สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

ชั่วฟ้าดินสลาย

  LINK : ตำนาั่น "ชั่วฟ้าดินสลาย" 3 เวอร์ชั่นกับความพยายามของครูอีกมากมาย
  แคแรกเตอร์ตัวละคร
  บทวิจารณ์ ชั่วฟ้าดินสลาย - อีกนิดเดียวขึ้นชั้นคลาสิค
  แบ่งปัน             Share this on Twitter             Print 
   
 

 

 

 

 

กำหนดฉาย 16 กันยายน 2553
แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ( www.sahamongkolfilm.com )
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล, เติมพันธ์ มัทวพันธุ์
กำกับภาพยนตร์ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล (ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ "เรียมเอง")
กำกับภาพ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
ลำดับภาพ สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกะวานิชย์ 
ออกแบบงานสร้าง สิรนัท รัชชุศานติ
ออกแบบเครื่องแต่งกาย นพดล เดโช, ทศฤทธิ์ สามิภักดิ์, ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ
ควบคุมการแต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
แต่งหน้า พิชานนทท์ รัตนกมลกานต์
ทำผม เอก รัตนเสถียร, นพรัตน์ สุริโย
ดนตรีประกอบ จำรัส เศวตาภรณ์
เพลงประกอบ “เพลงชั่วฟ้าดินสลาย” ประพันธ์โดย ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขับร้องโดย เจนนิเฟอร์ คิ้ม
ตัวอย่างภาพยนตร์ http://www.youtube.com/watch?v=IF0cecVhKkw
เว็บไซต์ภาพยนตร์ http://www.eternity-themovie.com
ทีมนักแสดง อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, ดารณีนุช โพธิปิติ

 

 

เรื่องย่อ

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของกระแสการเมืองใหม่ซึ่งชาวสยามยังไม่คุ้นชินนัก เพียงหนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 นั้น “ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ม่ายสาวพราวเสน่ห์หัวสมัยใหม่จากพระนครได้สมรสกับ “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีม่ายชาวพม่าอายุคราวพ่อ เจ้าของกิจการป่าไม้อันมั่งคั่งแห่งกำแพงเพชร ทั้งคู่ได้เดินทางไปใช้ชีวิตฉันท์สามีภรรยาที่ปางไม้เขาท่ากระดาน ซึ่งยุพดีคิดว่าชีวิตของเธอได้ถูกเติมเต็มแล้วในทุกๆ ด้านจากพะโป้สามีที่เธอรัก

แต่ ณ ที่นั้นเอง ท่ามกลางพลังอำนาจแห่งไพรพฤกษ์และขุนเขา เมื่อยุพดีได้มาพบเจอกับ “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริงแฮม) หนุ่มพม่าผู้หล่อเหลาปานเทพบุตรแต่แสนบริสุทธิ์ในกามโลกีย์ผู้เป็นหลานชายของพะโป้ ต่างก็เกิดความสิเน่หาต่อกัน ยิ่งทั้งคู่ได้ชิดใกล้กันมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการหวั่นไหวและอยากอยู่ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้นตามสัญชาตญาณหนุ่มสาวที่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า นี่คือ “จุดเริ่มต้นแห่งโศกนาฏกรรมรัก”

ในที่สุด ทั้งส่างหม่องและยุพดีก็มิอาจต้านทานความปรารถนาของตนและยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาอย่างถึงที่สุด ทั้งคู่ก้าวล้ำเส้นของการเป็นหลานและอาสะใภ้โดยลอบเป็น “ชู้” กัน

และแล้วเมื่อพะโป้ได้ล่วงรู้ความจริงอันน่าอัปยศเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะสงบนิ่งอย่างผู้ผ่านประสบการณ์และเข้าใจโลกยิ่งนัก แต่จริงๆ แล้วในใจเขากลับร้อนรุ่มด้วยโทสะจริต ติดกับดักแห่งเสน่หาอาฆาตแบบถอนตัวไม่ขึ้น

อย่างไม่คาดฝัน พะโป้ตัดสินให้ยุพดีเมียสุดที่รักได้อยู่กินกับส่างหม่องหลานรักอย่างเปิดเผย ภายใต้เงื่อนไขอันแสนเย็นยะเยือกด้วยการล่าม “โซ่ตรวน” คล้องแขนติดกัน เพื่อพันธนาการว่าทั้งคู่จะได้ครองรักกัน...ชั่วนิจนิรันดร์

ถึงเวลาแล้วที่พะโป้จะได้ทำในสิ่งที่เขาวางแผนไว้อย่างแยบคาย เพื่อสอนบทเรียนให้กับทั้งหลานและภรรยาอันเป็นที่รักให้รู้จักความหมายของ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต”

ใครเลยจะหยั่งรู้ว่า วิถีชีวิตของ 3 ชายหญิงที่ต้องโคจรมาทาบทับกันในวังวนแห่งกิเลสตัณหานี้ จะนำพามาซึ่งโศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และกาลเวลาตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย”


 

ที่มาของหนัง

จากวรรณกรรมอมตะของ “เรียมเอง” หรือ “มาลัย ชูพินิจ” บรมครูแห่งวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทย สู่การถ่ายทอดผ่านจินตนาการอันประณีตละเอียดอ่อนและลึกซึ้งโดยผู้กำกับภาพยนตร์อารมณ์ละเมียด “หม่อมน้อย – ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล” ที่จะพาผู้ชมย้อนยุคเข้าไปสู่ความรักอันน่าพิศวงและสะเทือนอารมณ์ของ “ส่างหม่อง” หนุ่มหล่อสูงศักดิ์ชาวพม่า, “ยุพดี” สาวสวยหัวสมัยใหม่ชาวพระนคร และ “พะโป้” มหาเศรษฐีสูงวัยผู้ทรงอิทธิพล ท่ามกลางฉากหลังธรรมชาติอันงดงามของป่าเขาลำเนาไพร ธารน้ำตก และสายหมอกในดินแดนชวนฝันอันไกลโพ้นที่ห่างไกลจากเปลวเพลิงอันร้อนระอุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศในปี พ.ศ. 2475 เพื่อตีแผ่ ชำแหละ และพิสูจน์ให้เห็นว่า “ความรักอันแท้จริงของมนุษย์นั้นเป็นเช่นไร”

“คือความเด่นของงานเขียนในบทประพันธ์ทุกงานของ‘ครูมาลัย ชูพินิจ’เนี่ยคือท่านเป็นพหูสูตรมากคือท่านไม่ได้เป็นนักประพันธ์ที่เขียนเฉพาะนวนิยายอย่างเดียวท่านเขียนบทความเขียนสารคดีเขียนเรื่องการเมืองด้านกีฬาด้านบันเทิงเพราะฉะนั้นเนี่ยทุกงานที่ท่านกลั่นกรองมาเนี่ยจะเป็นอมตะที่ถือความเป็นธรรมชาติของชีวิตมนุษย์เป็นหลักงานของท่านจะสะท้อนแก่นแท้ของมนุษย์มีการสะท้อนว่าอะไรคือคุณความดีอะไรคือสัจธรรมอะไรคือธรรมะอะไรคือศีลธรรมอะไรคือกิเลสซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องชีวิตของคนที่เป็นคนจริงๆนวนิยายของท่านไม่ได้มีแค่นางเอกพระเอกผู้ร้ายตัวละครของท่านเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีมีทั้งความกล้าหาญความขี้ขลาดความเกลียดความชังเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมีวิญญาณคือไม่ว่าสภาวะทางสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือความเจริญก้าวหน้าจะเป็นเช่นไรมนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ยังมีความหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิมีความต้อยต่ำมีความรักมีความริษยามีความทะยานอยากมีความปรารถนายังมีกิเลสตัณหาในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม”

“ชั่วฟ้าดินสลาย” เล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตรักของสองหนุ่มสาวที่มี “ความแตกต่าง” และ “ความขัดแย้ง” กันอย่างสิ้นเชิงทั้ง “อุดมคติ” และ “ภูมิหลัง” ในชาติกำเนิด แต่ด้วยพลังอำนาจในธรรมชาติแห่ง “ความรัก” ทำให้ “เขา” และ “หล่อน” ต้องถูกจองจำด้วย “โซ่ตรวน” แห่งความเสน่หาและอาฆาตตราบจน “ชั่วฟ้าดินสลาย”

โดยครั้งนี้ถือเป็นการนำกลับมาสร้างใหม่เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 30 ปี (ถัดจากเวอร์ชั่นท้ายสุดเมื่อปี พ.ศ. 2523) ด้วยฝีมือสุดละเมียดของผู้กำกับชั้นครูอย่างหม่อมน้อยซึ่งได้ย้ำถึงการดัดแปลงวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ว่า ตนให้ความเคารพในบทประพันธ์และสร้างอย่างใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจะให้ทั้งความบันเทิงและสะท้อนแง่คิดคติสอนใจอย่างร่วมสมัยด้วย

“คือโดยแท้แล้วไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้ทำหนังเรื่องนี้ทั้งๆที่เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ประทับใจมากตั้งแต่ยังเป็นเด็กแล้วก็อ่านหลายครั้งหลายครามากรวมทั้งภาพยนตร์ก็ได้ดูถึงสองครั้งที่เค้าสร้างก็ประทับใจมากไม่เคยคิดเลยว่าจะได้สร้างเป็นภาพยนตร์โดยตัวเองกำกับเพราะทราบว่าใครๆก็อยากทำผู้กำกับหลายท่านก็อยากทำไม่ว่าจะเป็นคุณวิจิตรคุณาวุฒิท่านมุ้ย, ยุทธนามุกดาสนิทหรือเป็นเอกรัตนเรืองคือเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ทุกๆคนอยากจะทำมีคุณค่าทางด้านความหมายของชีวิตความหมายของความรักแล้วก็ความเข้มข้นของตัวละครแล้วก็เนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งอันนี้ยังไม่นับรวมภาพและฉากในเรื่องที่น่าประทับใจน่าตื่นตาตื่นใจ

ทีนี้พอต้องมาทำเองก็รู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักอยู่เหมือนกันว่าจะต้องทำยังไงให้มันออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ก็ต้องกลับไปศึกษางานของครูมาลัยอีกครั้งหนึ่งแต่ก็โชคดีที่เคยกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง‘แผ่นดินของเรา’ซึ่งครูมาลัยท่านก็เป็นผู้แต่งก็จะมีความใกล้เคียงกันอยู่โดยที่คิดว่าจะรักษาวรรณกรรมเรื่องสั้นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้การดำเนินเรื่องเลยจะใกล้เคียงกับในหนังสือมากที่สุดมากกว่าในเวอร์ชั่นอื่นๆที่เคยทำมาคือเราซื่อตรงกับบทประพันธ์มากอาจพูดได้ว่าเรารักษาบทประพันธ์ไว้ 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จะมีเพิ่มหรือขยายความขึ้นก็ไม่มากนัก เพราะมันเกิดจากบทประพันธ์ที่ดีเหลือเกิน ทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ของเรื่อง มันสมบูรณ์มาก ไม่เพียงแต่สนุกในแง่เรื่องราวที่น่าติดตามอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ประเด็นพระเอกเป็นชู้กับเมียของอาเท่านั้น แต่มันมีคติสอนใจที่สะท้อนว่ามนุษย์เป็นทาสของกิเลสตัณหาโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็ถือเป็นแก่นหลักของหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงความรัก เพราะมนุษย์เราพอเกิดมีความรักก็จะเกิดความผูกพันอยากใกล้ชิดกับสิ่งที่ตัวเองรัก แรกๆ ก็จะเป็นสุขดี แต่ต่อๆ มามันก็จะเริ่มเบื่อหน่ายแล้วก็ต้องการอิสระ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ก็คือเกิดคนเดียวและตายคนเดียว มนุษย์มีอิสรภาพ ตรงนี้เป็นสัจธรรม คือไม่ว่าสภาวะทางสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือความเจริญก้าวหน้าจะเป็นเช่นไร มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ยังมีกิเลสตัณหาในทุกยุคทุกสมัย เพราะฉะนั้นเนี่ยแก่นแท้ของท่านก็ยังคงไม่มีคำว่าเชยเกิดขึ้นแน่นอน ถึงแม้จะเขียนเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้วก็ตาม หนังเรื่องนี้จึงท้าทายให้คนยุคปัจจุบันมาดูเป็นอย่างยิ่ง”

ด้วยเนื้อหาสุดเข้มข้นเช่นนี้ แน่นอนว่า “ทีมนักแสดงนำ” เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำพาผู้ชมให้ติดตามเรื่องราวไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และเมื่อรายชื่อทีมนักแสดงหลักของเวอร์ชั่นใหม่นี้อย่าง “อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, ดารณีนุช โพธิปิติ” ได้รับการเปิดเผยออกมา กระแสความน่าจับตามองต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

 

“บทของอนันดาก็คือ‘ส่างหม่อง’เป็นหนุ่มหล่อชาวพม่าการศึกษาดีประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นลูกบุญธรรมของพะโป้เมื่อจบการศึกษาก็กลับมาช่วยพะโป้ทำงานในปางไม้อันใหญ่โตส่วนบทของพลอยก็คือ‘ยุพดี’สาวงามที่ทันสมัยจากพระนครที่หนีอดีตของตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรของพะโป้ด้วยความรักและเต็มใจแต่สุดท้ายเมื่อทั้งคู่มาเจอกันต่างก็ต้องตกอยู่ในวังวนของกิเลสตัณหาและพ่ายแพ้ให้กับมันโดยไม่รู้ตัว

เราคิดว่าทั้งคู่เหมาะสมที่สุดแล้วไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์คุณวุฒิวัยวุฒิเค้าได้หมดเลยคือทั้งคู่พิสูจน์แล้วในเรื่องการแสดงเพราะมีรางวัลการันตีเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีฝีมือมากในยุคปัจจุบันนี้และก็เป็นลูกศิษย์ของเราด้วยกันทั้งคู่มันก็เห็นพัฒนาการทางการแสดงมาตลอดด้วยความเหมาะสมด้วยประสบการณ์ทางการแสดงของทั้งคู่มันก็นึกถึงใครอื่นไปไม่ได้

ตัวละคร‘พะโป้’นี่คิดหลายคนมากว่าใครจะเหมาะแต่อย่าง‘คุณบี๋ ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์’ที่เลือกมาเพราะด้วยรูปลักษณ์ที่น่าเชื่อถือว่าเป็นพะโป้ได้เป็นอาของอนันดาได้เราจับคู่ถ่ายรูปด้วยกันก็ใช่เลยตัวละครของพะโป้เนี่ยเราตีความแปลกไปกว่าทุกครั้งคือถ้าเป็นชายแก่น่าเกลียดเนี่ยมันก็จะสะท้อนให้เห็นว่ายุพดีแต่งงานด้วยเพราะเรื่องเงินอย่างเดียวซึ่งเราคิดว่าทำให้เรื่องมัน distort ไปได้แต่เวอร์ชั่นนี้จะรักด้วยเพราะเป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์มีอำนาจพร้อมกับความสดของตัวคุณบี๋เองด้วยแกยังสดกับภาพยนตร์อยู่มากก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

‘ทิพย์’ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) กับ ‘นิพนธ์’ (แจ๊บเพ็ญเพชรเพ็ญกุล)เนี่ยระยะหลังๆทั้งคู่ทำงานกับเรามาตลอดทั้งเราคิดว่าตัวนิพนธ์ที่เป็นตัวเล่าเรื่องเนี่ยน่าจะเป็นคนที่มีวัยสามสิบกว่าดูเป็นนักคิดเป็นคนนิ่งๆซึ่งแจ๊บก็ตรงตามคาแร็คเตอร์เป็นตัวละครที่พูดน้อยดูน่าเชื่อถือด้วยวัยด้วยผิวพรรณรูปลักษณ์

ส่วนศักราชเราก็เลือกด้วยรูปลักษณ์เหมือนกันด้วยความที่ทิพย์เป็นคนคล้ำเป็นผู้ชายแมนๆเป็นคนมาจากพระนครมาเป็นหัวหน้าคนงานของพะโป้เป็นคนแกร่งผ่านชีวิตมาเยอะดูแกร่งดูซื่อเป็นคนจริงจังแต่ซื่อตอนแรกศักราชเนี่ยเราก็ยังไม่ตัดสินใจจนกระทั่งลองเติมหนวดให้เค้าเข้าไปก็ใช่เลยมันมีความเป็น ‘ประจวบ ฤกษ์ยามดี’อยู่หน่อยๆเพราะคุณประจวบเนี่ยได้รางวัลตุ๊กตาทองจากบททิพย์เมื่อซัก 50 ปีที่แล้วก็ตัดสินใจได้เลยว่าใช่แน่ๆละ

ส่วนตัว‘มะขิ่น’ (ท็อปดารณีนุชโพธิปิติ)เป็นตัวที่เราเขียนเพิ่มขึ้นมาในบทประพันธ์พูดถึงนิดเดียวว่าเป็นคล้ายๆกับแม่บ้านที่รู้เรื่องราวของส่างหม่องกับยุพดีเราก็เลยสร้างตัวละครตัวนี้ให้มันมีน้ำหนักหน่อยเหมือนเป็นตัวละครนางบำเรอของพะโป้แต่แก่แล้วเลยโดนปลดระวางไปเป็นแม่บ้านแต่ตัวนี้ก็ยังรักและซื่อสัตย์ต่อพะโป้มากการเลือกท็อปก็ด้วยฝีมือการแสดงของเค้าโดยที่ให้เค้าเปลี่ยนไม่ให้เล่นบทตลกเลยให้เล่นบทชีวิตอย่างเดียว

คือตัวละครทุกตัวเนี่ยจะเลือกตรงตามคาแร็คเตอร์จริงๆเป็นหลักทุกตัวซึ่งพอทำเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วเราก็คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมาสเตอร์พีซเป็นงานชิ้นโบว์แดงของนักแสดงทุกคนคือพวกเขาสามารถถ่ายทอดตัวละครออกมาได้อย่างครบถ้วนอย่างมีชั้นเชิงทุกวินาทีเลยทีเดียว”

แม้จะได้นักแสดงมากฝีมือมาร่วมงาน แต่จุดเด่นในการทำงานของผู้กำกับอย่างหม่อมน้อยก็คือ นักแสดงทุกคนจะต้องมีการซักซ้อมอ่านบททำความเข้าใจในตัวละครและเรื่องราวแบบฉากต่อฉากไปตลอดทั้งเรื่องเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการถ่ายทำนั่นเอง ซึ่งลักษณะการซ้อมก่อนการแสดงทั้งเรื่องแบบนี้ มักจะไม่ค่อยเห็นในการทำหนังไทยระยะหลังๆ ซักเท่าใดนัก

“ก็อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เก่งไงผู้กำกับบางคนเอานักแสดงมาแสดงตรงนั้นได้เลยซึ่งเราไม่เก่งขนาดนั้นเพราะฉะนั้นเราถือว่าการทำงานต่างๆจะเกิดขึ้นบนโต๊ะก่อนให้ความสำคัญของพรีโพรดักชั่น(Pre-Production)เพื่อให้วันถ่ายทำจริงเนี่ยเป็นไปตามคิวที่เราวางไว้เราชอบสบายมั้งพอวันถ่ายเราค่อนข้างสบายเพราะทุกอย่างมันโดนประชุมโดนเตรียมมาหมดแล้วเป็นอย่างดีอีกอย่างหนึ่งเราก็แก่แล้วเราต้องการตรงต่อเวลาเพราะทุกอย่างมันต้องไปด้วยกันตลอดการบริหารงานกองถ่ายทุกคนมันต้องสำคัญเท่าๆกันไม่มีใครสำคัญกว่าใครไม่ว่าผู้กำกับจะใหญ่มาจากไหนดารานักแสดงเป็นใครมาจากไหนในปรัชญาการทำงานของเราทุกคนมีความสำคัญเท่ากันเปรียบได้กับชีวิตมนุษย์ที่จะขาดอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไปไม่ได้ขาดแขนขาหูตาจมูกไปไม่ได้ต้องเดินไปพร้อมๆกันเราให้ความสำคัญเท่ากันหมดช่วยกันได้ช่วยกันเพราะไม่ใช่งานของเราคนเดียวเราไม่อยากเสียเวลาโดยใช่เหตุเราอยู่นิ่งไม่ได้

สำหรับนักแสดงก็เป็นวิธีเดิมคือมีการซ้อมกันก่อนมีการทำความเข้าใจกันก่อนมีการมานั่งคุยกันก่อนแล้วแค่คุยมันก็ยังไม่พอมันก็ต้องมีClassมีการฝึกฝนมีแบบฝึกหัดต่างๆเพื่อจะทำให้นักแสดงแต่ละคนเข้าถึงตัวละครแต่ละตัวที่ตัวเองเล่นและเราก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีแล้วมันก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างก็เป็นไปตามคิวอย่างดีและก็ที่สำคัญคือนักแสดงทุกคนได้สร้างมิติใหม่มากคือผลที่ได้ดีกว่าที่เราหวังไว้ซะอีกเป็นการแสดงที่พูดได้ว่าไม่เคยมีมาก่อนในยุคนี้คือการที่นักแสดงได้เป็นตัวละครในเรื่องจริงๆได้ถ่ายทอดความมคิดอ่านและวิญญาณของตัวละครที่ตัวเองเล่นจริงๆ”

นอกจากทีมนักแสดงหลักชั้นนำแล้ว โปรดักชั่นเรื่องนี้ยังเป็นการรวมพล “คนเบื้องหลัง...มืออาชีพแถวหน้า” มาแสดงฝีมือในสายงานของตนกันอย่างเต็มที่อีกด้วย

“คือโดยส่วนใหญ่แล้วทีมงานหนังเรื่องนี้เนี่ยทุกคนมีอาชีพเป็นของตัวเองอยู่แล้วเพราะฉะนั้นการที่ทุกคนมาทำเรื่องนี้เนี่ยทำด้วยเพราะอยากทำเรื่อง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’นี้ให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีทุกคนก็ลางานกันมาทุ่มเทกับหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภาพฝ่ายเสื้อผ้าฝ่ายศิลป์หรือฝ่ายจัดการทุกคนอยากจะเห็นเรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ดี

เรื่องการถ่ายภาพนี่ไว้ใจได้เลยกับตากล้อง“เปีย” (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม)ผู้กำกับภาพที่ถ่ายภาพสวยมากทำงานไหลลื่นไปกับเราตลอดหนังไทยหลายๆเรื่องในยุคหลังนี้ก็ได้ผู้กำกับภาพคนนี้แหละมาถ่ายภาพสวยๆให้อยู่บ่อยๆในแง่ของภาพเรื่องนี้ เราก็จะเน้นภาพที่จะเป็นกึ่งกวีสื่อออกมาด้วยภาพที่งามเหมือนดูภาพเขียนภาพถ่ายที่สวยงามเพราะฉะนั้นมันจะเป็นครั้งแรกที่เล่าเรื่องอย่างประณีตและละเอียดอ่อนไม่ใช่แข็งๆไม่ใช่สะท้อนภาพชีวิตที่เหมือนจริงอย่างเดียวแต่จะเป็นภาพที่งามไปหมดเหมือนดูงานศิลปะที่งามชิ้นหนึ่ง

 

 

ทางเสื้อผ้าเองเนี่ยก็ได้‘อาจารย์แหลม’ (ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ)ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษทางด้านโบราณคดีที่ชำนาญทางด้านผ้าไทยทางด้านเครื่องแต่งกายไทยแล้วก็ได้‘คุณโต้ง’ (นพดล ตโช)ซึ่งทำกับผมมาตลอดตั้งแต่ ‘สี่แผ่นดิน’, ‘ในฝัน’  คือทุกคนมาร่วมงานแล้วก็ศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดีแล้วก็ยังได้อาจารย์จากหลายๆที่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้คำปรึกษาในทุกๆอย่างที่เป็นศิลปะล้านนา

 

 

ในส่วนของเมคอัพก็ชัดเจนมากเราได้‘อาจารย์ขวด มนตรี วัดละเอียด’มาลุยเองเลยจริงๆท่านก็ไม่ต้องทำเองแล้วก็ได้เพียงแต่เป็นอาจารย์ชี้นิ้วก็ได้ไม่ว่าจะเป็นใน‘นเรศวรฯ’ หรือว่า ‘สุริโยไท’ก็เป็นหัวหน้าแผนกเมคอัพที่คุมงานอย่างเดียวแต่เรื่องนี้เนี่ยท่านเองก็อยากจะลงมือทำด้วยตัวของท่านเองเพราะรักงานวรรณกรรมเรื่องนี้โดยไม่ใช้ลูกศิษย์เลยโดยท่านลงมือทำด้วยตัวท่านเองทุกๆฉากและก็คือเรามีความตั้งใจตรงจุดเดียวกันหมดว่าอยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สมบูรณ์ที่สุด

หรือแม้แต่‘เพลงชั่วฟ้าดินสลาย’เองก็ได้ความกรุณาจากท่านองคมนตรี‘อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์’ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้เนี่ยได้อนุญาตให้นำเพลงนี้มาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แล้วก็‘คุณจำรัส เศวตาภรณ์’ซึ่งไม่ได้ทำดนตรีประกอบมาเป็นเวลานานแล้วเนี่ยก็ได้กลับมาทำให้อีกแล้วก็ยังได้‘เจนนิเฟอร์ คิ้ม’ มาโชว์พลังเสียงร้องเพลงนี้ได้อย่างไพเราะมากๆ

ซึ่งโดยรวมแล้วเนี่ยทุกคนทำหนังเรื่องนี้เพราะว่าอยากเห็นหนังเรื่องนี้ออกมาดีไม่ใช่ทำเพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำเพื่ออยู่กินแม้กระทั่งตัวเราเองก็ตามก็ทำเพราะอยากให้บทประพันธ์ชิ้นนี้ออกมาดีต้องการถ่ายทอดออกมาให้มีคุณค่าทางภาพยนตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้มันก็เลยเป็นความร่วมมือร่วมใจที่อยากทำงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุดให้เท่าที่ความสามารถของเราจะมีและของทุกคนจะมี”

ฉากและสถานที่ถ่ายทำในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากฉากสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นที่ปางไม้ในป่าลึกที่เขาท่ากระดานจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นอาณาจักรส่วนตัวของ “พะโป้” คหบดีใหญ่ผู้มั่งคั่งชาวพม่า ซึ่งผู้ประพันธ์ได้บรรยายไว้ว่า “ปลูกบ้านอยู่กว้างขวางใหญ่โต ราวกับปราสาทราชสำนักของเจ้าผู้ครองนครในสมัยโบราณ” ทำให้ทีมงานได้จัดสร้างฉากซึ่งเป็นคฤหาสน์ของพะโป้ขึ้นที่กลางป่าริมลำธารของ “วนอุทยานแห่งชาติขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย” โดยยึดถือการออกแบบตกแต่งจากศิลปกรรมล้านนาโบราณ เพื่อให้ตรงตามจินตนาการดั้งเดิมของผู้ประพันธ์

ส่วนภูมิประเทศรายรอบนั้น ทางทีมงานก็ได้เลือกภูมิทัศน์อันงดงามของจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบทั้งเรื่อง ทั้งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเช่น น้ำตกขุนกรณ์ อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก, น้ำตกห้วยแก้ว, อุทยานแห่งชาติขุนแจ ตลอดจนภูมิประเทศ Unseen ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสายตานักท่องเที่ยวในป่าลึกและบนยอดเขาที่บ้านเย้าเล่าสิบ อ.แม่ฟ้าหลวง, บ้านปางผึ้ง ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำภาพภูมิทัศน์อันงดงามของจังหวัดเชียงราย เสนอต่อสายตาผู้ชมในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ
“อย่างที่บอกไปคือโลเกชั่นหลักเราเลือกเชียงรายคือแม้ว่าในเรื่องเดิมจะกำหนดว่าอยู่ในป่าแถวตาก-กำแพงเพชรเนี่ยทีนี้ผมก็ไปดูมาหลายที่มากแต่ก็ไปติดใจเชียงรายไปติดใจความหลากหลายของไม่ว่าจะเป็นเชียงรายภาคเหนือที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงามมากเพราะว่าจริงๆความสลับซับซ้อนของภูเขาเนี่ยเราเอามาเปรียบเทียบกับความสลับซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ซึ่งเป็นภาพเปิดเรื่องแล้วก็มีป่าที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่แล้วก็มีพรรณไม้ที่แปลกตามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น้ำตกขุนกรณ์แล้วก็ที่อุทยานแห่งชาติขุนแจเวียงป่าเป้าที่เราเข้าไปสร้างฉากเป็นคฤหาสน์ของพะโป้กลางป่าจริงๆคือด้วยต้นไม้ด้วย

ลำธารด้วยน้ำตกด้วยบรรยากาศที่แปลกตามากแล้วก็ยังแลดูสมบูรณ์อยู่มากช่วยเสริมให้แลดูสมบูรณ์ขึ้นแล้วก็มีลำน้ำกกซึ่งในเรื่องมีการอธิบายว่ามีการล่องแพไปเที่ยวกันไปล่าสัตว์ซึ่งลำน้ำกกก็มีความสวยงามดูแล้วน่าเชื่อว่าเป็นแม่น้ำกลางป่าแล้วมีน้ำตกมีหมอกมีธรรมชาติที่งดงามที่พูดได้ว่าอันซีน(Unseen)แล้วแปลกตากว่าทุกๆที่กว่าทุกโลเกชั่นในภาพยนตร์ไทยที่เคยมีมาและที่เชียงรายก็คงไม่เคยมีใครไปถ่ายหนังอย่างเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้ด้วย”

และเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคไปในปี พ.ศ.2476 จนถึง พ.ศ.2486 และเรื่องราวเกิดขึ้นในภูมิภาคทางเหนือของประเทศไทยในระหว่างยุคสมัยนั้น ประกอบกับภูมิหลังของตัวละครเอกผู้มีอิทธิพลสูงสุดในเรื่องคือ “พะโป้” คหบดีชาวพม่าผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายไทยใหญ่ชั้นสูงแห่งรัฐฉาน ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของทุกชีวิตในอาณาจักรเขาท่ากระดานของเขา ถือขนบประเพณีและวัฒนธรรมอันมีระเบียบแบบแผน แบบราชสำนักไทยใหญ่และพม่า อันเป็นวัฒนธรรมอันมีอิทธิพลสูงในวัฒนธรรมล้านนาไทย เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะมีฉากสำคัญหลายฉากที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันสูงส่งและประณีตงดงาม ไม่ว่าจะเป็นในฉากที่เกี่ยวกับ “พิธีกรรม” เช่นฉากงานฉลองรับขวัญคู่สมรส. ฉากงานบุญฉลองวันเกิด หรือฉากงานเลี้ยงต้อนรับข้าหลวง ซึ่งมีการแสดงนาฏศิลป์และการละเล่นหุ่นกระบอกแบบโบราณ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในภาพยนตร์ไทย

รวมทั้งวัฒนธรรมการแต่งกายที่ถูกต้องตามขนบประเพณีและยุคสมัยของตัวละครเอกทุกตัว และจะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรของพะโป้ที่เขาท่ากระดาน ตามที่ผู้ประพันธ์ได้ระบุไว้ว่า “มีบ่าวไพร่ทั้งที่เป็นพม่า ขมุ และมอญนับร้อย” จึงนับได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในยุคหลังๆ นี้ ที่จะนำเสนอภาพขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของอาณาจักรล้านนาไทยให้ปรากฏบนจอภาพยนตร์แก่สายตาชาวไทยและชาวโลก

 

 

LINK : แคแรกเตอร์ตัวละคร

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.