ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และเครือข่ายคนดูหนัง ร่วมกับยื่นฟ้อง คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ต่อศาลปกครอง เมื่อวานนี้ ท่ามกลางการสนับสนุนจากนายทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมผู้กำกับ นายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับ นายมานิช ศรีวานิชภูมิ และอิ๋ง เค ผู้กำกับ พลเมืองจูหลิง
อิ๋ง เค เคยถูกแบนหนังเรื่อง คนกราบหมา เมื่อปี 2541 จากการฉายในเทศกาลหนังกรุงเทพครั้งที่ 1 ได้มีการประท้วงหน้าสภา แต่ไม่ได้ผลใด ๆ
สำนวนฟ้องซึ่งมีถึง 44 หน้านั้น ได้ครอบคลุมแทบทุกประเด็นของการต่อสู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไม่ผ่านการพิจารณา โดยได้รวมถึงการไม่ชี้แจงอย่างชัดเจนของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชุดแรก ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดที่เป็นปัญหาในเรื่องใดบ้าง โดยระบุเพียงเหตุผลต่าง ๆ กัน ไป มีแต่เพียงบอร์ดชาติเท่านั้นที่ได้แจงเหตุผลมากมายในการพิจารณาให้ ไม่ผ่าน ภาพยนตร์เรื่องนี้
อีกทั้งทางคณะกรรมการไม่ว่าจะเป็นบอร์ดชาติหรือเรตติ้ง ไม่เคยเรียกทางทีมงานเข้าไปชี้แจงในระหว่างการพิจารณาเลย ยกเว้นคณะอนุกรรมการเท่านั้น แต่ทางทีมงานก็พยายามสืบเสาะว่าคณะกรรมการจะมีการประชุมเมื่อใด และไปรอการประชุมทุกครั้ง เพื่อให้มีการเรียกเข้าไปชี้แจง แต่ก็ไม่เคยได้รับการเรียกเข้าไปพบแต่แต่ประการใด
อีกประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ความลักลั่นในการพิจารณา ทางผู้ฟ้องได้ชี้แจงในทุกประเด็นว่า มีหนังที่ฉายในเมืองไทยหลายเรื่อง ทั้งหนังไทยและหนังต่างประเทศ ต่างก็เคยนำเสนอภาพที่เป็นเรื่องต้องห้ามเหล่านั้น แต่กลับได้รับสิทธิ์ในการฉายอย่างชอบธรรม อาทิ เนื้อหาโดยรวมเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย ในภาพยนตร์เรื่อง Frozen Flower หรือฉากร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิง ในหนังไทยอีกเรื่อง หรือต่างก็เคยได้รับอนุญาตให้ฉายมาแล้วทั้งสิ้น ยังไม่รวมฉากฆ่าพ่อ จากหนังไทยเรื่องหนึ่ง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอ้างอิงของผู้ฟ้องเท่านั้น
การฟ้องร้องครั้งนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนัง และอาจส่งผลต่อการพิจารณาเรทติ้งหนังในอนาคต ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานที่ลักลั่น เพราะฉากที่กล่าวหาว่าฉายไม่ได้ใน Insects in the Backyard นั้น ล้วนฉายได้ในหนังไทยหลายๆ เรื่อง และถ้าความลักลั่นตรงนี้มีอยู่ อาจจะทำให้เกิดข้อวิพากษ์ขึ้นมาว่า การที่หนังแต่ละเรื่องจะได้รับเรตติ้งเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ส่งด้วย และเท่าที่ผ่านมา หนังไทยที่มักจะมีปัญหาเรื่องเซ็นเซอร์หรือเรตติ้งในไทย ล้วนเกิดกับผู้กำกับอิสระทั้งสิ้น เช่น กรณี แสงศตวรรษ โดยนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ Insects in the Backyard โดยธัญญวรินทร์ สุขะพิสิษฐ์
|
มาตรฐานระหว่างคณะกรรมการแต่ละชุดนั้นก็แตกต่างกัน ปฎิกิริยาแรกจากคนในวงการ เมื่อหนังไม่ผ่านการพิจารณาครั้งแรกนั้น ผู้คนต่างอ้างว่า Insects in the Backyard ไม่ผ่านเพราะคณะกรรมการที่พิจารณาเรตติ้งกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นกลุ่มอนุรักษ์มากที่สุด เพราะฉะนั้น การต่อสู้ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นั้นมิใช่เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อผลงานของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้เพื่อกระตุ้นให้พิจารณาความลักลั่นที่จะเกิดขึ้นเพราะมาตรฐานของคณะกรรมแต่ละชุดแตกต่างกัน รวมทั้งอิทธิพลของบริษัทเจ้าของหนังด้วย
สำหรับการฟ้องร้องในครั้งนี้ ธัญญ์วาริน และ เครือข่ายคนดูหนัง จึงได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษา ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ให้เพิกถอนมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และเพิกถอนมติการประชุมที่ 11/2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และเพิกถอนหนังสือกระทรวงวัฒนธรรมที่ 0204.1/3680 ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553 |
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 |