สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
เด็กสาว
 
Share |
Print   
 

 

 

 

เริ่ม 8 พ.ย 55 นี้ ในเครือเมเจอร์ 14 โรง : รัชโยธิน , ปิ่นเกล้า , รังสิต , แฟชั่น ไอส์แลนด์ รามอินทรา , พระราม 2 , พระราม 3 , บางกะปิ , Mega บางนา , EGV ซีคอน สแควร์ , Future Park บางแค , Siam Paragon , Esplanade รัชดา , Esplanade งามวงศ์วาน , Major เชียงใหม่

เค้าโครงเรื่อง

อ้อ แตน น้อย เดือน เต๋า สาวน้อย 5 คนที่เติบโตมาด้วยกันท่ามกลางวิถีชีวิตริมสายน้ำ ณ คลองบ้านหว้า บางปะอิน พวกเธอยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ เที่ยวเล่น ซุกซนมาด้วยกันและผูกพันมากมายในฐานะ “เพื่อนรัก” 
สายน้ำรินไหลอย่างไม่หวนกลับเช่นไร วันเวลาของพวกเธอก็ไม่หวนคืนเช่นกัน กาลเวลาเดินทางพร้อมกับการเติบโตของพวกเธอ และในวันที่เด็กน้อยเริ่มผลิบานเป็น “เด็กสาว” มิตรภาพที่มั่นคงเริ่มพบกับข้อทดสอบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความขัดแย้งกับความรู้สึกของตัวเอง และการแข่งขันกับคนอื่น โดยเฉพาะในศึกระหว่างสายน้ำอย่าง “แข่งเรือประเพณีประจำจังหวัด” ที่พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับทีมบ้านสามเรือนในรอบสุดท้าย ทีมซึ่งมาพร้อมตำแหน่งแชมป์ 2 สมัยซ้อน
และการแข่งขันเรือประเพณีครั้งนี้ ทำให้หลายอย่างในชีวิตพวกเธอเปลี่ยนไป

 

จาก “นักเขียน” สู่ “ผู้กำกับ”

ชื่อของ “ ฟ้า พูลวรลักษณ์ ” ได้รับการเอ่ยถึงในสถานะของ “นักเขียนและกวี” มานาน ผลงานของเขาปรากฏในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้ง นวนิยาย เรื่องสั้น รวมถึงบทกวีแคนโต้

แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ในนามของ “ศิลปะ” รวมถึงผลงานศิลปะล่าสุดอย่าง “ภาพยนตร์” เรื่อง “เด็กสาว” (Bloom) ที่เขาทุ่มเวลาเพื่อผลงานชิ้นนี้นานกว่า 2 ปี ให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วก็อุ่นในหัวใจ พร้อมยิ้มกว้างให้กับมิตรภาพของเด็กสาวทั้ง 5 คน .....จากแรงบันดาลใจสู่ภาพเคลื่อนไหว.....

นานมาแล้ว ครั้งหนึ่งผมได้รู้จักผู้หญิงคนหนึ่งจากอยุธยา ชื่ออ้อ เธอหน้ากลมๆ ใสๆ บ่ายวันหนึ่งเธอเล่าเรื่องราวของเธอที่เคยไปแข่งเรือ เหตุการณ์เล็กๆนั้นกลับตรึงใจผม หลายครั้งที่ผมจะหวนคิดถึงมัน จนต่อมามันได้กลายเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของผมชื่อ “สู้เขาสิ อ้อ” ในขณะเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผมก็มีภาพในใจเกือบสมบูรณ์ ราวหนึ่งกับว่ามันมีชีวิต จนผมคิดว่า หากมีวันใดที่ผมสร้างหนัง ผมก็จะสร้างเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และมันก็ได้เกิดขึ้นจริง

เริ่มต้นจากเรื่องสั้นที่รัก : มันคือ coming of age ของเด็กผู้หญิง เรื่องราวของมิตรภาพ ความผูกพันของพวกเธอที่มีต่อสายน้ำ การที่ผมหยิบเรื่องนี้มาทำ สาเหตุสำคัญอันหนึ่งคือความรักของผมที่มีต่อสายน้ำ ตอนหาโลเคชั่น ผมนั่งเรือซอกแซกไปโน่นไปนี่ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ผมมีข้ออ้างที่จะใช้ชีวิตกับสายน้ำ

แต่เรื่องสั้นไม่สามารถนำมาสร้างเป็นหนังความยาว ๙๐ นาทีได้หากไม่มีการต่อเติมขยายความ ผมจำเป็นต้องคิดหารายละเอียดเรื่องราวให้หนังมีความยาวพอควร ใส่ใจในทุกรายละเอียด ทำทุกหน้าที่ ....

ผมทำหกหน้าที่ คือ ๑ ผู้อำนวยการสร้าง ๒ ผู้ก้ากับ ๓ คนเขียนบท ๔ คนตัดต่อ ๕ คนหาโลเคชั่น ๖ คนแคสติ้ง การทำแทบทุกอย่างมีข้อดีคือ มีเอกภาพ เพราะการตัดสินใจของผมเท่ากับคนหกคน จึงมีความรวดเร็ว มีพลัง และแน่ละ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย การทำหนังจำเป็นต้องใช้ไหวพริบ เพราะอาจมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น การที่คนเดียวทำหน้าที่หลายอย่าง และมีอำนาจเด็ดขาด ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขด้านหน้ากองเลย

ลงทุนเรียนทฤษฎี แต่หน้ากองคือของจริง : ผมไม่มีความรู้ในการทำหนังมาก่อนเลย การเตรียมตัวคือ การไปเรียนภาพยนตร์เป็นเวลาหนึ่งเดือนที่ New York Film Academy และอีกหนึ่งเดือนที่ Budapest ที่จริงเป็นคอร์สเดียวกัน คือความรู้เบื้องต้นของการสร้างภาพยนตร์ เพียงแต่นิวยอร์กผมเรียนระบบฟีลม์ แต่ที่บูดาเปส ผมเรียนระบบดิจิตอล ส่วนอีกสองเดือนผมเรียนเขียนบทภาพยนตร์ที่ลอสแองเจลิส ความรู้เหล่านี้ทำให้ผมพอเข้าใจได้ว่าพื้นฐานของการทำหนังคืออะไร แต่ที่ไม่เรียนต่อ เพราะผมเชื่อว่าการเรียนรู้หน้ากอง น่าจะดีกว่าและประหยัดกว่า เพราะแก้ปัญหาจากโจทย์จริง น่าจะมีความหมายกว่าการแก้ปัญหาจากโจทย์สมมุติ

นักแสดงหน้าใหม่ คือความใสที่จับใจ : มันเป็นเรื่องของสปิริต ผมทำอะไร สปิริตเป็นใหญ่ ผมอยากเห็นหนังที่มีจิตวิญญาณบริสุทธิ์ และมีข้อดีอย่างอื่นอีก เช่น ทำงานง่าย เพราะพวกเขาไม่ใช่ดารา เวลานัดหมายมาถ่ายทำจะง่าย ไม่ติดคิว หากเป็นดารา กว่าจะหาคิวว่างของพวกเธอได้ คงลำบาก แบบที่ผมทำงานอย่างสบายอารมณ์ เวลาดูเราจะเชื่อได้มากกว่า ว่าเขาคือเขาจริงๆ เป็นตัวละครในเรื่องจริงๆ ความใสเหล่านี้คืออากาศบริสุทธิ์ตลอดเรื่อง

หลายคนเป็นนักกีฬาอาชีพด้วย ที่ต้องใช้นักกีฬาอาชีพมาเป็นนักแสดงหลัก เพราะฉากสำคัญของหนังคือฉากแข่งเรือ ผมต้องการความสมจริงในการพายเรือ ฉากพายเรือเกือบตลอดเรื่องเป็นการพายจริง

สถานที่งดงาม เพลงประกอบไพเราะ องค์ประกอบที่ลงตัว : ผมหาโลเคชั่นเองซึ่งเป็นoutdoor เกือบทั้งเรื่อง โลเคชั่นที่ประกอบไปด้วยสายน้ำ สายลม อากาศ ต้นไม้เขียวขจี และแสงแดดสดใสซึ่งใช้เวลามากกว่าปกติ เพราะผมค่อยๆดู ไม่รีบร้อน ผมถือว่าเป็นการเที่ยวไปในตัว ถึงหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะได้มาเที่ยวแล้ว เป็นการทำงานอย่างช้าๆ เพื่อให้ได้คุณภาพ

เพลงประกอบ เกิดจากที่ผมได้ทดลองฟังเพลงปี่พาทย์มากมายนับร้อยเพลง และท้ายที่สุดก็สรุปว่าเพลงที่ผมชอบที่สุดและรู้สึกเหมาะกับหนังที่สุดคือ โยสลัม เพราะมันมีความร่าเริงสดใส และความซุกซนบางอย่าง ผมจึงบอกคนท้าดนตรีให้เอาเพลวนี้เป็นธีม

หนังไม่’ติสต์ อย่าคิดว่าดูยาก : ผมคิดอยู่เสมอว่าหนังเป็นศิลปคนละแขนงกับหนังสือ หรือแม้แต่จิตรกรรม ดังนั้นหลักการทำงานจึงต่างกัน การทำหนังสำหรับผมต้องการให้ดูง่าย มีความบันเทิง หากต้องการทำงานยาก ต้องการการตีความ ผมคงกลับไปเขียนหนังสือดีกว่า สรุปคือผมถือว่าหนังยืนอยู่บนเสาหลักของต้นไม้ที่มีความสำคัญทัดเทียมกัน คือเป็นศิลปและบันเทิง คนบางคนคิดว่าหนังเป็นศิลปะล้วนๆ ผมไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับคุณไม่ยอมรับทุนที่สูงมากของการสร้างหนัง คนบางคนคิดว่าหนังเป็นบันเทิงล้วนๆ เป็นการค้าล้วนๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมไม่ต้องการเสียเวลาในชีวิตของผมในการเป็นตลกคาเฟ่ หรือแดนเนรมิต หรือในการหาเงิน การทำหนังก็ไม่ใช่การค้าที่น่าลงทุน เพราะมันยังคงเสี่ยงอยูมากด้วย หากทำการค้าอย่างอื่นจะดีกว่า

เสน่ห์ที่ทุกคนต้องตกหลุมรัก เสน่ห์อยู่ที่ตัวเอกของหนัง ไม่ได้อยู่ที่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง แต่เป็นบรรยากาศโดยรวม แม้แต่ความอ่อนหัด ความขัดเขินของพวกเธอ รวมทั้งความอ่อนหัดของผู้ก้ากับ ก็เป็นเสน่ห์ อันนี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าความลงตัวของคอนเซ็ปต์ พูดง่ายๆคือ ตัวเอกของหนังเรื่องนี้ได้แก่ สายน้ำ อากาศ ต้นไม้ และเด็กๆ ทั้งสาม คือสิ่งที่หนังเรื่องอื่นไม่ได้เน้นหรือมองข้ามไป แต่ผมกลับเน้นหนัก การออกแบบหนังทั้งเรื่องมีโครงสร้างรองรับสิ่งที่เรียกว่าการถ่ายทำ ตั้งแต่เปิดภาพแรก จะให้สายน้ำเป็นตัวเอก เด็กๆเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากสายน้ำ การแข่งเรือก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากสายน้ำ ท้องฟ้ากว้างใหญ่ จะเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็น outdoor เกือบทั้งเรื่อง มีเพียงสองสามฉากเท่านั้นที่เป็น indoor ส่วนฉากห้องเรียนซึ่งมีหลายฉาก ผมถือว่าเป็นฉากก้ำกึ่ง เพราะห้องเรียนเป็นสาธารณะ การออกแบบอย่างนี้ทำให้อากาศอากาศกว้างใหญ่ บริสุทธิ์ เหมือนจะบอกว่าเด็กๆของผม อยู่ในธรรมชาติ เกิดจากธรรมชาติ เป็นการบอกโดยไม่ได้ใช้คำพูด แต่บอกโดยบรรยากาศและวิธีการเล่าเรื่อง

ความหวังของผู้กากับหน้าใหม่ : อยากให้คนดูชอบ มีความสุข ประทับใจ และไม่ขาดทุน (หัวเราะ)


นักแสดง

 

 

เจน - เจนจิรา จาเนียรศรี รับบท “อ้อ”
สาวน้อยผู้มองโลกในแง่ดี ช่างคิดช่างฝัน อ่อนหวาน ขี้กลัว เป็นคนกลัวพ่อ รักเพื่อน รักน้อง โดยบุคลิกไม่ใช่นักกีฬา แต่ก็ผูกพันกับสายน้ำาและการพายเรือ

ส้มโอ - วรรณษา ภู่นิเทศ รับบท “แตน”
เด็กสาวก้าพร้า เข้มแข็ง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว กระโดกกระเดก ไม่เป็นกุลสตรีอะไร ไร้เดียงสา เห็นความรักเป็นเรื่องตลกขบขัน แม้จะเฉลียวฉลาด แต่ก็ยังเด็กเกินกว่าจะรับมือกับเรื่องเพศตรงข้าม ชอบเอาชนะ บางครั้งก็ใจร้อน แต่บางทีก็ปล่อยวางแบบง่ายๆ

เจน –ศรินธร ยิ่งชาติ รับบท “น้อย
สาวน้อยผู้ร่าเริง เป็นกันเอง สดใสกับทุกคน พูดจาตรงไปตรงมา โลกของเธอไม่มีอะไรให้ต้องกังวล

อะตอม- ศิขะริน ทรัพย์ดิเรก รับบท “เดือน”
เด็กสาวที่คิดถึงตัวเองก่อนคนอื่น ในรอยยิ้มสดใสเธอแฝงความเจ้าชู้เล็กๆไว้ข้างใน แต่ที่สุดแล้วเพื่อนก็สำคัญเสมอ

แป้ง- กัญกาญจน์ พิเชฐไพศาล รับบท “เต๋า”
สาวน้อยจิตใจดีผู้เคร่งขรึม ชอบมีมุขเฉพาะตัว เวลาแกล้งเพื่อนแล้วจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจและคาดไม่ถึง ความเศร้าลึกๆของเธอมาจากปัญหาในครอบครัว


 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.