สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
Who Are You ใครในห้อง
  LINK : แคแรกเตอร์นักแสดง
  สัมภาษณ์ นก สินจัย ...เธอจะคว้ารางวัลได้อีกหรือไม่
   
 

จากเกร็ดเรื่องจริง  สู่ความหลอนยิ่งกว่า...บนจอภาพยนตร์
“ฮิคิโคโมริ” อาการแยกตัวออกจากสังคม สร้างโลกส่วนตัวอยู่แต่ในห้องนานเป็นเดือนเป็นปี
ปัญหาใกล้ตัว ที่น่าสะพรึงกลัวกว่าที่คิด
“คนคุ้นเคย ที่ไม่รู้จัก” จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไป...ตลอดกาล
ห้อง...ที่ไม่เคยถูกเปิดออก
ห้อง...ที่ไม่บ่งบอกความเคลื่อนไหวภายใน
ห้อง...ที่เจ้าของไม่เต็มใจให้ใครเหยียบย่าง
แต่...เมื่อใครบางคนกล้าล้ำเส้นเป็นเส้นตาย
ความหายนะสุดสยองจึงบังเกิด…

 

 

 

 

กำหนดฉาย                                 25 กุมภาพันธ์ 2553
แนวภาพยนตร์                             หลอน-ระทึกขวัญ
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย               สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
บริษัทดำเนินงานสร้าง                    บาแรมยู
อำนวยการสร้าง                            สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง                           ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์, บัณฑิต ทองดี
ดำเนินงานสร้าง                             ศิตา วอสเบียน
กำกับภาพยนตร์                            ภาคภูมิ วงษ์จินดา
เรื่อง                                             ปรัชญา ปิ่นแก้ว
บทภาพยนตร์                                เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์, ภาคภูมิ วงษ์จินดา
กำกับภาพ                                     ทิวา เมยไธสง
ออกแบบงานสร้าง                          รัชต พันธุ์พยัคฆ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                  พราวเพลิน  ตั้งมิตรเจริญ
ลำดับภาพ                                     ทวีลาภ  เอกธรรมกิจ
ฟิล์มแล็บ                                       บริษัท สยามพัฒนาฟิล์ม จำกัด
บันทึกเสียง                                    ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ทีมนักแสดง                                   สินจัย เปล่งพานิช, กัญญา รัตนเพชร์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์, โขมพัสตร์ อรรถยา, พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล, ฉัตรโสรฬ ธนูทิพยกุล

 

 

เรื่องย่อ

“นิดา” (สินจัย เปล่งพานิช) แม่ค้าขายแผ่นหนังโป๊ อาศัยอยู่กับ “ต้น” ลูกชายเพียงคนเดียวของเธอที่เป็นเหมือน “คนคุ้นเคยที่เธอไม่รู้จัก” เพราะต้นมีอาการ “ฮิคิโคโมริ” แยกตัวออกจากสังคมและขังตัวเองอยู่แต่ในห้องมานานถึง 5 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะความรักและตามใจลูกมากจนเกินไป ทำให้นิดาไม่กล้าเข้าไปยุ่มย่าม และแทบไม่เคยรับรู้ความเป็นไปภายในห้องปิดตายนั้นเลย

มีเพียงแผ่นกระดาษที่ใช้สื่อสารกันผ่านช่องใต้ประตูเท่านั้นที่ทำให้นิดาแน่ใจว่าลูกของเธอยังมีชีวิตอยู่

แต่เมื่อ “ใครบางคน” พยายามที่จะอยากรู้อยากเห็นบางสิ่งที่อยู่หลัง “ประตูบานนั้น” จนเกินพอดี นั่นจึงทำให้เกิดเรื่องราวที่คาดไม่ถึงตามมากับใครอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “โดม” (สตาร์บัคส์-พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล) ครีเอทีฟรายการทีวี, “ป่าน” (ตาล-กัญญา รัตนเพชร์) หญิงสาวขี้โรคบ้านฝั่งตรงข้าม, “โอ๊ต” (นีโน่-ฉัตรโสรฬ ธนูทิพยกุล) มอเตอร์ไซค์รับจ้างหัวขโมย, “วิรัช” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) พ่อของต้น หรือแม้กระทั่งตัวนิดาเอง

เมื่อความหลอนระทึกกำลังเฉียดกรายเข้าใกล้ตัวนิดามากขึ้นทุกขณะ เธอจึงต้องคลี่คลายและขุดคุ้ยความจริงทุกอย่างให้ปรากฏด้วยตัวของเธอเอง แม้จะต้องเผชิญหน้ากับฝันร้ายที่สุดในชีวิตก็ตาม
บางสิ่งบางอย่างอันน่าสะพรึงกลัวกำลังคืบคลานออกมา
ความลับสุดสยองของห้องปิดตายนั้น...คืออะไรกันแน่!!!


 

เบื้องหลังภาพยนตร์ มือเขียนบทจาก 13 เกมสยองและบอดี้ ศพจองเวร

 

 

ภาพยนตร์หลอนระทึกเรื่อง “Who Are You? ใคร...ในห้อง” นี้ สร้างมาจากเรื่องจริงที่โปรดิวเซอร์ของเรื่องอย่าง “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ได้ผ่านประสบการณ์พานพบกับแม่ค้าที่มีลูกชายกักขังตัวเองอยู่ในห้องนานหลายปี จึงจุดประกายให้เขาอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวความเป็นไป จนกระทั่งอยากสร้างภาพยนตร์ที่มีตัวละครลักษณะนี้เป็นตัวเดินเรื่อง

ทำไมต้องขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง, เขาใช้ชีวิตอยู่ยังไง, ผ่านไปนานหลายปีเด็กที่อยู่ในห้องมันจะยังเป็นคนเดิมอยู่หรือเปล่า, ใครกันแน่ที่อยู่ในห้องนั้น เหล่านี้คือตัวอย่างไอเดียเด็ดๆ ที่ส่งไม้ผลัดต่อให้ผู้กำกับจอมแหวกแนวอย่าง “เพื่อน-ภาคภูมิ วงษ์จินดา” (ฟอร์มาลินแมน รักเธอเท่าฟ้า, รับน้องสยองขวัญ, วิดีโอคลิป) ที่มักจะนำเรื่องราวแปลกล้ำมานำเสนออยู่เสมอ

“สำหรับจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นหนัง Who Are You? ใคร...ในห้อง เรื่องนี้นะครับ มันมาจากเรื่องเล่าของโปรดิวเซอร์ของผมคือ พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้มาคุยกันว่าจากประสบการณ์ชีวิตของพี่ปรัชที่ได้ไปพบกับแม่ค้าคนหนึ่งที่เขามีลูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมออกจากห้องมา 5 ปี ซึ่งพี่ปรัชเขารู้สึกว่าไอ้ประเด็นตรงนี้มันน่าสนใจ เพราะว่าใครก็ต้องมีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นว่า ไอ้เด็กที่มันเก็บตัวอยู่ในห้องมา 4-5 ปีโดยที่ไม่ออกไปไหนเลยเนี่ย มันจะเป็นยังไงบ้าง อย่างรูปร่างหน้าตาเนี่ยยังเป็นแบบเดิมอยู่หรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง เขาจะทำอะไรบ้างเวลาอยู่ในห้องอะไรอย่างนี้ จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ มันก็เลยเกิดแนวความคิดว่า ถ้าเรานำเรื่องราวแบบนี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ได้ มันก็น่าสนใจดี...”

ด้วยความเป็นแฟนการ์ตูนสยองหักมุมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผู้กำกับภาคภูมิจึงให้ผู้เขียนบทมือฉมัง “เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” (13 เกมสยอง, บอดี้ ศพ#19) ต่อยอดไอเดียหลักที่ได้มาแล้วให้ออกมาเป็นบทภาพยนตร์หลอนระทึกชั้นดี

“...แล้วประกอบกับผมก็ได้ผู้เขียนบทอย่าง คุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ซึ่งเคยเขียนเรื่อง 13 เกมสยอง, บอดี้ ศพ#19 มาเขียนบทให้ด้วย คือเราก็อยากหาคนเขียนบทที่มีไอเดียที่แปลกล้ำ ก็เลยนึกถึงคุณเอกสิทธิ์ เพราะว่าส่วนตัวเป็นคนชอบงานเขียนของเขาอยู่แล้วก็เลยลองทาบทามดูว่าสนใจมั้ยที่จะมาเขียนบทเรื่องนี้ ซึ่งเอกสิทธิ์ก็สนใจ พอเราเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ให้ฟัง เขาก็ไปทำการบ้านอะไรเยอะแยะ ซึ่งเราเห็นเลยว่า เขาเป็นคนที่มีจินตนาการล้ำคนหนึ่งของวงการเลยนะครับ จากนั้นก็ผ่านการรีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับอาการ ฮิคิโคโมริ ที่เอกสิทธิ์ได้เสนอแนะไว้ รวมถึงผ่านการพูดคุยระดมไอเดียกันจนนำมามิกซ์รวมกันกลายเป็นเรื่องนี้ครับ

เท่าที่เห็นก็ยังไม่มีใครเคยหยิบเรื่องฮิคิโคโมริมาพูดในหนังไทยนะ แม้กระทั่งหนังฝรั่งก็ไม่ค่อยเห็น มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะใหม่นะครับ  และก็ยังไม่มีใครหยิบประเด็นนี้มาพูดเท่าที่รีเสิร์ชดูนะครับ ก็หาข้อมูล คืออยากจะได้ข้อมูลว่ามันมีหนังเรื่องไหนบ้างมั้ยที่พูดถึงฮิคิโคโมริ แต่มันก็ไม่มี ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นลักษณะสารคดีเสียมากกว่า ผมว่านี่เป็นครั้งแรกสำหรับหนังไทยเลยนะครับ”

ทางด้านผู้เขียนบทมือฉมัง “เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” ได้เปิดเผยถึงงานเขียนบทหลอนระทึกครั้งล่าสุดของเขานี้ว่า

“คือผมเป็นคนชอบเขียนบทที่มีคนน้อยๆ จำกัดจำนวนคนเอาไว้ เพื่อที่จะดึงความน่าสะพรึงกลัว ความเป็นคนออกมาได้มากกว่าการที่มีคนเยอะๆ ก็เลยใส่ตัวละครเข้าไปไม่กี่ตัวครับ แล้วบทแรกก็เสร็จออกมาใช้เวลารวดเดียว มันพรั่งพรูออกมาทันทีเลยฮะ ก็เอามาคุยกัน เพียงแต่ว่าทางทีมงานหลายๆ คนแล้วก็รู้สึกว่ามันยังมีจุดโหว่ในหลายๆ ส่วน ก็เลยมีการแก้ไขแล้วก็เกิดบทเวอร์ชั่นที่สองที่สามตามมา ซึ่งเป็นบทที่ได้เห็นนี่ล่ะครับ เป็นบทที่ค่อนข้างลงตัวซึ่งผมเองก็ชอบครับ แต่ในการทำงานจริงเนี่ยก็มีการคุยกับพี่เพื่อนเหมือนกัน ก็คือเปิดกว้างให้พี่เพื่อนใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้ด้วย อาจจะแก้ไขในส่วนที่พี่เพื่อนคิดว่าเหมาะสม  ที่เค้ารู้สึกว่าเข้าใจกับมัน

 

 

จริงๆ เรื่องนี้มันแทบจะใช้คำว่า Based on True Story ได้เลยนะ มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่พี่ปรัชไปเจอมา เพียงแต่ว่ามันไม่มีบทสรุป สิ่งที่เราใส่เข้าไปคือบทสรุป แล้วก็เติมแต่งสร้างสีสันของเรื่องและคาแร็คเตอร์เพิ่มเข้าไปนะครับ ประเด็นหลักของมันคือว่าเราจะพูดถึงเรื่องอย่างชื่อเรื่องที่บอกว่า ฮู อาร์ ยู คือเราจะพูดว่า จริงๆ แล้วคุณคือใครกันแน่นะครับ มันเป็นคำถามที่เหมือนกับถามตัวเราเองด้วยว่าเราน่ะเป็นใคร แล้วคนรอบๆ ข้างเราเป็นใคร เรารู้จักเค้าดีแค่ไหน คนที่เราว่า
เป็นเพื่อนเรา เป็นพ่อแม่พี่น้องเป็นคนที่เรารู้จักเนี่ย ยิ้มพูดคุยกันเนี่ย ถ้าวันหนึ่งเค้ามีด้านที่เราก็ไม่เคยเห็น มันทะลักออกมาเนี่ยมันก็น่ากลัวมาก

แล้วก็อีกประเด็นหนึ่งที่จับต้องได้ก็คือเรื่องของ ฮิคิโคโมริ ก็คือว่ามันเป็นเรื่องของทางสังคมญี่ปุ่นเค้านะครับ  ซึ่งในทฤษฎีเค้าเชื่อว่ามันจะไม่เกิดกับประเทศอื่น  มันจะเกิดกับญี่ปุ่นอย่างเดียว  เพราะมันเป็นเรื่องสภาวะทางสังคม  ที่ทางสังคมเค้ากดดันสูง ก็ใช้วิธีที่จะไม่สู้ หนีเข้าห้อง ปิดห้องหนีไปเลย แล้วก็ทุกวันนี้มันเป็นการตัดขาดจากโลกภายนอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์  เพราะว่ามันมีคอมพิวเตอร์อยู่ในห้อง แล้วเค้าอยากจะทำอะไรก็เซิร์ชหาเอาได้  แล้วก็คำถามหลายๆ คำถามที่ทุกคนจะถามคือว่าแล้วเด็กคนนี้ไม่ออกมาเลยหรอ คือเค้าออกมาฮะ แต่จะออกมาตอนที่คนไม่อยู่บ้าน ออกมาเข้าห้องน้ำ ออกมากินข้าว มากินอะไร แต่ก็อาศัยอยู่ในบ้านแค่นั้น  แล้วก็กลับเข้าห้องไปตอนที่ทุกคนกลับเข้าบ้านแล้วนะครับ แต่ว่าที่น่าตกใจในทฤษฎีที่เค้าบอกว่ามีแค่ญี่ปุ่นน่ะ  คือมันมีในเมืองไทยจากคำบอกเล่าของพี่ปรัชซึ่งมันมีจริง ก็ขังตัวเองไว้ในห้องจริงๆ แล้วที่คุยกันแล้วทั้งพี่เพื่อน พี่ปรัช และก็ผมเนี่ยสนใจเพราะว่าสภาวะนี้เนี่ย มันอาจจะเกิดขึ้นในเมืองไทยจริงๆ ก็ได้  เพราะว่าทุกวันนี้ทุกอย่างมันเอื้ออำนวยไปทางนั้นเหมือนกัน เรื่องของอินเตอร์เน็ต เรื่องของเด็กติดเกม เรื่องของเด็กที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนด้วยกัน แต่ไปมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์กับเกม ก็เป็นปัญหาสังคมที่น่าจะได้รับความสนใจมากกว่านี้ ก็เลยมองว่าอยากจะถ่ายทอดอะไรแบบนี้ด้วยเพราะว่าพ่อแม่ที่มีลูกลักษณะนี้ก็น่าจะลองศึกษาไว้ก็ดีเหมือนกันครับ”

 

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.