สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

นิทรรศการ “ เชิด ทรงศรี เลือดเนื้อแห่งนครศรีธรรมราช ”

   
 
พี่เชิด กับ ปื๊ด ธนิตย์ จิตต์นุกูล และ อังเติล สมัยยังเอ๊าะ

 

ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2549 – 31 มกราคมนี้ (นานร่วม 5 เดือน) ขยายไปถึง 30 กันยายน 2550)  ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายไปร่วมชมนิทรรศการ “ เชิด ทรงศรี เลือดเนื้อแห่งนครศรีธรรมราช ” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

พิธีเปิดจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 กันยายนนี้ เวลา 14.00 น. โดยมี ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และท่านผู้ว่านครศรีธรรมราชเป็นองค์ประธาน พิธีเปิดจะเริ่มจากการแสดงมโนห์รา ซึ่งเป็นแรงบันดาลให้คุณเชิด ทรงศรีนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของเขาชื่อ โนรา และเป็นหนังที่ถ่ายทำที่บ้านเกิดของคุณเชิดเองด้วย

หลังจากนั้นจะมีการเสวนา  ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งจากวงการภาพยนตร์และนักเขียน ได้แก่ มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ไพรัช สังวริบุตร สมบัติ เมทะนี พิสมัย วิไลศักดิ์ ชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง ไมตรี ลิมปิชาติ จำลอง ฝั่งชลจิตร นคร วีระประวัติ และบุคคลท่านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

 

Max Tessier นักวิจารณ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส มาร่วมงานแถลงข่าวด้วย กำลังพูดคุยกับภรรยาและลูกสาวคุณเชิด ทรงศรี

 

นอกจากนี้ ยังมีดารานักแสดงไปร่วมงานอีกคับคั่ง

หลังจากการเสวนาแล้ว ประมาณ 18.30 น. จะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง โนรา ภาพยนตร์เรื่องแรกของคุณเชิด ทรงศรี

ส่วนดังกล่าวจะจัดโต๊ะให้ทุกคนเหมือนนั่งเผชิญหน้ากับผู้กำกับติดดินผู้นี้   โดยมีโต๊ะคั่นกลาง มีสมุดซึ่งจะนำด้วยข้อเขียนของคุณเชิด    และให้ทุกคนคิดเขียนงานต่อจากชิ้นนั้น   ไม่มีกำหนด ซึ่งคาดว่าน่าจะได้อะไรที่น่าสนใจ   และอาจนำไปสร้างเป็นงานชิ้นใหม่ที่น่าสนใจได้

โต๊ะดังกล่าวจะจัดไว้ 2 โต๊ะ โต๊ะหนึ่งเป็นโต๊ะนักประพันธ์ อีกโต๊ะเป็นนักเขียนบท นับเป็นการสานต่อระหว่างงานคุณเชิดกับคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้แล้ว ยังมีส่วนที่น่าสนใจอื่น ๆ อีก ซึ่งคงจะต้องรอดูจากภาพถ่ายของสื่อมวลชน ที่จะลงไปร่วมงานในวันเสาร์นี้กันเพียบ และอาจจะมีการนำผลงานของเชิด ทรงศรีมาฉายให้ดูอีกด้วย

นิทรรศการ “ เชิด ทรงศรี เลือดเนื้อแห่งนครศรีธรรมราช ” เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และเทศบาลนครศรีธรรมราช

   
หนังสือ เชิด ทรงศรี : เลือดเนื้อของหนังไทย
 

 

เสี้ยวหนึ่งของชายหนุ่มผู้หยุดอายุไว้ ณ ยี่สิบแปด ผู้สร้างผลงานงดงามทางภาพยนตร์ฝากไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผ่นผืนความงามของภาพยนตร์ไทย ซึ่งน้องๆผู้อยู่หลังได้รวบรวมบางส่วนที่เห็นว่าจะเป็นความรื่นรมย์และเป็นประโยชน์แก่แฟนหนังไว้แบบเป็นกันเองและสบายๆไม่ซีเรียสตามพื้นธรรมชาติของพี่เชิด ผู้เป็นคนไม่เครียด

หนังสือสวยงามทั้งการจัดรูปเล่มและทั้งจากสีสันภาพประกอบและเนื้อหาต่างๆดังมี :

- ภาพใบปิด (โปสเตอร์) ภาพยนตร์ทุกเรื่องของเชิด ทรงศรี ตั้งแต่เรื่องแรกคือ "โนห์รา" เมื่อปี พ.ศ. 2509 จนถึงเรื่องสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2543 คือ "ข้างหลังภาพ" พิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตด้าน นอกจากจะเห็นพัฒนาการใบปิดภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรีแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการใบปิดภาพยนตร์ไทยด้วย

- บทภาพยนตร์ "แผลเก่า" ภาพยนตร์ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิก 360 เรื่องของโลกจากการโหวดของนักวิจารณ์และผู้กำกับภาพยนตร์นานาชาติ หลังจากเปิดตัวฉายในต่างประเทศครั้งแรกในงานครบรอบ 25 ปีมหกรรมภาพยนตร์ภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (London Film Festival 25 th Anniversary 1981) และได้รับรางวัลชนะเลิศ (Grand Prix) เมื่อปี 1981 ในการประกวดในงานมหกรรมภาพยนตร์ Festival des 3 Continents ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส

บทภาพยนตร์เรื่องนี้เคยพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊กครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยสำนักพิมพ์การเวก ของสุจิตต์ วงษ์เทศ และได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทั้งคอหนังและคอหนังสือ บทที่พิมพ์ครั้งนี้ตั้งใจให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากที่สุด ความใกล้เคียงของบทกับภาพยนตร์คงช่วยให้แฟนหนังรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยดู "แผลเก่า" สามารถสร้างจินตนาการถึงหนังได้ในระดับหนึ่ง ส่วนแฟนหนังรุ่นเก่าที่เคยดู "แผลเก่า" มาแล้วก็อาจพอใช้บรรเทาความคิดถึงคะนึงหาลงไปได้บ้าง

- บทภาพยนตร์ซึ่งไม่ได้เปิดฉายทางการค้าในประเทศไทย คือ เรื่อง "คน – ผู้ถามหาตนเอง" (The Tree of Life) ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในชุด Omnibus film เรื่อง "Southern Winds" ซึ่ง NHK เป็นผู้สร้าง เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีอาเซียน ซึ่งเชิด ทรงศรี ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสี่ของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ อันมี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และ ไทย

- ยังมีประวัติสั้นๆการทำงานและเกียรติประวัติงดงามอันสืบเนื่องจากการทำงาน งานเขียนอื่นๆของเชิด ทรงศรี และข้อเขียนประกอบภาพสี่สีของรุ่นน้องถึงนิทรรศการ "เชิด ทรงศรี เลือดเนื้อแห่งนครศรีธรรมราช" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช นิทรรศการซึ่งเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2549 และจะเปิดต่อเนื่องเป็นเวลาปีเศษไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550

ระหว่างบรรทัดอันโดดเด่นที่หนังสือ "เชิด ทรงศรี เลือดเนื้อของหนังไทย" ตั้งใจนำเสนอคือความจริงใจในการทำงานของเชิด ทรงศรี ที่ทำให้เลือดเนื้อของหนังไทยคนนี้ก้าวหน้าในชีวิตการงานและมีส่วนร่วมสร้างความงดงามให้วงการภาพยนตร์ไทยจนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขาเป็นตัวอย่างอันควรยกย่องในการทำงานอย่างมั่นคงในจุดยืนและมีความจริงใจในงานอย่างแท้จริง

สำนักพิมพ์มติชนเคยนำเสนองานเขียนของ เชิด ทรงศรี ในฐานะที่เป็นนักเขียนมาแล้ว 2 เล่ม คือ "นั่งคุยกับความตาย" และ "นั่งคุยกับความรัก" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักอ่าน ครั้งนี้ เชิด ทรงศรี ถูกนำเสนอในฐานะคนทำหนังโดยน้องๆผู้อยู่หลัง หลังจากที่เขาละสังขารไปแล้ว คงเหลือแต่ผลงาน ชื่อเสียงและเกียรติคุณฝากไว้ในแผ่นดิน

- - - - - - - - - - - - - -

*** หนังสือราคาเล่มละ 200 บาท มีจำหน่ายที่บู๊ตมติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัดอยู่ขณะนี้ด้วย ***

   
เชิด ทรงศรี …. คนรักหนังตัวจริง
  20 พฤษภาคม 2549 / อัญชลี ชัยวรพร
 

         ดิฉันกำลังจะรายงานข่าวเทศกาลหนังเมืองคานส์ให้ฟังในวันนี้ หลังจากเจอโรคเลื่อนมาอยู่เรื่อย ปีนี้ไม่ทราบเป็นอะไร เหนื่อยมาก

          แต่ไม่คิดว่าพอเปิดอีเมลปุ๊บ ก็เจอข่าวร้าย และต้องมาเขียนรำลึกถึงพี่เชิดในยามนี้แทน

          ดิฉันรู้จักพี่เชิด หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ พาตัวเองให้พี่เชิดรู้จักเมื่อปี 253 9 เพราะคนส่วนใหญ่จะต้องรู้จักพี่เชิดอยู่แล้ว และสถานที่ที่ทำให้เรารู้จักกันก็คือหน้าห้องแถลงข่าวที่เมืองคานส์นี้เอง

          ดิฉันไปเมืองคานส์ครั้งที่สอง ปีที่ตัวเองยังคงเป็นศิลปินเดี่ยว เพราะไม่มีคนในวงการหนังไป ยกเว้นก็สหมงคลฟิลม์ที่ไปซื้อหนังฝรั่งมาฉายในเมืองไทย

          แต่คนไทยคนแรกที่ดิฉันได้รู้จักที่เมืองคานส์ คือ เขา … เชิด ทรงศรี

          นาทีแรกที่ดิฉันเห็นพี่เชิด รู้สึกแกคุ้นหน้าคุ้นตา และเปิ่นเข้าไปทักแกเป็นภาษาอังกฤษเพราะเข้าใจว่าเป็นผู้กำกับจากแถวบ้าน “You look like a famous Thai director.”

          พี่เชิดบอกว่า “Well, what is his name?”

          ตอนนั้นดิฉันอยู่ในอาการมึน เวลาอยู่ในเทศกาลหนังเมืองนอก จะต้องใช้เวลานานที่จะนึกถึงอะไร  สักครู่ แกก็หัวเราะ หันไปพูดกับคนผู้หญิงคนหนึ่ง  ๆ เป็นภาษาไทย

          “น้องคนนี้มาจากเมืองไทย ”

ฉันงง ก่อนจะตั้งสติได้อีก

          อ้าวที่จริง แกก็คือเชิด ทรงศรี ตัวจริงนั่นเอง  และผู้หญิงที่อยู่ข้าง ๆ นั่นก็คือ จันนิภา เจตน์สมมา พี่แจ๊ดนั่นเอง

          พี่เชิดยังคงมาเมืองคานส์อีกหลายปีหลังจากนั้น พร้อมกับความจริงบางอย่างที่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ก็คือ พี่เชิดมาที่นี่ในฐานะสื่อ มีเพียงปีแรกปีเดียวเท่านั้นที่เขามาในฐานะผู้กำกับ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้ดูหนังเยอะ ๆ ไม่ต้องไปยืนขอตั๋ววันละหลายครั้ง

          เพราะฉะนั้นชื่อของหนังสือพิมพ์อย่าง ไทยรัฐ และข่าวสด อยู่ในบัญชีรายชื่อสื่อของเมืองคานส์ด้วยนักข่าวที่ชื่อเชิด ทรงศรี มานานหลายปี

          เพิ่งจะขาดไปในปีนี้เอง

          ในบรรดาผู้กำกับที่ชอบดูหนังที่สุด คงจะไม่มีใครรักหนังเท่าพี่เชิดในความรู้สึกของดิฉัน   อ้าว มีผู้กำกับคนไหนล่ะที่ติดดิน   ขนาดยอมมาที่นี่ในฐานะสื่อมวลชน

          หลายครั้งที่เราเจอกันในช่วงพัก เราก็จะหยุดคุยกันถึงหนังเรื่องโน้นเรื่องนี้ และสิ่งที่ดิฉันได้เจอก็คือ ความคิดของพี่เชิดต่อหลังเรื่องหนึ่ง ๆ เป็นแง่มุมที่ดิฉันไม่รู้ มันเป็นทรรศนะของผู้รู้เรื่องการทำหนังอย่างจริงจัง จนดิฉันอดที่จะเอ่ยปากไม่ได้ว่า “ โห นี่สมกับเป็นเป็นแง่มุมของผู้กำกับ ดูตัวเองโง่ไปเยอะเลย ”

          แง่มุมของพี่เชิด ไม่ว่าจะเป็น “Crash (โดยเดวิด โครเนนเบิร์ก) เป็นหนังที่อันตรายต่อคนดูมาก (เพราะในเรื่องตัวละครจะเสพสมกันทุกครั้งด้วยการขับรถชนกัน) หรือไม่ก็ Russian Ark ก็น่าสนใจในเรื่องมุมกล้องนะ หนังแบบนี้ต้องซ้อมมาอย่างดีเหมือนละครเวที ”

          พี่เชิดเป็นคนที่สองที่มีรายชื่อในคานส์ในฐานะสื่อมวลชนจากไทย และที่สำคัญ พี่เชิดเธอรักการเขียนด้วย พอเจ้ย อภิชาติพงศ์ได้รับรางวัล Un Certain Regard จาก Blissfully Yours เธอรีบรายงานกับเมืองไทยเลย

          ดิฉันจำได้อีกเช่นกัน ปีนั้นดิฉันหิ้วแขนที่หัก จนต้องดามตั้งแต่หัวไหล่ถึงนิ้วมือ   มีแต่พี่เชิดกับฟิลิป เชียห์  เพื่อนผู้จัดเทศกาลหนังสิงคโปร์เท่านั้นที่คอยช่วยเหลือฉันตลอด .....ในสภาพพิการแบบนั้น

          ดิฉันเคยขอพี่เชิดว่าอยากเขียนถึงเขาในฐานะนี้ ในฐานะคนรักหนังแท้ ๆ พี่เชิดตอบมาว่า “เอาไว้ค่อยเขียนตอนขึ้นสวรรค์แล้ว

          และไม่น่าเชื่อว่า ดิฉันต้องเขียนถึงพี่เชิดในช่วงเวลานี้จริง ๆ

          เท่ากับที่ต้องขอโทษพี่เชิด   ที่ไม่รู้ว่าพี่เชิดป่วยหนัก จนกระทั่งมาถึงที่นี่ และมีใครบางคนมากระซิบที่ข้างหู

          ดิฉันเขียนอะไรไม่ออกแล้ว ขอเพียงเราทุกคน ร่วมไว้อาลัยให้กับการจากไปของพี่เชิด อีกครั้ง  คนรักหนังที่แท้จริง

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.