สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

 
ยักษ์
  LINK : แคแรกเตอร์ตัวละครและคนพากย์
 
Share |
Print   
       
 

 

 

 

 

 

แนวหนัง แอนิเมชั่น -แอ็คชั่น-ผจญภัย
ผู้สร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล / บ้านอิทธิฤทธิ์ / ซูเปอร์จิ๋ว / เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส
จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินการสร้าง บ้านอิทธิฤทธิ์และเวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส
กำกับภาพยนตร์ ประภาส ชลศรานนท์
ร่วมกำกับภาพยนตร์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, ประภาส ชลศรานนท์, ชัยพร พานิชรุทติวงศ์, วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ
ควบคุมการสร้าง พาณิชย์ สดสี
ที่ปรึกษา ปรัชญา ปิ่นแก้ว
ดำเนินการสร้าง กาญจนา ไทยถานันดร์
กำกับแอนิเมชั่น ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
เรื่อง ประภาส ชลศรานนท์
บทภาพยนตร์ ประภาส ชลศรานนท์,พัลลภ สินธุ์เจริญ,วิรัตน์ เฮงคงดี,ณัชพล เรืองรอง
ลำดับภาพ สมิทธิ์ ทิมสวัสดิ์
กำกับเสียงพากย์ พัลลภ สินธุ์เจริญ
บันทึกเสียง TECHNICOLOR
ฟิล์มแล็ป TECHNICOLOR
ดนตรีประกอบ จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน
ออกแบบเสียง ธีรศักดิ์ ไชยยศ
ออกแบบงานสร้างและกำกับศิลป์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
ให้ชีวิตให้เสียงโดย สันติสุข พรหมศิริ, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, ..ชนินาภ ศิริสวัสดิ์, บริบูรณ์ จันทร์เรือง, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, แจ๊ป เดอะริชแมนทอยและนักแสดงรับเชิญ อุดม แต้พานิช

แคแรกเตอร์ตัวละครและคนพากย์

เรื่องราวของ “ยักษ์

หลังสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างหุ่นกระป๋องฝ่ายราม กับ หุ่นยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์จบลงแบบล้างเผ่าพันธุ์ปล่อยทิ้งให้สนามรบกลายเป็นเพียงสุสานซากเศษโลหะและเป็นขุมทรัพย์ให้กับบรรดาหุ่นค้าของเก่า และแล้วเรื่องราวมิตรภาพและการเดินทางผจญภัยของเจ้าหุ่นยนต์ 2 ตัวที่ดูๆ ไปแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเหมือนกันสักนิดเดียวก็ได้เริ่มต้นขึ้นในอีกหลายล้านวันต่อมา

เจ้าหุ่นตัวหนึ่งใหญ่ยักษ์สมร่างชื่อ “น้าเขียว” บ่งบอกตามลักษณะสีอันเป็นเอกลักษณ์ ดูน่าเกรงขาม กับ “เจ้าเผือก” หุ่นกระป๋องมินิตัวเล็กประเมินจากสภาพจากพวกค้าหุ่นยนต์เก่าบอกได้คำเดียวว่าไร้ราคา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหุ่น2ตัวต่างตื่นขึ้นมาจากการถูกขุดขึ้นพร้อมกับสภาวะหน่วยความจำเสื่อม ไม่จำอดีตไม่รู้อนาคต แถมยังมีโซ่พิเศษที่ตัดเท่าไหร่ก็ตัดไม่ขาดผูกล่ามติดกัน

หนำซ้ำงานนี้พอทั้งคู่ตื่นขึ้นมาก็อาละวาดซะจนเมืองขายของเก่ากระเจิดกระเจิงราบเป็นหน้ากลอง ทำให้ทั้งคู่ต้องหนีและกลายเป็นร่วมผจญภัยไปด้วยกันอย่างไม่มีทางเลือก ทีแรกดูเผินๆต่างฝ่ายต่างเป็นส่วนเกินของกันและกัน แต่ตลอดการเดินทางกลับมีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นทำให้ทั้งคู่กลายเป็นฮีโร่โดยไม่รู้ตัว สร้างความผูกผันให้กับทั้งน้าเขียวและเจ้าเผือกก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่ทำให้ส่วนเกินกลายแปรเปลี่ยนเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ และจนวันหนึ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจ กลับเป็นวันที่ต้องรู้ว่า... แท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขาคือใคร หน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดำเนินต่อไป ทำให้ต้องเลือกระหว่าง มิตรภาพกับหน้าที่ สิ่งใดสำคัญกว่ากัน

 

สิ่งละอันพันละน้อยหลอมรวมเป็นแอนิเมชั่นชวนยิ้ม“ยักษ์”

- ก่อนจะใช้ชื่อว่าบ้านอิทธิฤทธิ์ บริษัทนี้เคยเกือบจะได้ใช้ชื่อว่า “ฤาษี”
- พี่จิก-ประภาส และ เอ็กซ์ ชัยพร มีความชอบในลายเส้นของ รงค์ (ณรงค์ ประภาสะโนบล) นักเขียนการ์ตูน ในหนังสือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน เหมือนกันโดยไม่ตั้งใจ
- จุดเริ่มต้นของการนำรามเกียรติ์มาสร้างเป็นแอนิเมชั่นเกิดจาก ขั้นตอนการประชุมทีมงาน เพื่อวางเรื่อง แต่มีคนๆ หนึ่งเขียนชื่อลงไปในกระดาษผิดจากรามเกียรติ์เป็นรามเกียร์ เลยได้ไอเดียว่าถ้าเป็นโลกของหุ่นยนต์ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
- ชื่อเรื่อง “ยักษ์” พี่จิก-ประภาสไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย เพราะพอได้ไอเดียว่าเป็นรามเกียรติ์แล้ว ตัวละครแรกที่ตั้งใจใช้เป็นตัวเอกก็คือ ทศกัณฐ์เพราะเป็นตัวละครที่พี่จิกชอบมากที่สุด จนถึงกับเอามาตั้งเป็นชื่อรายการเกมทศกัณฐ์ จนโด่งดังมาแล้ว เหตุที่ชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจ และทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบให้มี 10 หน้า 20 แขน 20 มือ

 

ตัวละคร

- ต้นแบบของตัวละครในเรื่องยักษ์ จากหุ่นยนต์ที่เอ็กซ์ ชัยพร ออกแบบไตเติลให้เวิร์คพอยท์เมื่อ 8 ปีก่อน ในตอนจบของรายการเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เดินมาแล้วแปลงแขนเป็นอาวุธสงคราม มันเอากองขยะมาประกอบจนเขียนคำว่าเวิร์คพอยท์ ไตเติ้ลนี้ใช้เพียงไม่กี่ครั้ง ประภาส ก็ให้ถอดออกเพราะจะเก็บไว้ทำแอนิเมชั่นต่อ
- หนุมานคือตัวละครที่ออกแบบยากที่สุด มีการปรับแก้หลายครั้ง กว่าจะได้หน้าตาที่ดูเป็นฮีโร่มากขึ้น
- ตัวละครบางตัวมีการดึงลักษณะเด่นของดาราผู้พากย์เสียงมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปลักษณ์ตัวละครด้วย เช่น หนุมานจะแตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่น ตรงที่หุ่นตัวอื่นจะมีเสาอากาศไว้รับคำสั่งจากรามเพียงเสาเดียว
แต่หนุมานจะมีสามเสาดูคล้ายทรงเดดร็อคทรงผมของเสนาหอย, นกสดายุ ออกแบบโดยอิงจาก เหมี่ยว ปวันรัตน์ จากสีผิว และทรงผมม้า ก๊อกหุ่นขายของเก่าก็ออกแบบมาจากแจ๊ปเดอะริชแมนทอย
- ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ได้ใส่รายละเอียดความเป็นไทยแฝงลงไปด้วยเช่น คิ้วของตัวละครเป็นคิ้วหยักๆ ได้ต้นแบบมาจากหัวโขน ตัวละครอย่างกุมภกรรณมีรอยสักรูปทศกัณฐ์ที่หน้าอก แต่รอยสักของโลกหุ่นยนต์ จะไม่เหมือนกับของคนสักของหุ่นจะเอาเหล็กมาแล้วก็ยิงตะปูติด
- หน้าท้องของตัวละครทศกัณฐ์ออกแบบมาจากท้องแมลง นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ข้อดีคือ มันสามารถงอเหมือนหุ่นจริงๆ
- ตัวละครหลักในเรื่องนี้ตัวที่ไม่ได้อ้างอิงมาจากรามเกียรติ์ คือ น้องสนิม
- น้องสนิมเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทำกันหลายรอบ เพราะตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์ แถมเป็นผู้หญิงต้องออกแบบให้น่ารักนั้นทำได้ยาก ก่อนหน้านี้น้องสนิมเคยมีหน้าตาที่ดูน่ากลัวมากหน้าเป็นสนิมไปหมด
- ตัวละคร บรู๊คส์ นักไต่เขา เป็นตัวละครที่ตั้งใจออกแบบให้เหมือนโน้ส-อุดม โดนตอนแรกทีมงานจะใส่จมูกอันเป็นเอกลักษณ์ลงไปแต่ไม่เข้ากับหน้าหุ่นยนต์เลยเอาออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ออกมาคล้ายมากอยู่ดี
- ส่วนชื่อบรู๊คส์นั้น พี่จิก-ประภาส ตั้งชื่อนี้ เพราะมีความประทับใจมาจากตัวละครบรู๊คในหนังเรื่อง The Shawshank Redemption
- คาแร็คเตอร์หาเสียงยากสุดคือตัวน้าเขียวหรือทศกัณฐ์ เพราะว่ายักษ์ต้องมีทั้งความน่ากลัว เสียงต้องใหญ่ แต่พอติงต๊องก็เสียงต้องน่าสงสารด้วย จนสุดท้ายมาลงตัวที่หนุ่ม สันติสุข
- จริงๆแล้วคาแร็คเตอร์ทั้งหมดในเรื่อง มีอีกเป็นพันตัวเวลาที่ตัวละครเดินทางไปแต่ละเมืองเราก็จะเห็นดีไซน์ของหุ่นที่ไม่เหมือนกัน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีสัญลักษณ์บางอย่าง เช่นเมืองที่เป็นเชียงกง เมืองนี้ก็จะเป็นเมืองที่เป็นสนิมๆ ไม่ค่อยสมบูรณ์ และก็พอเข้าไปโรงไฟฟ้าก็จะเป็นอีกเมืองหนึ่งก็จะเป็นอีกสีหนึ่ง

 

 

ฉาก

- ฉากที่ใช้เวลาทำนานที่สุดจะเป็นฉากมหาสงคราม ที่ใช้เวลานานเพราะว่าเป็นฉากแรกทีมงานเริ่มลองทดลองทำ ใช้เวลาประมาณครึ่งปีสำหรับฉากแค่สี่นาที (ในตอนแรกฉากนี้มีความยาวถึง 14 นาที)
- ฉากเชียงกง เป็นตลาดที่ใช้ขายอะไหล่ให้หุ่นยนต์ตัวอื่นได้มาซื้อเปลี่ยน ฉากนี้มีต้นแบบมาจากตลาดเซียงกง จริงๆ ที่ขายอะไหล่รถยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆ ในบ้านเรา
- การออกแบบอาร์ตไดเร็คชั่นในเรื่องนี้มีความเป็นไทยสูง อย่างบรรยากาศท้องฟ้าในเรื่อง เอ็กซ์ ชัยพรตั้งใจออกแบบให้มีสีสันที่เหมือนการใส่บาตรตอนเช้า
- ฉากยักษ์ตื่น เป็นฉากที่มีความสนุกสนานอลม่าน เหตุการณ์ป่วนๆ เกิดขึ้นหลังจากที่ทศกัณฐ์และหนุมานตื่นขึ้นจากการหลับมานาน แต่ความยากของ แอนิเมเตอร์ในฉากนี้คือต้องทำชาวเมืองนับร้อยและ แต่ละตัวต่างกันหมดทั้งหน้าตาและการเคลื่อนไหว แถมยังมีบ้านเรือนเป็นฉากมากมายอีกด้วย
- ฉากปาหี่ของกุมภกรรณ การจัดแสงต่างๆ ได้ไอเดียมาจากงานคอนเสิร์ตของจริงความยากของฉากนี้นอกจากจะมีตัวละครนับร้อย ทำให้จัดแสงไฟได้ยาก และตัวละครทุกตัวต้องมีชีวิตของตัวเองไมได้ขยับตัวเหมือนๆ กัน
- ฉากฟาร์มแม่เหล็ก ฉากนี้ใช้การออกแบบง่ายๆ แต่ทรงพลัง โดยออกแบบให้เป็นแม่เหล็กเกือกม้า ใหญ่ๆ อันเดียวเพื่อสื่อความหมาย แม่เหล็กนี้ไว้ใช้เปลี่ยนเหล็กให้กลายเป็นแม่เหล็ก และใช้ผลิตกระแสไฟไฟฟ้าให้กับเมืองหุ่นยนต์
เมื่อหุ่นยนต์ที่เข้าใกล้แม่เหล็กก็จะถูกดูดเข้าไป ฉากนี้เป็นฉากที่น่าตื่นเต้นน่ารอชมอีกฉาก
- ฉากตัดโซ่ ในเรื่องนี้จะเห็นสถานการณ์ที่เผือกและเขียวพยายามจะตัดโซ่ออกจากกันหลายครั้งคนดูจะได้สนุกไปกับสถานการณ์หลากหลาย เบื้องหลังการสร้างนั้นยากมาก ฉากนี้มีประมาณหกถึงเจ็ดฉากในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที แต่ฉากหนึ่งใช้เวลาเฉลี่ยแล้วประมาณ 4-6 เดือน
- “โซ่” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในเรื่องนี้เป็นจุดที่ยากมากเช่นกันเพราะต้องใช้ การสร้างงานซิมูเลชัน (การเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์) มาทำให้โซ่เคลื่อนไหวได้สมจริง เป็นจุดที่ยากมาก ที่สุดจุดหนึ่งในเรื่อง เพราะตอนแรกยังไม่มีเทคโนโลยีการเขียนสคริปท์ให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ต้องใช้แอนิเมเตอร์ค่อยๆ ขยับ จนเกือบทำแอนิเมเตอร์ถอดใจลาออกกันหลายคน จุดที่ยากที่สุดคือต้องทำให้โซ่ไปพันเสาให้ได้ในฉากฟาร์มแม่เหล็ก

รามเกียรติ์
ในแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์นี้เป็นการนำรามเกียรติ์มาเล่าในรูปแบบใหม่ มีการอิงจากเรื่องต้นฉบับและมีจุดที่มาแต่งเติมความคิดสร้างสีสันหลายจุด มีทั้งจุดที่เหมือนและแตกต่างได้แก่

- หางของหนุมานที่ยืดออกมาเป็นโซ่ได้ยาวๆ อิงมาจากฤทธิ์เดชของหนุมานที่สามารถยืดหางยาวจนพันรอบภูเขาได้
- กุมภกรรณ ในแง่ของวรรณคดีแล้วมีกายสีเขียว มีศักดิ์เป็นน้องแท้ๆ ของทศกัณฐ์ มีอาวุธร้ายประจำกาย คือ หอกโมกขศักดิ์ แต่ในเรื่องนี้จะมีร่างกายสีแดง เป็นพ่อค้าปาหี่ซึ่งหลงใหลทศกัณฐ์ และแน่นอนในเรื่องนี้มีปืนโมกขศักดิ์ เป็นอาวุธประจำกายเช่นกัน
- สดายุ ตามเรื่องรามเกียรติ์ คือ พระยาสดายุ เป็นพญานก กายสีเขียว เป็นเพื่อนกับท้าวทศรถ วันหนึ่งสดายุ พบทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาเหาะมา นางสีดาเรียกให้ช่วย สดายุ จึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์ แต่ในเรื่องนี้สดายุเป็นเครื่องบินรบสมัยสงคราม เป็นเครื่องบินของกองทัพทศกัณฐ์ ในฉากแรกเราจะเห็นบินกันเป็นฝูงๆ แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงกลางเรื่อง นกสดายุเครื่องบินรบเก่าที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวก็ออกมาแสดงความสนุก

 

 

ยักษ์ในต่างแดน

- ทีมงานส่วนใหญ่ของแอนิเมชั่นยักษ์ตั้งแต่ผู้สร้าง, ผกก., คนเขียนบท, นักแสดง, คนทำดนตรีประกอบ, มือตัดต่อ, ศิลปิน, รวมไปถึงทีมแอนิเมเตอร์ตลอดจนทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งหมด ฯลฯ ยกเว้นทอดด์ ทองดีที่รับผิดชอบในการควบคุมกำกับการพากษ์เวอร์ชั่นเสียงภาษาอังกฤษ พบว่าทีมงานทุกคนล้วนถือสัญชาติไทยแลมีบัตรประชาชนเป็นคนไทยแทบทั้งสิ้น
- การเดินทางของยักษ์ในต่างแดนเริ่มต้นขึ้นก่อนที่ตัวหนังฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นโดยมีการนำภาพบางส่วนจากภาพยนตร์ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ที่ผ่านมารวมไปถึงดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าตำรับของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นอย่างประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา
- เจ้าของลายเส้นการ์ตูนยักษ์อย่างเอ็กซ์-ชัยพรถึงกลับปลื้มสุดๆ เมื่อมีชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังได้กล่าวแสดงความชื่นชมผลงานหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกประทับใจกับการเคลื่อนไหวของตัวยักษ์ พร้อมกับแสดงท่าทีสนใจอยากร่วมงานด้วย
- อีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นล่าสุดสดๆ ร้อนๆ และถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีจากการเปิดเผยล่าสุดจากเสี่ยเจียงหัวเรือใหญ่ของสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล ว่าแอนิเมชั่นยักษ์ได้มีการตอบรับเซ็นต์สัญญาซื้อขายไปบ้างแล้วจากบางประเทศที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์อย่าง รัสเซีย, เกาหลี ในขณะที่ญี่ปุ่นและอเมริกาเองกำลังอยู่ในระหว่างเจรจาและมีทีท่าสนใจไม่ใช่น้อย
- สร้างความแปลกใจและตื่นตะลึงไปมิใช่น้อยเมื่อหลายๆ ชาติที่มีโอกาสได้ชม “ยักษ์”รู้ว่านี่คือผลงานแอนิเมชั่นสัญชาติไทยที่ทำโดยฝีมือคนไทย

 

ประวัติผู้สร้างประภาส ชลศรานนท์ : ผู้กำกับภาพยนตร์ ,ผู้คิดเรื่อง, ผู้เขียนบทภาพยนตร์

 

จิก-ประภาส ชลศรานนท์ นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ ปัญญา นิรันดร์กุล นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้ง และนักแต่งเพลง ให้กับวงเฉลียง วงดนตรีที่ได้รับการยอมรับกันว่า เป็นการบุกเบิกแนวเพลงใหม่ๆ ให้กับวงการเพลงไทย เขามีผลงานเพลงที่แต่งไว้และยังได้รับการกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้มากมาย เช่น ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน พี่ชายที่แสนดี นิทานหิ่งห้อย เจ้าภาพจงเจริญ ฯลฯ และยังเป็นนักแต่งเพลงประจำรายการคุณพระช่วย ด้านงานเขียนมีผลงานเรื่องสั้นนับสิบเรื่องและหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ก่อตั้ง นิตยสารไปยาลใหญ่ และมีผลงานรวมเล่มจากการเขียนบทความ ในคอลัมน์ คุยกับประภาส ใน หนังสือพิมพ์มติชน เขาได้รับรางวัลด้านสื่อสารมวลชนมากมาย เช่น รางวัลบทละครยอดเยี่ยมโทรทัศน์ทองคำจาก รางวัลละครยอดเยี่ยม เอเชียน เทเลวิชั่น อวอร์ดส์, รางวัลแมกซีเลี่ยนอวอร์ด ของ ประเทศโปแลนด์, รางวัลเพลงยอดเยี่ยม สีสันอวอร์ด ถึงสามครั้ง, รางวัล B.A.D. Awards (Bangkok Art Director) รางวัลนักอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2548

 

 

 

เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ : ผู้ร่วมกำกับภาพยนตร์ –ผู้กำกับแอนิเมชั่น

ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด เขาเป็นนักแอนิเมชั่นระดับหัวแถวผู้เคยคว้ารางวัลจากต่างประเทศมากมาย เช่นรางวัลชนะเลิศ SIGGRAPH 1998 การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมไปถึงรางวัลชนะเลิศจาก World Animation Celebration สองปีซ้อน (1999-2000) จากงานทั้งแบบ 2D และ 3D จากความรักในแอนิเมชั่นทำให้เขาทำงานในสายนี้มาต่อเนื่องร่วม 20ปี มีผลงานที่เป็นที่รู้จักมากมายเช่น ไตเติ้ลของเวิร์คพอยท์เกือบทุกตัว และงานด้านภาพยนตร์ก็เป็น CG SUPERVISOR ให้ภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ, สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก, 30+ โสด ON SALE และปัจจุบันเขายังทำหน้าที่หัวหน้าหลักสูตรปริญญาโท คณะศิลปะ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และ เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาเพื่อสร้างนักแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ๆ มาประดับวงการอีกด้วย


 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.