|
ในงานรอบกาล่า เจ้ย อยู่ที่สองจากซ้าย Courtesy: Image.net |
ผู้เขียนตัดสินใจไม่ไปเวนิซ ทั้ง ๆ ที่อยากไปตามหนังของเจ้ย
อภิชาติพงษ์มาก เพราะเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าสายประกวด ตอนที่ สัตว์ประหลาด ไปประกวดที่คานส์ ตัวเองก็ไม่ได้ไปเพราะอยู่ในช่วงรับทุนในต่างประเทศ เผอิญเดือนนี้ถึงกำหนดที่จะต้องเดินทางอีก 2 ครั้ง และเป็นงานที่หาคนไปแทนไม่ได้ ยกเลิกก็ไม่ได้ ส่วนไปไหน ค่อยติดตามต่อไป
ตอนแรกนั้น ตัวเองลืมไปแล้วด้วยซ้ำเรื่องเทศกาลหนังเวนิซ จนเพื่อนอิตาเลี่ยนยอดดีชื่อ ลอเรนโซ คอร์เดลลี่ อีเมล์มาถามว่าไปเวนิซหรือไม่ ถ้าไม่ไป จะเขียนรายงานสั้น ๆ ให้ ได้ยินแค่นี้แหล่ะ เหมือนพระเจ้ามาโปรด เคยพยายามหาคนมาช่วยรายงานแล้ว แต่เขาไม่ไปกันหมด ถ้าได้ลอเรนโซมา ยิ่งแจ๋ว เพราะเขาเคยช่วยเขียนรายงานมาแล้วเมื่อครั้งที่ หมานคร ไปเปิดตัวในเทศกาลหนังโลคาร์โน่เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับเรื่องกำหนดการของ แสงศตวรรษ ในเวนิซนั้น ปรากฎว่าหนังไทยของเราได้ฉายเป็นเรื่องแรก ๆ เลย นอกจากหนังเปิดเทศกาลเรื่อง Black Dahlia แล้ว ก็มาเป็น แสงศตวรรษ นี้เอง เปิดฉายรอบสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 30 ไปสองแรก 19.30 กับ 21.00 ก่อนที่จะต่ออีกสองรอบในวันรุ่งขึ้น รอบ 10.00 กับรอบกาล่า 22.30 และรอบสุดท้ายวันที่ 1 กันยายน ตอน 11 โมงเช้า
ขณะที่รอนั้น ตนเองก็พยายามเปิดเว็บหาข่าวและบทวิจารณ์ทุกวัน วันละหลายครั้ง ปรากฎว่า ไม่ค่อยมีใครเขียนกันเลย แถมเขียนกันช้ามาก Variety มาลงตีพิมพ์กลางดึกคืนวันที่ 31 ส่วน Screen ตีพิมพ์ คืนวันรุ่งขึ้น Hollywood Reporter ไม่มีอะไรเลย รูปก็หายากมาก มาเจอรูปเดียวที่ image.net ซึ่งขออนุญาตใช้แล้ว พอดีทาง thaicinemix.com เคยเตือนให้ระวังเรื่องใช้รูปของค่าย gettyimages.com เพราะเขามีไว้ขาย ก็เลยต้องขออนุญาติเขาอย่างเป็นทางการก่อน
สำหรับเสียงวิจารณ์ ก่อนที่จะอ่านนั้น ขอบอกก่อนว่า บางชิ้นใช้ภาษายากมาก ใช้คำที่ต้องตีความหลายชั้น สร้างความยากลำบากในการแปลมาก ตอนแปล ได้พยายามรักษาต้นฉบับให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นอาจจะมีกลิ่นนมเนยไปบ้าง ต้องขออภัยด้วย
ลอเรนโซ คอเดลลี่ ( นักวิจารณ์ชื่อดังประจำ Positif และ กำลังผลิตสารคดีหนังไทย)
กระแสตอบรับในรอบสื่อมวลชนรอบแรกค่อนข้างจะเยือกเย็น (coldly received) ผมคิดว่าบางส่วนของหนังสนุก (อย่างเช่นตอนที่ตัวละครตัวหนึ่งเล่นกีต้าร์โรแมนติกในแบบฉบับของโมสาร์ท) ส่วนอื่น ๆ ค่อนข้างน่าเบื่อ เป็นหนังที่บันทึกความทรงจำของผู้กำกับต่อพ่อแม่ที่เป็นหมอ
สื่อหนังสือพิมพ์อิตาลีที่ผมอ่านพูดถึงงานของอภิชาตพงษ์ค่อนข้างบวกไม่มากก็น้อย (ขอโทษค่ะ คราวที่แล้วมองตกไปคำหนึ่ง - ความหมายก็เลยเปลี่ยนไป) แต่โชคไม่ดีนักที่อภิชาติพงษ์ไม่ได้เป็นที่รู้จักของที่นี่เลย เพราะว่างานของเขาี้ไม่เคยฉายในอิตาลีมาก่อน แม้กระทั่งหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด ที่อำนวยการผลิตโดย มาร์โก้ มูลเล่อร์ (ไดเร็คเตอร์ของเทศกาลหนังเวนิซในปัจจุบัน) หรือบริษัท Rai (บริษัทหนังในอิตาลี)
SCREEN DAILY by Dan Fainaru
|
ศักดา แก้วบัว และเจ้ย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล Courtesy: Le Monde |
แสงศตวรรษ เปรียบเสมือนสมุดบันทึกภาพมากกว่าผลงานของอภิชาติพงษ์ก่อนหน้านี้อย่าง สุดเสน่หา และ สัตว์ประหลาด เสียอีก หนังมีลักษณะต่อต้านองค์ประกอบของหนังแนว narrative ทุกอย่าง แทนที่จะดำเนินตามชื่อเรื่องอย่างสัตย์ซื่อ หนังไม่เป็นไปตามขนบมากพอที่จะทำให้ผู้นิยมในผลงานของเขาี้จะสนุกได้ต่อไป
หนังแบ่งครึ่งออกเป็นสองตอนเกือบจะเท่ากัน ยืนพื้นอยู่บนความทรงจำในวัยเด็กของผู้กำกับ โดยถ่ายทอดออกมาตามภูมิหลังและระยะเวลาต่าง ๆ หนังเริ่มเล่าเรื่องชีวิตรักของหมอสาวในโรงพยาบาลต่างจังหวัดผู้หนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นฉากในปัจจุบัน
เนื่องจากหนังไม่มีเรื่องอะไรจะเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้น คนดูจะเป็นผู้นำภาพจากหนังเรื่องนี้มาสร้างจินตนาการส่วนตัวของคุณเองตามวิถีทางของหนังอาร์ต ไม่ว่าสิ่งที่คุณคิดไว้นั้นจะเหมือนกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะบอกไว้ตั้งแต่แล้วหรือไม่ มันไม่สำคัญเท่ากับว่าจินตนาการของคุณนั้นจะสุกงอมจากภาพที่คุณเห็นได้อย่างไร
แสงศตวรรษ เป็นหนึ่งในโปรเจ็ค New Crowned Hope ที่ริเริ่มโดยผู้ว่าการเมืองเวียนนา ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปีโมสาร์ท ความพยายามของอภิชาติพงษ์ดูท่าูจะตอบสนองความต้องการของปีเตอร์ เซลเลอร์ ผู้ดูแลโปรเจ็คนี้ได้อย่างดี เพราะปีเตอร์เป็นผู้กำกับละครเวทีและละครโอเปร่ามาก่อน แต่คงมีอิทธิพลเพียงนิดเดียวกับคนดูหนังทั่วไป สำหรับพวกเขาแล้วหนังเรื่องนี้จะน่าสนใจเฉพาะตามเทศกาลหนังหรืองานอวองค์การ์ดมากกว่า แต่คงจะไม่ใช่หนังแถวบ้าน
อภิชาติพงษ์บอกว่าครึ่งแรกของหนังอุทิศให้แม่ และครึ่งหลังอุทิศให้พ่อ ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นหมอทั้งคู่ อภิชาติพงษ์ถึงกับเดินทางกลับบ้านที่ขอนแก่นในภาคอีสาน แต่สิ่งที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กของเขามีหลงเหลืออยู่เพียงนิดเดียว
โดยรวมแล้ว หนังพยายามสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับที่ชื่อเรื่องได้บอกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนโบราณที่สวนทางกับโลกยุคใหม่ ี้หนังยังมีนัยในเรื่องการกำเนิดของชาติก่อนและความสัมพันธ์ของโลกของวิญญาณอีกด้วย
อภิชาติพงษ์ได้นำเสนอสีของภาพที่ตัดกันได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นภาพชนบทอันนุ่มนวลกับสีเขียวของทุ่งนาในความทรงจำ หรือเครื่องแบบสีขาวของหมอพยาบาลที่ดูขึงขังกับระเบียงสีขาวอันยาวไกล นอกจากนี้เขายังได้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปดินเหนียวที่เก่าแก่ในตอนแรก ต่อมา้ดูแคระแกร็นไปเพราะรูปปั้นบรอนซ์ขนาดยักษ์ได้อย่างไร หรือทุ่งนาเขียวขจีอันกว้างใหญ่ไพศาล ถูกลบทิ้งด้วยป่าคอนกรีตและซีเมนต์อย่างไร มีเพียงพื้นที่หญ้าเป็นหย่อม ๆ จากการออกแบบของน้ำมือมนุษย์
หนังของเขามักจะคัดเลือกนักแสดงสมัครเล่น ซึ่งไม่เคยเล่นหนังมาก่อน และดูเหมือนจะ "แสดง น้อยกว่า ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ครึ่งแรกของหนังมักจะตั้งกล้องแน่นิ่ง ด้วยมุมกล้องแบบลองช็อตหรือมีเดียมช็อตเท่านั้น และไม่ค่อยเปลี่ยนมุมกล้องด้วย มีอยู่ฉากหนึ่ง เป็นฉากทุ่งนาเขียวขจี ทั้งฉากจะได้ยินแต่เสียงออฟสกรีนเท่านั้น ชวนให้นึกถึงการทดลองของ Marguerite Duras ในหนังเรื่อง India Song (1975)
ครี่งหลังเริ่มมีการเคลื่อนกล้อง และเริ่มตัดภาพมากขึ้น แต่ก็ยังห่างจากขนบแบบเดิม ๆ แต่หนังเริ่มมีมุขตลกเข้ามาแทรก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงหรือซาวน์แทร็คหลากหลายประเภท (เช่น หมอฟันที่ร้องเพลงกล่อมในครึ่งแรก ก็เปลี่ยนมาเป็นเท็คโนในครึ่งหลัง) หรือหมอสาวที่พยายามลดความตื่นเต้นของตัวเองก่อนไปออกรายการสดทางทีวี (เธอบอกว่า มาออกฟรี เพราะโทรทัศน์ของภาครัฐไม่เคยมีงบให้ผู้มาร่วมรายการ)
อย่างไรก็ตาม ภาพทั้งสองช่วงดูเจิดจ้า การวางกรอบภาพทิวทัศน์และความลึกของช็อตภาพค่อนข้างแม่น
อภิชาติพงษ์บอกว่า การนำภาพหนังช่วงแรกมาเสนอซ้ำอีกครั้งในช่วงที่สองมีนัยถึงการกลับชาติมาเกิด หรืออาจจะบอกเพิ่มได้อีกว่า เนื่องจากหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมฉลองโมซาร์ท การซ้ำกันหรือเหมือนกันของภาพตรงนี้ก็เพื่อจะขยายคีย์ดนตรีไปมากกว่าหนึ่งธีมได้ อืม นี่ดูจะเป็นแนวจินตนาการของนักดนตรีอย่าง Philip Grass มากกว่าโมสาร์ทนะ แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือแบบฝึกหัดทั้งหมดของหนังเรื่องนี้
บทวิจารณ์วาไรตี้ โดย LESLIE FELPERIN
แสงศตวรรษ ผลงานชิ้นล่าสุดของอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ยังคงเป็นงานปริศนาที่อยู่ในวังวนของตัวเอง หนังได้นำเสนอความคิดน่าสนใจอยู่บ้างเป็นพัก ๆ และบรรยากาศแบบมีกลิ่นแปลก ๆ หนังแบ่งออกเป็นสองส่วนคล้ายผลงานของอภิชาติพงษ์ก่อนหน้านี้อย่าง สุดเสน่หา และสัตว์ประหลาด เรื่องราวเกิดขึ้นขณะที่ตัวละครไปทำงานหรือเข้าโรงพยาบาลสองแห่ง ในต่างจังหวัด เป็นหนังที่แตะสัมผัสความคิดเรื่องความทรงจำ ความรัก และการกลับชาติมาเกิดอย่างเบา ๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าคงจะมีแฟนกลุ่มเล็กๆ ที่จงรักภักดีต่อผู้กำกับผู้นี้ตามเทศกาลหนังต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม แต่ในเชิงตลาดแล้ว แสงศตวรรษคงจะยังคงอยู่ในกรอบของตลาด niche (ตลาดเล็ก ๆ) เสียมากกว่า
แสงศตวรรษ เป็นผลงานหนึ่งในโครงการ New Crowned Hope ซึ่งริเริ่มโดยผู้ว่าการเมืองเวียนนา ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิด 250 ปีของโมสาร์ท แต่หนังไม่ได้เชื่อมโยงกับโมสาร์ทโดยตรง อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานของโมสาร์ทล้วนเป็นความบังเอิญ ซึ่งผู้กำกับไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้ว
ถ้าเรานำหนังเรื่องนี้มายืดออกเพื่อดูโครงสร้าง เห็นได้ชัดว่าการวางโครงสร้างของหนัง เรื่องนี้จะคล้ายกับการเล่นเพลงเดี่ยวซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง โดยแทรกโทนแตกต่างอยู่บ้าง เพียงเล็กน้อย หนังเริ่มเปิดฉากในห้องของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอเตย (นันทรัตน์ สวัสดิกุล) ถามหมอทหารฝึกหัด (จารุชัย เอี่ยมอร่าม) ว่าทำไมถึงมาเรียนหมอ ก่อนที่ถามต่อด้วยว่า เขาเลี้ยงสัตว์อะไรบ้างหรือเปล่า เพื่อจะได้อธิบายว่า DDT ย่อมาจากอะไร Destroy Dirty Things?)
หนังเดินเรื่องด้วยวิธีการแบบเดียวกันนี้ไปกว่าครึ่งเรื่อง เพียงแต่เปลี่ยนบทสนทนาให้ต่างจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย หรือเริ่มเปลี่ยนไปถ่ายทำฉากในห้องอื่น ๆ ในโรงพยาบาลเดิม และใช้มุมกล้องที่โฟกัสไปยังใบหน้าของหมอเตยแทนหน้าหมอน้อง
หลาย ๆ ฉากก็ยังคงดำเนินเรื่องไปเช่นนั้น เพียงแต่ว่าช่วงครึ่งหลังบรรยากาศโดยรวมจะเท่กว่า กระชับกว่า และสร้างอารมณ์ใกล้ชิดน้อยกว่า ซึ่งผู้กำกับบรรยายถึงการเปลี่ยนอารมณ์ของหนังไว้ว่า ครึ่งแรกของหนังขออุทิศให้แม่ ส่วนครึ่งหลังให้พ่อ (พ่อแม่ของเขาเป็นหมอทั้งคู่)
แสงศตวรรษก็เหมือนผลงานก่อนหน้านี้ของอภิชาติพงษ์ ที่ต่อต้านการตีความหมายแบบง่าย ๆ แม้หนังจะมีตัวละครที่เริ่มมีสีสันหลายคนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพระที่อยากเป็นดีเจ (ศักดา แก้วบัว ดาราประจำตัวของอภิชาติพงษ์) หมอฟันที่อยากร้องเพลง หนังเดินตุปัดตุเป๋บนกรอบของนามธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิยมชมชอบของผู้กำกับในการใช้ภาพลองเทค ที่มีการจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างสวยงาม
มีฉากที่ดูเหมือนสะกดจิตอยู่ตอนหนึ่ง ฉากดังกล่าวจับภาพที่่ท่อระบายอากาศ จมอยู่ในกลุ่มควันนานหลายนาที ขณะที่เสียงดนตรีประกอบ (ออกแบบอย่างเชื่องช้าโดยชิมิสึ โคอิชิ) เหมือนกับกำลังคำรามและสั่นเหมือนบอกลางร้ายกำลังจะเกิดขึ้น
โดยรวมแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก หนังเหมือนกับว่ากำลังเป่ามนต์แม่มด ด้วยจังหวะเหมือนหายใจลึก ๆ และอาการเจ็บออดแอด ๆ ที่ไม่สามารถระบุโรคได้ |