อัญชลี ชัยวรพร
การปฎิวัติรัฐประหารเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา อาจจะสร้างความตื่นเต้นให้เด็กรุ่นใหม่และชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในฐานะของผู้ที่เคยผ่าน เคยแลเห็นการปฎิวัติรัฐประหารในสังคมไทยมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยังแหงนหน้ามองพ่อกับแม่อย่างไม่เข้าใจในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงวันที่ตนเองต้องออกจากบ้านด้วยความโมโหเพื่อขับไล่รัฐบาลรสช.จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฎิวัติเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายนนั้นไม่ได้สร้างความรู้สึกตื่นเต้นอะไรให้กับตัวเองมากนัก ห่วงก็เพียงแค่ว่าประชาธิปไตยของเราซึ่งเข้มแข็งมาตลอดในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
แต่ข่าวเล็ก ๆ ที่วิ่งอยู่หน้าจอทีวีวันรุ่งขึ้นต่างหาก ที่จุดประเด็นให้รีบเขียนข่าวนี้ ข่าวเล็กที่เขียนไว้ว่าสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากต่างนั่งเครื่องบินรีบมาทำข่าวในประเทศไทย แต่มาแล้วก็แปลกใจที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรงเหมือนอย่างที่เห็นในสำนักข่าวต่างประเทศ
เหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง และสิ่งที่ดูจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสนใจในการปฎิวัติครั้งนั้นก็คือ ภาพยนตร์
มีหลักฐานยืนยันว่า การปฎิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ได้มีการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ไว้ด้วย เป็นภาพยนตร์ข่าว โดยใช้ฟิลม์ 35 มม. จากฝีมือของพี่น้องวสุวัต ช่างภาพในขณะนั้นเป็นพนักงานของบริษัทศรีกรุง ได้ถ่ายทำเหตุการณ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพไว้ตลอดทั้งวัน และนั่นเป็นเพียงภาพยนตรข่าวชิ้นเดียวที่ได้มีการถ่ายทำเอาไว้
ในคืนนั้นหลังจากที่ข่าวได้กระจายไปทั่วโลก มีบริษัทอเมริกา 2 แห่งมีความสนใจในสารคดีข่าวชิ้นนี้ รีบส่งโทรเลขติดต่อเพื่อขอซื้อฟุตเทจฟิลม์ที่ได้ถ่ายไว้ และทางบริษัทวสุวัตรีบส่งฟิลม์นั้นไปให้ทันที เพียงที่จะได้รับโทรเลขในเวลาอีกสองวันถัดว่า ทางบริษัทไม่ต้องการหนังอีกต่อไป เพราะการปฎิวัติครั้งนี้ไม่มีแม้แต่การยิงปืน โดยทางอเมริกาจะส่งฟิลม์กลับมาให้ ถ้าทางวสุวัตจะรับผิดชอบค่าขนส่ง
จากการสัมภาษณ์คุณมานิต วสุวัตโดยโดม สุขวงษ์ (เมื่อปี 2526) หนึ่งในบริษัทที่สนใจจะสั่งซื้อหนังเรื่องนี้ในตอนแรกมีชื่อว่า Dark Film
สำหรับในประเทศไทย ภาพยนตร์ดังกล่าวถูกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีสั่งห้ามทำการเผยแพร่ เพื่อรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคุณโดมได้จัดสารคดีข่าวชิ้นนี้ เป็นภาพยนตร์มีค่าที่สูญหายไปในประเทศไทย ไม่มีแม้แต่ภาพถ่าย
และนี่ดูเหมือนจะเป็นเพียงภาพยนตร์เพียงชิ้นเดียวที่เกี่ยวข้องกับการปฎิวัติทางการเมืองในประเทศไทย หลังจากนั้นแล้ว เราไม่มีภาพยนตร์ใด ๆ ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์การปฎิวัติได้สักเรื่อง แต่อาจจะมีภาพยนตร์บางเรื่องที่อาจจะแทรกฉากการเรียกร้องทางการเมืองเข้ามาอยู่บ้าง เช่น 14 ตุลา สงครามประชาชน ของ บัณฑิต ฤทธิกล ได้บันทึกเหตุการณ์การขับไล่ทหารของกลุ่มนักศึกษา และเทพธิดาโรงแรม ของท่านมุ้ย ได้แทรกภาพข่าวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้บ้าง
หลังจากนั้นแล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่ามีภาพยนตร์เรื่องใดที่ได้พยายามแทรกภาพการปฎิวัติรัฐประหารของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอีกเลย
แหล่งข้อมูลบางส่วน จากโดม สุขวงษ์ |