ก้อง ฤทธิ์ดี (น.ส.พ. บางกอกโพสต์) ช่วยแจ้งข่าวให้ทราบว่า ขณะนี้แสงศตวรรษกำลังมีปัญหา 3 ฉากไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ ฉากแรกพระกำลังเล่นกีตาร์ ฉากที่สองหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฎิบัติหน้าที่ และฉากสุดท้าย อวัยวะเพศของหมอชายแข็งตัวในโรงพยาบาล โดยไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศอะไรต่อจากนั้น
ทางตัวแทนจากแพทยสภา ในคณะทำงานเซ็นเซอร์เห็นว่า ฉากดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะนำเสนอออกไปสู่สาธารณะชน
กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ซึ่งยังอยู่ภายใต้การทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรกติจะประกอบด้วยผู้แทนตำรวจ ผู้แทนกลาโหม แพทย์สภา ตัวแทนภาพยนตร์ ตัวแทนสื่อ เป็นต้น โดยเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในการพิจารณาหนังแต่ละเรื่องไป ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชุดเดียวที่จะี่พิจารณาหนังทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับตัวแทนที่ทางองค์กรจะส่งมาในแต่ละครั้ง อาทิ เมื่อครั้งที่มีการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน หนึ่งในคณะกรรมการเป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายขวาจัด และได้ตีิพิมพ์ภาพอื้อฉาวที่นำไปสู่การปราบนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม 2516 ในที่สุด
สำหรับคณะกรรมการที่พิจารณา แสงศตวรรษ นั้นมีตัวแทนจากตำรวจ กระทรวงวัฒนธรรม แพทยสภา และอาจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัย การพิจารณาเซ็นเซอร์ดังกล่าวมีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และครั้งที่สองเมื่อวานนี้ (9 เมษายน) ทั้งนี้ี้อยู่ในช่วงของการอุทธรณ์อยู่ และรอการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน สัปดาห์หน้านี้
ขณะนี้ผู้กำกับอยู่ในช่วงเดินทางไปโปรโมทหนังที่สหรัฐอเมริกา โดยเขาได้ยืนยันว่าไม่ยอมให้มีการฉายหนังเด็ดขาดหากมีการเซ็นเซอร์ใด ๆ พร้อมฝากโน้ตถึงเมืองไทยว่า
"ในฐานะคนทำหนัง ผมเลี้ยงดูงานของผมดั่งลูกชายลูกสาว เมื่อให้กำเนิดพวกเขา พวกเขาต่างก็มีชีวิตเป็นตัวของเขาเอง ผมไม่รังเกียจถ้าคนจะรักเขา หรือรังเกียจเขา ตราบเท่าที่ผมสร้างพวกเขาด้วยความตั้งใจและพยายามอย่างถึงที่สุด ถ้าลูก ๆ ของผมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในบ้านเกิดของเขาเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด ปล่อยให้เขามีอิสระตามทางของเขา เพราะว่ายังมีเมืองอื่น ๆ อีกมากที่ยังต้อนรับพวกเขา ในแบบฉบับของเขา ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะหักแขนขาของพวกเขา ด้วยระบบแห่งความกลัวหรือความโลภ ไม่อย่างนั้นแล้ว มันคงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสร้างงานศิลปะต่อ
I, a filmmaker, treat my works as my own sons or my daughters. When I conceived them, they have their own lives to live. I dont mind if people are fond of them, or despise them, as long as I created them with my best intentions and efforts. If these offspring of mine cannot live in their own country for whatever reasons, let them be free. Since there are other places that warmly welcome them as who they are, there is no reason to mutilate them from the fear of the system, or from greed. Otherwise there is no reason for one to continue making art.
จากการสอบถามนายโดม สุขวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ หนังไทย และได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ต่อความคิดเห็นในการเซ็นเซอร์ฉากดังกล่าว ซึ่งนายโดมกล่าวว่า ถ้าจะพิจารณาเซ็นเซอร์หนังจากกรอบของกฎหมายเซ็นเซอร์เดิม (ซึ่งใช้ตั้งแต่ ปี 2473) ทุกอย่างก็ไม่เหมาะสมทั้งนั้น แต่เท่าที่ผ่านมา มักจะมีการยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิจารณาเซ็นเซอร์ในแต่ละครั้ง มันไม่ได้มีมาตรฐานที่ตายตัว
ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่ามันไม่ควรห้าม เพราะในกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะพิจารณาอยู่นี้ เขาก็พิจารณาให้ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าผ่านแล้ว ภาพยนตร์ก็จะเหมือนสื่ออื่น ๆ ที่จะอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ"
"และถ้าภาพยนตร์เป็นสื่ออย่างหนึ่งแล้ว ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้บอกชัดเจนว่า รัฐไม่มีสิทธิ์ห้ามเซ็นเซอร์สื่อ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีสิทธิ์เซ็นเซอร์หนังด้วยเช่นกัน
ต่อข้อซักถามสำหรับฉากต้องห้ามดังกล่าว นายโดมกล่าวว่า ทั้ง 3 ฉากเพียงต้องการจะสื่อความเป็นธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น อย่างฉากพระเล่นกีตาร์นั้น ก็เป็นการเล่นแบบธรรมดา ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เสื่อมเสียใด ๆ แล้วสถาบันพระก็จะไม่เสียชื่อเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนฉากหมอกินเหล้านั้น คือ ในฉากดังกล่าว หมอจะต้องออกทีวี ทีนี้กลุ่มหมอเกิดอาการประหม่าเข้า ก็เลยออกมากินเหล้ากันคนละเป๊ก ความหมายของหนังก็ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายใด ๆ สังคมไทยก็กินเหล้าตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาห้ามกับฉากเหล่านี้ด้วย"
ส่วนเรื่องอวัยวะเพศของหมอแข็งตัว มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างมันได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งขมวดปมในตอนท้่ายที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ
หนังมันต้องการสื่อปรัชญาทางธรรม ซึ่งคณะเซ็นเซอร์มองไม่ออก ผมคิดว่า น่าจะปล่อย ถ้าเขาอยากตัดก็ตัดไป แต่เรามีสิทธิ์ที่จะดื้อแพ่ง ฉายหนังไปเลย แล้วก็ให้มาฟ้องทางแพ่งหรือทางอาญาแทนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
สำหรับผู้กำกับอภิชาติพงศ์นั้น โดยส่วนตัวแล้วก็เป็นผู้สนใจและศึกษาในศาสนาพุทธอย่างจริงจังท่านหนึ่ง และนั่งอ่านหนังสือธรรมะอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาว่างขณะกำลังรอพบปะผู้ร่วมลงทุนที่เมืองคานส์ปีที่แล้ว ก็ได้อ่านหนังสือธรรมะที่หอบข้ามทวีปจากประเทศไทยไปด้วย และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ัดัดแปลงมาจากชีวิตพ่อแม่ของเขา ซึ่งเป็นหมออยู่ที่จังหวัดขอนแก่นจริง ๆ มาเป็นแบ็คกราวนด์
ก่อนหน้านี้ทางแพทยสภาและสมาคมแพทย์แห่งประเทศไทย เคยเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "อาจารย์ใหญ่" มาครั้งหนึ่ง โดยให้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "ศพ" และตัดตอนบางตอนทิ้งไป
(ขอขอบคุณ ก้อง ฤทธิ์ดี จากบางกอกโพสต์ที่ช่วยแจ้งข่าว และวีระยศ จากฟลิกส์ที่ช่วยให้ข้อมูลค่ะ)
โน้ต: ขณะนี้กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหนัง ยังอยู่ภายใต้การพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรอการโอนย้ายให้กับกระทรวงวัฒนธรรม |