สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

อาข่าผู้น่ารัก

  กรกฎาคม 2551
  LINK : แคแรกเตอร์ตัวละคร        สัมภาษณ์ผู้กำกับ
   
 

 

 กำหนดฉาย                                21 สิงหาคม พ.ศ. 2551
อำนวยการสร้าง                           สมศักดิ์  เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง                           ปรัชญา ปิ่นแก้ว และสุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ดำเนินงานสร้าง                            ศิตา วอสเบียน
บทภาพยนตร์                               สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ , ทรงศักดิ์ มงคลทอง
กำกับภาพยนตร์                           สุกัญญา  วงศ์สถาปัตย์
ผู้ช่วยผู้กำกับ1                             กาญจนพันธุ์ มีสุวรรณ
ผู้ช่วยผู้กำกับ2                             สุภาวดี โกศรีย์พงศ์
กำกับภาพ                                   สุรเชษฐ์ ทองมี
ลำดับภาพ                                   สุทธิพร ทับทิม          
ออกแบบงานสร้าง                          อรรคเดช แก้วโคตร
กำกับศิลป์                                   โสภณ พูลสวัสดิ์
ดนตรีประกอบ                             ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ออกแบบเครื่องแต่งกาย                   นุชนาฏ  มากสวาสดิ์
แต่งหน้า – แต่งผม                         อริญชยา ภู่สุวรรณ|
นำแสดงโดย                                ด.ญ ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า, พิมพรรณ ชลายนคุปต์                                    

 

 

เรื่องย่อ

 หมี่จู (ฟูอาน่า ฮิโรยาม่า) เด็กหญิงชาวเขาเผ่าอาข่า ทุกคนในหมู่บ้านรู้ซึ้งถึงความแสบซน รวมไปถึงวีรกรรมสุดป่วนของเธอเป็นอย่างดี จนทำให้พ่อกับแม่ต้องส่งหมี่จูไปอยู่กับน้าที่พื้นราบ ที่นั่นเปรียบเสมือนโลกใบใหม่ที่หมี่จูไม่เคยรู้จักมาก่อน หมี่จูสนุกไปกับงานพิเศษคือการรับจ้างถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว รูปถ่ายแต่ละใบกำลังบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างกับหมี่จู ทำให้เธอคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างจากโลกใบเดิมที่เธอเคยอยู่

ในขณะเดียวกันกลุ่มคนเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มกระจกเงา” ซึ่งมี พี่แป้น (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) เป็นหัวเรือใหญ่ ได้เข้ามามาทำโครงการทดลองชื่อว่า “บ้านนอกทีวี” ทีวีของชุมชนโดยชุมชน และเมื่อหมี่จูได้กลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง หมี่จูจึงคิดที่บอกเล่าเรื่องราวบางอย่างในแบบของเธอ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้ออกรายการบ้าน

นอกทีวี แต่คราวนี้กลับไม่ใช่เรื่องซุกซนอีกต่อไป มันกลับกลายเป็นเรื่องซาบซึ้งที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถซึมซับได้ด้วยความเข้าใจโดยมีรายการบ้านนอกทีวีเป็นสื่อกลาง ความพยายามและความตั้งใจของเด็กผู้หญิงธรรมดาคนนี้ กำลังจะทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล.....

 

 

รายละเอียดงานสร้างและเกร็ดที่น่าสนใจของภาพยนตร์

 


หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มาถึง 15 ปีเต็ม “สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์” โปรดิวเซอร์หญิงเหล็กผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกับ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์แถวหน้าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด และสร้างปรากฎการณ์สุดประทับใจมาหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่หนังกวาดรายได้ระดับบล็อกบัสเตอร์อาทิ ช็อคโกแลต ,ต้มยำกุ้ง , องค์บาก , บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ไปจนถึงหนังสะท้อนแง่มุมและแนวคิดทางสังคมอย่าง รักแห่งสยาม ,สยิว และ Fake ก็ได้ตัดสินใจถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต มุมมองและแนวคิดผ่านงานเขียนบท หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเข้าไปในหัวใจเพื่อการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจที่มาจากการได้เห็นข้อมูลของเรื่องราวขององค์กรหนึ่งทางหน้าหนังสือพิมพ์ มาสานต่อเป็นพล็อตเรื่องสุดน่ารักและประทับใจได้

ตอนนั้นได้เห็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในภาพเป็นรูปชาวเขากำลังหยิบกล้องมาถ่ายทำรายการทีวี ก็เลยสะดุดใจ พออ่านข้อมูลก็รู้ว่าเป็นเรื่องของสถานีวิทยุโทรทัศน์ชุมชนของมูลนิธิกระจกเงา เลยปิ๊งไอเดียทันที คือรู้สึกว่าอยากเอามาทำหนังมาก หลังจากนั้นเลยเสาะหาข้อมูลกับทางกลุ่มกระจกเงา เพื่อขอข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจมาสร้างเป็นพล็อตเรื่อง”  

จากความประทับใจผู้กำกับหญิงคนเก่งจึงไปติดต่อหาข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์ “ บ้านนอกทีวี” ของกลุ่มกระจกเงา จนได้ข้อมูลจริงของเด็กชาวเขาคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้ออกอากาศในรายการ  โดยเธอเป็นเด็กผู้หญิงเผ่าอาข่าวัย 12 ปี ที่เป็นเด็กน้อยจอมซนของหมู่บ้านป่าแล มีความอยากรู้อยากเห็นสูงกว่าเด็กคนอื่นๆในหมู่บ้าน ทำให้เธอมักก่อเรื่องที่ผิดประเพณีของชนเผ่าอยู่เป็นประจำ ก่อนที่จะสร้างเรื่องราวสุดประทับใจให้กับทีมงานและคนในหมู่บ้าน จึงคิดที่จะนำเรื่องราวตรงนี้มาเป็นหนัง ผ่านเด็กคนหนึ่งในนาม “หมี่จู”

 

 

“หนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนความรักความรู้สึก และวิถีชีวิตของชาวเขาโดยเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ก็มีเด็กผู้หญิงตัวน้อยคนหนึ่งที่ชื่อว่า หมี่จู ซึ่งค่อนข้างแก่นแก้ว ซุกซน ก่อเรื่องวุ่นวายอยู่ตลอด จนดันไปทำอะไรบางอย่างที่ผิดประเพณีของเผ่า พ่อกับแม่ก็เลยอยากดัดนิสัย เลยส่งลูกสาวไปอยู่กับน้าในตัวเมือง เป็นจังหวะเดียวกับที่มูลนิธิกระจกเงาเข้ามาดูพื้นที่เพื่อพัฒนาให้ความรู้กับชุมชน โดยการทดลองทำสถานีวิทยุชุมชน เป็นการทำรายการเพื่อชาวเขาโดยชาวเขาที่มีชื่อว่า “บ้านนอกทีวี” เป็นรายการเกี่ยวกับชาวเขาในหมู่บ้าน โดยมีชาวเขาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน สร้างรอยยิ้มและสนุกสนานกันไปส่วนหมี่จูที่ไปอยู่กับน้า ก็ไปหารายได้โดยการไปถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก ทำให้เขาได้เห็นเพื่อนพ้องที่เป็นชาวเขาด้วยกัน ที่ต้องมาลำบากทำงาน พลัดจากถิ่น ตัวหมี่จูก็เลยรู้สึกคิดถึงบ้าน จึงตั้งใจจะกลับไปสร้างวีรกรรมครั้งใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องซุกซนอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องราวสุดประทับใจที่เธอสื่อสารโดยใช้บ้านนอกเป็นสื่อกลาง”

คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมผู้กำกับหญิงคนเก่งคนนี้ ที่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับโปรเจกต์หนังฟอร์มยักษ์มามากมาย อีกทั้งผ่านโจทย์งานที่มีสเกลทางด้านโปรดักชั่นสุดยิ่งใหญ่ กลับเลือกที่จะทำหนังในสไตล์น่ารักสดใส และมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งความสนุกและความสุขจากหนังที่ตัวเองกำกับเรื่องนี้ ไม่ได้มาจากความหวือหวาหรือทุนสร้างมหาศาลแต่อย่างใด เพียงแต่มันมาจากหัวใจที่เธอใส่เข้าไปในการกำกับหนังเรื่องนี้ต่างหากที่สำคัญ

“เราเป็นคนชอบดูหนังดราม่าน่ารักๆ ดูสดใส ดูแล้วให้แง่คิด หนังที่ได้อะไรกลับไปยังจิตใจของเรา อย่างสไตล์หนังที่เราอยากทำต้องเน้นเรื่องเรียลลีสติก อย่างเรื่องนี้ก็พยายามดึงเอาในจุดเล็กๆ ของจิตใจมาพูด ทั้งความรักและความผูกพัน อย่างเรื่องนี้จะมีส่วนที่พูดถึงความรักของครอบครัว อยากให้หนังของเราเป็นส่วนสะท้อนตรงนี้ ในขณะที่กำลังอมยิ้มและดื่มด่ำไปกับความน่ารักของตัวละครและบรรยากาศของหนัง ไม่ใช่หนังที่เอาเรื่องของชาวเขามาเป็นเรื่องโจ๊ก เพราะทุกอย่างเราได้ศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี “

...อาข่าโมเดลลิ่ง...และการใช้หัวใจกำกับฯ

 

จากการเดินทางไปหาข้อมูล ก็ถูกพัฒนาไปจนถึงการเสาะหาหาสถานที่ถ่ายทำที่มีบรรยากาศสวยงาม ด้วยความปราณีต การสร้างฉากที่เหมือนสภาพจริงที่ชาวเขาดำรงชีวิตกัน และการนำชาวเขาในท้องถิ่นมาร่วมแสดง ด้วยอยากให้ทุกอย่างถูกถ่ายทอดออกมาเป็นไปอย่างสมจริง เรื่องราวต่างๆถูกเรียงร้อยออกมาจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปคลุกคลีเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชน ภาพที่บรรจงสร้างออกมาผสมกับกลิ่นไอของทิ่วเขาในภาคเหนือ และบรรยากาศที่เหล่าชุมชนชาวเขาร่วมกันสรรค์สร้าง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาตรงตามความคิดที่ผู้กำกับวาดไว้  

“ที่วาดภาพเอาไว้ในหัวคือต้องเป็นเขาโล่งๆ มีทะเลหมอกจางๆ ซึ่งจุดที่เราถ่ายทำห่างจากตัวเมืองอยู่สามชั่วโมง ต้องเดินทางข้ามเขาอยู่หลายลูก  ซึ่งเรากับทางทีมงานก็ไปเจอภูเขาโล่งๆที่สวยมาก แล้วก็ยกพลกันเตรียมตัววางแผนการถ่ายทำทุกอย่างไปอยู่เป็นเวลา1เดือนเต็มเพื่อถ่ายทำ พอไปถึงก็รู้สึกเลยว่าที่นี่ดูเพียวมาก คือเราอยู่ในวิถีชีวิตแบบชาวเขาจริงๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งอะไรเลย ทุกอย่างเพียวมากเหมือนเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น คือถ่ายหนังเสร็จก็กินนอนที่นั่นเลย พอครบอาทิตย์ก็ต้องขับรถ 4 WD มาในตัวเมืองเพื่อซื้ออาหารสดกลับขึ้นไป ตกกลางคืนอากาศจะหนาวเย็นมาก ขนาดซุกตัวในถุงนอนที่อุ่นที่สุดแล้วบวกกับเสื้อหนาๆอีก1ตัวก็ยังไม่อาจต้านความหนาวได้ ยิ่งตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่ทรมานที่สุด ตื่นเช้าขึ้นมาแปรงฟันต้องเจอกับลมหนาว น้ำที่ใช้ล้างหน้าหรือแปรงฟันก็เหมือนเพิ่งเอาออกจากตู้แช่แข็ง เรียกว่าถ้าทุกคนไม่มีความตั้งใจจริงในการทำหนังเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้ คงยอมแพ้ตั้งแต่วันแรกแล้ว”

 

 

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นจุดสำคัญ คือผู้กำกับหญิงคนนี้ตั้งใจให้ทุกอย่างดูเป็นเรียลลีสติก ดังนั้นเรื่องภาษา บรรยากาศโดยรวม และวิถีชีวิตของตัวละครในเรื่อง จึงต้องดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทุกองค์ประกอบของหนังจึงเป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องของชาวเขา หรือรวมไปถึงนักแสดงบางส่วนในเรื่องที่เป็นชาวเขาแท้ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบ “อาข่าโมเดลลิ่ง” และนี่คืออีกหนึ่งสีสันที่ผู้กำกับหวังว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มให้กับหนังเรื่องนี้

“เรื่องของภาษาก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะเราเซ็ทให้ทุกอย่างถ่ายทอดถึงวิถีชีวิตของชาวเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาชาวเขาจริงๆ มาเล่น เราก็เอารถกระบะไปรับจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมา เหมือนระบบโมเดลลิ่งเลยนะ ที่ต้องทำแบบนี้ต้องบอกเลยว่าพี่ไม่ชอบทำอะไรที่มันไม่เรียลลิสติก ก็ต้องให้ชาวเขาเล่นเป็นตัวเขาอยู่แล้ว เช่นนั่งอยู่กับขอนไม้ นั่งอยู่กับเตาผิง เวลานั่งชงกาแฟ ดูดยาเส้น ก็เป็นตัวเขาเลย ตอนแรกก็สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ยังไม่คุ้นเคยกัน คือการทำงานกับผู้ใหญ่หรือเด็กชาวเขาทุกคน ต้องทำงานผ่านล่าม แต่เด็กบางคนก็สามารถพูดไทยได้ มีดื้อ มีซนบ้าง เล่นบ้าง กลัวเราบ้างแต่หลังๆกลายเป็นสนิท รักและผูกพันกันมากแทบจะนับญาติกันไปเลยทีเดียว”

 

 

นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแห่งความสุขที่มาจากความน่ารักของตัวละคร “หมี่จู” ผู้กำกับยังสอดแทรกเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาท่ามกลางความเจริญของชาวกรุง ความเหงาความเดียวดายเมื่อชาวเขาเหล่านั้นต้องพลัดพรากกัน สิ่งที่โหยหาคือการได้กลับมาอยู่รวมกันในครอบครัวในชุมชนของตนเอง ในเรื่องราวเหล่านี้ เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาถึงตัวผู้กำกับ ว่าไม่ต่างอะไรจากตัวเขา ที่อยู่ท่ามกลางความเจริญที่แสนจะวุ่นวาย เมื่อใดที่รู้สึกสับสนและทุกข์ใจ สิ่งที่ประโลมชีวิตให้ดีขึ้นได้คือ ครอบครัว นั่นคือสิ่งที่ตัวผู้กำกับตั้งใจให้ทุกคนได้แง่คิดตรงนี้ติดตัวกลับไป               

“คาดหวังว่าคนดูจะได้ในแบบที่เราได้ในแบบที่เราได้กลับมาจากตอนทำหนังเรื่องนี้ คือเราต้องการนำเสนอในมุมของครอบครัว พูดถึงความรัก ก็ในเมื่อไม่มีธุระที่จะต้องจากกัน ไม่มีความตายมาพราก แล้วทำไมไม่อยู่ซะด้วยกัน จะไกลจากไปทำไมให้คิดถึง ชีวิตชาวเขาส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ รวมไปถึงคนในเมืองก็เช่นกัน ที่มักมองข้ามความสำคัญของครอบครัว บางทีรู้สึกว่าตัวเองก็คล้ายๆหมี่จู คือตอนที่ทำเราไม่คิดว่าตัวเองอินขนาดนี้ แต่ว่าตอนนี้รู้สึกว่าที่หมี่จูกำลังพูดก็จริง คือตัวเราก็โหยหาครอบครัว โหยหาความรักที่แท้จริง แต่นี่ก็คือสิ่งที่ทุกคนโหยหาไม่ใช่เหรอ”

ประวัติผู้กำกับ : สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์

เกิดวันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ 2509
พ.ศ.2531-2532ตำแหน่ง Casting ของ Unity Production House
พ.ศ.2533-2536ตำแหน่ง โปรดิวเซอร์ ผลิต มิวสิควีดีโอ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น
พ.ศ.2537-2538   - ตำแหน่ง ผู้จัดการกองถ่าย(อิสระ) ภ.เรื่อง “โลกทั้งใบ...ให้นายคนเดียว”, “ล่องจุ๊น”  และ ภ.เรื่อง
“ปาร์ฏิหารย์...โอม+สมหวัง”
                        - ตำแหน่ง โปรดิวเซอร์ มิวสิควีดีโอ บริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
พ.ศ.2542          - ตำแหน่ง Freelance Producer บริษัท บาแรมยู จำกัด
พ.ศ.2543–ปัจจุบัน       - ตำแหน่ง Line Producer บริษัท บาแรมยู จำกัด  ภ.เรื่อง “ปอบ หวีดสยอง” ,“7 ประจันบาน 1”, “999-9999…ต่อ ติด ตาย”
                               - ตำแหน่ง Producer ภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก”, “สยิว”, “Fake”, “เฮี้ยน”, “ตะเคียน”, “X-man”, “นายอโศก...นางสาวเพลินจิต”, “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม”, “Formalin Man”, “7 ประจันบาน 2”, “คน ผี ปีศาจ”,“เฉิ่ม”,
“เกิดมาลุย”, “อาข่าผู้น่ารัก” ,“ต้มยำกุ้ง“ ,“13 เกมสยอง” ,“เขาชนไก่” ,“โคตรรักเองเลย” , “รักแห่งสยาม” และ ช็อคโกแล็ต”
                               - เขียนบทภาพยนตร์ และ กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อาข่าผู้น่ารัก”

 

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.