สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ผู้กำกับไทยที่สำคัญที่สุดในระดับสากล

  1 มีนาคม 2549
  อัญชลี ชัยวรพร
  ผลโหวต               รายชื่อผู้โหวต   
 

 Comments          อภิชาติพงศ์            เป็นเอก                วิศิษฐ์              นนทรีย

                            ท่านมุ้ย                  ปรัชญา                 อื่น ๆ
 

 หลังจากที่เคยเกริ่นมาเมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว เราอยากจะสำรวจว่าใครคือผู้กำกับคนสำคัญที่สุดในระดับสากล  มิใช่เพียงเมืองไทย โดยเราได้ความคิดมาจากหนังสือเดนมาร์กเล่มหนึ่ง  ซึ่งคัดเลือกผู้กำกับเอเชียมา 25 คนที่เขาคิดว่าน่าจะแนะนำ  ในจำนวนนี้มีคนไทยรวมอยู่ด้วย 3 คน  ซึ่งตอนนั้นเราเก็บไว้เป็นความลับ  จนมาเปิดเผยกันได้ซะที สามผู้กำกับคนที่ว่าก็คือ แต่น แต๊น แต๋น …..

 















จากตรงนั้นเราคิดว่าน่าจะขยายไปทั่วโลกเสียเลย  แทนที่จะเป็นประเทศเดียว  โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่อยู่ในแวดวงหนังทั้งระดับสากล ทั้งในไทย เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ คิวบา จะขาดก็แค่แถบละตินอเมริกาเท่านั้น  เรา้ส่งอีเมล์ประมาณ 100 ฉบับ   ไปถึงผู้คนที่จะต้องเกี่ยวข้องกับหนังไทยเป็นประจำ  ไม่ว่าจะเป็นโปรดิวเซอร์ นักธุรกิจหนัง นักวิจารณ์ สื่อมวลชน  มีผู้ตอบกลับมาครึ่งหนึ่ง  ส่วนคนที่ไม่ตอบ ก็เป็นนักวิจารณ์มากกว่าเพื่อนเลยค่ะ  ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเพิ่งจะได้ดูหนังไทยไม่ถึง 5 เรื่อง  ไม่อยากรีบด่วนตัดสินอะไรไป  บางคนก็บอกว่า เขาอยากรวมถึงผู้กำกับในอดีตด้วย  แต่เขาเพิ่งจะมาตามหนังไทยในช่วงสองสามปีหลังนี้เอง

          ในจำนวนผู้ตอบนั้น หลายคนเคยตามหนังไทยมานานมากแล้ว ก็เลยลงโหวตให้กับผู้กำกับรุ่นเก่า ๆ อย่าง รัตน์ เปสตันยี คุณาวุฒิ พี่หง่าว ยุทธนา มุกดาสนิท ด้วย ซึ่งตอนแรกเราตั้งใจอยากให้เป็นผู้กำกับร่วมสมัยมากกว่า  แต่พวกเขาบอกว่า คำว่าผู้กำกับสำคัญที่สุดนั้น ควรจะหมายถึงสำคัญตลอดเวลา ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือเลิกทำหนังไปแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น ก็เลยอยากบอกให้เข้าใจสักนิด  ไม่อยากให้เปรียบเทียบท่านเหล่านั้นว่ามีความสำคัญน้อย แต่เป็นเพราะว่าท่านมาก่อนเวลา จึงเป็นที่รู้จักในระดับสากลน้อยกว่าคนอื่น ๆ

          อีกเรื่องที่อยากบอกเจตนารมณ์ของกาำรสำรวจคราวนี้ไว้ ไม่ใช่เพราะเราต้องการจะเชื่อชาวต่างชาติอย่างเดียว  แต่อยากวัดผลว่าหนังไทยโด่งดังในเมืองนอกขนาดไหนกันแน่  บางครั้งเราประเมินค่ามากเกินไปหรือเปล่า

          สำหรับการสำรวจแบบเดียวกันกับคนไทยนั้น  ทางเราคิดว่าขอเวลาสักนิด  เพราะเราคิดว่าจะขยายการสำรวจไปกว้างกว่านี้  รวมทั้งคนในวงการหนังด้วย  ไม่ใช่แฟนเว็บของเราเพียงอย่างเดียว  ซึ่งขณะนี้เรากำลังติดต่อกับนิตยสารบางเล่มเพื่อความช่วยเหลือตรงนี้ค่ะ

          สรุปแล้ว ผู้กำกับไทยที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญที่สุดในระดับสากล มีดังต่อไปนี้ค่ะ

Apichatpong, top in the total points.
Pen-Ek cames as the No. 1 for the mentions.
Wisit Sasanatieng
Nonzee Nimibutr, more votes from Asia.

 

 

จำนวนผู้โหวต

จำนวนคะแนน

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

34

88

เป็นเอก รัตนเรือง

39

84

วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

20

33

นนทรีย์ นิมิบุตร

16

29

มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

5

11

ปรัชญา ปิ่นแก้ว

5

6

เชิด ทรงศรี

3

6

รัตน์ เปสตันยี

2

6

วิจิตร คุณาวุฒิ

2

5

ยุทธนา มุกดาสนิท

2

4

พิมพกา โตวิระ

3

3

ยุทธเลิศ สิปปภาค

1

3

อ๊อกไซด์ และแดนนี่ ปัง

2

2

ธนิตย์ จิตต์นุกูล

1

2

จิระ มะลิกุล

1

2

สมโภชน์ แสงเดือนฉาย

1

2

เอกชัย เอื้อครองธรรม

1

1

คงเดช จาตุรนต์รัศมี

1

1

บัณฑิต ฤทธกล

1

1

มานพ อุดมเดช

1

1

 

*The white remarks mean these directors did not have any works in the last five years; some others have already passed away.

 

COMMENTS

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
เป็นเอก รัตนเรือง
วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง
นนทรีย์ นิมิบุตร
ท่านมุ้ย
ปรัชญา ปิ่นแก้ว
อื่น ๆ

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

     - เจ้ยเป็นคนทำหนังที่พิเศษ  อาจจัดเข้าเป็นประเภทหนังไทยธรรมดา อย่างหนังตลก ทริลเลอร์ ก็ได้ เป็นหนังที่มีความสวยงาม งานของเขาจะเหมือนกับหนังอาร์ต ซึ่งผู้กำกับไทยเพียงไม่กี่คน โชคดีพอที่จะทำหนังแบบนี้เพื่ออวดสายตาชาวโลกได้ ถ้ามีคนโชคดีอย่างเจ้ยมากกว่านี้ ภาพของหนังไทยก็จะหลากหลายขึ้นตามไปด้วย

 

  • เพราะ สัตว์ประหลาด เป็นงานมาสเตอร์พีซ ที่ได้ให้คำจำกัดความ “ การเล่าเรื่อง” เสียใหม่ อีกทั้งยังย้อนอดีตด้วยรสสัมผัสแบบงาน avant-garde และท้ายสุด  อภิชาติพงศ์เป็นผู้นำทางคนทำหนังอินดี้รุ่นใหม่ (เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของอินดี้ไทย)
  • อภิชาติพงศ์ไม่ได้เป็นเพียงผู้กำกับที่สำคัญที่สุดในไทย หรือในอาเซียน แต่สำคัญระดับโลกเลยทีเดียว งานของเขามักจะท้าทายภาพยนตร์แนว narrative ได้เสมอ (แล้วก็เอาชนะมันได้เสียด้วย) ขณะที่งานก็จะสำรวจเรื่องราวง่าย ๆ อย่างซื่อสัตย์ ดิบ และเต็มไปด้วยพลังแห่งความรู้สึก ยิ่งเขาพยายามจะทดลองกับสื่อตัวนี้มากขึ้นเท่าไร เติบโตเป็นศิลปินมากขึ้นเท่าไร งานของเขาน่าก็ยิ่งน่าตื่นเต้นที่จะได้ชม
  • สุดยอดเหนืออื่นใดเสมอ ไม่เพียงแต่จะได้รับการประกันด้วยรางวัลเทศกาลหนังอันสูงสุด เขามักจะอยู่ในลิตส์งานหนังที่มีพลังในใจผมกับ ดอกไม้ในมือมาร พอมาดู สุดเสน่หา Haunted Houses, Iron Pussy ก็มักจะติดอันดับต้น ๆ ขึ้นไปอีก และี่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สัตว์ประหลาด
  • ชื่อเสียงของคนทำหนังไทยร่วมสมัยในตอนนี้ได้รับผลประโยชน์เป็นอันมาก จากการไปเยือนและชัยชนะที่เมืองคานส์ ซึ่งสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในแคนาดา สหรัฐ และยุโรปตามมาด้วย ผมไม่ได้คุยโอ้อวดให้ใครในที่แห่งนี้เลยนะครับ แต่ผมเชื่อว่าเทศกาลหนังสิงคโปร์รีโทรสเป็คทีฟงานของอภิชาตพงศ์  ก่อนที่เขาจะไปสร้างกระแสที่คานส์เองเสียอีก ผมได้ยินมาว่านักวิจารณ์ต่างประทับใจเขาในฐานะของนักคิดภาษาหนังและโครงสร้างหนังแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเรียกร้องเสียใหญ่โต แต่ก็สามารถเปิดการโต้เถียงกันได้แน่ สำหรับผมสุนทรียของอภิชาตพงศ์นั้นล้วนเต็มไปด้วยความท้าทายเสมอ และนี่เป็นการประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมสำหรับคนทำหนังที่กล้าหาญและทำงานหนักอย่างเขา
  • ในความคิดเห็นของผม ซึ่งคุณอาจจะเห็นด้วย ผู้กำกับที่สำคัญจริง ๆ นั้นมีแค่อภิชาติพงศ์ เขาเป็นผู้กำกับที่เป็นของแท้และเก่งมากที่สุดในโลก ผมคิดว่าเขามีพรสวรรค์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่จะไปตามทางอย่างที่เราไม่ค่อยเห็น ทุกอย่างที่เขาทำดูเหมือนจะสมบูรณ์มาก ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเขาเป็นผู้กำกับที่ดีที่สุดในโลก แต่บางทีวันหนึ่งในอนาคต คนอาจจะพูดอย่างนั้น  แต่ผมไม่แน่ใจว่าชาวต่างชาติทุกคนจะเข้าใจหนังของเขาจริง ๆ รวมทั้งตัวผมด้วย ถ้าเกิดไม่ได้มีคนไทยช่วยมาอธิบายให้ผมฟัง
  • ผมชอบความสนใจเกี่ยวกับดินแดนและตำนานไทยที่มีอยู่ในตัวเขา ผมคิดว่าเขาพยายามค้นหาภาพที่เป็นรากแท้ของเขา จึงทำให้หนังของเขาอ่อนไหวและมีพลังมาก ๆ
  • รางวัลที่คานส์ทำให้หนังไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทำให้หนังไทยมีโอกาสเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขว้าง และส่งเสริมผู้กำกับรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอินดี้ในเมืองไทยได้ดี


เป็นเอก รัตนเรือง

  • บางทีอภิชาติพงศ์อาจจะ "อาร์ต" เกินไป แล้วคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า   หนังไทยเหมือนหนังเกรดบีมากกว่า ..... ผมไม่ได้หมายความว่า เป็นเอกไม่ได้สร้างงานชิ้นมาสเตอร์พีซเอาเสียเลย แต่งานของเขาจะอยู่ตรงกลางระหว่างอาร์ต (ที่เข้าใจยาก ?) และการเล่าเรื่อง (ผมหมายถึงงานเมโลดราม่า) และทำให้เขามีที่ทางในหนังไทย
  • เขารู้จักที่จะสร้างความบันเทิงในวิถีทางที่ดีสุด นอกจากนี้ เขาไม่เคยทำหนังที่เหมือนกันเลย และภาษาภาพยนตร์ของเขามักจะมีพลังอย่างล้นเหลือ
  • หนังของเขาเป็นหนังที่ชาญฉลาดมาก สวยตามสุนทรียศาสตร์ และเต็มไปด้วยความรู้สึก นอกจากนี้  เขาเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จที่สุดตามเทศกาลหนัง
  • เรื่องราวสังคมเมืองชั้นเยี่ยม เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เติบโต และซับซ้อนตามหนังแต่ละเรื่อง เขาค้นพบทีมงานที่แข็งอย่างคริส ดอยล์ อาซาโน่ ปราบดา พวกเขาต่างก็สนใจที่จะลบโครงสร้าง (หนังแบบเดิม ๆ) และค้นพบกระบวนการใหม่ ๆ Invisible Waves เป็นหนังที่ผมตื่นเต้นอยากดูมาก

 

  • ผมได้ดูหนังของเขาทุกเรื่อง และแม้ว่างานของเขาอาจจะไม่ต่อเนื่องเท่าไร แต่ก็มีความน่าสนใจเสมอ ดูเหมือนว่าเขาจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะฮิตในวงการหนังอาร์ตเฮ้าส์ของฝรั่งได้ในวันหนึ่ง
  • นักเล่าเรื่องชั้นเยี่ยม ผู้มีงานที่น่าสนใจและน่าติดตาม ใน Last Life in the Universe เขาเปลี่ยนแปลงการกำกับในเชิงทดลองครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากที่มีผลงานอย่าง เรื่องตลก 69 และ มนต์นักทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นหนังในเชิงขนบที่สร้างความเพลิดเพลินใจให้กับฝูงชน (แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง) หนังของเขามักจะคะแนนตกด้วยมุขตลกร้าย และพล็อตที่คล้ายกับหนังของพี่น้องโคเอน ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังของเขายังคงสร้างกระแสความน่าสนใจได้อยู่ สำหรับหนัง Invisible Waves ยังคงจะต้องรอดูอีกว่าจะรักษาความน่าสนใจในเชิงหนังอาร์ตได้เหมือนกับ Last Life หรือไม่
  • ผมคงจะต้องบอกว่าเป็นเอกเป็นคนที่สอง ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะสำคัญในระดับโลกจริง ๆ หรือไม่ แต่หนังของเขามีความรู้สึกหรือแง่มุมบางอย่างที่สำคัญต่อผมเป็นการส่วนตัว (และสำหรับฝรั่งคนอื่น ๆ อีกหลายคนด้วย) นี่เป็นความรู้สึกที่ผมไม่สามารถหาได้จากคนทำหนังคนไทยอื่น ๆ บางทีมันอาจจะเป็นแบบญี่ปุ่นหรืออะไรมากกว่า เพราะฉะนั้นผมก็เลยค่อนข้างจะเข้าใจถ้าคนคิดว่า หนังของเขาไม่ใช่หนัง “ ไทย ” เท่าไร ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะสำคัญหรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าหนังของวิศิษฐ์จะมีส่วนผสมของมุมมองไทยและต่างชาติดีกว่า หนังของเขาสามารถสื่อสารความเป็นไทยบางอย่างให้ชาวต่างชาติดูได้อย่างเข้าใจ ขณะที่หนังเป็นเอกดูเหมือนจะพูดคุยกับฝรั่งด้วยภาษา(ต่างชาติ)ของมันเอง   แต่จากมุมมองของชาวยุโรป ผมบอกได้ว่าเป็นเอกเป็นที่รู้จักมากกว่าอภิชาติพงศ์ มีคนไม่กี่คนจะรู้จักเป็นเอกบ้าง เพราะ Last Life ออกฉายในโรงและออกแผ่นดีวีดีแล้ว  ขณะที่หนังอภิชาติพงศ์ฉายเฉพาะในเทศกาลหนังลอนดอน กับศูนย์ศิลปะ ICA เท่านั้น
  • เขาน่าจะถูกเรียกว่าเป็นผู้กำกับเอเชียมากกว่าไทย ฉันคิดว่ามุมมองเขาน่าสนใจในฐานะคนแปลกหน้าจากสังคมไทย ปัญญาชน และคนบ้าหนัง
  • ก็เหมือนกับนนทรีย์ งานของเขาได้รับการเชื้อเชิญฉายไปทั่วโลก และทำให้หนังไทยเป็นที่รู้จักไปทั่ว มีการร่วมลงทุนการผลิตระหว่างประเทศ
  • แนวคิดหนังชั้นเยี่ยมและเป็นของแท้ แถมยังสร้างธีมในเชิงภาษาหนัง
  • หนังกระแสหลักที่สามารถจัดลำดับเป็นหนังชั้นดีที่สุด

 

วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง
- เขาทำหนังแสดงความเป็นไทยแบบโพสต์โมเดิร์น : การออกแบบโปรดักชั่นทันสมัยแบบรีโทรที่น่าตื่นตา และเต็มไปด้วยความหมาย

- คนทำหนังที่สนุกสนานมากมาก :)

- บางทีผมไม่ควรจะยึดจากหนังเรื่องเดียวที่ผมเคยดู (หมานคร ยังมาไม่ถึงผมเลยครับ) แต่มันก็เป็นหนังที่่ช่วยทำให้ผมนึกถึงภาพของหนังไทยได้มาก เพราะว่า ฟ้าทะลายโจร เป็นหนังซับไตเติ้ลภาษาไทยเรื่องแรกที่ผมเคยดู (โชคดี ตอนนั้นผมอยู่เชียงใหม่ 1-2 อาทิตย์ตอนหนังฉายเมื่อต้นปี 2000)

- สไตล์การเล่นภาพของวิศิษฐ์เป็นการพัฒนารูปแบบอันน่าสนใจ  จากความสำเร็จของ ฟ้าทะลายโจร จนถึง หมานคร เขามักจะยืนพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีและการเล่นกล้อง  มากไปกว่ากลยุทธ์การวางกรอบภาพและจัดวางภาพ  

- หมานคร เป็นหนังของแท้และฉลาดหลักแหลมมาก

 

นนทรีย์ นิมิบุตร
- ผู้กำกับเงินล้าน  เป็นคนทำหนังไทยที่ประสบความสำเร็จตลอดกาลอย่าง นางนาก  รวมทั้ง 2499 อันธพาลครองเมือง  และ จันดารา  ยังมีการมองย้อนเชิงสังคมในหนังของเขาด้วย

-  เขาทำหนังไทยที่ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในระดับสากล  แต่สำหรับเมืองไทยด้วย  โดยเฉพาะ นางนาก และ 2499 อันธพาลครองเมือง

- ไม่เพียงแต่เป็นผู้กำกับ  แต่ยังได้โปรดิวซ์หนังไทยดี ๆ หลายเรื่อง  ซึ่งยังส่งออกไปนอกประเทศได้อีก  ที่ญี่ปุ่น เขาเป็นเสมือนโฆษกของหนังไทย  ได้รับเชิญไปพูดถึงหนังไทยถึงสองครั้ง



มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล   
สิ่งที่ท่านสร้างไว้ให้กับหนังไทยนั้นยิ่งใหญ่  งานของท่านมักจะวิพากษ์สังคม  และเป็นการวิพากษ์ในหลาย ๆ ประเด็นเกี่ยวกับสังคมไทย  รวมทั้งการที่ท่านหันมาสนใจในการทำหนังประวัติศาสตร์ก็ถือว่ามีคุณค่าเช่นกัน

 

ปรัชญา ปิ่นแก้ว
- งานของเขาทำให้หนังไทยโด่งดังไปทั่ว  อย่างน้อยก็พวกที่สนใจหนังแอ็คชั่น  แต่เขาต้องทำงานกับ จา พนม ถึงจะดัง  จะมีสักกี่คนที่จะสนใจผลงานของเขาก่อนหน้านี้  นอกจาก องค์บาก กับ ต้มยำกุ้ง   

- หมายเลข 3 ของผมคงต้องเป็นปรัชญา ปิ่นแก้ว  ตอนที่ผมไปกรุงเทพ  ผมถึงได้รับรู้อิทธิพลของเขาในฐานะโปรดิวเซอร์ด้วย  แถมยังเป็นพลังขับเคลื่อนภาพยนตร์กระแสหลักคนสำคัญ  ผมอาจจะเพิกเฉยไม่ใส่ชื่อเขาอยู่ในลิสต์  แต่เมื่อคำถามเป็นว่า ใครคือผู้กำกับไทยที่สำคัญที่สุดในสายตาระดับสากล  แถมงานได้ไปฉายที่สหรัฐ  ปรัชญาคงทำคะแนนนำในเรื่องความดังและเป็นที่รู้จักมากกว่า เป็นเอก และ อภิชาติพงศ์

          เพราะฉะนั้น คงจะต้องเป็นปรัชญา  เพียงเพราะงานของเขาที่เปิดออกสู่สายตาชาวโลกเท่านั้น  อย่างตอนนี้ ใคร ๆ ก็อยากดูหนังของหม่ำ จ๊กม๊ก ที่พวกเขารู้จักจาก องค์บาก  ถ้าไม่มีหนังเรื่องนี้  ชาวต่างประเทศก็ไม่รู้จักหม่ำ 

 

อื่น ๆ (เลือกแปลมาจากภาษาอังกฤษ  เพราะถ้าแปลหมด  คิดว่า คนเขียนอาจจะถูกตีหัวได้ !)

- ผมไม่แน่ใจว่าจะโหวตใครเป็นลำดับสาม เร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นวิศิษฐ์  แล้วผมก็ไม่อยากโหวตให้ปรัชญา  เพราะผลงานของเขาให้ภาพหนังไทยกับชาวโลกในสิ่ิงที่ผมไม่ชอบ  แล้วก็ถ้าจะให้คะแนนตามสายตาของชาวต่างชาติ  ผมจะต้องชะลอที่จะเทคะแนนให้ คงเดช  เพราะว่าผมจะไม่รู้จักเขาเลยถ้าผมไม่ได้อยู่เมืองไทย  จิระ มะลิกุล ไม่เป็นที่รู้จักในเมืองนอกเลย  แล้วผมก็คิดว่าคนไทยประเมินความดังของนนทรีย์ในต่างประเทศเกินไปนิด  ไม่มีใครในบ้านผมเคยได้ยินชื่อของเขามาก่อนเลย ผมไม่เคยคิดว่าพี่น้องแปงเป็นคนไทย  เป็นชาวฮ่องกงมากกว่า  แล้วหนังเรื่องหลัง ๆ ของพวกเขาก็แย่มากด้วย  เอกชัยอาจจะมีความสำคัญในอนาคต เพราะเขามีสไตล์การทำหนังที่เป็นสากล  แต่ก็เร็วเกินไปที่จะบอกเป็นเขา  ผมคิดว่าภาคภูมิ และบรรจง จาก ชัตเตอร์ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นไปได้  แต่เราคงจะต้องจับตาดู  พิมพกาก็อาจจะมีความสำคัญด้วย ถ้าเธอมีโอกาสทำหนังเรื่องต่อไปได้

          แต่ถ้าคุณถามผมว่า ผู้กำกับคนไหนที่ผมชอบที่สุด  ผมคงจะต้องบอกว่า เป็นเอกมาเป็นอันดับหนึ่ง  ยุทธเลิศอันดับสอง  และอภิชาติพงศ์เป็นลำดับสาม

- ผมคิดว่ายังมีชื่อที่น่าสนใจคนอื่น ๆ ด้วย เช่น นนทรีย์  มล.มิ่งมงคล โสณกุล  และท่านมุ้ย (สำหรับผลงานเก่า ๆ ของท่าน)

- อีกชื่อหนึ่งที่ผมอยากจะใส่ไว้ในลิสต์ด้วย ก็คือ ยุทธเลิศ  จากทั้งผลงานเก่า ๆ ของเขา และจากการรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว  ผมคิดว่าเขามีความสามารถที่จะสร้างงานดี ๆ ได้ต่อไปในอนาคต

- ถ้าคำถามของคุณเป็นว่า "ใครคือผู้กำกับไทยที่สำคัญที่สุดในระดับสากล" และผลเพื่อให้คนไทยได้รับรู้  ก่อนอื่นผมคงต้องบอกก่อนว่า ภาพของหนังไทยในระดับสากลค่อนข้างมีจำกัด เพราะเรามีโอกาสได้ดูหนังไทยเฉพาะตามเทศกาลหนังเป็นหลัก แล้วก็ที่ฉายตามโรงแบบจำกัดจำเขี่ย

- ผมมีแค่สองคนเท่านั้น  วิศิษฐ์เป็นศิลปินป็อบเกินไปหน่อย (too pop-artist) นนทรีย์เดินตามขนบมากไปหน่อย  ปรัชญามีอิทธิพลมากที่สุด แต่ไม่สำคัญในความเข้าใจของผม

 

รายชื่อผู้โหวต

Sabrina Baracetti, ไดเร็คเตอร์เทศกาลหนังอูดิเน่ อิตาลีl
Wouter Barendrecht, โปรดิวเซอร์และผู้จัดจำหน่ายหนังบริษัทฟอร์ติสสิโม่ เนเธอร์แลนด์ - ฮ่องกง
Davide Cazzaro, นักวิจัยหนังและนักวิจารณ์ อิตาลี
Victor Fowler Calzada, ฝ่ายเผยแพร่ โรงเรียนภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติ คิวบา
Philip Cheah, ไดเร็คเตอร์เทศกาลหนังสิงคโปร์
Anne Ciecko, อาจารย์มหาวิทยาลัย University of Massachusetts Amherst, สหรัฐ
Joe Cummings, นักเขียน ประเทศไทย
Brian Darr, www.hellonfriscobay.blogspot.com, สหรัฐ
Derek Elley, นักวิจารณ์ประจำ Variety
Russel Edwards, นักวิจารณ์ประจำ Variety
Erich William Fleshman นักแสดงและนักทำสารคดีประจำประเทศไทย
Roger Garcia, ผู้จัดจำหน่ายหนัง ฟิลิปปินส์ - สหรัฐ
Charlotte Garson, นักวิจารณ์ประจำ Cahiers du Cinema ฝรั่งเศส
Colin Geddes, โปรแกรมเมอร์คัดเลือกหนังประจำเทศกาลหนังโตรอนโต้  แคนาดา
James Hewison, ไดเร็ตเตอร์เทศกาลหนังเมลเิบอร์น ออสเตรเลีย
Ron Holloway, นักวิจารณ์ สหรัฐ- ฮ่องกง
Janice Hong, สื่อมวลชน Movieweek, เกาหลีใต้
Yomota Inuhiko, อาจารย์มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin University , ญี่ปุ่น
Kenji Ishizaka, Japan Foundation ประจำโตเกียว ญี่ปุ่น
Kim Ji-Seok, ไดเร็ตเตอร์โปรแกรมหนังเอเชีย เทศกาลหนังปูซาน
Eva Joerholt, อาจารย์มหาวิทยาลัย University of Copenhagen, เดนมาร์ก
Mokko Keisuke, สื่อมวลชน ญี่ปุ่น
Adam Knee, อาจารย์สอนหนังไทย สหรัฐ
Gary Mak, Broadway Cinematheque, ฮ่องกง
Sherman Ong, นักทำหนัง สิงคโปร์ / มาเลเซีย
Nicholas Palevsky, นักวิจารณ์ ประเทศไทย - รัสเซีย
Darcy Paquet, นักวิจารณ์และผู้สื่อข่าว สหรัฐ - เกาหลีใต้
Alberto Ramos Ruiz, Havana Film Festival , คิวบา
Prima Rusdi, นักเขียนบท อินโดนีเซีย
Marie Le Sourd (Ms), รักษาการแทนผู้อำนวยการ Asia-Europe Foundation (ASEF) สิงคโปร์
Chuck Stephens, Film Comment, Contributing Editor, ประเทศไทย
Miwa Takasugi, ผู้สื่อข่าว ญี่ปุ่น
Lorna Tee, Focus Films, ฮ่องกง
Max Tessier, นักวิจารณ์ ฝรั่งเศส
Alexis A. Tioseco, นักวิจารณ์ ฟิลิปปินส์
Andreas Ungerboeck, นักวิจารณ์ ออสเตรีย
Tom Waller, โปรดิวเซอร์ ประเทศไทย
Brandon Wee, นักเขียนและนักวิจารณ์ สิงคโปร์ – แคนาดา
Zhang Wenjie, ฝ่ายจัดโปรแกรม Cinematheque , สิงคโปร์
Robertson Williamson, นักวิชาการและนักวิจารณ์ อังกฤษ - ไทย
Eric Lik Shun Wong, www.cinemathai.com, ฮ่องกง
Sebu, http://www.nihon-fr.com/cinema/thailande/ ฝรั่งเศส
Wise Kwei – Thai Film Journal, กรุงเทพ ประเทศไทย
Wong Tuckcheong, โปรแกรมเมอร์ Malaysian Film Society , มาเลเซีย
Julietta Zacharova, ไดเร็คเตอร์โปรแกรม Karlovy Vary IFF, สาธารณรัฐเช็ค

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.