สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ด่วน โปรเจ็ค Utopia ของอภิชาตพงศ์ ชนะรางวัลที่ฮ่องกง

  อัญชลี ชัยวรพร / 23 มีนาคม
   
 

 

เทเรซ่า คาวิน่า จากเทศกาลหนังกรุงโรม มอบรางวัลให้ Utopia ของอภิชาตพงศ์

 

          ยังคงกวาดรางวัลอีกเช่นเคย ไม่ว่าอะไรที่เกิดจากชายคนนี้ ล่าสุด เจ้ย หรืออภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล สามารถฝ่าด่านหนังคู่แข่งทั้งหมด 25 เรื่อง  คว้ารางวัลจากการประกวดที่ฮ่องกงจากงานตลาดหนัง

          Utopia คว้ารางวัล Rome Film Festival Award ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 15,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600,000 บาทไทย โดยจะมอบให้รางวัลกับโปรเจ็คหนังที่แสดงให้เห็นการคิดค้นใหม่ ๆ (innovation) จากฝีมือของผู้กำกับในเอเชีย ผู้ตัดสินรางวัลนี้จะเป็นตัวแทนจากเทศกาลหนังโรม ซึ่งเป็นเทศกาลหนังใหม่ที่เพิ่งจะจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก โดยมีเทเรซ่า คาวีน่า อดีตผู้อำนวยการของเทศกาลหนังโลคาร์โน่มาเป็นหัวเรือใหญ่  สำหรับปีนี้งานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-21 ตุลาคมปีนี้เป็นครั้งแรก

          รางวัล Rome Film Festival Award เป็นหนึ่งใน 5 รางวัลที่มีการแจกในงานตลาดหนังที่ฮ่องกง ซึ่งปีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม และจัดเป็นครั้งที่ 10 พอดี สำหรับผู้ชนะรางวัลอื่น ๆ มีดังต่อไปนี้

          รางวัล HAF Award มี 2 ร างวัล ให้กับหนังฮ่องกง และหนังประเทศอื่น ๆ นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของเรื่องย่อได้อย่างดีที่สุด แต่ละรางวัลได้รับเงินรางวัลมูลค่า 13,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 500,000 บาทสำหรับผู้ชนะจากฮ่องกง ได้แก่ Fat Englishmen ของผู้กำกับ Lawrence Gray สำหรับหนังจากประเทศอื่น ๆ ผู้ชนะมีสองเรื่อง ได้แก่ 132 ของรอยสตัน ตัน จากสิงคโปร์ และ The Unspeakable Curse of the Ox Family ของ Su Chao-pin จากไต้หวัน

          รางวัลโพสต์โปรดักชั่นเทคนิคคัลเลอร์จากไทยเป็นผู้สนับสนุน มีสองรางวัล แต่ละรางวัลมีมูลค่า 13,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 500,000 บาทไทย มอบให้กับโปรเจ็คหนังที่มีโอกาสจะร่วมทุนได้ โดยที่ผู้กำกับจะต้องมีผลงานมาแล้วอย่างน้อย 1 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง หนังโฆษณา หนังสารคดี หรือรายการโทรทัศน์ และตั้งใจที่จะไปทำโพสต์โปรดักชั่นกับแล็บที่เมืองไทย ผู้ชนะรางวัลมีสองเรื่อง ได้แก่ Air ของ Zhang Yang จากประเทศจีน และ The Maid – A New Beginning ของ Kelvin Tong จากสิงคโปร์

          รางวัล Hubert Bals Fund Award สนับสนุนโดยเทศกาลหนังร็อตเตอดัม โดยมอบให้กับโครงการหนังที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 10,000 ยูโร หรือประมาณ 500,000 บาท ผู้คว้ารางวัลในปีนี้ ได้แก่ Part Ocean , Part Flame ของ Liu Fen-dou จากจีน

          สำหรับโปรเจ็คจากไทยที่เคยได้รับรางวัลก่อนหน้านี้ ก็คือ Coffin ของเอกชัย เอื้อครองธรรม โดยได้รับรางวัล Hubert Bals Fund เมื่อปีที่แล้ว

          อภิชาตพงศ์สามารถฝ่าด่านผู้กำกับเอเชียสำคัญ ๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น เฮอจินโฮ ผู้กำกับ Christmas In August และ April Snow มิเกะ ทาเคชิ จากญี่ปุ่น สแตนลี่ย์ ควานจากฮ่องกง

          สำหรับรายละเอียดของ Utopia ดูได้จากที่นี่ และรายชื่อของโครงการที่ประกวดทั้งหมด

 

รายละเอียดโครงการหนังใหม่ของนนทรีย์ นิมิบุตร และอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล
  อัญชลี ชัยวรพร / 15 มกราคม 2549
   
 

          ได้ทราบรายละเอียดแล้วค่ะ โครงการ 2 หนังใหม่ของนนทรีย์ นิมิบุตร กับอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุลที่ได้รับการคัดเลือกไปตลาดหนังที่ฮ่องกงค่ะ
แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างกันเมื่อไร แหะ แหะ

          

         

TOYOL นนทรีย์ นิมิบุตร

ประเภทของหนัง : ผีจ้า
ระบบถ่ายทำ : กล้อง HD
ความยาว : 90 นาที
งบ : 2 ล้านเหรียญสหรัฐ

          เป็นหนังร่วมลงทุนระหว่างไทย – สิงคโปร์ (หวังว่าไม่ได้เทกระจาดขายหุ้นเหมือนใครบางคน อ้อ อย่าลืมเสียภาษีด้วยล่ะ เป็นตัวอย่างให้นายก) มีผู้กำกับสิงคโปร์ชื่อดังอิริค คู ผู้สร้างตำนานกำกับหนังสิงคโปร์เรื่องแรก Mee Pok Man เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับ James Toh ซึ่งทำหน้าที่เขียนบทด้วย หนังเรื่องใหม่ของนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นอะไรที่เกินกว่าหนังผีเขย่าขวัญธรรมดา เป็นเรื่องราวของศิริกุล แม่เลี้ยงลึกลับใจบาปที่มีแต่ความงามเป็นสิ่งดีอย่างเดียวในตัว

          ศิริกุลเป็นแม่เลี้ยงของเด็กชายหญิงชาวฮ่องกงสองคน ลูซี่ อายุ 12 ขวบ และลูเซียส น้องชายอายุ 8 ขวบ ขณะที่เด็กทั้งสองยังกำลังเศร้าโศกกับการจากไปของมารดาอยู่ พวกเขากลับต้องแปลกใจที่พ่อแนะนำให้รู้จักหญิงไทยคนหนึ่ง ในฐานะ “ แม่เลี้ยง” ก่อนที่จะโยกย้ายไปอยู่กรุงเทพทั้งครอบครัว

          ศิริกุลท่าทางใจดี ตัวเธอเองก็พยายามที่จะให้เด็ก ๆ ชอบ แต่สำหรับลูซี่และลูเซียส เธอเข้ามาในชีวิตของพวกเขารวดเร็วเกินไป การตายของแม่ยังคงเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดของเด็ก ๆ แต่ในสายตาของพ่อ แม่เลี้ยงศิริกุลไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นหน้าที่ของเด็ก ๆ เองที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับแม่เลี้ยงให้ได้ ขณะเดียวกันธุรกิจของพ่อกลับก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ พ่อทำงานขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้น ดวลกอล์ฟกับเพื่อน หรือแม้แต่เล่นหมากรุก

          เด็กทั้งสองไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในการปรับตัวกับแม่เลี้ยงเท่านั้น แต่เข้ากับบ้านใหม่ด้วย ทรัพย์สมบัติของพวกเขาเริ่มผลุบ ๆ โผล่ ๆ หายไปแล้วก็ได้กลับคืน ลูเซียสเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ในห้องของเขา ลูซี่แม้จะไม่เห็น แต่เธอก็ได้ยินเสียงร้องของเด็กเล็กอยู่ร่ำไป เด็ก ๆ ไม่ชอบแม้กระทั่งคนสวนที่จะมารับจ้างชั่วคราวด้วย ซึ่งสนิทสนมกับแม่เลี้ยงของเด็ก ๆ มาก เพื่อน ๆ ของลูซี่บอกว่าคนสวนคนนี้เป็นหมอผีที่แม่เลี้ยงจ้างให้มาทำเสน่ห์กับพ่อของเด็ก ๆ

          เมื่อเด็ก ๆ เล่าให้พ่อฟัง เขากลับหัวเราะ แถมยังถูกลงโทษที่คิดไร้สาระ เท่านั้นยังไม่พอ วิญญาณเด็กยังแกล้งลูเซียสเพิ่มอีก อยู่ดี ๆ การบ้านของลูเซียสก็ปั่นป่วนก่อนที่จะถูกลบทิ้งหายไปอย่างไร้ร่องรอย

          วันหนึ่ง ลูซี่ไปเจอขวดแก้วฝังอยู่ในสวน สิ่งที่อยู่ในแก้วทำให้เธอประหลาดใจอย่างที่สุด มันเป็นซากทารกที่บิดเบี้ยวและตายไปแล้ว ลูซี่จะเอาขวดแก้วนี้ไปให้พ่อดู แต่คุณคิดว่าแม่เลี้ยงศิริกุลจะยอมปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้หรือ

โน้ตจากผู้กำกับ : แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ แต่หนังได้เน้นที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวในเมืองหลวง แสดงให้เห็นแต่ความต้องการทางวัตถุของมนุษย์ ความละโมบที่พยายามจะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น แม้จะต้องกระทำกับคนที่พวกเขารักก็ตาม

          พวกเราต่างโตขึ้นมากับเรื่องราวหนังผีและเทพนิยายจำนวนมาก ในเรื่องเล่าเหล่านี้มักจะกำหนดทำให้เรายึดติดกับภาพบางอย่างในใจอยู่เสมอ ภาพของแม่เลี้ยงในเทพนิยายมักจะมีแต่ความน่ากลัว เป็นคนสวย แต่ใจร้ายและชั่วช้า

          ไม่มีเด็ก ๆ คนไหนที่อยากให้หญิงชั่วร้ายเหล่านี้เข้ามาพัวพันชีวิตของพวกเขา แต่แม่เลี้ยงทุกคนในโลกจะต้องมีภาพอย่างที่เราเห็นในเทพนิยายเสมอกระนั้นหรือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแม่เลี้ยงจะถูกมองเป็นเช่นนั้นตลอด เธอเป็นคนสร้างเรื่องเลวร้ายกับเด็ก ๆ เสมอกระนั้นหรือ เราจะเชื่อเรื่องราวที่เราได้ยินมาจากนิทานปรัมปราเหล่านั้นเสมอหรือไม่

UTOPIA อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ประเภทของหนัง : ดราม่า / ตลก
ระบบถ่ายทำ : 35 mm
ความยาว : 90 นาที
งบ : 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ( ได้มาแล้ว 5 แสนเหรียญ)

          Utopia จะเป็นหนึ่งในโปรเจ็คหนังชุด American Dream 9 เรื่อง โดยเชื้อเชิญผู้กำกับจากชาติต่าง ๆ ที่จะมานำเสนอมุมมองสังคมและความฝันของอเมริกาจากข้างใน ภาพยนตร์ชุดนี้ริเริ่มโดย DViant Films บริษัทอินดี้ในลอสแองเจลิส สหรัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อสองปีก่อนเพื่อผลิตหนังทุนต่ำแต่คุณภาพสูง โดยให้ผู้กำกับมือรางวัลจากทั่วโลกเป็นคนทำ ตอนนี้ก็กำลังทำหนังของโกดาร์ดที่ผลิตในอเมริกาเป็นหลัก

          โครงการ American Dream มิใช่เพียงแต่จะค้นพบว่าอะไรคือความเป็นอเมริกันอย่างแท้จริง แต่เป็นเสมือนการสำรวจตัวเองในจินตภาพ ความลี้ลับ อคติ ทัศนคติที่มีต่ออเมริกาและสังคมแห่งนี้

เรื่องย่อ

          ในโลกที่หายสาบสูญไป มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์คนหนึ่งถูกแช่แข็งอยู่ในกองหิมะ ทุกอย่างรอบตัวเขามีแต่ความขาวโพลนและความแปลกใหม่ เขากระเสือกกระสนให้มีชีวิตอยู่รอดในป่าให้ได้ ในป่าที่มีแต่พายุหิมะ ก่อนที่จะตามมาด้วยเรื่องราวแปลก ๆ ประหลาด ๆ เพี้ยนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหญิงอเมริกันแก่ ๆ ที่แต่งตัวตามแฟชั่น ปิศาจผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในป่า เขาหลบหนีความน่ากลัวเหล่านั้นเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งที่กันเขาออกจากโลกภายนอกได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยความเหนื่อยล้า เขาเริ่มผล็อยหลับ แต่ในขณะที่กำลังจะหลับนั้น โลกที่ปกคลุมด้วยหิมะสีขาวเริ่มกลายเป็นเขตป่าร้อนชื้น เขาวิ่งออกจากถ้ำ สำรวจโลกสีเขียวใบใหม่ด้วยความฉงน บรรยากาศของเขตร้อนชื้นเต็มไปด้วยป่าที่มีแต่ผลหมากรากไม้อันเขียวขจี …. ที่ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการผจญภัยอันเก๋ไก๋

โน้ตจากผู้กำกับ : นี่เป็นเรื่องราวของนิทานที่จะเล่าให้ฟังก่อนนอน และเป็นเรื่องราวที่อ่อนละมุนนุ่มนวล

          ผมสร้างจินตนาการจากโลกสองโลก ในนิทานปรัมปรานี้ โลกทั้งสองแห่งดูภายนอกจะเหมือนจริงทุกอย่าง แต่เมื่อเอามาสร้างคู่กัน มันจะกลายเป็นความฝันที่เป็นเอกเทศของมันเอง ด้วยความแตกต่างของมันนี้เอง ความฝันเหล่านี้ร้อยเรียงกันโดยปราศจากมิติของเวลา มันเป็นได้ทั้งอนาคตของโลกดึกดำบรรพ์ หรือความดึกดำบรรพ์ของโลกอนาคต มันเป็นการเฉลิมฉลองความเป็นอเมริกา และ ” อเมริกา ” ณ ที่แห่งนี้โลกเต็มไปด้วยความนุ่มนวลและอารยธรรมแห่งความเถื่อน

 

รายชืื่่อโปรเจ็คที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.