สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
สวัสดีกรุงเทพ
  LINK : หน้าแรกของสวัสดีกรุงเทพ
   
 

มาหานคร   โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


 

นำแสดงโดย ต็อก ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ และ ทราย เจริญปุระ

สน ชาวนาขนานแท้ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ห้าครึ่งใบ ดีใจชักชวนละม้ายผู้เป็นเมียเขาไปเที่ยวกรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยมีหนังสือนําเที่ยวกรุงเทพฯเล่มบาง ที่มีคนให้มาฟรี ๆ ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนติดกระเป๋าเสื้อผ้าไปด้วย พร้อมกล้องถ่ายรูปชนิดถ่ายแล้วทิ้ง ซึ่งได้ซื้อเตรียมไว้ ตั้งใจจะไปถ่ายรูปกับภาพพระปรางค์ใหญ่ริมแม่น้ำที่พิมพ์อยู่ตรงหน้าปกหนังสือ ให้เป็นหลักฐานยืนยันว่า
ตนกับเมียได้เดินทางไปเยือนกรุงเทพมาแล้วอย่างสมภาคภูมิ

ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองหลวง ต่างไปจากความศิวิไลซ์เพลิดเพลินเจริญใจที่เคยวาดหวัง สองผัวเมียพยายามถามหาทาง ไปยังจุดอันเป็นที่ตั้งของพระปรางค์องค์ใหญ่ และได้ทราบว่าพระปรางค์องค์นั้นเรียกว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ ทั้งสองบากบั่นจนมาถึงท่าเตียน ตรงจุดที่อยู่ ตรงข้ามกับองค์พระปรางค์พอดี ซึ่งบัดนี้ได้ปลี่ยนจากท่าเรือมาเป็นร้านอาหารหรูหรา ด้วยความ เกรงใจหลังจากให้พนักงานของร้านช่วยถ่ายรูปของพวกตน โดยมีภาพพระปรางค์วัดอรุณอยู่ที่ พื้นหลังของภาพแล้ว สนกับละม้ายจึงนั่งลงสั่งอาหารเพื่อเป็นการอุดหนุนตอบแทน โดยเข้าใจว่า พืชผลพื้น ๆ จําพวกปลาและผัก ซึ่งหาได้ง่ายในที่นาของพวกตนคงมีราคาไม่แพงมาก ก่อนจะพบว่า อาหารที่สั่งและรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยเข้าไปแล้วนั้นมีราคารวมกว่าพัน แถมพนักงาน ร้านยังบอกให้ฟังด้วยวาพระปรางค์วัดอรุณ ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่แท้จริงของกรุงเทพฯ เพราะเป็นวัดด้านฝั่งธนบุรี พนักงานบอกว่า ถ้ากรุงเทพของแท้ต้องไปที่สะพานพุทธตรงนั้นมีพระบรมรูปของ ในหลวงรัชกาลที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง


 

ด้วยความรู้ใหม่ สนกับละม้ายเสาะหาทางไปจนถึงสะพานพุทธ ให้เด็กวัยรุ่นที่เร่ขายพวงมาลัยอยู่ในบริเวณนั้นช่วยถ่ายรูปให้ โดยมีภาพพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่หนึ่ง และสะพานพุทธเป็นฉากหลัง หลังถ่ายรูปแล้วเด็กเสนอขายพวงมาลัย และธูปเทียนบูชาพระบรมรูป สนรับไว้ทันที  ก่อนจะรู้ว่า ราคาพวงมาลัยกับอัฐบริวารที่พวกวัยรุ่นเจ้าถิ่นยัดเยียดให้มีราคาสูงลิ่วอีกตามเคย สอง ผัว
เมียต้องควักเงินออกซื้อของเหล่านั้นไว้ด้วยความจําใจ ต่อมาภายหลังจึงรู้จากแม่ค้าที่มาขายของบริเวณนั้นว่า สะพานพุทธ และพระบรมรูปที่เห็นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ด ขณะที่สัญลักษณ์แท้จริงของกรุงเทพฯ คือวัดพระแก้วและ พระบรมมหาราชวังต่างหาก

ทั้งสองยังคงไม่ละความพยายามที่ไปให้ถึงสัญลักษณ์ที่แท้จริงของกรุงเทพฯ บากบั่นมาจนถึงสนามหลวง ได้เห็นภาพวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวังอันสวยงามทัน ก่อนที่แสงอาทิตย์จะลับไปจากขอบฟ้า

แสงสุดท้ายของวันได้ลับตาไปแล้ว ทั้งสองหมดโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปรวมกับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เป็นจังหวะพอดีกับที่สนและละม้าย เห็นคนมาเช่าเสื่อนอนค้างที่สนามหลวงจึงตัดสินใจทําเช่นเดียวกัน ตั้งใจว่ารุ่งขึ้นเช้าเมื่อได้ถ่ายรูปกับวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวังแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านนอกทันที

คืนนั้น ทั้งสองนอนก่ายหน้าผากเคียงกัน แหงนดูท้องฟ้าหม่นมัวมอง ไม่เห็นดาวแม้เพียงสักดวงเดียว ต่างคนต่างก็คิดถึงยามค่ำคืนที่บ้านกลางนาอันเป็นที่รักจนม่อยหลับไป ตื่นเช้าสนและละม้ายพบว่ากระเป๋าสะพายของพวกตน ที่มีทั้งเงินและกล้องถ่ายรูปได้ถูกขโมยหายไปเสียแล้ว หมดทางที่จะติดตามเอาคืน ทั้งสองมานั่งซึมเซาอยู่ที่ี่ม้านั่งริมทางเดินไม่รู้จะทําอย่างไรได้

เหมือนคนสติเลื่อนลอย สนกับละม้ายเดินเข้ามาในบริเวณวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง ตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามตระการตาของสิ่งปลูกสร้าง ทว่าหมดโอกาสที่จได้บันทึกภาพถ่ายเป็นที่ระลึกเก็บไว้

สองผัวเมียสนและละม้ายเห็นชายคนหนึ่งแต่งตัวเรียบร้อย ท่าทางมีฐานะกําลังถ่ายรูปลูก และภรรยาด้วยกล้องโพลารอยด์ ที่มีรูปถ่ายเลื่อนไหลออกมาให้ชื่นชมทันทีที่ถ่ายเสร็จ จึงยืนมองดูด้วยความสนใจ จนเป็นที่สังเกตของชายผู้เป็นสามี เขาหันมายิ้มกับสนและละม้ายพร้อมทักถามว่า “ถ่ายรูปกันมั้ยครับ มาซิครับผมถ่ายให้” ขณะสองผัวเมียยังยืนเก้ ๆ กัง ๆ ไม่รู้จะตอบรับหรือปฏิเสธ ชายคนนั้น
ก็ลั่นชัดเตอร์ถ่ายภาพ แล้วยื่นรูปถ่ายที่สําเร็จออกมาให้ แถมยังบอก “เอาอีกรูปมั้ยครับ มุมนั้นสวยกว่ามาครับ มายืนตรงนี้” รูปอีกรูปถูกถ่ายและยื่นให้สนกับละม้ายรับไป ก่อนที่ชายคนนั้นจะพาครอบครัวแยกเดินไปอีกทาง

สนกับละม้ายถือรูปถ่ายโพลารอยด์ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากชายคนนั้น ยืนนิ่งอึ้ง ก่อนที่สนจะบอกกับละม้ายวา “นี่แหละ สัญลักษณ์ของกรุงเทพ ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอก”

ขณะเดียวกันนั้น เราจะตามครอบครัวผู้เอื้อเฟื้อไป ได้ยินผู้เป็นภรรยาพูดกับสามี ด้วยสําเนียงแปร่งอิสานว่า “ให้เขารูปเดียวก็พอแล้ว ไม่เห็นจะต้องไปถ่ายให้ตั้งสองรูปเลย แหม” สามีพูดตอบภรรยาเป็นภาษาถิ่นอิสานได้ใจความว่า “บ่ เป็นหยังดอก คนบ้านนอกคือกัน”

กรุงเทพมหาเสน่ห์ โดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว


 

หนังจะเล่าโดยใช้รูปแบบสารคดี ผ่านมุมมองของปรัชญา พูดถึงเสน่ห์ของกรุงเทพฯในหลายๆเรื่อง ด้วยอารมณ์สนุก บางทีอาจเสียดสี 20 กว่าปีในการใช้ชีวิตกรุงเทพฯของปรัชญา หลายเรื่องราวถูกบันทึกแบบ short note ใส่ PDA (Personal Digital Assistant) ส่วนตัว ภายใต้ความเชื่อทุกอย่างมีเสน่ห์ในตัวของมัน บางครั้งอาจขัดหูขัดตา(กับอะไรบางอย่าง) บางครั้งก็ขําขํา บางครั้งก็เหลือเชื่อ แต่หลายครั้งมองใหม่ใสจินตนาการ ด้วยเป็นคนเรียบง่าย, อารมณ์ดี, มีความรัก ทําให้มองทุกอย่างเป็นเสน่หา  เสน่ห์บางกอกของปรัชญา เป็นภาพยนตร์สั้นความยาว 20 นาที ที่อยากจะเรียกแนวทางงานชิ้นนีใหม่ว่า “Dochumourtary” (Documentary/Humor) Charming Bangkok.


หลงแต่ไม่ลืม โดย ฤทัยวรรณ วงศ?สิรสวัสดิ์

 

 

นำแสดงโดย วินัย พันธุรักษ์ และ เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ

เรื่องราวของลุงแอ๊ดชายวัย 65 ปี  หอบข้าวหลามหนองมนมา 6 กระบอก,  หนุ่มนักดนตรีมาดเซอร์ และแฟนวัยหกสิบของอดีตนักดนตรีผู้หนึ่ง  บนรถเมล์  และกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 เช้าวันอาทิตย์


 

ตัวอย่าง

ที่บริเวณป้ายรถเมล์ หน้าสยามสแควร์

ลุงแอ๊ด ชายวัย 65 ในชุดเสื้อยืดขาว กางเกงยีนเอวสูง ผมสีเทาขาวยืนอยู่กลางดงวัยรุ่นนานาเพศผู้ใช้สถานที่นั้นเป็นจุดนัดหมาย  ในอ้อมแขนลุงมีถุงยี่ห้อร้านหนองมนบรรจุข้าวหลาม 6 กระบอก ลุงกําลังอ้าปากจะถามทางแต่ไม่ว่าลุงจะหันไปทางไหน คนรอบกายลุงก็มีแต่ผู้เยาว์ที่อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ลุงแอ๊ดจึงหยิบโพยออกมาคลี่อ่านทบทวน กระดาษแผ่นนั้นมีลายมือแบบหัวสมบูรณ์เขียนว่า หลังตลาดพงษ์ทรัพย์ติดกับร้านบอเกี้ยเจ๊มาล  ีลุงเดินไปชะเง้อ อ่านเบอร์สายรถเมล์ที่ไปอย่างงง และขณะที่กําลังยุ่งยากใจอยู่นั้น รถเมล์สภาพโทรมๆ คันหนึ่งก็แล่นมาจอดตรงหน้า  กระเุป๋ารถเมล์หนุ่มหน้าตาเหมือนน้องชายของ อุดม แต้พานิช กระโดด ลงมาเขย่ากระบอกตั๋วรัว  พลางร่ายชื่อสถานที่ต่างๆที่อยู่บนเส้นทางอย่างกับท่องอาขยาน ลุงอ่านป้ายข้างรถ

“ผ่านอู่รถเมล์ไทยประดิษฐ์มั้ย” ลุงแอ๊ดถาม

“ ? ” กระเป๋าหนุ่มเหวอตอบ

“สามสิบห้า โบลว์ล่ะ” ลุงถามอีก

“ ? “ กระเป๋าหนุ่มทําหน้าเบลอ แล้วท่องรายนามสถานที่ตามเส้นทางต่อรวดเดียวจบที่คําว่า “สายใต้ใหม่” ลุงชะงัก

“มันมีเก่าใหม่ด้วยเรอะ”

กระเป๋าทําหน้าเข้าใจแล้ว   ท่องอาขยานอีกรอบจบที่ “สายใต้ใหม่ล่าสุด”

 

 

จังหวะนั้น หนุ่มผมยาวมาดสุดเซอร์ผู้หนึ่งกับกีต้าร์ในซองหนังได้เข้ามาประชิดบั้นท้ายลุง ทําให้ลุงจําใจเลิกลังเล  ก้าวขึ้นรถเมล์คันนั้นไป

บนรถเมล์มีผูื้โดยสารบางตา เบาะหลังว่างทั้งแถว  ลุงแอ๊ดอุ้มถุงข้าวหลามเดินเซไปนั่งลง  หนุ่มนั้นถือกีต้าร์ยืนแมนอยู่สักพัก ก็เดินเข้ามานั่งร่วมเบาะกับลุง   ต่างฝ่ายต่างชําเลืองของในมือของอีกคน   แล้วมองออกนอกหน้าต่างคนละด้านรถเมล์  แล่นออกจากป้ายผ่านมาบุญครอง  สนามกีฬาแห่งชาติ สองคนยังแอบเหล่กันอยู่ แต่พอข้ามสะพานยศเส   แล้วเลียบคลองไปทางหัวลําโพง ต่อด้วยผ่านวัดไตรมิตร แอ๊ะ...สีหน้าลุงบอกว่าชักจะยังไงซะแล้ว จะถามกระเป๋าเขาก็เพิ่งหมุนตัวเดินไปหน้า   ลุงขยับตัวลุกขึ้น  ยังไม่ทันเต็มยืน แต่แล้วก็กลับนั่งลงใหม่  สีหน้าตกใจ รถผ่านนิวโอเดี้ยน ลุงร้อง “เฮ้ย” หนุ่มหันมามอง ลุงเฉไฉขยับข้าวหลามสักพักหนึ่ง  ลุงก็กอดถุงข้าวหลามมองสองข้างทางเยาวราชอย่างเพลิดเพลินใจ  เวลาผ่านไปมือที่กอด ถุงก็คลายออก

รถเข้าจอดป้าย ลุงก็ไม่ลง  แล่นต่อไปหน่อย  จู่ ๆ รถเมล์เบรคกระทันหัน  ข้าวหลามของลุงพลัดตกจากตัก ไอ้หนุ่มกีต้าร์คว้าเก็บมาส่งคืนให้   ลุงพยักหน้า  ขอบใจโดยไม่เปล่งวาจา   หนุ่มค่อมหัวเล็กน้อยแล้วถอยมานั่งที่เดิม สองคนส่งไมตรีบางๆให้กัน และต่างก็มองข้างทางต่อไป หนุ่มมีสีหน้าครุ่นคิดและเกากะบาล

ภายในรถ จากมุมที่ลุงแอ๊ดนั่งอยู่   เห็นคนขึ้นมาแล้วก็ลงไป ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนอายุ สามสิบขึ้นไป แต่งตัวพื้นๆ หิ้วของพะรุงพะรัง ผู้คนเหล่านี้ถึงจะมีฐานะการเงินดี

ลุงแอ๊ดมองไปทางขวามือ ก็เห็นป้าย “เวิ้งนาครเขษม”จังหวะเดียวกันที่หนุ่มเพื่อนร่วมเบาะลุกขึ้น  และกระโดดแผล็วลงถนนไปทั้งๆที่รถยังไม่เข้าป้ายดี

ในเวิ้งนาครเขษม ลุงแอ๊ดประคองถุงขาดที่บรรจุข้าวหลาม เดินผ่านหน้าร้านบรรณาการ มาหยุดอยู่ที่หน้าร้านหนังสือ เขษมบรรณกิจ เงยมองดูป้ายเขามองรอบๆย่านนั้น อย่างกับมองเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมาแสนนาน

บนแผงหน้าร้าน เต็มไปด้วยหนังสือ ตําราหายากต่างๆ เช่น ตําราหมอดูสารพัดชนิด ตํารามวยไทย ตํารายูโด  ตําราแก้เครื่องยนต์    ...คนขายหญิงสูงวัยเอียงคอมองลอดแว่นมาที่ลุง ทําท่าคลับคล้ายว่าคุ้น   แต่ลุงแอ๊ดสงวนท่าที ค่อมหัวให้  แล้วหมุนตัวข้ามถนนไปอีกฝั่ง  สองเท้าพาลุงแอ๊ดมาหยุดที่หน้าร้านขายเครื่องดนตรีห้างใหญ่ ที่หัวมุมแยกตรงข้ามกับตึก SB อันเก่าแก่  และมีเอกลักษณ์อย่างยิ่งจากด้านในร้าน มองผ่านกระจกออกมา เห็นลุงแอ๊ดมองเครื่องดนตรีด้วยดวงตาเป็นประกาย คล้ายหนุ่มๆมองพริตตี้มอเตอร์โชว์   เคลิ้มจนข้าวหลามพลัดหลุดจากมือ ด้วยเกรงว่าจะมีคนเห็น ลุงแอ๊ดเร้นกายที่ขอบประตู

ในร้านเครื่องดนตรีนั้น ไอ้หนุ่มผมยาวคนเดียวกับที่บนรถเมล์  กําลังรูดซิปถอดปลอกกีต้าร์ส่งให้คนขาย นัยว่ามีอะไรสักอย่างไม่ตรงตามสเป็ค และต้องการให้ทางร้าน ช่วยปรับเปลี่ยนให้  เพื่อนหนุ่มสองคน ท่าทางว่าอาจจะเป็น เพื่อนร่วมวง ที่นัดมาเจอกันที่นี่ เข้ามาแจมวงสนทนา แล้วแยกย้ายกันชมเครื่องดนตรีชิ้นอื่นตามอัธยาศัย  คนขายขยับเส้นสายกีต้าร์ พูดอะไรบางอย่าง แล้วส่งคืนให้หนุ่มผมยาว

จากจุดที่ลุงแอ๊ดยืนอยู่   ภาพมือหนุ่มผมยาว จับคอกีต้าร์หนักแน่น  แต่นุ่มมนวล...สวยงาม เหมือนภาพในฝัน

 

 

พลันสิ่งที่เกิดขึ้นในร้าน  ก็เดินทางสู่อดีตเมื่อ 40 ปีก่อน  เป็นความทรงจำซีเปีย  แอ๊ดในวัยหนุ่มกําลังลองกีต้าร์อย่างเมามันกับเพื่อนร่วมวง  แอ๊ดช่างเท่เหลือเกิน  ห่างออกไปไม่กี่ก้าว เด็กสาวสามคน นั่งปลื้มเขาอยู่ในชุดเสื้อผ้ายุคนั้น สองคนกัดมือ พยายามจะไม่กรี๊ดออกเสียง แต่กลับโยกตัวจนตกเก้าอี้ไปทั้งสอง...

.....................

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.