สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 


   

“ปืนใหญ่จอมสลัด” หนังฟอร์มยักษ์ รวมนักแสดงคุณภาพคับจอ

  สารบัญหน้านี้ : เรื่องย่อ เบื้องหลัง ผู้กำกับเปิดใจ
  Link:รายละเอียดนักแสดง       สัมภาษณ์วินทร์ เรียววาริณ และ อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร อย่างเจาะใจ
  ปืนใหญ่จอมสลัด ไปเปิดตัวที่เมืองคานส์ 2007,    คนดูล้นจากการฉายในตลาดที่เมืองคานส์        
  ภาพชุด ปืนใหญ่จอมสลัด ไปเวนิซ พร้อมอุ๋ย นนทรีย์ เล่าประสบการณ์   
  ภาพชุดปืนใหญ่ในปูซาน
  Review : Queens of Lungkasaka - My Cannon is Bigger Than your Cannon"
   
 


เทรลเลอร์ตัวใหม่ โฆษณา 5 กันยายน  

 
Nonzee's 10-year anniversary

 

 
 
โปสเตอร์ ปืนใหญ่จอมสลัด ฉบับอินเตอร์ทั้งใหม่และเก่า

 

 

ชื่อภาษาอังกฤษ                         QUEENS OF LANGKASUKA
เว็บไซต์ภาพยนตร์                      www.queensoflangkasuka.com
กำหนดฉาย                              23  ตุลาคม 2551
แนวภาพยนตร์                           แอ็คชั่น-แฟนตาซี
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย              สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล และโนวา กรุ๊ป
บริษัทดำเนินงานสร้าง                       ภาพยนตร์หรรษา และซีเนมาเซีย
อำนวยการสร้าง                         สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, รอนนี่ ไฟน์แมน
ควบคุมการสร้าง                         นนทรีย์ นิมิบุตร
กำกับภาพยนตร์                          นนทรีย์ นิมิบุตร
บทภาพยนตร์                             วินทร์ เลียววาริณ
ออกแบบงานสร้าง                              เอก เอี่ยมชื่น
กำกับศิลป์                                 รัชชานนท์ ขยันงาน, บรรพต งามขำ, ภรัณยู ตั้งวิริยะ, สุประสิทธิ์ ภูตะคาม
ที่ปรึกษาด้านภาพ                         ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์
กำกับภาพ                                         ณัฐกิตติ์ ปรีชาเจริญวัฒน์
ลำดับภาพ                                 นนทรีย์ นิมิบุตร และไจแอนท์เอป
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                   พิษณุ วริรักษ์, น้ำผึ้ง โมจนกุล, ชาติชาย ไชยยนต์
แต่งหน้า                                            ภูษณิศา กิติเกรียงไกร
ทำผม                                       ธนกร ยิ้มงาม
แต่งเอฟเฟ็คต์                                    วิทยา ดีรัตน์ตระกูล
ดนตรีประกอบ                            ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์              
เทคนิคพิเศษด้านภาพ                         บริษัท บลู แฟรี่ จำกัด
นำแสดงโดย                               สรพงษ์ ชาตรี, จารุณี สุขสวัสดิ์, ชูพงษ์ ช่างปรุง, อนันดา เอเวอริ่งแฮม,
เจษฎาภรณ์ ผลดี, วินัย ไกรบุตร, จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม, เอก โอรี, แจ๊คกี้ อภิธนานนท์, แอนนา รีส, อรรถพร ธีมากร, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ,
ชาติชาย งามสรรพ์, สุวินิต ปัญจมะวัต, พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์, มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย, เมสิณี แก้วราตรี, อริสา สนธิรอด ฯลฯ

 


เรื่องย่อ

400 ปีที่แล้ว ลังกาสุกะ รัฐอิสระต้องสูญเสีย รายาบาฮาดูร์ ชาห์ จากการถูกลอบปลงพระชนม์ ราชวงศ์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการสถาปนา องค์หญิงฮีเจา (จารุณี สุขสวัสดิ์) ธิดาคนโตขึ้นเป็นรายาสตรีองค์แรกแห่งลังกาสุกะ แม้รายาฮีเจาจะปกป้องบ้านเมืองอย่างเข้มแข็ง แต่เหล่าแคว้นรอบด้าน รวมทั้งกลุ่มกบฏและโจรสลัดต่าง ๆ ล้วนหมายจะยึดครองดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้

จนกระทั่ง ยานิส บรี ปราชญ์แห่งอาวุธชาวดัชท์ เดินทางมาพร้อมกับศิษย์เอกนักประดิษฐ์ชาวจีนนาม ลิ่มเคี่ยม (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) เพื่อนำมหาปืนใหญ่ อาวุธที่ดีที่สุดไปถวายรายาฮีเจาใช้ป้องกันบ้านเมือง แต่กลับถูกกลุ่มโจรสลัดที่นำโดย เจ้าชายราไว (เอก โอรี) และ อีกาดำ  (วินัย ไกรบุตร) จอมสลัดผู้มีวิชาดูหลำอันแก่กล้า ซุ่มโจมตีเพื่อชิงมหาปืนใหญ่ จนทำให้เรือฮอลันดาระเบิด ยานิส บรีถึงแก่ความตาย กระบอกปืนใหญ่จมลงสู่ก้นทะเล เหลือเพียงแต่ลิ่มเคี่ยมเท่านั้นที่ยังรอดชีวิตอยู่      

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นเวลากำเนิดของ ปารี (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) เด็กชายชาวเลผู้มีคุณสมบัติพิเศษในตัวที่จะสามารถฝึกวิชาดูหลำขั้นสูงได้ ปารีเติบโตเป็นหนุ่ม พร้อมกับสั่งสมทั้งความสามารถและความแค้นในการสะสางอีกาดำที่ทำให้พ่อและแม่ของตนต้องตาย ลิ่มเคี่ยมซึ่งช่วยชีวิตปารีในครั้งนั้นไว้ได้ หลบมาใช้ชีวิตอยู่กับหมู่บ้านชาวเล พร้อมประดิษฐ์อาวุธพิสดารมากมาย และตั้งกลุ่มก่อกวนตัดกำลังโจรสลัดขึ้น

แม้ลังกาสุกะจะมีทหารเอกฝีมือเยี่ยมอย่าง ยะรัง (ชูพงษ์ ช่างปรุง) แต่ฮีเจาก็ยังจำเป็นต้องให้ อูงู (แอนนา แฮมบาวริส) น้องสาวคนเล็กของตนอภิเษกกับ เจ้าชายปาหัง (เจษฎาภรณ์ ผลดี) เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ลังกาสุกะ แม้อูงูจะไม่เต็มใจก็ตาม ขณะที่ยะรังนั้นกลับตกหลุมรัก บิรู (ณัฐรดา อภิธนานนท์) องค์หญิงคนรอง แต่กลับไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกนั้นได้

การต่อสู้ของหลายฝ่ายเริ่มขึ้น จนทำให้ปารีได้มาพบกับอูงู ทั้งคู่หลงไปติดเกาะร้างแห่งหนึ่ง เพื่อรักษาตัวจากบาดแผล ที่นั่น…ปารีได้ฝึกวิชาดูหลำชั้นสูงจาก อาจารย์กระเบนขาว (สรพงษ์ ชาตรี) ปรมาจารย์ทางดูหลำ และค้นพบว่า ดูหลำคือวิชาที่มีทั้งด้านสว่างที่ทรงพลังและด้านมืดที่น่ากลัว ยากจะควบคุมจิตใจเอาไว้ได้ พร้อมกับที่ความรักของทั้งปารีและอูงูได้งอกงามขึ้น ขณะเดียวกัน ลิ่มเคี่ยมกุญแจสำคัญในการสร้างปืนใหญ่ กลับถูกกลุ่มสลัดจับตัวเป็นเชลยไว้ได้ และถูกบังคับให้ต้องสร้างปืนใหญ่ที่จะนำมาใช้ทำลายล้างรัฐลังกาสุกะ
สงครามครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยลังกาสุกะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะกองทัพโจรสลัดกลับสามารถกู้มหาปืนใหญ่ในตำนานนั้นจากก้นทะเลไว้ได้ ลังกาสุกะเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง มีเพียง ยะรังนักรบผู้กล้า ปัญญาของลิ่มเคี่ยม อูงูผู้พร้อมสละทั้งชีวิตและความรักเพื่อแผ่นดิน  และพลังดูหลำอันลึกลับของปารีเท่านั้น ที่จะต่อกรกับแสนยานุภาพจากกองทัพโจรสลัดเอาไว้ได้


จุดรวมของสุดยอดและปรากฏการณ์เหนือจินตนาการ “ปืนใหญ่จอมสลัด”

1.เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นที่มีเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยผสมผสานกลิ่นอายของแฟนตาซี เพื่อเพิ่มอรรถรสความสนุกสนานในแนวทางของภาพยนตร์ โดยเดินเรื่องด้วยตำนานความเสียสละเพื่อแผ่นดินของราชินี 3 พระองค์แห่งลังกาสุกะ พร้อมสอดแทรกชีวิตที่น่าสนใจของชนเผ่าชาวเล และโจรสลัดที่ต่างก็มีจุดประสงค์ในการดำเนินชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิดที่ต่างกันไป

2.เป็นอภิมหาโปรเจ็คต์ภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์แห่งปีที่ทุ่มทุนสร้างด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท ภายใต้การกำกับภาพยนตร์ครั้งยิ่งใหญ่ในรอบสิบปีของผู้กำกับคุณภาพ นนทรีย์ นิมิบุตร โดยเสริมรากฐานความแข็งแกร่งของโปรเจ็คต์ด้วยนักเขียนรางวัลซีไรต์ วินทร์ เรียววาริณ กับครั้งแรกในการเขียนบทภาพยนตร์, ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น กับครั้งสำคัญที่จะเสกสรรค์ปั้นจินตนาการให้ออกมาสมจริงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง, ดูแลการผลิตโดย เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ และที่ปรึกษาดูแลงานทางด้านภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์

3. กว่า 5 ปี ในการเตรียมงานสร้างและถ่ายทำ ด้วยทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต ที่ทุ่มเททุกศาสตร์แห่งศิลป์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวสู่อลังการงานสร้างของโปรเจ็คต์ ถ่ายทอดแต่ละฉากแห่งจินตนาการให้ปรากฏขึ้นจริงบนแผ่นฟิล์ม โดยทีมงานได้เลือกใช้โลเกชั่นทางทะเลหลากหลายแห่งในเมืองไทย ตั้งแต่การเนรมิตฉากหมู่บ้านชาวเลที่เกาะสีชัง จ. ชลบุรี, เลือกโลเกชั่นใน .สัตหีบ เพื่อถ่ายทำเรื่องราวในส่วนกลางทะเลและกำแพงวัง รวมถึงเลือกจังหวัดกระบี่และพังงา เพื่อถ่ายทำฉากถ้ำบนเกาะ นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในภาพยนตร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพิถีพิถันทุกตารางนิ้วของฉากภายในพระราชวังลังกาสุกะ ไปจนถึงการสู้รบบนเรือโจรสลัด ด้วยการสร้างเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง รวมถึงเทคนิคพิเศษด้านภาพกว่า 2,000 ช็อต ที่จะถูกเนรมิตออกมาอย่างสมจริงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภาพยนตร์ไทยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญอย่าง BLUE FAIRY

 

 

4. ระดมนักแสดงคุณภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย และรุ่นใหม่ไฟแรงมาปะทะฝีมือกันอย่างคับคั่ง ตั้งแต่การได้นางเอกตลอดกาลอย่าง “จารุณี สุขสวัสดิ์” หวนคืนแผ่นฟิล์มครั้งแรกในรอบหลายปี พร้อมด้วยรุ่นใหญ่ฝีมือเอกอุอย่าง “สรพงษ์ ชาตรี”, ประชันบทบาทครั้งสำคัญในชีวิตของ “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” พระเอกเจ้าเสน่ห์ผู้พลิกคาแร็คเตอร์อย่างหาตัวจับยาก และ “เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง” พระเอกความสามารถสูงในด้านแอ็คชั่นเสี่ยงตาย รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่อีกมากมาย

5. และที่ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร กับเหล่านักแสดงระดับแม่เหล็กของเมืองไทยอย่าง “ติ๊ก เจษฏาภรณ์ ผลดี”, “ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ”, “อรรถพร ธีมากร” และ ชาติชาย งามสรรพ์ (2499 อันธพาลครองเมือง), “วินัย ไกรบุตร” (นางนาก) และ  “สุวินิต ปัญจมะวัต” (จันดารา และ อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต ตอน The Wheel)

 

นนทรีย์พูดถึงที่มาของหนัง

 

 

“ที่มาของเรื่องนี้จริง ๆ แล้ว เราคือผมและทีมงานหลาย ๆ ท่านนะครับ กับเพื่อนที่เคยได้ทำหนังร่วมกันมาแล้วหลาย ๆ เรื่อง จนร่วมครบรอบ 10 ปีแล้วนะครับ แล้วก็มีความคิดกันว่าถ้าเกิดเราจะทำหนังอีกซักเรื่องเนี่ย เราควรจะทำหนังที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา ด้วยเพราะว่าเรายังมีแรงอยู่ ไม่แน่ใจว่าถ้าเลยไปอีกสัก 3 ปี 5 ปีข้างหน้าเนี่ยเราจะมีแรงทำหนังขนาดใหญ่อย่างนี้ได้อยู่หรือเปล่า ก็เลยเป็นไอเดียที่ว่าเราควรจะเริ่มหาโปรเจ็คต์ใหญ่ ๆ โปรเจ็คต์หนึ่งเพื่อที่จะมาทำในช่วงนี้ ก็เริ่มมาทำโปรเจ็คต์นี้ซะก่อนเลยดีกว่า

เรื่องที่พี่วินทร์เขียนจากการรีเสิร์ชและจินตนาการนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของราชินีสามองค์ (ฮีเจา, บิรู, อูงู) แห่งลังกาสุกะที่เมื่อมีการลอบสังหารกษัตริย์เกิดขึ้น เมืองลังกาสุกะก็จำเป็นต้องแต่งตั้งพระธิดาองค์โตขึ้นเป็นราชินี เนื่องจากไม่มีพระโอรส ก็เลยแต่งตั้ง “ฮีเจา” ขึ้นเป็นราชินี ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่เคยถูกปกครองโดยราชินีมาก่อน และเมื่อผู้หญิงขึ้นมาเป็นราชินี ราชวงศ์อื่นก็เกิดความไม่พอใจ ก็พยายามแย่งชิงเอารัฐนี้เป็นของตัวเอง แย่งชิงเพื่อจะแย่งพระราชบัลลังก์ว่างั้นเถอะ และลังกาสุกะก็ยังมีศึกภายนอกอีกก็คือ ศึกจากกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการยึดเอาความมั่งคั่งของเมืองนี้ไว้ คือว่าทุกคนต้องการเมืองนี้เพราะฉะนั้นลังกาสุกะก็จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนะครับ เรื่องราวมันก็จะรวมอยู่กับการรบพุ่ง

ขณะเดียวกันก็อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นมนุษย์ชาวน้ำชาวเลเนี่ย ก็มีวิชาพิเศษที่เรียกว่า “วิชาดูหลำ” ก็มาช่วยลังกาสุกะเพื่อจะต่อสู้กับพวกราชวงศ์ที่ไปรวมตัวกับโจรสลัด คือเรื่องราวจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก มีแค่นี้ เพียงแต่ว่าความน่าสนใจมันอยู่ที่แอ็คชั่นของหนัง ในความน่าสนใจอยู่ที่ความเป็นแฟนตาซีของหนัง คือเราไม่เคยมีหนังไทยแบบนี้มาก่อน ในลักษณะความเป็นแฟนตาซีแบบนี้ เราสามารถจะติดต่อสื่อสารกับสัตว์ใต้ทะเลทุกอย่างได้อะไรทำนองนี้ และที่สำคัญคือการพูดถึงความเสียสละของราชินีแต่ละองค์ ท่านต้องเสียสละความรัก ไม่มีความรัก เสียสละชีวิต เสียสละเลือดเนื้อ เสียสละความคิดทุ่มเทให้กับการปกครองบ้านเมือง เพื่อจะให้บ้านเมืองอยู่ในความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่สุขสบาย ซึ่งความเสียสละนี้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ 

ประเด็นของหนังเรื่องนี้จริง ๆ แล้วเราจะพูดถึงเรื่องง่าย ๆ นะครับ พูดเรื่องSimple มาก ๆ จริง ๆ สิ่งที่เรามักจะมองเห็นคือด้านดีกับด้านไม่ดี ด้านขาวกับด้านดำ คือหนังเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าในมนุษย์คนเรามันมีทั้งด้านดำและด้านขาวปนกันอยู่ในตัวคนเรา คือไม่มีใครขาวจั๊วะ ไม่มีใครดำปี๋ คือผมรู้สึกว่าอย่างนั้นเสมอ และหนังเรื่องนี้เป็นการยืนยันความคิดอันนั้นอีกครั้ง จริง ๆ แล้วพูดถึงประเด็นนี้ในหนังหลายเรื่องแล้ว แต่เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่พูดถึงประเด็นนี้ค่อนข้างแข็งแรงและชัดเจนว่าคนเรามีสองด้าน เพราะฉะนั้นเราเลือกจะหยิบเอาด้านไหนมาใช้ ถ้าหยิบด้านดีมาใช้มันก็จะดี แต่ถ้าเราหยิบด้านดำมาใช้มันก็จะไม่ดี เพราะฉะนั้นตัวละครในหนังเรื่องนี้ทุกตัว มันจะมีสองด้านเสมอนะครับทุกคนเลย ไม่ว่าจะเป็นจากราชินีมาจนถึงคนธรรมดา สุดท้ายก็เท่ากันคือคนทุกคนก็เท่ากัน เพียงแต่ว่าคุณจะเลือกด้านไหนของชีวิตมาใช้นะครับ อันนี้เป็นจุดที่ชัดเจนที่สุด เราเปรียบเทียบด้วยSymbolicเรื่องนี้ เป็นเหมือนเป็นปลากระเบนราหูที่ด้านหนึ่งจะเป็นสีดำ ด้านล่างจะเป็นสีขาว เวลามันบินก็จะเห็นขาว ๆ ดำ ๆ เป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้าเราอยู่ในสภาพดีพร้อมสมบูรณ์เราก็จะดึงด้านดีของชีวิตมาใช้ แต่ถ้าเราตกไปในด้านมืดเราก็จะดึงด้านมืดมาใช้ให้ชีวิตตกต่ำลงไปทำนองนี้นะครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่ประกอบกันเป็นเรื่องย่อและประเด็นหลักอันนี้ก็ถือเป็นความแข็งแรงของเรื่องราวทั้งหมดครับ”

นนทรีย์พูดถึงบทและวินทร์ เลียววาริณ

““คือผมเป็นแฟนของหนังสือของพี่วินทร์มานานแล้ว อ่านทุกเล่ม ใช้คำว่าทุกเล่มเลย แล้วหลังจากที่อ่านงานของพี่วินทร์มาเรื่อย ๆ ผมว่าพี่วินทร์เป็นคนที่เหมาะกับงานเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ในเชิงข้อมูล เชิงวิเคราะห์ เขานำเอาประวัติศาสตร์มาทำเป็นนิยายได้ดีและสวยงามและมีความกลมกลืน พี่วินทร์เป็นคนทำงานละเอียดมากนะครับ คือเราทราบดีเลยว่าจากการอ่านหนังสือของแกมาทุกเล่ม เราทราบดีเลยว่ากว่าเขาจะทำหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดขึ้นมาได้ เขาจะต้องมีข้อมูลมากมายขนาดไหน เพราะฉะนั้นไอ้ความที่เป็นแฟนหนังสือของเขา ชอบวิธีการเขียนของเขา ชอบงาน Creative ของเขาด้วย เราก็อยากร่วมงานด้วย ก็เลยตัดสินใจเชิญพี่วินทร์ รบกวนมาช่วยทำหน่อย พี่วินทร์ก็ใจดีมาก แบบยินดีให้ความช่วยเหลือ มาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ครับคือเรื่องนี้มันจะต้องพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาสัก 3-4 ร้อยปีที่ผ่านมา มานั่งจินตนาการเรื่องประวัติศาสตร์กัน คนที่จะจินตนาการเรื่องประวัติศาสตร์ได้ดีจริง ๆ เนี่ยจะต้องคนที่ได้อ่านประวัติศาสตร์หรือเขียนเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะ ๆ เขาจะเข้าใจความเป็นมาทิศทางของการทำงานประวัติศาสตร์ และผมก็ว่าพี่วินทร์นี่แหละใช่ ถูกคนแล้วที่เราเลือกเขามาทำงาน

และที่สำคัญ อาจจะไม่ค่อยมีใครรู้ว่าพี่วินทร์ได้เรียนด้านภาพยนตร์มาด้วย ตอนที่เขาไปเรียนอยู่ต่างประเทศ เรียนคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เรียนอะไรหลาย ๆ อย่าง และก็ภาพยนตร์ก็เป็นเมเจอร์หนึ่งที่พี่วินทร์เรียน ก็เลยเชิญพี่วินทร์มาลองเขียนดู พี่วินทร์ก็นึกสนุกอยากลองเขียนทดลองดูว่าเราจะทำงานกันได้ยังไงบ้าง หลังจากที่เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลค้นคว้าข้อมูลกันไปประมาณปีกว่า ๆ พี่วินทร์ก็รู้สึกว่า เออ...มันสนุก แล้วสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือว่าข้อมูลที่ผมคิดว่าผมหามาพอแล้วนี่ มันกลับไม่พอ ปรากฏว่าแกมีมากกว่าผมอีก 2 เท่า และพี่วินทร์ก็เป็นคนทำงานเร็วมาก มีระเบียบมาก มีวินัยมาก และน่าศรัทธามาก ๆ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของผมที่พี่วินทร์ตอบรับที่จะทำงานนี้ด้วย”

แม้จะได้มือเอกแห่งวงการน้ำหมึกมาบรรเลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ แต่กว่าที่เขาทั้งคู่จะจัดการ กลั่นกรอง  และปรับแปลงข้อมูลและจินตนาการต่าง ๆ ให้ทุกอย่างลงตัวเป็นบทภาพยนตร์ฉบับสุดท้ายได้นั้น ก็ต้องใช้เวลาในการเขียนนานร่วมปีเลยทีเดียว

“โอ้โห! เป็น 10 กว่าเวอร์ชั่นเลยครับ หลายเวอร์ชั่นมาก ๆ ครับ คือกว่าที่เราจะลงตัวกันได้นี่ ผมก็ทำงานเยอะมาก พี่วินทร์ก็ต้องทำงานเยอะมาก แต่ว่าเป็นโชคดีของผมจริง ๆ ที่พี่วินทร์นั้นทำงานเร็วมาก มีวินัย มีระเบียบแบบแผน คือทุกอย่างมาแบบเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้เราเลือก มีตัวเลือกให้ ไม่เคยให้เราต้องอับจนกับหนทางใดหนทางหนึ่ง แต่ว่าทุกครั้งก็จะมีตัวเลือกให้เราเลือก ก็ทำงานกันนานมาก ทำงานกัน 1 ปีเต็ม ๆ เลยครับ”

 

นนทรีย์พูดถึงการออกแบบงานสร้างและผู้กำกับศิลป์เอก เอี่ยมชื่น

“กองถ่ายของเราเหมือนมีชีวิตอยู่ในสงคราม เราชอบมีชีวิตอยู่แบบนี้ เรารักกัน แล้วเราก็ยกพวกไปตีคนอื่น เอาชนะได้สำเร็จเป็นหนังฉาย เราและทุกคนที่มากับเราก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์หนังไทย ถ้าเราทำดีพอ”

“การออกแบบงานสร้าง” ที่ได้ “เอก เอี่ยมชื่น” ผู้ออกแบบงานสร้างมือหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย-คู่หูคนสนิทที่ทำงานเข้าขากันกับผู้กำกับ “อุ๋ย นนทรีย์” มาตลอดตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก มาดูแลรับผิดชอบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเช่นกัน

“คือผมร่วมงานกับเอกทุกเรื่องอยู่แล้ว ก็เพราะเป็นเพื่อนกันนะครับ พอเป็นเพื่อนก็ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ลักษณะของการทำงาน ก็คือเราตัดสินใจกันได้เร็วแล้วก็ทิศทางของไดเร็คชั่น ทางลักษณะของทางศิลปะการออกแบบ บรรยากาศก็ไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว เป็นทิศทางที่เราวางไว้ตั้งแต่แรกว่าเราอยากให้มันเป็นอย่างนี้ คือความเป็นแฟนตาซีมันก็ต้องเหนือจริงนิด ๆ ลักษณะของแอ็คชั่นมันก็ต้องทำฉากที่มันเอื้อต่อการทำบทแอ็คชั่นทั้งหมด แต่ว่าครั้งนี้เป็นการร่วมงานที่นานมาก เป็นงานที่หินมาก ๆ โหดมาก ๆ เพราะว่าเป็นงานใหญ่ทั้งหมดเลย ฉากก็ใหญ่อลังการหมด อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือก็ถูกดีไซน์ใหม่หมด เพราะคนที่เป็นโปรดักชั่นดีไซน์มันต้องควบคุมไปถึงเสื้อผ้า หน้า ผม รอยสัก คาแร็คเตอร์ บรรยากาศของเรื่อง และก็ฉาก คือเป็นการคอนโทรลศิลปะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหนังนะครับ ผมว่าก็เป็นงานหินพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นหนังมหากาพย์ขนาดนี้ มันจึง need ความเป็นโปรดักชั่นดีไซน์สูง มัน need การดีไซน์ มัน need การออกแบบ มัน need ยุคสมัย มัน need ทุกอย่างที่เป็นเรื่องของการออกแบบเกี่ยวกับงานศิลปะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่มีใคร...และกล้าพูดด้วยว่ามันยากที่เมืองไทยจะมีใครที่จะเหมาะสมเท่าคุณเอก เอี่ยมชื่นอีกแล้ว ในรูปแบบโดยเฉพาะการทำงานของผมเองด้วย  ผมทำงานกับเอก ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องศิลปะหรือเรื่องการดีไซน์อย่างเดียว เราทำงานกันตั้งแต่บทภาพยนตร์ ความเหมาะสมต่าง ๆ ความเชื่อถือต่าง ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราเริ่มต้นดีไซน์ไว้ตั้งแต่แรก บรรยากาศของหนัง ทิศทางของหนังไดเร็คชั่นของหนังเนี่ย ถูกวางไว้ตั้งแต่บทภาพยนตร์ของหนังแล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ยการที่เอกทำงานกับผมมาอย่างนี้ตลอด เริ่มตั้งต้นตั้งแต่ตัวหนังสือตัวแรกด้วยกัน มันก็ง่ายกับการที่เราจะจูนกัน คือผมเชื่อว่าในเมืองไทยมีคนเก่ง ๆ อย่างคุณเอกหลายคน เพียงแต่ว่าที่สามารถจะจูนให้เข้ากับเราได้ง่าย และเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการได้ง่ายที่สุดเนี่ย ก็คือคนที่เคยทำงานกับเราได้นานที่สุด แล้วก็เป็นเพื่อนเราด้วยนี่แหละครับ”

นนทรีย์พูดถึงการออกแบบเครื่องแต่งกาย


“การออกแบบเครื่องแต่งกาย” ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย ซึ่งงานนี้ได้มือรางวัลอย่าง น้ำผึ้ง โมจนกุล, ชาติชาย ไชยยนต์ มาดูแลความประณีตกันอย่างเต็มขั้นตั้งแต่ต้นจนจบด้วยระยะเวลานานนับปีไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ แต่อย่างใด

“เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็จะเป็นการแบ่งแยกคาแร็คเตอร์ของแต่ละส่วนให้มันแตกต่างกันนะครับ จริง ๆ แล้วเราจะแบ่งแยกง่าย ๆ ใน “ปืนใหญ่จอมสลัด” จะมีคนอยู่ 3 กลุ่มชัด ๆ คือกลุ่มหนึ่งก็จะเป็น “พวกลังกาสุกะ” เป็นกลุ่มพวกคนเมืองคนวัง กลุ่มที่สองจะเป็น “พวกกลุ่มโจรสลัด” นะครับ แล้วกลุ่มที่สามก็จะเป็น “พวกชาวน้ำชาวเล” นะครับ

คือคอสตูมเป็นเรื่องที่เรารีเสิร์ชยุ่งยากที่สุด มีทีมรีเสิร์ชเฉพาะของคอสตูมอย่างเดียว 6 คนออกไปกระจายกันตามแหล่งต่าง ๆ ที่เราคิดว่าน่าจะพบหลักฐานประวัติศาสตร์ทางเสื้อผ้าบ้าง เป็นทีมที่ทำงานกัน 3 เดือนในการรีเสิร์ชจริง ๆ ทั้งหมดกลับมาและได้ข้อมูลต่าง ๆ เราก็เอาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นเนี่ยออกไปพิพิธภัณฑ์ด้วย ก็จะเห็นอะไรที่หน้าตาประหลาดที่เราไม่เคยเห็นเหล่านั้นเยอะแยะไปหมดเลย เสร็จแล้วเราก็รวบรวมรูปถ่ายจากพิพิธภัณฑ์มาดีไซน์ขึ้นว่า ความน่าจะเป็นคนที่นั่น ณ สมัยนั้นประมาณไหน ก็ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนที่จะแก้ไขปรับปรุงให้มันเหมาะสม และหลังจากนั้นก็จะมีการทำคอสตูมเพิ่มเติมจากคาแร็คเตอร์ดีไซน์นะครับ ก็กินเวลาเกือบปีเกี่ยวกับเสื้อผ้าอย่างเดียวเฉพาะดีไซน์นะครับ และก็ลงมือทำก็อีกหนึ่งปีครับ

 อย่างกรณีของหมู่บ้านชาวเล บนเกาะเลดังอย่างนี้ เราก็ต้องดีไซน์โดยใช้ความน่าเชื่อถือ สมจริงสมจังของความเป็นไปได้ว่าคนที่อยู่ในทะเล ชาวน้ำชาวทะเลเนี่ย คนในหมู่บ้านเมื่อเขาเป็นชาวเล เขาก็ไม่น่าจะใส่เสื้อใส่กางเกงอย่างพวกเราหรอก เพราะว่ามันไม่มีความคล่องตัวที่จะลงน้ำหาปลาอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นการดีไซน์มันก็เลยต้องเป็นเสื้อผ้าง่าย ๆ เขาน่าจะใส่เป็นแบบผ้านุ่งเพื่อจะลงทะเล แล้วมันไม่พันแข้งพันขา เพราะเขาต้องอยู่กับทะเลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราก็ดีไซน์อยู่บนความน่าเชื่อถือเหมือนกันว่าเขาน่าจะแต่งตัวประมาณนี้ มีผ้าเตี่ยวผืนเล็ก ๆ ปิดข้างหน้าปิดข้างหลังชิ้นหนึ่ง แล้วตรงกลางก็เหมือนกับผ้าพันอะไรอย่างนี้ แล้วก็คงไม่น่าจะใส่เสื้อเพราะว่าเป็นเมือง ก็เป็นการดีไซน์ที่อยู่บนความน่าเชื่อถือนะครับ

อย่างเรื่องของโจรสลัดก็เหมือนกัน  ผมก็คิดว่าพวกโจรสลัดก็เป็นชาวน้ำชาวทะเล ก็มีชีวิตอยู่ในน้ำในทะเล เขาก็คงไม่น่าจะแต่งตัวอะไรที่พิสดารมาก นอกจากพวกนี้จะเป็นชาวทะเลแล้ว เขาก็ยังเป็นนักรบที่มีเสื้อที่เหมือนลักษณะเป็นหนังปลากระเบน หนังปลาต่าง ๆ เอามาทำเป็นเสื้อเพื่อเย็บต่อกันเป็นชิ้น ๆ อะไรอย่างนี้ ก็เป็นลักษณะที่เหมือนกับเสื้อเกราะลักษณะอย่างนั้น“

 

นนทรีย์พูดถึงเทคนิคเบื้องหลัง

 

เมื่อการถ่ายทำเสร็จสิ้นลง ก็ถึงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-production) ซึ่ง “ปืนใหญ่จอมสลัด” ก็ได้เสริม “ความเป็นแฟนตาซี” ที่ยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์ด้วย “เทคนิคพิเศษด้านภาพ” (CGI) โดยได้มืออาชีพอย่าง “บลู แฟรี่” (Blu Fairy) ที่เคยมีผลงานเด่น ๆ มาแล้ว อาทิเช่น โฆษณา One-2-Call, Toyota, Panasonic, Head & Shoulder,  3K Battery, MTV, การ์ตูนรักษาสิ่งแวดล้อม “ต้นกล้า...ซู่ซ่าพลังเขียว”, Dooka ศิลปินไซเบอร์ตัวแรกของประเทศไทย, แอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง There’s Always A Bigger Fish, มิวสิควิดีโอของวงหิน เหล็ก ไฟ, ศิลปิน DDZ และ หันปิ้ง ของค่ายอาร์เอส รวมถึงภาพยนตร์ดิจิตอลไซไฟ “ปักษาวายุ” มาร่วมเนรมิตจินตนาการครั้งนี้ให้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์แบบ

“ซีจีเรื่องนี้เป็นพันกว่าช็อตได้เลยครับ ซึ่งต้องถือว่าเยอะมาก ๆ มีทั้งที่ทำนิดเดียวจนถึงขั้นทำทั้งฉากนะครับ คือเริ่มตั้งแต่ง่าย ๆ ลบโน่นลบนี่ และต้องมีลบและเพิ่ม และยังเขียนใหม่อีก มันมากมายมหาศาล อย่าให้พูดเลยครับ แค่สัตว์ใต้ทะเลทั้งหมดนี่ก็จำนวนมหาศาลแล้วนะครับ

ผมเชื่อว่าหลาย ๆ เจ้ามีฝีมือดีในการทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิก การเขียนซีจีอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่การเขียนซีจีใหม่อย่างเดียว มันอยู่ที่การเอามาประกอบกับภาพที่เราถ่ายไปด้วย ในเรื่องของแสงเงา ในเรื่องของความสว่าง ในเรื่องของความสมบูรณ์ มันสามารถจะกลมกลืนกันอยู่ได้ในภาพ ๆ นั้น อันนี้เป็นสิ่งสำคัญกว่าการเขียนให้เหมือนอย่างเดียว ผมว่าการที่เอามาประกอบและดูสมจริงมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผมมาก และสิ่งที่ผมเห็นบลู แฟรี่เขาทำกันแล้ว มันก็สามารถจะกลมกลืนอยู่ด้วยกันได้  ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำให้เรามั่นใจและก็พอใจมากยิ่งขึ้นครับ”

“ธนัญชนก สุบรรณ ณ อยุธยา” Production Manager บริษัท บลู แฟรี่ ได้กล่าวเสริมถึงการสร้างเทคนิคพิเศษ Visual Effect ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

“มันเป็นภาพยนตร์ที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ นะครับ ตั้งแต่บทร่างแรก ๆ ตั้งแต่การคิด การคุยถึงเรื่องราวว่าจะเป็นยังไง แล้วก็พัฒนาออกมาเป็นสตอรี่บอร์ด ภาพสเก๊ตช์ แล้วก็ไล่ไปถึงโปรดักชั่นดีไซน์ของพี่เอก เอี่ยมชื่นนะครับ แล้วก็คุยกันมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นพรี-โพรดักชั่นมาประมาณครึ่งปีก่อนที่จะผลิตงานจริง พอเราพรี-โพรเสร็จปุ๊บ เราก็เริ่มมาวาง Animatic วางคัทอะไรต่าง ๆ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการถ่ายทำ ก็อยู่กับกองถ่ายมาเป็นปี ๆ นะครับ แล้วก็กลับมาผลิตอีกปีกว่า ๆ ในขั้นตอนการผลิต มันก็มีขั้นตอนรายละเอียดอยู่เยอะเหมือนกันครับ คือเนื่องจากเรื่องนี้ตัว CGI มันค่อนข้างเยอะนะครับ ทำให้เราต้องไตร่ตรองกันอย่างดีว่า ฉากไหนเราจะถ่ายกันยังไง หรือฉากไหนเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนจากทุนจากเวลาในการถ่ายทำ ก็เลยต้องก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ เลยอย่างที่บอกนะครับ

ผมว่าความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องบอกให้ทราบตั้งแต่แรกก่อนเลยว่า ซีจีมันไม่ใช่ตัวนำของภาพยนตร์เรื่องนี้ Visual Effect หรือ CGI ในเรื่องนี้ มันเป็นแค่องค์ประกอบของเรื่อง เพื่อจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เติมเต็มในจินตนาการของผู้เขียนบทแล้วก็ผู้กำกับให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นความน่าสนใจจริง ๆ มันคือตัวหนังทั้งเรื่องมากกว่าตัว CGI แต่ถ้าจะพูดถึง CGI ในเรื่องนี้ มันน่าสนใจตรงที่ว่า มันถูกเติมเข้าไปในช็อตไหนจุดไหน บางทีเราอาจจะไม่ได้เห็นเลยด้วยซ้ำ ฉากที่น่าสนใจในส่วนของซีจีก็อย่างเช่น ฉากใต้น้ำ สัตว์ใต้น้ำที่ไม่ค่อยได้เห็นกันในภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ๆ อย่างที่ปลาตัวใหญ่ ๆ จะโผล่ขึ้นมาสู้กับคนอะไรอย่างนี้ หรืออย่างฉากสงครามตอนท้ายเรื่องก็ยิ่งใหญ่และน่าสนใจนะครับ

แต่ถ้าถามว่าตัว Visual Effect มันนำภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ ผมว่ามันไม่ได้เป็นตัวนำเลย การเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งเรื่องมันมีความสนุกโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ตัว Visual Effect เป็นแค่ตัวเสริมให้สนุกยิ่งขึ้นมากกว่า”

 

 

นนทรีย์พูดถึงดนตรีประกอบ

“ดนตรีประกอบภาพยนตร์” เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะสร้างสีสันและเพิ่มความสนุกให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็ได้มืออาชีพและมือรางวัลในการทำดนตรีประกอบในอันดับต้น ๆ ของไทยอย่าง “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จันดารา, โอเคเบตง, โหมโรง, ก้านกล้วย ฯลฯ) มาร่วมบรรเลงเสียงเพลงและสร้างสรรค์ดนตรีอันแปลกใหม่และไม่เคยได้ยินมาก่อนในภาพยนตร์ไทยเรื่องไหน ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ

“ความน่าสนใจของดนตรีประกอบเรื่องนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย จะมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะทางมลายู เช่น กำมะลันของอินโดนีเซีย, เพอร์คัสชั่นของมาเลเซีย, เครื่องปี่ทางภาคใต้ จะเป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้หนังมันเป็นแฟนตาซี แล้วการใช้เสียงร้องด้วยภาษาใหม่ ๆ มาเป็นดนตรีหลักในเรื่อง ก็ทำให้หนังมันดูน่าสนใจมากขึ้น

ธีมหลัก ๆ ของเรื่องก็จะมี “อภินิหารธีม” ที่เป็นธีมของปารี (อนันดา), พลังดูหลำ มีปี่มีเสียงร้อง ถ้าพูดถึงตัวปารีมันจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของหนังที่แยกออกมาเลย เพราะมันเป็นแฟนตาซีอภินิหาร ส่วนนี้ก็จะพูดถึงความเป็นเด็กกำพร้า ความเคียดแค้น แล้วก็ประสบการณ์การสูญเสีย การพลัดพรากต่าง ๆ ที่นำไปสู่การฝึกวิชาดูหลำ ในส่วนนี้ซาวด์หรือเมโลดี้ก็ออกไปทางเครื่องเคาะของอินโดนีเซียที่เรียกว่า กำมะลัน คล้าย ๆ ฆ้องบ้านเราแต่มีความหลากหลายกว่านิดหนึ่ง

แล้วอีกธีมก็เป็น “ลังกาสุกะธีม” แสดงให้เห็นความรักชาติ ความฮึกเหิมของชาติ ก็จะเป็นเสียงร้องประสานกันแบบใหญ่ ๆ สร้างความฮึกเหิม เป็นเสียงที่เราสร้างขึ้นมา เป็นการจำลองภาษาขึ้นมาทำให้เกิดภาษาแบบใหม่ขึ้นเรียกว่าภาษาบาฮาซาร์ เป็นภาษาที่ไม่มีอยู่จริง ไม่มีความหมายจริง ๆ เราดีไซน์มันขึ้นมา แต่เราก็ศึกษาว่าเขามีพยัญชนะกี่ตัว สระกี่ตัว และจับการออกเสียงของภาษานั้นแต่ไม่ให้เหมือนภาษานั้น ใครจะตีความหมายยังไงก็ได้ เพราะเป็นเจตนาของเราอยู่แล้ว เพราะถ้ามีความหมายที่ชัดไปเลย มันก็จะบล็อกจินตนาการของคนดูได้ เพราะถ้าเราฟังแล้วรู้ความหมาย มันก็จะชี้นำได้ ว่ากำลังพูดถึงอะไร เสียงร้องมันคือ Music Instrument อันหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีความหมายก็ได้ เป็นการเอาเสียงร้องมาใช้ให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ ได้

เรื่องนี้ใช้เวลาทำดนตรีประกอบนานเป็นครึ่งค่อนปีเลยนะครับ ทำไปพร้อม ๆ กับซีจี ที่มันนานเพราะเรื่องนี้มันมีเพลงทั้งเรื่องเลย ถ้าหนัง 2 ชั่วโมง เพลงก็จะประมาณ 100-110 นาทีเลย ดนตรีประกอบคือตัวสร้างบรรยากาศ หนังแฟนตาซีเนี่ย ดนตรีประกอบมันจะเยอะ โดยเฉพาะ 40 นาทีสุดท้าย หนังมันจะยิ่งใหญ่มาก เพลงเราก็ต้องใหญ่ตามไปด้วยก็ถือว่ายากที่สุด ก็จะเหนื่อยกว่าหนังไทยเรื่องอื่น ๆ 2 เท่า มันเป็นการหนีจากสิ่งที่เราเคยทำมาด้วย มีอะไรใหม่ๆ รอเราอยู่ข้างหน้า เราก็พยายามจะดีไซน์ หรือทำอะไรใหม่ ๆ ให้เป็นสีสันกับภาพยนตร์ไทยทุก ๆ เรื่องด้วยครับ”

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.