สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
  รายงานความเคลื่อนไหว พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่
  LINK : กรณีการเคลื่อนไหวแสงศตวรรษ
   
  ดาวน์โหลด: รายละเอียดพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน
  ลำดับการเคลื่อนไหว
  20 ธันวาคม 2550 พรบ ภาพยนตร์ฉบับเจ้าปัญหาผ่านแล้ว
  29 พฤศจิกายน 2550 ผู้กำกับและกลุ่มเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ สู้เฮือกสุดท้าย
  16 สิงหาคม 2550 มูลนิธิหนังไทยประท้วงเงียบที่หน้าสยามเซ็นเตอร
  1 สิงหาคม 2550 ร่าง พรบ.ภาพยนตร์ ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว รอการพิจารณาสภาและเว็บบล็อกคัดค้าน โดยลูกท่านมุ้ย
  24 กรกฎาคม 2550 คนทำหนังและเหล่าศิลปินรวมพลัง ทำวิดีโอรณรงค์ชุดพิเศษเพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ฉายทางทีวี
  17 กรกฎาคม 2550 กลุ่มวงการหนังเริ่มประชุมกันอีกครั้ง หนนี้มีหลายฝ่าย
  3 กรกฎาคม 2550 คนสร้างหนังนัดรวมพลค้าน
  26 มิถุนายน 2550 ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ผ่านคณะรัฐมนตรี
  11 มิถุนายน 2550 เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ยื่นหนังสือต่อท่านนายก
   
เว็บบล็อกใหม่ คัดคัานร่างฉบับนี้ โดยลูกท่านมุ้ย
  1 สิงหาคม 2550 / โดย ณัฎฐ์ธร
   
 

นี่เป็นอีกเว๊ปบล็อคหนึ่งที่ต้องการแสดงพลังต่อต้าน พรบ.ภาพยนตร์นะครับ โดยมีชื่อของคุณอดัม หรือ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล บุตรชายของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นแกนหลักสำคัญของเว๊ปบล็อคนี้  ส่วนนี่เป็นคำแถลงในด้านหน้าของเว๊ปนะครับ

ด้วยเหตุผลที่ว่าพรบ. ฉบับนี้ ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อและเป็นการให้อำนาจรัฐมากจนเกินขอบเขตุของสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น … เว็บนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้แนวร่วมนักศึกษาผู้ไม่ยอมร่างพรบ.ฉบับนี้ได้ใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลของกิจกรรมในการต่อต้านพรบ.นี้

เป็นการใช้ประชาธิปไตยให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี

http://noprb.wordpress.com/

   
ร่าง พรบ.ภาพยนตร์ ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว รอการพิจารณาสภา
  1 สิงหาคม 2550 / รายงานโดย ณัฎฐ์ธร

ตอนนี้ พระราชบัณญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฉบับใหม่ ได้รับไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ข่าวนี้มาจากการแถลงข่าวการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และขั้นตอนต่อจากนี้ ก็คือการเดินทางเข้าสู่การพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยรายละเอียดคร่าวๆ ของกฎหมายก็อย่างที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ พยายามหาทางเข้าร่วมพูดคุยกับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทำการแก้ไขกฎหมายก่อนจะเข้าสู่ สนช เพราะเมื่อกฎหมายได้รับการรับรองจาก สนช แล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที

ก่อนหน้านี้เกือบหนึ่งเดือน วันที่ 3 กรกฎาคม คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในงานแถลงข่าวคัดค้านพระราชบัญญัติภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอว่า จะขอความร่วมมือจากค่ายหนังทุกค่าย และโรงภาพยนตร์ทุกเครือ และขอร่วมมือจากภาครัฐ ในการที่จะทดลองฉายหนังโดยการจัดเรตติ้งขึ้นมาเพียงอย่างเดียว เพื่อดูว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฎิบัติได้แค่ไหน แต่จนถึงวันนี้ การพยายามที่จะทดลองดังกล่าวก็ยังหาได้เกิดขึ้นไม่

   
คนทำหนังและเหล่าศิลปินรวมพลัง ทำวิดีโอรณรงค์ชุดพิเศษเพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ฉายทางทีวี
 

24 กรกฎาคม ณัฎฐ์ธร รายงาน

   
 

 

ดูเหมือนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาจะเงียบเกินไป การก้าวไปอีกก้าวของเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์จึงต้องเกิดขึ้น คราวนี้ พิมพกา โตวีระ เป็นแกนนำรวมกับคนทำหนังสั้นหลายคนที่สนิทคุ้นเคย ทั้งอุรุพงษ์ รักษาสัตย์และศิโรตม์ ตุลสุข ช่วยกันผลิตวีดีโอแคมเปณจ์รณรงค์เสรีภาพของภาพยนตร์ โดยมีผู้กำกับหนังและดารานักร้องนักแสดงมากมายมาร่วมปรากฎตัวเพื่อเรียกร้องอิสระแก่หนังไทย อันได้แก่ เป็นเอก รัตนเรือง, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ,ปรัชญา ปิ่นแก้ว,นภ พรชำนิ,สิริยากร พุกกะเวส และคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถึงจะมีคนดังมาปรากฏตัวมากมายเพื่อช่วยกันนำเสนอเจตนาที่แท้จริงของเครือข่ายฯ แก่ประชาชนทั่วไป แต่งานนี้ก็ทำกันแบบทุนต่ำทีมงานน้อย และเวลาจำกัดทำให้เหนื่อยชนิดสายตัวแทบขาด ถ่ายไปถ่ายมาถึงกับหลอดไฟที่ใช้จัดแสงระเบิดเลยทีเดียว โดยพิมพกาคาดหวังว่าจะทำแคมเปณจ์ตัวนี้เสร็จสิ้นทันการสัมมนาเรื่องเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในงานบางกอก ฟิล์ม เฟสติเวลวันเสาร์นี้ และถ้าไม่ได้เผยแพร่ทางทีวีก็จะนำมาให้โหลดดูตามเว๊ปไซต์ต่างๆ ในโอกาสต่อๆ ไป

รายชื่อของผู้มาสัมภาษณ์คนอื่นๆ ประกอบด้วย

 

 

ยุทธเลิศ สิปปภาค, ป๊อด Modern Dog, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, จิรนันท์ พิตรปรีชา, ยุทธนา บุญอ้อม, ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า, สุภิญญา กลางณรงค์, ทรงยศ สุขมากอนันต์, นิธิวัฒน์ ธราธร (Season Change), วิทยา ทองอยู่ยง (เก๋า), ปราบดา หย่น, ปราโมทย์ แสงศร, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, คมสัน นันทจิต, ทศพล ศิริวิวัฒน์, พีระพันธ์ เหล่ายนตร์, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, ราเชนท์ ลิ้มตระกูล, แสงธรรม ชุนชฎาธาร (ตัวแทนจากกลุ่มแรงคิด)

   
ด่วน กลุ่มวงการหนังเริ่มประชุมกันอีกครั้ง หนนี้มีหลายฝ่ายเข้าร่วม
  อัญชลี ชัยวรพร
 

17 กรกฎาคม 2550   เมื่อบ่ายวันนี้ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และคนในวงการหนังหลายท่าน  ได้จัดประชุมอีกครั้งเพื่อหารือร่วมกันในการคัดค้านร่าง พรบ.ฉบับใหม่

กลุ่มคนที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้   ล้วนมีบุคคลสำคัญ ๆ อาทิ เสี่ยเจียง หรือนายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ   สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศไทย จากการนำของนายปรัชญา ปิ่นแก้ว   มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล  ซึ่งในการครั้งนี้ได้มีการเรียกสื่อมวลชนเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย

นอกจากนี้ในตอนเย็นของวันนี้  ก็มีการเรียกประชุมระหว่างเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์ด้วยทุกฝ่าย  ซึ่งจากแหล่งข่าวท่านหนึ่งได้กล่าวว่า การรวมตัวกันครั้งนี้จะมั่นคงกว่าครั้งที่แล้ว  เพราะจะมีการเรียกองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมคัดค้่าน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ด้วย  อาทิ องค์กรผู้ค้าหนัง องค์กรที่เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์   มิใช่เฉพาะวงการผู้สร้างหนังไทยแต่เพียงอย่างเดียว

มีข่าวคืบหน้า thaicinema.org จะนำมาแจ้งให้ทราบต่อไป

   
คนสร้างหนังนัดรวมพลค้านร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ 3 กรกฎาคม
 

กรุงเทพฯ 2 ก.ค.- ข่าวจากสำนักข่าวไทย (bioscope เป็นผู้ส่ง)

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์ จะเดินทางไปยังทำเนียบฯ พรุ่งนี้ (3 ก.ค.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีการตรวจสอบภาพยนตร์ที่ซ้ำซ้อนทั้งเซ็นเซอร์และจัดเรท

น.ส.พิมพกา โตวิระ ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์ เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (3 ก.ค.) เวลา 10.00 น. สมาชิกเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงเจตนารมย์ต่อรัฐบาล และแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคาดว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีคนในแวดวงภาพยนตร์จะเดินทางมาอย่างพร้อมเพรียง สำหรับสาเหตุที่ต้องออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 7 ที่กำหนดให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ มีสัดส่วนตัวแทนจากภาครัฐมากกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้การพิจารณาภาพยนตร์ไม่แตกต่างจากปัจจุบัน ที่ภาครัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ มาตรา 26 การกำหนดเรท หรือ แบ่งกลุ่มประเภทผู้ชม ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ 1. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมทั่วไป 2. ภาพยนตร์ที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องชมร่วมกับผู้ปกครอง 3. ภาพยนตร์ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม และ 4. ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย ที่แม้จะเห็นด้วยกับการจัดเรทภาพยนตร์ แต่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ดังกล่าว ที่ยังไม่ครอบคลุมตามหลักสากล

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 29 ที่กำหนดให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติตามมาตรา 7 มีอำนาจตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ซึ่งมาตรานี้เป็นการระบุชัดให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ มีการตรวจสอบภาพยนตร์ที่ซ้ำซ้อนทั้งเซ็นเซอร์และจัดเรท ซึ่งทางตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ยื่นเอกสารคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ซึ่งไม่เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกลดเสรีภาพในการเลือกชมสื่อ

ด้านนายปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของผลงาน “ต้มยำกุ้ง” และ “องค์บาก” เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และคาดว่าในวันพรุ่งนี้จะมีพี่น้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เดินทางมาร่วมแสดงเจตนารมณ์กันอย่างพร้อมเพรียง โดยไม่การแบ่งค่ายหรือแบ่งสังกัด.


ข่าวย่อยอื่น ๆ
รวมตัวกันประท้วงพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารที่ 3 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น.

เนื่องจากพรบ.จัดเรตติ้งภาพยนตร์ฉบับใหม่มีหลายประเด็นถูกหมกเม็ด อาทิ สัดส่วนของคณะกรรมการที่จะเป็นผู้กำหนดเรต , อำนาจในการสั่งตัดหนังหรือสั่งแบน ฯลฯ ดังนั้นจึงอยากขอเชิญชวนทุกคนไปร่วมปกป้องสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของตัวเองด้วยการ รวมตัวกันประท้วงพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารที่ 3 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น.

ใครมีเสื้อ No Cut, No Ban! ใส่ไปด้วยเลย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ตอนนี้พรบ.การจัดเรตผ่านครม.แล้ว เหลือแค่ผ่าสภานิติบัญญัติกฎหมายนี้ก็จะนำมาใช้ได้จริง ใครที่รอคอยการจัดเรตในเมืองไทยอยู่อาจไชโย แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเรตของไทยประกอบไปด้วย

1. หนังสำหรับทุกเพศทุกวัย

2. อายุต่ำกว่า 15 ' ต้อง' มีผู้ปกครองเข้าไปดูด้วย

3. อายุต่ำกว่า 18 ' ห้ามดู'

4. ห้ามฉาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยังสามารถสั่งตัดฉากที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้ด้วย นั่นเท่ากับว่าถ้าพรบ.นี้ผ่าน หนังจะมีการ จัดเรต ตัด และ แบน ครบถ้วนหนักกว่าเดิมอีก

เหล่าผู้เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับระบบใหม่นี้จึงนัดรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล วันอังคารที่ 3 ก.ค. เวลา 10 โมงเช้า ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบนี้ยังรวมถึงคนดูหนังอย่างเราๆ ด้วย ที่อาจถูกจำกัดเสรีภาพในการดูหนังที่หนักข้อขึ้นกว่าเดิม

ฉะนั้นถ้าใครว่างไปเจอกันได้ เพื่อร่วมกันยื่นจดหมายคัดค้านพรบ. ฉบับนี้ ใครมีเสื้อ no cut no ban อยู่ วันนั้นอย่าลืมหยิบขึ้นมาใส่ด้วย

 

 

พรบ.ภาพยนตร์ ฉบับใหม่บิดเบือน สาเหตุต้องลุกฮือประท้วง
 

รายละเอียดจดหมายที่ยื่นนายก

12/6/07 หลังจากกรณีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษไม่ผ่านเซ็นเซอร์ จนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มจากหลายๆ ฝ่าย ขึ้นเป็น เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพิจารณาภาพยนตร์อย่างจริงจัง ซึ่งจากการติดตามพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ ทางเครือข่ายฯ จึงตัดสินใจยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อยับยั้ง พรบ. ฉบับนี้ก่อน ไม่ให้ผ่านการพิจารณา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา

เรื่องนี้ ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับหนังเรื่อง มะหมา สี่ขาครับ และไอ้ฟัก หนึ่งในเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ได้เล่าที่มาของการประท้วงว่า

“ เมื่อสัก 3 ปีที่แล้วมีคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเขาก็เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะมาทำพรบ.ภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องเซ็นเซอร์นี่ควรจะมียังไง ตัวแทนก็ประกอบด้วยกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรม ก็จะมีตัวแทนจากฝ่ายศาสนาหลายฝ่าย เห็นมีแม่ชีอยู่บ้าง แล้วก็มีผู้กำกับ ตัวแทนมูลนิธิหนังไทยก็จะอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการนั้นด้วย แล้วคณะอนุฯนั้นก็ได้ทำการออกประชาพิจารณ์ในจังหวัดใหญ่ๆ ประมาณ 3-4 จังหวัด เราคิดว่าด้วยเจตนารมณ์ที่อาจจะต้องการมีการฟันธงเลยว่า เมื่อประชาพิจารณ์แล้วจะได้สนับสนุนว่า เมืองไทยต้องเซ็นเซอร์ต่อไป

แต่เมื่อเขาออกไปทำประชาพิจารณ์แล้วผลมันกลับออกมาว่าให้เลิกเซ็นเซอร์ แล้วให้มีการจัดเรต แล้วคณะอนุฯเหล่านี้ก็ได้ทำการร่างพรบ.ขึ้นมา ตรงนั้นเรียกว่าพรบ.ภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาเป็นพรบ.ที่พูดเลยว่า ไม่มีเซ็นเซอร์ ควรจะสนับสนุนการจัดเรต แต่ว่าพอพรบ.นี้ส่งเข้าไปในคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา กฤษฎีกากลับไม่เห็นด้วย กลายเป็นว่า ต้องมีทั้งเซ็นเซอร์และเรตติ้งไปด้วย

เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่ว่าสังคมไทยไม่พร้อมเนี่ย บางทีมัน มันไม่จริง คนที่ไม่พร้อมเนี่ยมีอยู่ไม่กี่คน แต่เขามีอำนาจ แม้กระทั่งแม่ชีที่ไปร่วมฟังด้วย เขายัง เฮ้ย สังคมเขาพร้อมแล้วนี่ เขาอยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพ แต่เสียงเหล่านั้นเนี่ย เมื่อสะท้อนเข้ามาปุ๊บ ไปถึงผู้มีอำนาจเนี่ย เขากลับเบี่ยงประเด็น พรบ.ตัวนี้ เรารู้ว่ามันเหมาะสมเพราะมุ่งเน้นการส่งเสริมควบคู่ไปกับการควบคุม แต่พอเข้าไปสู่กฤษฎีกา มันกลับถูกไปเน้นที่การควบคุม อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เรายอมไม่ได้” พันธุ์ธัมม์กล่าวสรุป

โดยเนื้อความในจดหมายที่สำคัญ ดังนี้

“ กลุ่มข้าพเจ้าเคยได้รับเชิญจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้เข้าร่วมประชุมให้ความคิดเห็นหลายครั้งตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเรียกร้องต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรับฟังความเห็นแล้ว ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยให้พวกข้าพเจ้าเห็นผลสรุปที่ออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเลย

มาบัดนี้เมื่อพวกข้าพเจ้าได้เห็นร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ . ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเพิ่งพบว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติมิได้เป็นไปโดยทางที่สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ของพวกข้าพเจ้าที่ได้ร่วมให้ความคิดเห็นไว้ ซึ่งทำให้พวกข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ ยังมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมและข้าพเจ้าทั้งหลายในนามผู้มีส่วนได้เสีย แทนที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าฉบับเดิม กลับจะยิ่งมีข้อเสียกว่าเดิม โดยเฉพาะฉบับใหม่นี้ปรากฏว่ามีเจตนาที่จะให้อำนาจรัฐควบคุมมากกว่าที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อันจะเห็นได้จากจำนวนสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ซึ่งนี้แสดงว่า กลไกของรัฐไม่จริงใจในการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรและไม่เคารพความเห็นของราษฎร นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเนื้อหาข้อกำหนดหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาที่รับฟังความเห็นจากพวกข้าพเจ้า ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้

โดยเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หอภาพยนตร์แห่งชาติ กลุ่มคณาจารย์และนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ กลุ่มฟิล์มไวรัส ชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย กลุ่มเยาวชนรักประชาธิปไตย กลุ่มละครมะขามป้อม กลุ่มละครบีฟลอร์เธียร์เตอร์ นิตยสารไบโอสโคป นิตยสาร CMYK และ วารสารปาจารยสาร

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.