สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
สามชุก
  LINK :แนะนำนักแสดง
   
 

 

ผู้ถือลิขสิทธิ์ บริษัท แปซิฟิคไอร์แลนด์ ฟิลม์ จำกัด
ชื่อไทย สามชุก
ภาพยนตร์แนว ดราม่า
กำหนดฉาย 6 สิงหาคม 2552
ผู้กำกับภาพยนตร์ ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล

เรื่องย่อ

ท่ามกลางปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วทุกท้องที่ของประเทศ รวมถึงชุมชนเล็กๆ อย่างอำเภอสามชุก เด็กนักเรียน 7 คน ที่ชีวิตกำลังอยู่ในวัยสดใส สนุกสนาน มีความฝันและความรัก แต่วันนี้พวกเขาต่างต้องเผชิญกับปัญหา โดยแต่ละคนไม่สามารถหาทางออกได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

พวกเขากำลังตกนรกทั้งเป็นด้วยการถลำลึกไปกับวังวนของยาเสพติด สังคมรุมประณาม

เด็กที่กำลังหลงทาง ครูธรรมดาคนหนึ่งกล้าที่จะลุกขึ้นประกาศกับสังคมว่าเด็กทั้ง 7 เป็นเพียงเหยื่อของความเสื่อมในสังคมเท่านั้น ครูผู้นี้ได้ต่อสู้เคียงข้าง และพยายามเข้าถึงปัญหาของเด็กแต่ละคน ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะนำพาเด็กทั้ง 7 คนลุกขึ้นยืนได้ใหม่อีกครั้ง
นี่คือการตีแผ่เรื่องจริงในซอกมุมเล็กๆ มุมหนึ่งในสังคมไทย ของครูกับลูกศิษย์อีก 7 คน ที่ปลุกกระแสชุมชนให้ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับ ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เนื่องจากพิษภัยของมันนั้นมหาศาลนัก นอกจากทำให้ผู้เสพได้รับความทุกข์ทรมานแล้ว ยังเป็นที่มา ของการก่ออาชญากรรมขั้นรุนแรงด้วย

 

 

เกี่ยวกับภาพยนตร์

เรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งที่กำลังอยู่ในวัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต กลายเป็นทาสของยาเสพติดที่ระบาดเข้ามาในโรงเรียนอย่างเงียบๆด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยความรักและความเข้าใจของอาจารย์ในโรงเรียน จึงทำให้พวกเขารอดพันจากจุดจบที่น่าเศร้าในชีวิตไปได้ สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ในโรงเรียน สามชุกรัตนโภคาราม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

จากเรื่องจริง ของเด็ก 7 คนในอำเภอสามชุก ที่มีชีวิตวัยมัธยมเหมือนเด็กทั่วไป มีความรัก มีความคะนอง ทั้ง 7 คน ได้แก่ วาล พัน ยอด เอก นักเรียนตัวแสบชั้น ม. 5 และรุ่นน้องม.4 ที่สนิทกันอีก 3 คน เทพ ปอด โบ๊ะ ชีวิตเด็กทั้ง 7 คนกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อวาลต้องเริ่มทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน

แม่และวาลต้องแบกหนี้สินของพ่อที่เสียไปแล้วทิ้งไว้ให้ตามลำพังแม่ลูก วาลต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนหลายอย่าง และนี่คือช่องทางแรกที่ยาบ้าแทรกเข้ามาในกลุ่มเด็ก 7 คน ไอ้ดำเพื่อนที่อู่แนะนำให้วาลรู้จักยาบ้า ที่จะทำให้วาลทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย กว่าจะรู้ตัวชีวิตวาลก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมันอย่างช้าๆ แล้ววาลเป็นสะพานที่นำยาไปสู่เพื่อนๆ อีกหกคน แทนที่ยาจะช่วยให้วาลมีเงินช่วยแม่ใช้หนี้

แต่มันกลับกลายเป็นความต้องการยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนทั้งหกหันมาทดลองยาด้วยหลากหลายเหตุผล เทพที่บ้านมีฐานะที่สุดเป็นสปอนเซอร์ให้เพื่อนๆ ทำให้พวกวาลไม่เคยขาดยา

ทุกคนรู้ว่ามันคือสิ่งผิด และไม่ดี แต่พวกเขาไม่สามารถเลิกได้ เรื่องราวเริ่มลุกลามจนถึงตำรวจ ทุกคนพร้อมจะตราหน้าพวกเขาว่าเป็นเด็กเหลือขอ ไม่มีอนาคต อาจารย์พินิจได้ยื่นมือเข้าช่วยเด็กๆไว้ เด็กๆจึงไว้ใจอาจารย์ ทำให้อาจารย์ได้รู้เรื่องราวและปัญหา อาจารย์พินิจพยายามปรับความคิดของเด็กโดยให้ใช้ปัญญาและยืดอกรับปัญหาต่างๆ รวมทั้งปรับความเข้าใจของคนใกล้ชิดเด็ก และชาวบ้านในชุมชนสามชุกไปพร้อมๆกัน

ให้ทุกคนได้รู้ว่าปัญหายาเสพติดไม่ได้เป็นความผิดของเด็กฝ่ายเดียว ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ ชุมชนต้องป้องกัน ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ด่าทอโยนความผิดให้กัน อาจารย์พินิจพยายามตะโกนดังๆ ให้ทุกคนในชุนชน และสังคมรู้ว่าปัญหาของเด็ก 7 คนนี้เป็นเพียงลางบอกเหตุ หากทุกคนเลือกที่ปัดปัญหาออกไปง่ายๆ โดยการตัดโอกาศเด็กพวกนี้และปล่อยให้เด็กทั้ง 7 จมหายไปกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อนาคตก็ต้องมีเด็กๆ ลูกๆหลานๆ ของคนในชุมชน ที่ต้องพลาดติดมันอีกอย่างแน่นอน อาจารย์พินิจขอโอกาสให้เด็กๆ ได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง และรับปากจะทำให้เด็ก 7 คน เลิกยากลับมาเป็นคนดีและอยู่ร่วมในชุมชนอย่างสงบสุขให้ได้

อาจารย์พินิจนำเด็ก 7 คน เข้ามาอยู่ค่ายประจำที่โรงเรียน และดูแลอย่างใกล้ชิด ให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจวัตร ทุกเช้าต้องออกกำลังกาย ปลูกกุหลาบ และทำอาหารกินกันเอง การเลิกยาอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ท่ามกลางปัญหา และสิ่งยั่วยุมากมาย ถ้าหัวใจ และมิตรภาพของเด็กทั้ง 7 ไม่เข้มแข็งพอ พวกเขาก็จะไม่สามารถผ่านพ้นมันไปได้ อาจารย์พินิจทำได้มากสุดก็แค่ยืนเคียงข้าง และเฝ้ามองวันที่เด็กทั้ง 7 จะก้าวผ่านพ้นมันไปได้ในที่สุด วันนี้ดอกกุหลาบต้นเล็กๆ ที่เด็กและอาจารย์ช่วยกันฟูมฟักออกดอกโชว์ความงาม มันคือตัวแทนของความฝัน และความหวังของทุกคน

หากไม่ได้รับโอกาสในวันนั้น คงไม่มีวันนี้ เด็กทั้ง 7 เรียนจบ มีงานดีๆทำ และวันนี้เด็ก 7 คนกลายเป็นพลังผลักดัน และเป็นแรงบันดาลใจให้สามชุกกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง คอยต่อต้านภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืนตลอดไป

 


 

ที่มาของภาพยนตร์


อะไรจะเกินขึ้นในอนาคต หากเยาวชนของชาติตกเป็นทาส “ยาบ้า”

สามชุก ภาพยนตร์จากเค้าโครงเรื่องจริง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก อาจารย์พินิจ พุทธิวาส อาจารย์โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มองว่ามหันตภัยยาบ้าไม่เพียงระบาดหนักไปทั่วประเทศ แต่ยังได้ลุกลามเข้าสู่สถานศึกษาอันเป็นแหล่งปลูกฝังวิชาความรู้แก่เยาวชนของชาติ หลายโรงเรียนประสบกับปัญหานี้รวมถึงโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องจะมีการแก้ไขกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

จากความเชื่อที่ว่า “หากใครสักคนที่ได้ให้ความรักแท้จริงกับผู้ที่ประสบความล้มเหลว โดยไม่มีเงื่อนไข จะทำให้ผู้นั้นมีพลังในการเปลี่ยนแปลง” ทำให้อาจารย์วินิจ พุทธิวาส เลือกที่จะเชื่อใจและหยิบยื่นโอกาสให้แก่ลูกศิษย์ที่หลงผิดติดยาบ้างอมแงมทั้ง 7 คน ในขณะที่สังคมรุมตราหน้าเด็กเหลือขอเหล่านี้ว่าไม่มีทางกลับตัวได้ อาจารย์พินิจพาเข้าโครงการณ์ “สู่ชีวิตใหม่” ซึ่งเป็นการบำบัดการติดยาแบบแยบยลและเป็นธรรมชาติ และจากโครงการณ์นี้เองที่เป็นที่มาของสารคดี “ยาม้า มหันตภัยในสถานศึกษา” (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น ยาบ้า) ผลิตโดยบริษัทเจเอสแอล ออกอากาศทางช่อง 7 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2537 ซี่งได้สร้างกระแสอันเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ เนื่องจากเป็นตัวจุดประกายเร่งเร้าให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบบ้านเมืองตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีถึงขั้นประกาศเปรี้ยงต้องรีบแก้ไขด่วน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลเป็นพิเศษ และขอความร่วมมือผู้ปกครองร่วมสกัดกั้นมหันตภัยร้ายอย่างเข้มงวด

 

 

ผู้กำกับภาพยนตร์

ปื๊ด – ธนิตย์ จิตนุกุล ผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย ที่สั่งสมประสบการณ์ทำงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีรางวัลต่างๆ การันตีคุณภาพ ปีนี้เขากลับมากำกับผลงานคุณภาพเรื่องล่าสุด “สามชุก” ซี่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มียาเสพติดเข้าไประบาดอย่างหนัก นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้เสพแล้ว ยังทำให้เยาวชนอันเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของชาติที่นั่นตกอยู่ภายใต้ภัยอันร้ายแรงอีกด้วย เนื้อหาจึงมุ่งต่อต้านยาเสพติดที่กำลังระบาดหนักไปทั่วทุกท้องที่และทั่วภูมิภาคของประเทศไทย

ความยากลำบากของโปรเจกต์นี้เป็นอย่างไรบ้าง
“ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเป็นหนังสีขาว ที่รณรงค์เรื่องของยาเสพติด อยากให้สังคมรู้ว่ายาเสพติดมันแพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วทุกหัวระแหง ยาบ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เราไม่ควรเพิกเฉย ถ้าเด็กที่ติดยาเป็นลูกเป็นหลานของคุณหล่ะ? จะทำยังไงกัน?”

การคัดเลือกนักแสดงในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง
“เรื่องนี้ใช้นักแสดงเยอะมาก นอกจากนักแสดงเด็กที่ติดยาแล้ว ก็มี พ่อ แม่ ญาติๆ ซึ่งล้วนเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานทางการแสดงมาก่อนทั้งหมด จะมีนักแสดงอาชีพเพียง 2 คน อย่างคุณ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ (บอดี้ศพ19) ซึ่งลักษณะบุคลิคภายนอกมองดูคล้าย
อาจารย์พินิจมาก แล้วก็เป็นนักแสดงที่มีฝีมือ คุณ วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ และยังมีดารารับเชิญพิเศษอย่างแม่เล็ก แม่ของตั๊กบงกช ที่เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรีจริงๆ ในเรื่องบทเยอะเหมือนกันทั้งร้องห่มร้องไห้กอดลูก ถือว่าสอบผ่าน แสดงได้ดีมาก
สำหรับนักแสดงเด็กๆ ที่มารับบทหนักในเรื่อง เราได้นักแสดงหน้าใหม่มาเล่นให้เรื่องนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราต้องการเน้นเรื่องความสมจริงมาเป็นอย่างแรก เราไม่ได้อยากได้ตัวเอกหน้าหล่อจัด หรือมีความหล่อโดดเด่นจนเกินไป ที่สำคัญเราได้เลือกคนที่เป็นคนสุพรรณจริงๆ อย่างวาล ตัวเอกของเรื่องที่ได้น้องหมูมาสวมบท ที่เลือกน้องหมูเพราะหน้าเขามีหลายอารมณ์ มีมุมดราม่า มีมุมสนุก มีด้านลึกเยอะ เพราะในเรื่องเค้าต้องแบกรับเรื่องราวอะไรหลายอย่าง อย่างที่บ้านมีหนี้ เขาเป็นคนแรกที่ต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เพราะความอยากทำงาน ได้เยอะๆ แล้วจึงเริ่มเสพยา พอติดแล้วก็เอายาบ้าเข้ามาสู่เพื่อนๆ ในกลุ่ม”

ความยากง่ายในการทำงานกับนักแสดงใหม่
“หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีหลากหลายแง่มุม ทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความสนุกสนาน ความรัก เนื้อหาในหนังจะเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มมีมุมมืดเข้ามา ซึ่งก็ต้องให้เวลาน้องๆนักแสดงพอสมควร อย่างซีนอารมณ์ และในเรื่องมีฉากแรงๆ อย่างฉากที่ต้อง เสพยาบ้า ฉากเล่นยา ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการเผา การสูดควัน และสูบบุหรี่ ซึ่งน้องนักแสดงพวกนี้ก็ต้องสูบบุหรี่จริงๆ ซึ่งประเด็นเรื่องนี้ค่อนข้างเซนซิทีฟนะ ก่อนถ่ายเราต้องคุยและต้องขออนุญาตพ่อแม่ของเด็กก่อน ซึ่งทางผู้ปกครองเด็กก็อนุญาต เพราะเข้าใจและมั่นใจในตัวลูก ไม่กลัวลูกติดบุหรี่จริงๆ จากการแสดง เพราะคิดว่าถ้าเด็กจะติดก็ติดเอง ซึ่งตัวเด็กๆพวกนี้เองก็ยังบ่นเลยว่าไม่ชอบ มันทรมาน”

โลเกชั่นที่ใช้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้มีที่ไหนบ้าง
“ผมใช้สถานที่เกิดเรื่องจริงๆ คือที่สามชุก จากการได้คลุกคลีทำงานที่นี่ ผมมองว่า ตลาดสามชุก เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นชุมชนที่แข็งแรงมากๆ ชาวบ้านทุกคนรู้จักกันหมด มีการรวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนา มีการช่วยเหลือสอดส่องดูแลลูกหลานในชุมชน ตอนไปถ่ายทำชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี ไปบ้านไหนก็ให้การต้อนรับ อีกที่ก็คือที่โรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม ซึ่งจัดว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งที่นี่จะเปรียบเหมือนโรงถ่ายของเรา ทางโรงเรียนเปิดให้ไปถ่ายทุกซอกทุกมุม ครูจริงๆ ก็เข้าฉากหลายคน ส่วนฉากใหญ่ๆ ยากๆ ก็คงเป็นฉากที่ตลาดสามชุก ซีนที่เด็กไปอาละวาดทำลายข้าวของของชาวบ้าน ทั้งเตะกระจาด ทุบหม้อกระจุยกระจายไปหมด ซึ่งฉากนี้ถึงกับต้องปิดตลาดกันเลยทีเดียว ส่วนอีกฉากที่ถ่ายบริเวณลานโพธิ์ เป็นซีนที่ชาวบ้านมารวมตัวกันเพราะไม่พอใจที่เห็นเด็กไปอาละวาดจนเกิดความเสียหาย ซึ่งต้องใช้นักแสดงสมทบเยอะมาก”

ความตั้งใจของผู้กำกับสำหรับหนังเรื่องนี้
ยาเสพติดไม่ใช่เรื่องไกลตัว และตอนนี้มันระบาดไปแล้วทุกที่ หากยาบ้ายังไม่หมดไปจากโรงเรียน ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เป็นครู พ่อ แม่ จะทำอย่างไรถ้าลูกหลานตนเองติดยาบ้าอย่างหนัก รุนแรง และกำลังจะเดินสู่นรก อยากให้คนที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงตรงนี้ สมมติว่าเด็กที่ติดยาเป็นลูกหลานคุณล่ะ? อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ต้องรอหน่วยงานของรัฐ ทางโรงเรียน หรือชุมชน ก็ควรเปิดรับช่วยเหลือไม่ใช่ผลักภาระไปทางอื่น ถ้าช่วยเด็กติดยาพวกนี้ได้พอเขาแข็งแรงกลับมาเป็นคนดีได้ เด็กพวกนี้ก็จะเติบโตขึ้นเป็นเด็กดีมีอนาคต และกลายเป็น เรื่ยวแรงสำคัญให้ชุมชน ทำให้ชุมชนก็จะแข็งแรงยิ่งขึ้น
อีกอย่างคือมุมมองเรื่องการให้โอกาส ไม่ใช่ว่าคนที่พลาดไปแล้วจะพลาดไปเลย ขอแค่เพียงสังคมให้โอกาสพวกเขาพิสูจน์ ตัวเองบ้าง ถ้าพวกเราปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรม ก็เท่ากับปัญหามันไม่ถูกแก้ คนที่กลับตัวได้อาจจะกลายเป็นฟันเฟืองที่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ได้ ในอนาคตสร้างรากฐานให้มันแข็งแรง ในชีวิตจริงของเด็กกลุ่มนี้เหมือนเป็นไอดอลเหมือนแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ของชุมชน เพราะเด็กทุกคนเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม ประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานที่ดี และเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยชุมชน ถ้าไม่ได้อาจารย์พินิจ มาช่วยก็อาจไม่มีวันนี้

 

 

รายละเอียดเกร็ดงานสร้างหนังสามชุก

  • ในการถ่ายทำ ทีมงานได้ยกกองถ่ายไปปักหลักถ่ายทำที่อำเภอสามชุกกันเลยเพื่อให้ได้ภาพและบรรยากาศที่สมจริง นอกจากนี้ยังใช้นักแสดงหลักที่เป็นทั้งเยาวชนและผู้คนในอำเภอสามชุกมาร่วมแสดงเพื่อให้ได้อรรถรสทางด้านภาษาท้องถิ่น
  • สำหรับนักแสดงเด็กหลักๆ ทางทีมงานได้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการรับสมัครเด็กจากในชุมชนรวมถึงอำเภอใกล้เคียงกันเลยทีเดียว โดยเปิดให้มีการแคสติ้งกันที่ลานโพธิ์ ซึ่งก็มีเด็กมาสมัครมากมาย
  • ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีฉากบางส่วนที่เป็นฉากแรงๆ อย่างฉากเสพยาบ้า ฉากสูบบุหรี่
  • ฉากบางส่วนในเรื่องจะใช้การอิมโพรไวส์ หรือการด้นสด เนื่องจากอยากได้อารมณ์ที่แท้จริงของตัวละคร อย่างบางฉากไม่รู้จะเขียน ยังไงให้มันเหมือนจริงได้ คือตัวละครในเรื่องพอแสดงมาถึงจุดหนึ่งก็จะรู้ว่าคาแรคเตอร์ของเขาคืออะไร จะพูดอะไร ก็บอกสถาณการณ์เข้าไป เค้าก็จะอิมโพรไวส์ได้เอง ซึ่งมันก็จะเป็นคำพูดที่ค่อนข้างสดและเป็นธรรมชาติกว่า ในเรื่องมีหลายฉากพอสมควร อย่างฉากลานโพธิ์ ซึ่งบางทีไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาจะใช้ภาษายังไง เวลาเราเขียนมันดูไม่ใช่ชาวบ้าน ซึ่งผลที่ได้มันดูน่าเชื่อกว่าและสมจริง

 

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.