สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
9 วัด
  LINK :ใครเล่นเป็นใคร
  เจ-มณฑล” ต้องมนต์เสน่ห์หนังไทยโดดทำดนตรีประกอบหนังสยองขวัญ “9 วัด
   
 

 

 

ผู้อำนวยการสร้าง                                    วัชรินทร์ สุทธิประภา                             
ควบคุมงานสร้าง                                     สิริปปกรณ์ วงศ์จริยวัตร                         
ดำเนินงานสร้าง                                      สิรณี รัชชุศานติ      
ผู้กำกับภาพยนตร์                                    ษรัณยู จิราลักษม์    
บทภาพยนตร์                                          ธีปนันท์ เพ็ชรศรี, ษรัณยู จิราลักษม์, อารียา พรศิริวิวัฒน์     
กำกับภาพ                                                ปราเมศร์ ชาญกระแส            
ลำดับภาพ                                                ไพรัช คุ้มวัน, ปุรินทร์ ฉายชยานนท์
ออกแบบงานสร้าง                                 สุประสิทธิ์ ภูตะคาม                               
กำกับศิลป์                                           การัณยภาส ขำสิน
ศิลปกรรม                                           ชาคริต เลิศเวช        
Prop Master                                      CHAKRIT LERTWECH     
เทคนิคพิเศษและเอฟเฟ็ค                       QFX
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                          ปรางทิพย์  มีเดช    
ช่างแต่งหน้า                                            ธนธัช  กิตติคุณาธิป
ออกแบบและดูแลผม                              จิรภัทร  จันทรา      
ดนตรีประกอบ                                        มณฑล  จิรา                                           
ออกเเบบเสียง                                         วานิลา สกาย
เพลงประกอบ                                         เพลง “กฏเเห่งกรรม”   โดยวง เดอะ ริชแมนทอยส์ 
นักแสดง : นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, พระเอกใหม่ “เจมส์ แม็กกี้” พร้อมด้วย“เติ้ง-ภราดร ศิรโกวิท” “ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล”

 

 

เรื่องย่อ

ระหว่างเดินทางไปแฮงก์เอ้าท์ที่เชียงใหม่ ช่วงวันหยุดยาว ณัฐ (เจมส์ แม๊กกี้) กราฟฟิคดีไซน์หนุ่มเด็กแนว หัวใหม่ รสนิยมดี   ทนคำรบเร้าของ ปุ้น (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา)  แฟนสาวคอลัมนิสต์สุดเปรี้ยวของตนไม่ไหว  จึงตัดสินใจแวะบ้านที่อุทัยธานีเพื่อเยี่ยมแม่   ซึ่งตัวเองไม่ได้พบหน้ามาเกือบ 2 ปีแล้ว

นิตยา (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) แม่ของณัฐ มีความเชื่อเรื่อง "เคราะห์กรรม" และ "การทำบุญ" เฉพาะตัวอย่างแรงกล้า  เมื่อณัฐกลับมาเยี่ยมบ้าน  นิตยาจึงขอร้องแกมบังคับให้ลูกชายไปทำบุญ "9 วัด" เพื่อสะเดาะเคราะห์  แต่ณัฐกลับเห็นว่าไร้สาระ

จังหวะเดียวกัับที่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด  ณัฐ ได้พบกับ พระสุจิตโต (ภราดร ศิรโกวิท) เพื่อนเล่นในวัยเด็กที่กำลังจะออกเดินทางไปธุดงค์ทางภาคเหนือ  ณัฐจึงชวนซี้เก่าขึ้นรถไปด้วยกัน  พร้อมกับแวะทำบุญเล่น ๆ ตามวัดที่อยู่รายทาง

หนึ่งบุรุษ หนึ่งสตรี และหนึ่งสมณเพศ มุ่งหน้าขึ้นเหนือ โดยไม่รู้ตัวเลยสักนิด  มีความน่ากลัวรอพวกเขาอยู่เบื้องหน้า   ไม่ว่าจะเข้าวัดทำบุญกี่วัด อธิษฐานบนบานสักเท่าไร

แต่สิ่งที่รอคอยณัฐและปุ้นอยู่นั้น .....น่าสะพรึงกลัว จนแม้แต่ "พระ" ก็ช่วยไม่ได้

 

โน้ตจากผู้กำกับ

 

 

ษรัณยู จิราลักษม์ (ยู) ผู้กำกับภาพยนตร์  เล่าถึง  “9 วัด” ภาพยนตร์ที่จะเปลี่ยนเส้นทางไหว้พระ เป็น เส้นทางระทึกขวัญว่า “ภาพยนตร์ 9 วัด คล้ายตั้งคำถามกับการทำบุญไหว้พระ เพื่อแก้กรรม แก้เคราะห์ ว่า จริงๆ แล้ว เราขอได้ด้วยหรือ ?  ตัวผมสนใจหนังลึกลับ  ชอบเล่าเรื่องลึกลับ และผ่านการคิดเรื่องการทำบุญมาจากตัวเองด้วย  จริงๆ เรียนเรื่องพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องพวกนี้เลย

ณ ปัจจุบัน คนไทยเรา มักคิดว่า เราเป็นคนพุทธ เราอยู่ใกล้วัดมาก แต่ลองถามดูหลายคนว่า สวดมนต์ได้ไหม? สวดง่าย ๆ หรือ รู้เรื่องง่าย ๆเกี่ยวกับวัดไหม ? บางทียังไม่มีใครรู้เลย แต่กลับมีกระแสการ ทำบุญไหว้พระ 9 วัด เยอะมาก  เป็นเพราะอะไร? ผมเคยคิด เหมือนมุมมองตัวละครเรื่องนี้เลยครับ จากคนไม่เชื่อ เคยตั้งคำถามแบบนี้ ทำไปทำไม มันมีจริง ๆ หรือ ตอนเด็กๆ  เราไม่เคยเจอคำตอบอะไรเลย พอโตมา พอเริ่มทำบุญ สุดท้ายเราก็เจอคำตอบ              เมื่อเวลามันผ่านไป อายุมันมากขึ้น พอเริ่มไปทำบุญ ก็พบว่า  ทำบุญก็ดีเหมือนกัน  ทำให้จิตใจนิ่งขึ้น ยิ่งทำบุญ  ยิ่งเป็นคนเปิด สงบนิ่ง ไม่หวังอะไรมากมาย ยิ่งทำบุญ เรายิ่งสมถะ                                                          
คำตอบที่เราพบได้กับตัวเอง  เวลาทำบุญ  คือ  เราสบายใจ ให้ได้คิด ได้ตรึกตรอง เพื่อคิดของเราเอง ให้หาคำตอบเอง  แต่ไม่ใช่การทำบุญเพื่อแก้กรรม หรือหวังอย่างโน้นอย่างนี้  ซึ่งหวังไม่ได้ พอมีกระแสทำบุญไหว้พระ 9 วัด ไหว้พระแก้นั่นนี่  เราก็สงสัย ... ขอได้ด้วยหรือ?     

ทำไมเลือกนักแสดง เป็นนุ่น  ศิรพันธ์ ?  ผมชอบการแสดงของนุ่นอยู่แล้ว เขาแสดงดี น่าสนใจ  ตอนเขียนบทก็พยายามหาส่วนที่ลิงค์กับนุ่น  และอยากเปลี่ยนคาแรคเตอร์นุ่นด้วย  เพราะที่ผ่านมา  เห็นนุ่นก็คาแรคเตอร์เดิมๆ  จึงคุยกับนุ่นว่า  อยากเปลี่ยนได้ไหม เอาบทไปอ่าน นุ่นก็บอกว่า ชอบ เราก็โอเคเลย  งั้น  เปลี่ยนให้แรงสุดกู่เท่าที่จะทำได้  นุ่นก็พยายามทำและตั้งใจเล่นสุดๆ  

 

 

เจมส์  แม็กกี้  พระเอก  เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของ “9 วัด” มุมมองของผม น่าจะเป็นคนใหม่  คนดูไม่คุ้นเคย และเป็นคนที่คนดูเชื่อได้ว่า  เขาเปลี่ยนความคิดได้จริงๆ ไม่เป็นการแสดง  แต่เป็นตัวเขาจริงๆ จึงต้องเลือกนักแสดงหน้าใหม่  และที่สำคัญ เจมส์ดูเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่อเรื่องการทำบุญไหว้พระ ขัดกับลุคส์ที่ดูหล่อเซอร์     

บทพระสุจิตโต  คัดเลือกยากมาก  เติ้ง - ภราดร  ศิรโกวิท  เราเคยดู เขาเป็น VJ แชลแนล วี นานมาแล้ว ผมนึกปิ๊งขึ้นมา  เพราะเห็นหน้าตาทีแรก  ผมรู้สึกว่า หน้าเขาเหมือนพระพุทธรูปเลย  หูใหญ่ จมูกโด่ง ตาโต หน้ายาว  แล้วเป็น คนทันสมัยมากๆ น่าสนใจดี  บทพระยากตรงที่มีความพิเศษ  เป็นพระต้องนิ่ง แต่พระเรื่องนี้ เคยเป็นเพื่อนกับพระเอกด้วย  เวลาคุยกันก็ยังมีความสนุก  มี gimmick เล็กๆ เหมือนเพื่อนกันมาก่อน  เป็นพระกับฆราวาสคุยกัน แต่มีความสนุกมากกว่าคนปกติอื่นๆ  แล้วมีเรื่องในตอนอดีต เรื่องตอนเป็นเด็ก เวลาคุยกันเหมือนหักเหลี่ยมกันไปมา ในภาษาคุยธรรมดา

พี่ต่าย  เพ็ญพักตร์  ผมมีภาพพี่ต่ายในใจ  เป็นผู้หญิงคลาสสิค เห็นเมื่อไรสวยเหมือนเดิม แอ็คติ้งดี  อยากร่วมงานด้วย ก็เชิญพี่ต่ายให้อ่านบท  อ่านแล้วพี่ต่ายก็ชอบ บทไม่เยอะมาก แต่น่าสนใจ ต้องมีความเข้มข้นในการแสดง ซึ่งพี่ต่ายมีให้เราอย่างยอดเยี่ยม

น้องโฮม  (ด.ช. นครินทร์ หุ่นประสิทธิ์)  นี่ถือว่า โชคดีมากที่เราได้น้องโฮม  เพราะบทน้องโฮมในเรื่องนี้เทคนิคเยอะมาก  ทั้งชุด ทั้งเอฟเฟค สลิง  แล้วน้องโฮมเป็นเด็กที่อดทนมาก เด็กอื่นๆ ต้องมีร้องเลิก  ไม่เอาล่ะ จะกลับบ้านนอน  แต่น้องโฮมไม่ร้องเลย เก่งมากๆ 

ด้านสไตล์ถ่ายทำ   “9 วัด” เป็นหนังผี / Road  Movie นอกจากมุมน่ากลัวของหนังผี ในมุม Road Movie ก็ให้ความรู้สึก ตื่นเต้น แอ็คชั่นด้วย ภาพสวย direction จัด ๆ  เหตุการณ์ในหนัง สั้นๆ แค่ 3-4 วัน แต่สามารถทำให้ตัวละครเปลี่ยนความคิด  มันก็น่าสนใจในแง่เราสามารถพาคนดูเปลี่ยนความคิดไปพร้อมตัวละคร  ภายใต้การเดินทางแค่ 3-4  วัน มันก็น่าท้าทาย

วิธีการถ่ายหนัง Road Movie มีวิธีการถ่ายแบบเคลื่อนขบวนรถไปด้วย  มีปิดถนน ปิดการจราจร  เดี๋ยวมีซีนผี  มีเด็ก  มีสัตว์  มีสลิง  เดี๋ยวเข้าเมือง เดี๋ยวเข้าป่าลึก มีสัตว์เยอะมาก  มีทั้งวัว  หมา นก  ปลา  ตอนคิด เราว่ายากแล้ว  แต่ตอนทำ มันยากยิ่งกว่าเดิมมากมายมหาศาล

พยายามเล่าหลายๆ แบบ เราดีไซน์การถ่ายทำต่างกันไป  วิธีการแต่ละซีนไม่เหมือนกัน ให้คนดูได้สนุกกับการตามเรื่อง  ตื่นเต้นแปลกๆ หลายรสชาติ บางซีนเหมือนคนดูได้เจอเหตุการณ์ของตัวละคร แล้วมุมกล้องนี้เป็นสายตาคนดูที่ได้เจอเหตุการณ์นี้ไปด้วย

เทคนิคบางอย่างที่หนังไทยไม่เคยทำ เราก็อยากลองดู ใช้เทคนิคการถ่ายหลากหลายที่ต่างไป  บางซีนเราถ่ายด้วยสปีต บางซีนใช้มุมกล้องเล่าเรื่อง  วิธีการเล่าที่แปลกออกไป  ด้วยไดเร็คชั่นที่แปลกตา น่าสนใจ”

 

 

จุดเด่นสำคัญของ “9 วัด”  คือ  โลเคชั่น  สถานที่ถ่ายทำ “9 วัด”  เปรียบเป็นเหมือนตัวละครสำคัญที่มีส่วนในการเล่าเรื่อง และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ตัวละคร  ษรัณยู จิราลักษม์ ผู้กำกับฯ เล่าถึงความพิเศษของแต่ละแห่ง แต่ละวัด ว่า  “ พูดถึงวัด  คนส่วนใหญ่ จะนึกเป็นแบบโมโนโทน  นิ่งๆ  แต่วัดในหนังเรา อาจจะเป็นวัดสีชมพูบ้าง  สีแดงบ้าง  วัดมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน  “9 วัด” จึงเป็นหนังผีที่มีสีฉูดฉาด  ตัวละครฉูดฉาด ซีนผีก็ฉูดฉาด contrast สูง                                                                
โจทย์ที่เราคิด คือ  การที่ตัวละครเปลี่ยนมุมมอง มันไม่ได้อยู่ที่ตัวละครมาทำบุญวัดเดียว ครั้งแรกแล้วเปลี่ยนมุมมองเลย  มันต้องอาศัยเวลา ค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ เปลี่ยน  สิ่งที่ทำให้เปลี่ยน คือ  เมื่อเราอยู่ที่เดิมๆ  เห็นเดิม ๆ เราก็เชื่อสิ่งเดิม ๆ  สิ่งที่เราเคยเชื่อตั้งแต่อดีตปัจจุบัน จนอนาคต  แต่เมื่อเราเดินทางไปในที่ ๆ  เราไม่เคยไป  ไม่คุ้นเคย  กระตุ้นให้เราคิดได้ว่า  ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกเยอะ  สิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้อีกเยอะ  มันทำให้ค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองไปได้เรื่อย  โดยระยะเวลา เงื่อนไข  จากสถานการณ์                                                                                            

ผู้กำกับฯ  กล่าวว่า  การเลือกโลเคชั่น นอกจากคาแรคเตอร์ วัดแล้ว บางครั้งก็เลือกด้วยเหตุผลทางความรู้สึก  คือ สถานที่ ๆ ทำให้รู้สึกบางอย่างพิเศษ “วัดแต่ละวัด จะมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน  หนังเดินทางไป  วัดต่อวัด  คาแรคเตอร์วัดก็เปลี่ยนไป เริ่มจากวัดภาคกลางก่อน ขยับมาเป็นวัดภาคเหนือ เดินทางไปเรื่อย ๆ วัดหนึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ สงบ ๆ อีกวัดเป็นสวยงาม  อีกวัดบรรยากาศลึกลับ  อีกวัดค่อย ๆ เปลี่ยน  จากภาคกลางเป็นเหนือขึ้นเรื่อย ๆ ตัวละครจากไม่เชื่อค่อย ๆ กลัวมาเรื่อย ๆ  ความกลัวระดับนี้  คาแรคเตอร์วัด ค่อยๆเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามตัวละครด้วย  พอไปเมืองเหนือ  ลำปาง  น่าน  บ่อเกลือ คาแรคเตอร์เป็นเมืองเล็ก ๆ คนน้อย ๆ ตอนเช้า มีหมอก อากาศเย็น มีป่าเยอะ พอเข้าไปในป่ายิ่งดูลึกลับ  เข้ากับธีมหนังเรื่องนี้  ดูน่ากลัว สยองขวัญ เย็นเยือก และความสวยงามด้วย”
ษรัณยู จิราลักษม์ ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวสรุป  “9 วัด  เป็นหนังไทยที่มีรสชาติแปลก  คือ เป็นหนังผีที่มีความน่ากลัวแน่นอน  ในมุม Road Movie ให้ความตื่นเต้น ภาพที่แปลกตา สวยด้วย  มีธรรมชาติสวยงาม  มีเรื่องราวให้ได้ขบคิด ระหว่างที่เรื่องเล่าไปอย่างสนุกสนาน เมื่อดูจบ ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มันตอบโจทย์ของศาสนาพุทธจริง ๆ ดูแล้วผมว่าน่าจะซาบซึ้งในระดับที่ดี  ครบรส แอ็คชั่น น่ากลัว ดราม่า  และซาบซึ้ง ภาพสวยงาม เป็นอีกสีสันของหนังไทย”

On Location : เส้นทาง  “9 วัด” : วัดป่าไผ่ อ. โพธาราม จ. ราชบุรี
วัดคงคาราม อ. โพธาราม จ. ราชบุรี
"วัดโพธิ์ไพโรจน์"   ราชบุรี
วัดนางแก้ว จ. ราชบุรี          
วัดหลุมดิน ราชบุรี                                                                                                        
วัดหัวข่วง จ. ลำปาง                  
วัดไหล่หินหลวง  จ. ลำปาง
วัดเกาะวาลุการาม จ. ลำปาง         
บ่อเกลือสินเธาว์ อ. บ่อเกลือ  จ.น่าน

 

โน้ตจากโปรดิวเซอร์

ท่ามกลางกระแสหนังไทยที่ผันผวนซวนเซไปกับกระแสนิยมต่างชาติ  “โอเรียนทัล อายส์” ค่ายหนังมาแรง ผู้ผลิตผลงานภาพยนตร์ “หนึ่งใจเดียวกัน” ภาพยนตร์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กำกับภาพยนตร์โดย ปุ๊ - สิริปปกรณ์ วงศ์จริยวัตร ที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมมาแล้วเมื่อปี 2551                     
ปี 2553 นี้  โอเรียนทัล  อายส์  เดินหน้าสานต่องานภาพยนตร์คุณภาพต่อเนื่องและหลากหลาย  ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกล เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงศักยภาพในการสร้างภาพยนตร์  มุ่งยกระดับมาตรฐานภาพยนตร์ไทยและเปิดสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการเปิดตัวภาพยนตร์สยองขวัญแนวใหม่  “9 วัด”                            
ปุ๊ - สิริปปกรณ์ วงศ์จริยวัตร โปรดิวเซอร์ดูแลอำนวยการบริหารงานสร้าง “9 วัด” เผยถึงที่มาว่า “โอเรียนทัล อายส์ เริ่มต้นทำหนังเรื่องแรก คือ “หนึ่งใจเดียวกัน” เราต้องการเพิ่มความต่อเนื่องและหลากหลายให้กับภาพยนตร์ของโอเรียนทัล อายส์มากขึ้น จึงมองหาหนังหลายแนว ทั้งแนวสยองขวัญ แอ๊คชั่น โรแมนติค  รวมไปถึงหนังครอบครัว                                                                                                                   
ตัวผมเป็นคนเชื่อเรื่องไหว้พระทำบุญ แต่คิดต่าง ผมคิดหลักการของเราเองว่า ไหว้พระก็ไม่เสียหาย ใครบอกไหว้พระที่ไหนแล้วดี เราไหว้ก็ไม่เสียหาย ถ้ามีเวลา ไม่ลำบาก ทำแล้วสบายใจ  ทำไมจะไม่ทำล่ะ พอสนใจอยากทำหนังผี  เราก็คิดต่างแบบของเรา มองหา content หนังผีที่มีความต่างในตัวเอง  เราก็มองไปที่สิ่งตรงกันข้ามกับผี ก็คือ “พระ”  ก็เกิดไอเดียจุดประกาย ปกติผีต้องกลัวพระซิ  แล้ว “ถ้าผีไม่กลัวพระ อะไรจะเกิดขึ้น”  ถ้าไม่มีอะไรป้องกันผีได้เลย ถ้ายิ่งเข้าวัด ถ้ายิ่งทำบุญแล้วยิ่งเจอผี ยิ่งไหว้พระแทนที่ผีจะหายไป เจอผีแม้อยู่ในวัด นี่มันต้องน่ากลัวมากเลย  งั้นลงตัวที่ไหว้พระ 9 วัดล่ะกัน  พอเราเลือกไหว้พระ 9 วัดปุ๊บ สไตล์หนังของเราก็ลงตัวเลย เป็นหนังผีที่เดินทางไปพร้อมๆ กับความระทึกขวัญครั้งใหม่                                                                              
เรียกว่า หนังเรามีความต่างดีกว่า  ไอเดียไม่แปลกมาก แต่รูปแบบการนำเสนอมากกว่า  ที่จะพาเรื่องไปไหน ใครจะเจอผี แบบไหนอย่างไร แต่ “9 วัด” นี่ คุณเจอผีในวัด อยู่กับพระเลย  แต่มาได้อย่างไร ทำไมเป็นแบบนี้ อันนี้เป็นความคิดต่าง                                                                                                                                                             
หนัง “9 วัด”  มีที่ปรึกษาหลายส่วน  เรามีกฎในเรื่องการทำงานอยู่แล้วในแง่การทำรีเสิร์ช  ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระ ตั้งแต่พัฒนาบท  ปรึกษาท่าน เคยถามพระตรงๆ ว่า ผีเป็นอย่างไร พระท่านก็บอก “จริงๆ ไม่มีอะไร ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดี อย่าลบหลู่ก็พอ”  เราก็ทำตามนั้น  ทั้งเรื่องของความเชื่อ  จิตวิญญาณ  มีพี่อ๋อ ศุภรัตน์  ธรรมสุริยะ หรือ พี่อ๋อ ซียู  คอยเป็นที่ปรึกษาในเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องบุญ-บาป
จริง ๆ แล้ว ทำบุญแล้วดี ทุกคนก็รู้  เพียงแต่หนังเรา  นำเสนอให้สนใจ อาจจะดูน่ากลัวไปหน่อย เพราะเป็นหนัง เป็นงานเอนเตอร์เทน แต่ดูแล้วก็เห็นว่า ทำบุญแล้วดี”  จุดเด่น “9 วัด” ตัวcontent หนังมีสาระ เรื่องราวผลของกรรม การบอกคนดู เรื่องผลของกรรมเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว ไอเดียของหนัง “ถ้าผีไม่กลัวพระ อะไรจะเกิดขึ้น? เรียกได้ว่า หนังเรามีความต่างในข้อนี้ และคาแรคเตอร์นักแสดง ปรับเปลี่ยนกันสุดๆ ปกติวัยรุ่นกับวัด  จะอยู่ไกลกันใช่ไหม? แต่ “9 วัด” นี่ วัยรุ่นกับวัดอยู่ใกล้กันมากขึ้น เราพามาอยู่ด้วยกันเลย เราเชื่อว่า รวมแล้ว หนัง “9 วัด” มีมุมมองที่น่าสนใจทีเดียว” 
“9 วัด”   ภาพยนตร์ที่ เปิดทฤษฎีความน่ากลัวรูปแบบใหม่   บนเส้นทางเดินทางไหว้พระ กับคำขอครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อลบล้างบางสิ่ง ที่ไม่อาจลบเลือน  สิ่งที่ทุกชีวิต ต้องชดใช้คืนเสมอ !
ภาพยนตร์ที่ต้องเคลื่อนไปด้วยเรื่องราวชวนค้นหา  บรรยากาศเยียบเย็นที่คุกคามผู้ชมเช่นนี้

การสรรหาผู้กำกับฯที่เหมาะสมกับ “9 วัด” นับเป็นจุดสำคัญ  “โอเรียนทัล อายส์”  ภูมิใจเปิดตัว ผู้กำกับภาพยนตร์  “ยู - ษรัณยู จิราลักษม์” ก้าวเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเต็มตัวเรื่องแรก แต่หากกล่าวในเชิงฝีมือผลงาน “ษรัณยู” สั่งสมประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคุณภาพมามากมาย อาทิ “2499 อันธพาลครองเมือง” , “นางนาก” , “ฟ้าทะลายโจร” , “จันดารา”  ษรัณยู ยังมีรางวัลการันตีผลงาน ทั้งระดับนานาชาติ ทั้งหนังแอนิเมชั่น จากผลงานภาพยนตร์ “THE LAZY MAN”  (รางวัล “RED BULL EXTRA SPECIAL AWARD” เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ (2544) และ รางวัล “ปยุต เงากระจ่าง”), กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Dog&God” (รางวัล “SPECIAL MENTION CERTIFICATE” ในเทศกาภาพยนตร์สั้นและวิดีโอ ครั้งที่ 6, ได้รับการคัดเลือกฉายใน เทศกาลภาพยนตร์ ปูซาน อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม  เฟสติวัล สาขาภาพยนตร์สั้นเอเชีย, ได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้น บูซาน ฟิล์มเฟสติวัล ใน ASIAN SCOPE SECTION, ได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ “ASIAN DIRECTORS OF THE NEW CENTURY FILM” ประเทศเกาหลี)   

ปุ๊ – สิริปปกรณ์ กล่าวต่อถึงผู้กำกับฯ ษรัณยู ว่า “ ผมเคยทำงานร่วมกัน เห็นการทำงานของเขามาตลอด เห็นงานกันมาตั้งแต่เรื่องแรก ๆ แล้ววันหนึ่ง เขาไปทำงานโฆษณา  แต่เรารู้ว่าตัวเขามีculture แบบหนังอยู่เยอะ จนวันหนึ่ง ผมมีหนังแนวคิดนี้ มาคุยกัน ผมเชื่อมั่น งานผู้กำกับฯ ของเรา ยูมีทักษะฝีมือเหมาะกับหนังหลายสไตล์ เขามีศักยภาพ เป็นผู้นำกองไปได้ งานโปรดักชั่น เขาทำได้ดี ความคิด visual ก็คล้ายกัน เราเชื่อมั่นงานของเขาได้เต็มที่”

 

 

 

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.