ h หน้า 12 - 13)

หลักฐานทางเอฟบีไอยังกล่าวต่ออีกในหน้า 16 ข้อ f ว่า “ค่าคอมมิชชั่นนี้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 10 – 20 % ต่อสัญญาฉบับหนึ่ง”

ค่าคอมมิชชั่นจะถึงมือผู้ว่าการ  โดยผ่านทางการโอนเงินโดยนางแพทริเซีย  กรีน   ไปยังบัญชีของสาวไทยคนหนึ่ง  ที่มีนามสกุลเหมือนผู้ว่าการผู้นี้  ซึ่งพยานบุคคลที่สองรู้ว่า “เป็นลูกสาวของผู้ว่าการ” และไปบัญชีของบุคคลหนึ่งที่มีชื่อย่อว่า K.C. ซึ่งนายเจอรัลด์ กรีนบอกว่า เป็นเพื่อนของผู้ว่าการผู้นี้ (หน้า 18)

เอฟบีไอยังสอบสวนไปถึงประวัติของลูกสาวผู้ว่าคนนี้ตั้งแต่ปี 2001   ได้ข้อมูลมาว่า  เกิดวันที่ 29 พฤศจิกายน 2517 ที่ประเทศไทย  และทำงานที่กระทรวงการคลัง ด้วยเงินเดือนเพียง 7,780 บาท   เธอได้ยื่นขอวีซ่าเข้าอเมริกามาตั้งแต่ปี 2001 (หน้า 18 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกสาวคนนี้ทั้งหมด)

เอฟบีไอเข้าค้นสำนักงานของนายเจอรัลด์ กรีนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2007  และได้เก็บหลักฐานไว้แทบทั้งหมด  แม้แต่กระดาษโน้ตที่เขียนขึ้นโดยท่านผู้ว่านี้   ที่โรงแรมโอเรียนเต็ลในกรุงเทพ  รวมทั้งหลักฐานทางการโอนเงินทุกอย่าง  และที่สำคัญ  เอฟบีไอแอบติดตามนายเจอรัลด์ กรีนมากรุงเทพด้วยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2007 ซึ่งเธอได้เห็นนายเจอรัลด์ กรีน  พบปะกับผู้ว่าคนนี้ในภัตตาคารที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

นายเจอรัลด์ และแพทริเซีย กรีน เป็นเจ้าของบริษัท Film Festival Management เพื่อจัดงานเทศกาลหนังกรุงเทพนานถึง 4 ปี  จนถึงปี 2006  หลังจากเกิดการปฎิวัติในประเทศไทย และที่สำคัญเมื่อ “เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นั้นได้พ้นจากตำแหน่ง” (ข้อ  13 b หน้า 6)

ทั้งนายเจอรัลด์ และแพทริเซีย กรีน ไม่ได้เติบโตที่สหรัฐอเมริกา   แต่อพยพมาจากประเทศเม็กซิโก

ยังมีหลักฐานการสอบสวนอื่น ๆ อีก  ซึ่งเป็นรายละเอียดในการมัดและจับกุมนายเจอรัลด์ และแพทริเซีย กรีน  สำหรับสื่ออื่น ๆ ถ้าจะรายงานข่าว แนะนำให้ไปอ่านจากต้นฉบับของแฟ้มเอฟบีไอดีกว่า)

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.