12 ธันวาคม / รายงานโดย อัญชลี ชัยวรพร
15 วันหลังจากการยื่นอุทธรณ์กับปลัดกระทรวงวัฒนธรรมนั้น มีการเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้นจากทั้งทางภาครัฐและทางฝ่ายสนับสนุน แต่ก็ยังไม่เห็นอนาคตที่จะทำให้หนัง ฉายในบ้านเราได้
โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวและมูลนิธิหนังไทย เริ่มแจ้งข่าวว่าจะมีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ประกอบการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์กับรัฐธรรมนูญไทย โดยได้ออกจดหมายเชิญตัวแทนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดระบบเรตติ้งมาร่วมสัมมนาด้วย
ทางกรมส่งเสริมปฎิเสธคำเชิญ พร้อมส่งจดหมายเตือนเรื่องความผิดถ้ามีการฉายเรื่องนี้ โดยจะได้รับโทษสูงสุดถึงจำคุก 1 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท ทำให้ทางผู้จัดและผู้กำกับต้องยกเลิกการฉายหนังเรื่องนี้ทันที
ฝ่ายให้กำลังใจ ภาพบน อโนชา สุวิชากรพงศ์ ล่าง กังฟู (กะปิ) และ มาสุสส (ผู้กำกับ ตายโหง)
ในวันที่ 10 ธันวาคม ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา นครปฐม ทางผู้จัดและผู้กำกับตัดสินใจฌาปนกิจภาพยนตร์ขึ้นแทนเมื่อเวลา 14.15 มีคนเข้าร่วมงานประมาณ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นสื่อและกลุ่มคนทำงานหนังอินดี้มากกว่า โดยผู้กำกับที่มาร่วมงานในวันนั้น นอกจากนายทรงยศ สุขมากอนันต์ ในฐานะตัวแทนสมาคมผู้กำกับ, อโนชา สุวิชากรพงศ์, มานุสส วรสิงห์ (ตายโหง), และ นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ (กะปิ) รวมทั้งโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน)
โดม กล่าวขึ้นหลังจากพิธีจุดไฟฌาปนกิจโดยทรงยศเสร็จสิ้นขึ้นว่า จากนี้ไป หนังก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ไปในสถานที่ที่ไม่มีการเซ็นเซอร์
มีการสัมมนาต่อจากนั้น ซึ่งนางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแบนหนังทั้งเรื่อง โดยส่วนตัวถือว่าเป็นการขัดต่อสิทธิการแสดงออก คนดูมีความสามารถในการเลือกที่จะเลือกชมภาพยนตร์ อาจจะดูได้ทั้งเรื่อง หรือรัฐสามารถจำกัดได้ ว่าจะควบคุมอย่างไร รัฐไม่ทำข้อใดข้อหนึ่ง แต่ใช้วิธีแบนทั้งเรื่อง ถือว่าเป็นการ "ขัด" ต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 29 ซึ่งห้ามการปิดกั้น
นางสาวสาวตรีกล่าวต่อว่า กฎหมายเรตติ้งของไทยที่ใช้ในปัจจุบันเป็นการนำระบบเซ็นเซอร์กับเรตติ้งมาผสมกัน ซึ่งถือว่าลักลั่น ทำไมมีเรตติ้ง แล้วจึงมีเซ็นเซอร์เข้ามาด้วย ถ้าไทยใช้ระบบเรตติ้งแล้ว การแบนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ควรใช้ระบบเซ็นเซอร์
ถ้ามันมีระบบเรตติ้งแล้ว อะไรก็ตามที่ขัดข้องต่อศีลธรรมก็เป็นเรื่องยอมรับได้ ภาพยนตร์ในฐานะเป็นสื่อ ๆ หนึ่ง ที่จำลองเหตุการณ์ที่ไม่เป็นจริงหรือสร้างขึ้นได้ ภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่ในการที่จะอบรมศีลธรรมอันดี ถ้ายอมรับว่าระบบเรตติ้งมันถูกต้องแล้ว ทำไมจะต้องมีเรื่องขัดต่อศีลธรรมอันดี นี่คือปัญหาที่หนึ่ง สอง แม้ขัดหรือไม่ขัด ก็ห้ามแบน เพราะใช้ระบบเรตติ้งแล้ว ในต่างประเทศที่มีการใช้ระบบเรตติ้ง ก็ไม่มีการใช้คำว่า "ขัดต่อศีลธรรม"
นอกจากนี้ ระบบการเซ็นเซอร์ก่อนการเผยแพร่ไม่ควรจะมีในประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตย นางสาวสาวตรีเสริมว่า ถ้าเราติ๊งต่างว่า พรบ. มีเพศได้ พรบ.ถือได้ว่ามีความสับสนทางเพศมากที่สุด ไม่รู่ว่าจะเซ็นเซอร์หรือไม่เซ็นเซอร์ จนปิดกั้นทุกอย่างไป
อย่างไรก็ตาม นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน สภาทนายความ กลับเห็นว่า การห้ามนั้นมีได้ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น
เรตติ้งตามกฏหมาย เป็นเหมือนกับการแนะนำ ไม่ได้มีการห้ามดูอย่างเด็ดขาด พอผ่านระบบกรรมการไปแล้ว บางทีก็เห็นว่าไม่เข้มงวด ผมกลับคิดว่า ระบบห้าม มันอาจจะต้องมี เพราะมีเรื่องไปกระทบ "สิทธิ" คนอื่น เพียงแต่ว่า จะให้ฉายก่อน แล้วค่อยมาจัดการทีหลัง หรือจะสั่งห้ามเลย
นายเจษฎากลับมองเห็นว่า การห้ามฉายอย่างที่ใช้ในบ้านเรานั้น ควรจะดูว่าใครเป็นคณะกรรมการมากกว่า
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือว่าเป็นการท้าทายฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่สิ่งที่ทำ มันตอบโจทย์หรือไม่ มันจะเป็นการท้าทาย เราก็ต้องทำหนังแบบนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ มันก็จะกระตุ้นเขาไปเรื่อย ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันก็จะต้องมีการกระทบกระทั่งแบบนี้อยู่เสมอ
สุภิญญากล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Insects in the Backyard นั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะสื่อภาพยนตร์ แม้แต่สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ในบ้านเราก็สามารถถูกสั่งปิดได้ทุกสื่อ ยกเว้นก็เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังไม่มีการควบคุม และถือได้ว่ามีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด
เสรีภาพของสื่อในการแสดงออกในบ้านเรา โดยทั่วไปมีมากกว่าหลายประเทศ เพราะไม่ได้มีการห้ามอย่างจริงจัง แต่เมื่อมีสื่อใด ๆ ที่มีการแสดงออกแล้วไม่เข้าตาผู้ควบคุม ก็จะถูกฌาปนกิจเป็นราย ๆ ไป ซึ่งการควบคุมแบบนี้มีไม่เยอะ คนที่ไม่ได้รับผลกระทบก็เลยไม่ใส่ใจ
มาตรฐานในการเซ็นเซอร์หรือพิจารณาก็เป็นประเด็นอื่นที่นำมาถกเถียงในครั้งนี้ เนื่องจากเท่าที่ผ่านมานั้น หนังบางเรื่องก็ถูกตัดฉากบางฉากไป อาทิ ฉากที่ลิงทำถาดตกใส่ศรีษะพระถึง 7 ครั้งในภาพยนตร์เรื่อง กะปิ นั้น ทางสำนักพิจารณาภาพยนตร์ก็สั่งให้ตัดเหลือเพียงครั้งเดียวเป็นต้น
เช่นเดียวกับเมื่อข่าวมีการ แบน หนังขึ้นใหม่ ๆ นั้น ผู้ให้คำปรึกษากับทีมงานก็กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีหลายชุด แต่หนังโชคไม่ดีนักที่มาอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการกลุ่มที่อนุรักษนิยมมากที่สุด พร้อมกับชี้แนะให้ทางทีมงานยื่นเสนอการตรวจสอบกับคณะกรรมการชุดอื่น
สำหรับความคืบหน้าในการอุทธรณ์นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายฯ ซึ่งได้เชิญทั้งทางทีมงานภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard และตัวแทนของสำนักพิจารณาภาพยนตร์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเข้าไปพบในวันเดียวกัน แต่คนละรอบ โดยในส่วนของทางทีมงานภาพยนตร์นั้น มีนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและนายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับ เข้าร่วมชี้แจง
แต่จากการสอบถามผู้กำกับนั้น พบว่าการไต่สวนในชั้นต้นอยู่ในขั้นที่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์เชิงบวกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้นัก เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเพียงคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาพันธ์ภาพยนตร์นักที่มีโอกาสชมภาพยนตร์แล้ว ลักษณะการไต่ถามจะเป็นไปในทางเดียวกับการสอบสวนรูปแบบคดีต่าง ๆ คำถามที่ซักถามกลับไม่ใช่ฉากโป๊หรือฉากเปลือย แต่จะเป็นฉากจินตนาการที่ลูกฆ่าพอ
ในความเป็นจริงก็คือ ตั้งแต่เกิดกรณีเรื่อง แบน หนังเรื่องนี้ขึ้น คณะกรรมการและตัวแทนจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์ ต่างยกเหตุผลที่แตกต่างกันในการ แบนภาพยนตร์เรื่องนี้ บ้างก็อ้างว่าฉากลูกฆ่าพ่อ บ้างก็อ้างว่าเพราะเป็นเครื่องแบบนักเรียน สำหรับฉากโป๊ต่าง ๆ นั้นกลับไม่ได้เป็นปัญหามากนัก
หลังจากการชี้แจงโดยทางผู้กำกับและตัวแทนสมาคมผู้กำกับแล้ว ก็มีตัวแทนจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์เข้าชี้แจงต่อในวันเดียวกัน
|