สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

“อันธพาล” กับการย้ายค่ายของก้องเกียรติ โขมศิริ

 

รายงานโดยณัฎฐ์ธร กังวาลไกล / 2 พฤศจิกายน 2553

  LINK หน้าแรกอันธพาล
 
Share |
Print   
   
 

 

 

นักแสดง “เต๋า-สมชาย เข็มกลัด” รับบท“แดง,” “น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์” รับบท “จ๊อด” กับบทบาท 2 อันธพาลดาวดังรุ่นเก๋า ร่วมด้วยนักแสดงดาวรุ่งหน้าใหม่ สาครินทร์ สุธรรมสมัย, กฤษฎา สุภาพพร้อม และนันทรัตน์ ชาวราษฎ์ ที่จะมาร่วมถ่ายทอดเส้นทางชีวิตครั้งประวัติศาสตร์ของลูกผู้ชายที่ถูกเรียกว่า “อันธพาล”

หลังจากที่ถูกเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ชักชวนให้มาร่วมทำโปรเจ็คท์ “หลุดสี่หลุด” ผู้กำกับหนุ่มจากหนังอย่าง “ไชยา” และ “เฉือน” อย่างก้องเกียรติ ก็มีภาพยนตร์เรื่องใหม่กับบาแรมยูและสหมงคลฟิล์มต่อในทันที และนั่นก็คือ “อันธพาล” ที่ภาพรวมของเนื้อในไม่ต่างจากงานชิ้นก่อนๆ ของเขา ที่ยังคงพูดถึงวิถีชีวิตด้านมืดในโลกอาชญากรรม และมิตรภาพระหว่างเพื่อน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลงานภายใต้ร่มเงาของไฟว์สตาร์ คือเรื่องของการตลาด  เพราะแทนที่จะทำการแคสติ้งอย่างเงียบๆ ในการหานักแสดง “อันธพาล” เลือกที่จะเปิดรับสมัครในวงกว้าง และให้บุคคลที่สนใจมาทำกันแข่งขันกันเพื่อคัดเลือกคนที่ดีที่สุด 3 คน (ชายสอง หญิงหนึ่ง) ไปร่วมแสดงอีกที 

ส่วนสาเหตุที่ต้องค้นหานักแสดงหน้าใหม่เพื่อมารับบทนำ เพราะก้องเกียรติไม่อยากได้ดารามาแย่งความสนใจจากเรื่องราวของเขา  เขาไม่อยากให้คนดูติดภาพของนักแสดงจากหนังเรื่องอื่น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดึงความน่าเชื่อถือให้ห่างจากหนังไป แต่ถึงกระนั้น บทสมทบสำคัญก็ยังคงต้องตกเป็นของนักแสดงที่มากประสบการณ์อยู่เพราะต้องอาศัยความสามารถเพื่อสร้างบารมีให้แก่ตัวละคร

เรื่องราวหลักของหนังจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของวัยรุ่น 2 คนและนักเลงรุ่นใหญ่ผู้หนึ่ง ในช่วงยุคหลัง พ.ศ.2500 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรักษ์ ประกาศกฎหมายซ่องโจร และทำให้อันธพาลจำนวนมากถูกวาดล้าง หนังจะสำรวจโลกของเหล่านักเลงที่ต้องหนีตาย  ก้องเกียรติเล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องว่า เขารู้สึกว่าแฟชั่นวัฒนธรรมของยุคนี้น่าสนใจมาก “มันมีเอกลักษณ์ เป็นยุคที่ทำกี่ทีก็น่าสนใจ แล้วพออันธพาลต้องหนีหัวซุกหัวซุน คำถามของเราก็คือ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? สำหรับฮีโร่ของวัยรุ่นยุคนั้น หนีกันขนาดไหน เป็นภาพแสดงยุคตกต่ำของคนเหล่านี้ ตัวผมเองอยากทำแบบนี้เต็มรูปแบบ อยากเห็นหนังอย่าง ก็อดฟาเธอร์ แบบให้ความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หนังแบบ City of God หนังที่ให้ความรู้สึกจริงมากๆ”

หลายคนเมื่อได้ยินพล็อตเรื่อง แว่บแรกก็คงนึกไปถึง 2499 อันธพาลครองเมือง  ซึ่งก้องเกียรติก็ไม่อาจจะปฎิเสธได้ว่า หนังเรื่องดังกล่าวมีอิทธิพลต่อตัวเขาไม่น้อย เขาเองก็ชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่เขาก็ขอยืนยันว่าหนังของเขาและหนังของนนทรีย์ นิมิบุตรเรื่องดังกล่าวจะแตกต่างกัน “ถามว่าต่างกันตรงไหน ก็คงเป็นเรื่องของมุมมอง มุมมองของเรา กับความเป็นอันธพาลที่ไปโฟกัสจุดอื่นมากกว่าและความยากจะอยู่ตรงนี้  ตรงที่คนอาจจะไปโฟกัสว่าจะไปซ้ำกับ 2499ฯ ไหม ผมเองยังชอบเลย 2499ฯ จะทำยังไงให้คนไม่รู้สึกว่า เอ๋ นี่มันหนัง 2499 นี่”  หรือถ้าหากจะให้เทียบกับผลงานเรื่องก่อนๆ ของก้องเกียรติเอง เขาก็กล่าวว่าจะยังมีเรื่องของฉากแอ็คชั่นและความรุนแรงอยู่  แต่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ “มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ว่าก็คงไม่ใช่หนังที่มาขับเน้นความรุนแรง ส่วนที่รุนแรงก็จะรุนแรง”

 

 

ก้องเกียรติเล่าว่าเขาจะให้ความสำคัญในด้านที่มีมิติของตัวละคร “ตัวละครหลักจะเริ่มต้นจากวัยรุ่นธรรมดาที่ค่อยๆ กลายเป็นโจร พูดเรื่องอันธพาลในฐานะมนุษย์ มีรักโลภโกรธเลว ในคนเดียวกันมีทุกอย่าง คนที่เป็นฮีโร่ก็อาจจะมีด้านเลวๆ ส่วนคนเลวๆ ก็อาจจะมีด้านที่เป็นมนุษย์มากๆ มันสอดประสานกันอยู่ ถ้าคุณเลือกเส้นทางนี้ จุดจบจะเป็นยังไง  แต่ผมว่าจุดจบมันไม่น่าสนใจเท่าไหร่ เป็นนักเลงไม่โดนยิงก็ถูกยิงตาย แต่ระหว่างทางต่างหากที่น่าสนใจ”

ก้องเกียรติอธิบายถึงหนังของเขาเพิ่มเติมว่า “เรื่องนี้จะเป็นการผสมระหว่างตัวละครที่มาจากคนที่มีอยู่จริงๆ อย่างแดง ไบเลย์ ยังมีอยู่ในเรื่องราวนี้ ซึ่งก็สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูลและบันทึกในหนังสือพิมพ์  และจะมีตัวละครที่ถูกเขียนขึ้น  และตัวละครสองแบบนี้จะเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน  คือจะมีดาวดังในยุคนั้นอย่างปุ๊ ระเบิดขวด ดำ เอสโซ่ แต่จะมีบทบาทในเรื่องนี้ที่แตกต่างจากหนัง 2499 อันธพาลครองเมือง ซึ่งผมจะระวังส่วนที่เป็นเรื่องจริงของคนเหล่านี้ มีข้อมูลยืนยันชัดเจน ส่วนที่แต่งก็ไม่พยายามเอาเรื่องจริงมาบิดจริงๆ แล้วเราไม่ได้ไปแตะในมุมที่ไม่ดีของตัวละครที่เป็นคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์  คือคำว่าอันธพาลไม่ได้เป็นโจรซะอย่างเดียว นักเลงนี่ก็หมายถึงน้ำจิตน้ำใจของเพื่อน แบบใจนักเลงมันหมายถึงมิตรภาพ เรื่องของเพื่อน เรื่องการของยอมให้มากกว่าเสีย”

"เราเลือกที่จะนำเสนอแง่มุมความเป็นมนุษย์ ความเป็นมิติของตัวละครในทุกๆด้าน ว่าอันธพาลก็เป็นคนเหมือนกับพวกเรานี่แหละ มีสุข เศร้า เหงา มีความเป็นครอบครัว มีรักกัน มีโกรธกัน มีมิติความเป็นคนทุกอย่าง การจะเอาปืนไปยิงคน หรือมีดแทงคน มันมีความกลัว และอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณเป็นอันธพาลใหญ่ระดับบิ๊ก แต่ก็สามารถเดินไปเหยียบแก้วตำเท้าได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน นั่นคือไอเดียแรกที่อยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับอันธพาลแบบครบมิติที่สุด ภายใต้หนังแนวแอ็คชั่นซึ่งเราจะเลือกเล่าในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ ยุคพีคสุดของร็อคแอนด์โรล ยุคพีคสุดของเอลวิส, เจมส์ดีน พีคสุดของอันธพาลรุ่นใหญ่ๆ รุ่นแดง รุ่นจ๊อด พอหลังจากนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดการปราบโจรครั้งใหญ่ จากไอดอลที่เป็นต้นแบบฮีโร่เด็กวัยรุ่นในยุคนั้นทุกคนโดนจับติดคุกหมด เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกบันทึกประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศไทย ที่มาพร้อมกับแฟชั่น วัฒนธรรม ทุกอย่างกำลังถูกเปลี่ยน แม้กระทั่งนักเลงรุ่นเก่าที่มีความเป็นนักเลง ต่อสู้ด้วยการมัดมือแล้วเอามีดแทงวัดใจกัน แบบใจกับใจ ตัวต่อตัว ก้าวเข้าสู่เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่เลือกหยิบปืนยิงกันเพราะมันเร็วกว่า

สำหรับข้อสงสัยของหลายคนที่ว่า ทำไมก้องเกียรติถึงย้ายค่ายจากที่แต่ก่อนเคยทำหนังกับไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น มาสู่บาแรมยูและสหมงคลฟิล์ม  เขายืนยันว่าเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับไฟว์สตาร์ “ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปหลายทีว่า ผมเป็นฟรีแลนซ์ ตอนทำกับไฟว์สตาร์ก็เป็นฟรีแลนซ์  จริงๆ ตอนนี้ก็มีไปช่วยเขาเขียนบท ช่วยเพื่อนๆ ที่ทำ “ลองของ” ด้วยกัน โครงการที่เขาจะกำกับ ผมก็มาช่วยๆ  ส่วนโปรเจ็คท์ที่ผมจะทำให้ไฟว์สตาร์ก็ยังไม่ได้คุยกัน  คือ วันไหนใครอยากจ้าง ก็จ้างผม ถ้าจังหวะมันได้ผมก็ทำ ถ้ามันน่าสนใจผมก็ทำ  สำหรับกับสหมงคลฟิล์ม ก็มีแพลนว่าจะทำปีล่ะเรื่องสองเรื่อง”

นักแสดงหน้าใหม่ได้เข้าเวิร์คชอปกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล,พันนา ฤทธิไกร,ปรัชญา ปิ่นแก้ว และนนทรีย์ นิมิบุตร

ทุนสร้างเรื่องนี้่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานของหนังไทยในยุคนี้ คือประมาณ 20 ล้านบาท โดยโลเคชั่นอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ฉากส่วนใหญ่ต้องเซ็ตขึ้นมาใหม่ เช่น วังบูรพา  ทีมงานจะต้องไปหาอาคารสถานที่โครงสร้างแบบบ้านเมืองยุคนั้น แล้วนำมาปรับแต่งให้เป็นภาพอย่างที่ต้องการ

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.