สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
“สี่แพร่ง” ดาราดังเพียบ  4 ผู้กำกับเชื่อมั่น แตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นๆ
  28 กุมภาพันธ์ 2551/ ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล รายงาน
  LINK : หน้าหลักของ สี่แพร่ง
   
 


ซุ่มถ่ายทำอย่างเงียบๆ กว่าจะออกข่าวก็เมื่อหนังใกล้เข้าฉายเต็มที่    “สี่แพร่ง” หนังสยองขวัญแบบสั้น ๆ 4 เรื่อง  แต่ทุนสร้างกลับไม่สั้นตาม  ด้วยเงินเกือบ 35 ล้านบาท   โดยค่าย GTH เลือกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กิ๊กกะไบท์คลับ ย่านทองหล่อ   นอกจากสี่ผู้กำกับ ยงยุทธ – บรรจง – ภาคภูมิ - ปวีณ   ก็มีดารานำหลักๆ อย่าง เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, วิทวัส สิงห์ลำพอง, อภิญญา สกุลเจริญสุข และมณีรัตน์ คำอ้วน   โชคดีที่คนดังเหล่านี้ค่อยๆ ทยอยกันมาไม่อย่างนั้นนักข่าวคงวุ่นขาขวิด เพราะสัมภาษณ์กับถ่ายรูปไม่ทันอย่างแน่นอน

บรรยากาศในงานก็เป็นไปด้วยความสนุกสนานตามสไตล์ค่ายนี้  ทีมผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณทีมงานเบื้องหลัง  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชุด  ถ่ายทำหนังสั้นทีมละ 2 เรื่อง  ซึ่งแม้ว่าจะมีเวลาน้อยแต่ก็ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่   นอกจากนั้นก็มีการเปิดตัวอย่างสั้นๆ ของทั้งสี่เรื่องให้แก่ผู้เข้าร่วมงานและสื่อมวลชนได้ดู ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่มีความน่าสนใจระดับหนึ่ง

ต่อจากนี้ไปเปิดใจ 4 ผู้กำกับ กับ “สี่แพร่ง”

“เหงา”   
ยงยุทธ ทองกองทุน (กำกับ “สตรีเหล็ก”,“แก็งค์ชะนีกับอีแอบ”) กับ “เหงา” สาวออฟฟิศตกงานที่กำลังโดดเดี่ยวสุดๆ (เอ๋ - มณีรัตน์ คำอ้วน - เพื่อนสนิท)ได้พบกับข้อความประหลาดที่ส่งมายังมือถือของเธอ


เรื่อง “เหงา”  มีที่มาอย่างไรครับ?
ยงยุทธ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่หลายคนเจอ มันเป็นอาการของคนเมืองใหญ่นะฮ่ะ มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเชื่อมโยงกับคนทั่วไปง่าย มีวัฒนธรรมของมือถือ การส่ง message เป็นสิ่งที่อยู่ติดมือเราตลอดเวลาน่ะฮ่ะ แล้วเราก็เคยได้รับข้อความประหลาดๆ มาจะส่งผิดหรือถูกก็ตาม ที่ตัดสินใจทำเพราะว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก มันมีอะไรให้เล่นกับอารมณ์คนดูได้เยอะ

ตัวของคุณยงยุทธนี่ทำแต่หนังตลกมาตลอด แล้วสำหรับหนังสยองขวัญนี่ การทำงานแตกต่างอย่างไร?
ยงยุทธ อ่า สำหรับผมนี่ค่อนข้างสนใจมาก หนังเรื่องนี้แตกต่างสุดๆ ตรงที่ว่า ผมเคยทำหนังที่มีนักแสดงเป็นกลุ่ม ทำหนังที่มีบทพูดโน้นนี่ อะไรที่มันจะเชือดเชือน แต่เรื่องใหม่นี่ใช้นักแสดงคนเดียวเล่นทั้งเรื่อง และไม่มีบทพูดเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ท้าทายการเล่าของผมมาก แต่อาจจะยังตอบไม่ได้ว่าผมแฮปปี้กับการทำหนังเรื่องนี้ เพราะว่าข้อดีของมันคือยังมีขนาดที่สั้นอยู่ ประมาณ 25 นาที ยังสดมากๆ แต่ถ้าทำยาวๆ ก็ไม่แน่นะฮ่ะ เพราะทำหนังเรื่องนี้ รู้สึกเหนื่อยกว่าทำหนังตลก เหนื่อยในแง่อารมณ์ บรรยากาศในกอง การกำกับนักแสดง การสร้างสรรค์บรรยากาศในการเล่าเรื่องน่ะครับ พอเป็นหนังตลก อย่างน้อยพออยู่ในซีนปุ๊บ มันยังจะมีอะไรให้ขบขัน  แต่จริงๆ แล้วก็สนุกดีนะครับ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองทำอีก แต่ยังไม่ได้ทิ้งแนวทางเดิมที่ตัวเองทำอยู่

คุณยงยุทธไม่เคยทำหนังผีมาก่อนรู้สึกหนักใจหรือไม่?
ยงยุทธ จริงๆ ก็เคยทำมาแล้วนะครับผ่านการเป็นโปรดิวเซอร์ (แฝด,ซัตเตอร์) ทำผีเห็นผีมาแล้วด้วย (หัวเราะ) เมื่อคุยไอเดียจะทำเรื่องนี้กับน้องๆ เขาก็ชอบ บวกกับการเป็นเรื่องสั้นและไม่เคยรวมผู้กำกับมาก่อนเลยน่าสนใจ   คนอื่น 3 เราก็เลย 4 ซะเลย ตั้งแต่บทจนตัดต่อก็ทำด้วยกัน เพื่อให้หนังลื่นไหลครับ 

หนังเรื่องนี้จะแตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นอย่างไร โดยเฉพาะที่เป็นแนวหลายๆ เรื่องมารวมกัน อย่าง “ผีสามบาท” หรือ “Three”?  
ยงยุทธ ถ้าเราพูดคำจำกัดความว่าแต่หนังผีอย่างเดียวนะฮ่ะ  มันคงไม่ต่างหรอกฮ่ะ  อย่างน้อยสี่เรื่องในที่นี้ มันเกิดจากสี่ผู้กำกับที่มีสี่ทิศทางของตัวเองอย่างชัดเจน กระจายออกมาทำ และในหนังก็มีรสชาติความน่ากลัวที่แตกต่างกันออกไป ความแตกต่างเห็นได้ชัดตั้งแต่วิธีการเล่าเรื่อง และการสร้างอารมณ์ร่วมกับคนดู ในดีกรีที่แตกต่างกันออกไป ก็น่าจะทำให้มันแตกต่างจากเรื่องอื่น  หนังในลักษณะอย่าง “ผีสามบาท” หรืออย่าง “Three” มันก็ห่างหายจากตลาดบ้านเราพอสมควร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สาม เรามีถึงสี่  ซึ่งทั้งสี่เรื่อง เราได้ทดลองอะไรไปหลายแบบ  เชื่อว่ามันจะเหมือนพาคนดูนั่งรถไฟเหาะน่ะฮ่ะ   

“The Last Flight” หรือ Flight 224
ผู้กำกับ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ จาก ชัตเตอร์ และ แฝด
แอร์ฮอสเตสสาว (เฌอมาลย์) พบเหตุการณ์สุดสะพรึงกลัว เมื่อเที่ยวบินล่าสุดของเธอ มีผู้โดยสารสุดพิเศษ

สำหรับตัวของคุณภาคภูมิเอง โปรเจ็คท์นี่แตกต่างจากงานชิ้นก่อนๆ อย่างไร?
ภาคภูมิ  อย่างแรกเลยคือมันเป็นหนังสั้นน่ะครับ แล้วผมก็อยากจะสนุกไปกับโปรเจ็คท์นี้ เหมือนทำให้คนดูอยู่กับไคลแม็กซ์อยู่ตลอดเวลา  คือ 25 นาทีเหมือนเป็นหัวกะทิของหนังผีน่ะครับ ด้วยการแสดง ด้วยสถานการณ์ใหม่ๆ ผมเป็นคนกลัวเครื่องบินน่ะครับ ผมเลยเอาความรู้สึกกลัวตรงนี้มาใช้ในหนังเรื่องนี้

การที่เกือบทั้งเรื่องเกิดบนเครื่องบินนี่ทำให้ทำงานยากแค่ไหนครับ?
ภาคภูมิ ยากครับยากมาก ทุกอย่างมันเซ็ตในสตูดิโอ มันต้องทำให้เหมือนเครื่องบินจริงที่สุดน่ะครับ มุมกล้องอะไรก็จะจำกัดพอสมควรน่ะครับ

แล้วกระบวนการเขียนบทนี่เป็นอย่างไรครับ?
ภาคภูมิ บทนี่ต่างคนต่างทำครับ แต่ระหว่างเขียนบททุกอาทิตย์เราจะมาแชร์กันว่าแต่ล่ะคนเป็นไง ก็มีคอมเมนต์ของแต่ล่ะคนๆ ที่จะทำให้มันเป็นเอกภาพเดียวกันน่ะครับ ไม่ได้แบบต่างคนต่างทำแล้วเอามาต่อกัน

แล้วจะมีอะไรมาช่วยเชื่อมโยงหนังทั้งสี่เรื่องเข้าด้วยกันไหมครับ?
ภาคภูมิ เราไม่ได้มองการเชื่องเป็นสาระสำคัญนะครับ มันมีอยู่ แต่เป็นเหมือนสิ่งบางๆ ที่มาครอบอยู่
ไม่ได้ชัดเจนแบบ ตัวละครจากตอนนี้มาโผล่ในอีกตอน ไม่เยอะขนาดนั้น...
นอกจากนี้ ภาคภูมิยังกล่าวว่า ความเป็นหนังสั้นมีข้อจำกัดเยอะ ไหนจะเวลาที่น้อย ทำให้เครียดอยู่เหมือนกัน แต่ทำหนังสั้นก็ยังสนุกอยู่บ้าง ถ้าให้ทำหนังยาว ก็อยากเปลี่ยนไปทำแนวอื่นบ้างไม่ใช่ว่าทำหนังผีแต่เพียงอย่างเดียว

หนังเรื่องนี้จะแตกต่างจากหนังผีรวมมิตรเรื่องอื่นอย่างไร
ภาคภูมิ คือเราจะไม่ทำงานแยกกันอย่างชัดเจน คือไม่ได้แบบว่าต่างคนต่างทำ อย่างเรื่องอื่นก็จะแยกผู้กำกับไปอย่างชัดเจน  แต่สำหรับเรื่องนี้จะเหมือนเราทำหนังเรื่องเดียวกันอยู่  บทเราจะมาคุยกัน เหมือนทำหนังเรื่องเดียวกันแต่แยกออกไปถ่าย พยายามที่จะคุยกันเพื่อนหาจุดร่วมระหว่างกัน

“คนกลาง”
ผู้กำกับ - บรรจง ปิสัญธนะกูล จาก ชัตเตอร์ และ แฝด
เรื่องของกลุ่มวัยรุ่นที่ไปตั้งเต้นท์เที่ยวป่า ความคึกคะนองบวกกับความเชื่อที่ว่า คนที่นอนกลางเต้นท์จะไม่โดนผีหลอก นำพวกเขาสู่ประสบการณ์พิลึกพิลั่น
นักแสดงนำ     ฟรอยด์ – ณัฏฐพงศ์ ชาติพงศ์ (ฟรอยด์ บ้านนี้มีรัก), กันตพัฒน์ สีดา (บอมบ์ AF4)

อยากทราบจุดเริ่มต้นของหนังสี่แพร่งน่ะครับ?
บรรจง  คือพอดี มันเริ่มจากผมและโอ๋(ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) ไปปิ๊งพล็อตๆ หนึ่งมา แล้วก็มาคิดกันว่า มันน่าจะเป็นหนังสั้นๆ เลยมาคิดว่าเอาไงดี แล้วก็คิดได้ว่า มารวมผู้กำกับหนังผีของ GTH ดีกว่า เพราะว่าในแง่เครดิตหนังผี GTH ที่ทำมา  เครดิตค่อนข้างดีในต่างประเทศใช่ไหมครับ คือเราก็ไม่เคยสร้างงานที่สุกเอาเผากินหรือตีหัวเข้าบ้าน เพราะว่าที่ผ่านมาเราตั้งใจทำงาน ..ตอนแรกสี่แพร่งที่วางไว้จะเป็น ผม,โอ๋,กอล์ฟ(ปวีณ)และพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ก็จะครบสูตรเลย คนที่ทำหนังผีมาแล้ว พอพี่ย้งไปทำปิดเทอมใหญ่ฯ ด้วยเวลาแล้วเนี่ยคงมาทำเรื่องนี้ไม่ได้ เราก็แบบไม่เห็นเป็นไรเลยเอาพี่สินก็ได้เพราะพี่สินก็อยากทำ ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตาอีกอย่าง เป็นการพลิกเพราะว่าเขาไม่เคยทำหนังแนวนี้มาก่อน  มีสักคนที่พลิกบทบาทผมว่า เออน่าสนใจดี  เมื่อลงตัวก็เดินหน้าทำ พอมาถึงวันที่ทุกคนคิดเรื่องมาแล้วเอามาโยนให้ดูกัน โอ้โห้ แต่ล่ะเรื่องน่าสนใจมากต้องรีบทำเลย รีบทำจนเสร็จในวันนี้

ที่มาที่ไปของเรื่อง “คนกลาง”
บรรจง เรื่องของผมมันจะอิงจากเรื่องส่วนตัว ปรกติจะชอบไปต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ชอบไปเล่าเรื่องผีกัน ด้วยนิสัยของเพื่อนที่ชอบกวนตีนน่ะครับ มันจะชอบแย่งนอนกันตรงกลาง แย่งกันอยู่นั่นแหละจนผมหมั่นไส้ วันหนึ่งผมเลยพูดขึ้นมาว่า ถ้ากูตายนะกูจะมาหลอกคนนอนกลางก่อนเลย แล้วมาคิดว่า เออ คำนี้มันเจ๋งดีว่า ไอเดียนี้มันเกิดจาก what if ไม่มีอะไรใหญ่แต่มันน่าสนุกมาก

คิดว่าเรื่องนี้แตกต่างจาก “ผีสามบาท” หรือ “Three” อย่างไร  
บรรจง อย่าง “ผีสามบาท” หรือ “Three” อาจจะตีโจทย์ความสยองขวัญเป็นน่ากลัวหมดเลย พูดตรงๆ ในวินาทีนี้ ตัวเราเองเราทำหนังผีมาสองเรื่องเนี่ย ในฐานะที่เราเป็นคนดู เราก็เบื่อหนังผีมาก เราก็คิดว่าจะมีทางอะไรใหม่ๆ ไหมที่ได้ผลกับคนดู คนดูยังบันเทิงกับมันได้มากๆ เราก็ตีความว่าความเป็นหนังสยองขวัญไม่ได้แปลว่าต้องน่ากลัวอย่างเดียว อย่างผมก็มาลองทางใหม่เลย เป็นแนวตลก เป็นหนังผีที่เติมอารมณ์ขัดเสียดสีบางอย่างลงไป อาจจะไม่ได้ฮาโป๊งซึ่ง แต่จะมีกลิ่นที่คนดูจะรู้สึกว่า เออกวนตีนดี

 

ยันต์สั่งตาย”
ผู้กำกับ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา จาก บอดี้ ศพ#19
แก็งค์เด็กช่างกล (สายป่าน - อภิญญา สกุลเจริญสุข และบอล วิทวัส สิงห์ลำพอง) ต้องมาเผชิญกับเรื่องราวสุดโหดที่เกิดจากการสาปแช่ง    

สำหรับตัวคุณปวีณเอง “สี่แพร่ง” ตอนของคุณแตกต่างจากผลงานก่อนหน้าอย่าง “บอดี้ศพ19”ยังไง?
ปวีณ  ถ้าเทียบกับบอดี้ก็คงเป็นในแง่ของวิธีการนำเสนอ คือมันก็จะแบบว่าไปสุดๆ อีกทางหนึ่งเหมือนกัน บอดี้ก็จะเป็นทางแบบ มีหักมุมเล่าเรื่องด้วยชั้นเชิง แล้วก็ความนิ่งของหนังบวกกับซีจีหวือหวาเข้าไป แต่ว่า“ยันต์สั่งตาย” ที่ผมทำในสี่แพร่งนี่ เราต้องทุกอย่างให้คนดูรู้สึกภายใน 25 นาทีให้ได้ ด้วยวิธีการถ่ายการใช้มุมกล้องก็จะแตกต่างออกไป เดี๋ยวต้องไปดูเองครับว่ามันเป็นยังไง  บทนี่เอามาจากพี่เอก (เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์) เขาวาดเป็นการ์ตูนเอาไว้ แล้วผมชอบการ์ตูนเรื่องนี้  ผมก็ขอเขามาทำน่ะครับ

 

หนังเรื่องนี้จะแตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นอย่างไร โดยเฉพาะที่เป็นแนวหลายๆ เรื่องมารวมกัน อย่าง “ผีสามบาท” หรือ “Three”?  
ปวีณ  ผมไม่รู้ว่าคนที่ดู “ผีสามบาท” หรือ “Three” แล้วรู้สึกยังไงนะฮ่ะ แต่ว่าในฐานะที่ทำสี่แพร่ง แล้วคนก็อาจจะมองว่า มันจะเหมือนกันหรือเปล่า ตอนที่เราทำกันและตอนที่เสร็จออกมาแล้วเนี่ย ผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังผีที่แตกต่างกัน อารมณ์ของความเป็นหนังผีอาจจะเหมือนกัน แต่จะไม่มีเรื่องไหนที่ซ้ำทางกันเลย เป็นผีคนล่ะทาง อย่างผมก็อาจจะบอกว่าเป็นผีแอ็คชั่น  คนอื่นก็เป็นผีแบบอื่น

“สี่แพร่ง” หวังที่จะบุกตลาดต่างประเทศเฉกเช่นหนังสยองรุ่นพี่ของ GTH โดยอาจจะไปประเดิมขายที่คานส์ก่อน  แต่ในส่วนความสำเร็จด้านรายได้ในเมืองไทย  ยงยุทธได้กล่าวว่า การทำหนังสำหรับเรา เรื่องคุณภาพการสร้างนี่เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ แต่ความถูกใจคนดูเหมือนการเล่นพนัน แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์หนึ่งของการทำหนัง ทำได้แต่เพียงระมัดระวังและโปรโมตให้ดี

   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.