สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
“สี่แพร่ง”
  LINK : เปิดกล้อง ผู้กำกับเปิดใจ              บทวิจารณ์ สี่แพร่ง - หนังทีี่เหมาะสำหรับคู่เดท   
 
เหงา (ยงยุทธ ทองกองทุน)
ยันต์สั่งตาย (ปวีณ ภูริจิตปัญญา)
คนกลาง (บรรจง)
Last Fright (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ)
 
   
 
   


โปสเตอร์ฉบับอินเตอร์


จุดเริ่มต้นการรวมตัวของ 4 เสือ มาจากการคันไม้คันมืออยากทำหนังผีแนวใหม่ๆ เลยเริ่มชักชวนกันมาทำ หาหนทางใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ เพื่อจะแหกความคิดที่ว่า “ฤา หนังผีจะถึงทางตันเข้าซะแล้ว” และทันทีที่ 4 ผู้กำกับร่วมหัวช่วยกันคิด ทั้งหมดก็พร้อมใจกันตบเข่าฉาด พร้อมไอเดียใหม่ๆก็ผุดขึ้นมาในหัวอย่างฉับพลัน บวกกับแต่ละคนก็มีของกันอยู่แล้ว เลยชักมันมืออยากปล่อยของสนุกๆแบบหลอนๆกันอย่างสุดฤทธิ์

อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร           ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม,  บุษบา ดาวเรือง,  วิสูตร  พูลวรลักษณ์ และจินา โอสถศิลป์
                               
อำนวยการสร้าง                   จิระ  มะลิกุล, ยงยุทธ  ทองกองทุน, เช่นชนนี  สุนทรศารทูล, สุวิมล เตชะสุปินัน

บทและกำกับภาพยนตร์          ยงยุทธ  ทองกองทุน, ปวีณ  ภูริจิตปัญญา, ภาคภูมิ  วงศ์ภูมิ และ บรรจง   ปิสัญธนะกุล

ดำเนินงานสร้าง                    บริษัท จอกว้าง ฟิล์ม จำกัด

ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์        เอกสิทธิ์ ไทยรัตน

กำกับภาพ                           นิรมล  รอสส์ และ สมบุญ  โพธิ์พิทักษ์กุล

ลำดับภาพ                           วิชชพัชร์  โกจิ๋ว, ธรรมรัตน์  สุเมธศุภโชค, ปวีณ  ภูริจิตปัญญา, สุรวุฒิ  ตุงคะรักษ์

คัดเลือกนักแสดง                   HUBHOHIN  BANGKOK, ปานใจ     ศิริสุวรรณ และ ณัฐพัชร์  ล้อธีรพันธ์         

ออกแบบเสียง                       Ben Wilkins (M.P.S.E)

บันทึกเสียง                          ห้องเสียงกันตนา  

ดนตรีประกอบ                     เทิดศักดิ์  จันทร์ปาน และ หัวลำโพง  ริดทิม

ออกแบบงานสร้าง                 บริษัท   เซนต์อาร์ต  จำกัด และ อรรคเดช  แก้วโคตร

กำกับศิลป์                          โสภณ  พูลสวัสดิ์

ออกแบบเครื่องแต่งกาย          เอกศิษฎ์  มีประเสริฐสกุล และ ฐาดิณี  รัชชระเสวี

แพร่งที่ 1 เรื่อง “เหงา”  โดย “ยงยุทธ ทองกองทุน”     นำแสดงโดย “มณีรัตน์ คำอ้วน”

ความเหงา สามารถทำให้ผู้หญิงทำอะไรโง่ๆได้หลายอย่าง ดังเช่นสาวออฟฟิศในเรื่องนี้
เธอเหงา เธอตกงาน เธอโดนทิ้ง เธอหดหู่สุดขีด เมื่อมีข้อความเข้ามาในมือถือว่า “อยากรู้จัก”
เธอจึงเริ่มต้น SMS กับคนที่เธอจะต้องเสียใจ


ระดับความน่ากลัว ตื่นเต้น และเสียวสะท้าน เทียบได้กับการได้ไปเที่ยวในสวนสนุกแล้วขึ้นไปเล่น “Tower Hell Drop” หรือ “เครื่องทิ้งดิ่งสุดสยอง” ที่จะค่อยๆพาเราขึ้นไปจนถึงจุดสุดยอดก่อน แล้วจะทิ้งตัวลงมาเบื้องล่างในแนวดิ่งอย่างรวดเร็วจนเราเสียวสันหลังวาบ สะท้านไปถึงร่องตุ๊ดส์ และกลัวแทบสิ้นสติ ไม่สามารถเก็บความรู้สึกที่พลุ่งพล่านเอาไว้ได้ ต้องร้องกรี๊ด...เสียงหลงเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ภายในออกมาอย่างบ้าคลั่ง!

เรื่อง “เหงา” ก็เป็นเช่นนั้น! เป็นความกลัวในแบบใกล้ตัว ! ที่ผู้กำกับต้องการสื่อให้คนดูมีอารมณ์ร่วมและหวาด กลัวไปกับสถานการณ์ที่ใกล้ตัวมาก จนเกิดอาการเย็นสันหลัง ขนลุกซู่โดยไม่ต้องมีเสียง เป็นเรื่องที่เล่นกับความ รู้สึกที่เราคุ้นเคย โดยผู้กำกับจะค่อยๆหลอกให้เราเข้าไปติดกับทีละเล็ก ทีละน้อย จนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะ เวลานั้นเราก็ไม่สามารถกลับตัวได้ทันซะแล้ว ทำให้เราตกอยู่ในภาวะเสียววูบ เย็นวาบอย่างบอกไม่ถูก และไม่ทันได้ตั้งตัวซะด้วยซ้ำ !

“เหงา” เป็นความเหมือนจริง เป็นความน่ากลัวของคนเมือง ที่ถึงแม้จะมีแสงสีมีความวุ่นวายอย่างไร แต่ก็ยังเกิดความน่ากลัวขึ้นจนคุณสัมผัสได้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าการมีมือถือ หรือการส่ง SMS เป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปแล้ว และอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีหญิงสาวคนหนึ่ง มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่คนเดียวในห้องแคบๆ แล้วได้รับการติดต่อผ่าน SMS จากคนแปลกหน้า โดยที่เธอไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเค้าเป็นใคร มาจากไหน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดในห้องของเธอ…

 

จากผู้กำกับ สตรีเหล็ก 1 และ 2, แจ๋ว, แก็งชะนีกับอีแอบ “สิน ยงยุทธ ทองกองทุน” ผู้กำกับมากมายอารมณ์ขัน ที่คว้ารางวัลมานักต่อนักและผลงานก็เป็นที่ชื่นชอบทั้งในและต่างประเทศมาแล้ว แต่ที่ตัดสินใจพลิกจากคอมมิดี้มากำกับหนังแนวเขย่าขวัญเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกอย่างเต็มตัว เป็นเพราะมีความตั้งใจอยากทำหนังสยองขวัญในอีกอารมณ์หนึ่งที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในไทย โดยมีสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดนั่นคือ อยากให้หนังเรื่องนี้ดูคุ้นเคยจนน่าขนลุก เรียกว่าดูหนังจบคนดูอาจจะไม่อยากได้รับ SMS จากใครอีกเลยก็ได้ ซึ่งในฐานะผู้กำกับหนังผีน้องใหม่ แต่ฝีมือไม่ใหม่รับประกันว่า เป็นผลงานของมือใหม่หัดขับที่อยากให้ลอง รับรองว่าจะทำให้คุณหลอนและเย็นวาบไปทั้งตัวแน่นอน ผู้กำกับผีรุ่นพี่อย่าง โต้ง, โอ๋, กอล์ฟ ยกนิ้วรับประกัน ของแท้ ชัวร์ไม่มั่วนิ่ม !

ความแปลกและน่าสนใจอีกอย่างของเรื่องนี้คือ ตลอด 30 นาทีของหนังเรื่องนี้จะมีแค่นักแสดงเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เล่นอยู่ในหนังทั้งเรื่อง ไม่มีนักแสดงคนอื่นปรากฏตัวอยู่เลย และไม่มีบทสนทนาพูดคุยเลยจนจบเรื่อง คนที่จะมาถ่ายทอดบทนี้ต้องทำได้หลากหลายอารมณ์และต้องชัดเจน ทั้งอารมณ์ดี รื่นเริง เหงา เศร้า หรือกลัวสุดขีด เพราะหนังค่อนข้างสั้นและอารมณ์ทั้งหมดก็ต้องถูกถ่ายทอดผ่านใบหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต้องใช้จินตนาการเองล้วนๆในตอนแสดง ซึ่งนักแสดงต้องทำการบ้านหนักมาก และคนที่ต้องรับบทหนักในบทนี้ก็คือ “เอ๋ มณีรัตน์ คำอ้วน” ที่ผู้กำกับตั้งใจเลือกเธอมาโดยเฉพาะ

สาเหตุที่เลือก “เอ๋” ให้แสดงบท “ปิ่น” ในเรื่องนี้เนื่องจาก ผู้กำกับเห็นความน่าสนใจในตัว “เอ๋” หลายๆอย่าง สะดุดที่รอยยิ้มของเธอ ที่ยิ้มแล้วรู้สึกใบหน้าสว่าง สามารถทำให้ห้องที่มืดอยู่สว่างขึ้นได้ทันที แต่ทันทีที่เศร้าเราก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนจากดวงตาและใบหน้าของเธอเช่นกัน แล้วอีกอย่างคนที่ต้องเล่นบทนี้ต้องมีลุคที่มีพลังฉายออกมา แต่ต้องดูเป็นคนที่สัมผัสได้ เป็นคนใกล้ๆเรา เป็นเพื่อนเราได้ด้วย เพราะทันทีที่เธอตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เราจะอยากช่วยเหลือเธอมากๆ ซึ่ง “เอ๋” มีบุคลิกอย่างนี้อยู่ในตัวอย่างที่อยากได้ทั้งหมด รวมทั้งฝีมือการแสดงที่ถือเป็นไฮไลท์ของเรื่องช่วงสุดท้ายของหนัง เราจะได้เห็นความกลัวที่ไม่เคยเห็นในหนังไทยมาก่อน ! ซึ่งผู้กำกับ “สิน” ถึงกับเอ่ยปากบอกเลยว่า “ถ้าไม่ใช่ “เอ๋” ก็นึกไม่ออกว่าใครจะเหมาะกับบทนี้แล้ว”

และเมื่อ “เอ๋” ถูกเลือกให้รับบทนี้ ให้แสดงความสามารถและพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มตัว ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป ทันทีที่ผู้กำกับติดต่อมา ก็ตกปากรับคำเซย์เยสทันที โดยยังไม่ทันได้อ่านบทเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากได้มาอ่านบทแล้วกลับพูดเปิดอกยอมรับเลยว่า รู้สึกว่าบทนี้ยากมากและรู้สึกกลัวมาก กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ เกิดอาการนอยด์ขึ้นมาซะอย่างนั้น แต่พอมาเจอกับผู้กำกับแล้วก็ทำให้เธอมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ได้กำลังใจมากขึ้น เพราะผู้กำกับและทุกคนมั่นใจในตัวเธอนั่นเอง

มาถึงด้านโลเกชั่นที่ทีมงานต้องพิถีพิถันหาห้องเช่าของ “ปิ่น” กันอยู่นานสองนาน เพราะเนื่องจากทั้งเรื่องต้องถ่ายทำกันที่ห้องเช่านี้เกือบทั้งเรื่อง จึงต้องสรรหาเป็นพิเศษ  อีกทั้งลักษณะของตึกที่ต้องสามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้ เป็นห้องสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ต้องการตึกที่มีบุคลิกในตัว และที่สำคัญตัวห้องต้องอยู่ตรงหัวมุม ตรง 4 แยกพอดีอีกด้วย เลยเป็นโจทย์ที่ยากมาก หากันหลายที่มาก จนมาเจอตึกแถวเยาวราช ที่เป็นตึกให้เช่าจริงๆ มีอายุประมาณ 40-50 ปี อยู่ตรง 4 แยกพอดี และข้างๆก็มีทั้งตึกเก่าและใหม่ล้อมรอบ ทำให้ดูมีเรื่องราวมีเสน่ห์ ถูกใจผู้กำกับมาก แต่ด้วยห้องเช่าที่แคบมากไม่เอื้อต่อการถ่ายทำ เลยต้องมีการเนรมิตภายในห้องเช่าของ “ปิ่น”ที่สตูดิโอแทน และเพราะ 85% ต้องถ่ายอยู่ในห้องเลยต้องดีไซน์พื้นที่ให้เอื้อต่อการถ่ายทำได้อย่างดี เช่นเพดานต้องถอดได้ อยากจะถ่ายตรงไหนเราก็ถอดด้านนั้นออก และยังต้องทำให้เหมือนเป็นห้องเล็กอีกด้วย เรียกว่าทำได้เหมือนจริง เนี๊ยบมาก อารมณ์ได้และสอดคล้องกับตัวตึกที่เราได้มามากๆ ขอบอกได้เลยว่าแม้แต่ทีมงานคนเซ็ตห้องเองยังบอกไม่ได้เลยว่าฉากไหนถ่ายที่จริง ฉากไหนถ่ายที่สตูดิโอ !


เมื่อความเครียดเรื่องโลเกชั่นผ่านพ้นไป ผู้กำกับก็ต้องมากุมขมับนั่งเครียด กินไม่ได้ซะหลายวัน ทำเอาน้ำหนักแทบลด(แต่ไม่ฮวบ) เพราะในเรื่องนี้นอกจากที่ต้องถ่ายทำกันในห้องเช่าแคบๆของ “ปิ่น” แล้วยังต้องมีฉากแอ็ค ชั่นใหญ่ๆ ที่ทำเอาผู้กำกับตื่นเต้นถึง 2 ฉากด้วยกัน คือเป็นฉากที่ “ปิ่น” ต้องตกตึก 7 ชั้น และฉากรถคว่ำกลางสี่แยกที่ไม่ค่อยมีฉากแบบนี้ในหนังไทยมาสักพักหนึ่งแล้ว

สำหรับฉากตกตึก 7 ชั้น เรียกว่าสูงประมาณ 30-40 เมตร แค่ยืนตรงระเบียงแล้วมองลงมาข้างล่างก็เสียวมากแล้ว ขนาดสตั้นท์เองยังรู้สึกหนาวๆเลย แต่ “เอ๋” ก็สปิริต ตั้งใจอาสาเล่นด้วยตัวเอง พร้อมบอกประโยคเด็ดกับผู้กำกับว่า “ถ้าไม่เล่นเอง ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ทำแบบนี้ซักกี่ครั้ง” เลยขอทำเองซะเลย ทำเอาผู้กำกับหนาวๆร้อนๆ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะเซฟกันมากขนาดไหนก็ตาม แต่สุดท้ายก็สู้ความทัดทานของ “เอ๋” ไม่ได้ ต้องขึ้นสลิงซักซ้อมเพิ่มความสูงขึ้นทีละนิดเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อน พอถึงคิวถ่ายจริง “เอ๋” ต้องถ่ายฉากตกตึก 7 ชั้นนี้ถึง 4 เทคด้วยกันพอถ่ายเสร็จ “เอ๋” ติดใจอยากเล่นอีก ทำเอาพี่สินผู้กำกับหัวใจจะวาย รีบเซย์โนทันทีพร้อมบอกว่า “พี่ได้ภาพที่สุดยอดของน้องแล้ว” (พร้อมถอนหายใจโล่งอกซะเฮือกใหญ่)

ฉากรถคว่ำกลางสี่แยก เป็นอีกฉากที่หนักหนามาก เป็นฉากหลังฝนตกใหม่ๆ พื้นถนนลื่น แล้วสตั้นท์ต้องขับรถให้เหินขึ้นมาแล้วลงไปพลิกคว่ำ แล้วไถลไปอยู่ตรงกลางสี่แยกแบบพอดิบพอดี เลยต้องผ่านการวางแผนมาอย่างดี ทุกอย่างต้องเป๊ะๆ ต้องตรงจุดทุกอย่าง ทำให้ต้องเตรียมงานเพื่อช็อตนี้กันทั้งคืน ต้องทำการปิดถนนเพื่อเซ็ทอุป กรณ์ต่างๆ ที่ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนใจกลางกรุงเทพ แถมยังต้องเร่งเวลาถ่ายให้เสร็จก่อน 7 โมงเช้า เพราะหลังจากนั้นรถจะติดมาก ซึ่งฉากนี้เป็นอีกฉากที่โหดเพราะนอกจากจะต้องเร่งถ่ายแล้ว ยังต้องอยู่ในรถที่คว่ำนานมาก แล้วยังต้องเอาตัวเข้าไปนอนให้เบาะทับ สิ่งของต่างๆมาทับที่ตัวอีก เรียกว่า “เอ๋” ต้องนอนอยู่นานจนตะคริวกินกันเลย


และทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของผู้กำกับ ทีมงาน และนักแสดงที่อยากให้ “เหงา” ตอนนี้ ทั้งเหงา หลอน และ ผวา จนคุณไม่อยากรับ SMS จากใครอีกเลย !!!

แพร่งที่ 2 เรื่อง “ยันต์สั่งตาย” โดย “ปวีณ ภูริจิตปัญญา” นำแสดงโดย “วิทวัส สิงห์ลำพอง”
 “อภิญญา สกุลเจริญสุข”  “ชล วจนานนท์”    
    

จินตนาการถึงวิธีการเอาคืนแบบเด็กๆ อย่างการเขียนกระดานดำล้อชื่อพ่อเพื่อน
แล้วลองจินตนาการถึงการเอาคืนของเด็กช่างกลกลุ่มนี้
ที่เลือกวิธีเขียนยันต์สั่งตาย แช่งคนที่พวกเขาเกลียดขี้หน้า จินตนาการดูซิว่า
ดีกรีความโหดมันจะสุดขั้วกว่ากันแค่ไหน

ระดับความน่ากลัว ความสยอง ความหวีด เทียบได้กับการได้ขึ้นไปอยู่บน “รถไฟเหาะหฤโหด” หรือ “Bloody Roller Coaster“ ถ้าใครได้เคยขึ้นคงรู้ดีว่ามันทั้งสนุก เสียว เร้าใจและตื่นเต้นปนขวัญผวามากแค่ไหน มีทั้งจังหวะกระตุก จังหวะเสียวสันหลังไปพร้อมๆกัน แต่สำหรับหนังเรื่องนี้แล้วอยากให้จินตนาการถึงรถไฟเหาะที่ตีลังกาซัก 5 รอบ ในแบบที่หัวอยู่ใต้ราง และเท้าห้อยอยู่นอกตัวรถกันเลย เพราะมันจะทำให้คุณเสียวเพิ่มขึ้นอีกเป็น 10 เท่าทวีคูณ เลือดในร่างกายฉีดพล่านไปทั่วร่าง ร้อนผ่าวกันแบบทั่วตัวแน่ๆ!

เพราะ “ยันต์สั่งตาย” เป็นหนังผีแอ็คชั่นที่ดุเดือนเลือดพล่านมาก ในชนิดที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่พอจุดชนวนเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะระเบิดออกมาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงอีกด้วย คือหนังเรื่องนี้จะแทบไม่มีเวลาให้คนดูได้หยุดพักเลย ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก ต้องคอยลุ้นอยู่ตลอดเวลา จนเกิดอาการขวัญกระตุกตื่นเต้นจนหายใจไม่ออกตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายกันเลย


เป็นเรื่องราวของการแก้แค้น การเอาคืนของคนที่มีวิชาอาคม เป็นการเอาคืนโดยการเล่นของอย่างหนึ่งในรูปแบบของยันต์ ที่เรียกว่า “ยันต์สั่งตาย” เพื่อมาไล่ล่าแก้แค้นแทน แต่สุดท้ายหนังต้องการจะบอกว่าการแก้แค้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะมันจะไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันสงบสุข !

“ยันต์สั่งตาย” มีที่มาจากความชอบของผู้กำกับในการ์ตูนเรื่อง “The Paper” ของพี่เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ที่เป็นคนวาดการ์ตูนเรื่องนี้และเป็นคนที่เขียนบทหนังเรื่องบอดี้ ศพ#19มาแล้ว ผู้กำกับชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากอยากเอามาทำเป็นหนังอยู่แล้วแต่ความยาวของเรื่องและรายละเอียดไม่สามารถทำเป็นหนังยาวได้ แต่พอมีโอกาสทำหนังเป็นตอนๆแบบนี้เลยได้ทีเข้าทางผู้กำกับเข้าให้ เลยขอการ์ตูนเรื่องนี้มาทำและก็ได้พี่เอกมาเขียนบทเรื่องนี้ให้ด้วยซะเลย ทำให้เข้าขารู้ทางกันเป็นอย่างดี  

และหลังจากบอดี้ ศพ#19 ได้ออกฉายไป จนผู้กำกับกอล์ฟได้รับฉายาว่า “เจ้าพ่อซีจี”ไปแล้ว เพราะแทบทั้งเรื่องใช้ซีจีได้อย่างแนบเนียน ได้มุมมองที่แปลกตาและภาพสวย เลิศ ทันสมัยไม่เหมือนใคร กลายเป็นเอกลักษณ์และคาแร็คเตอร์ในหนังของผู้กำกับคนนี้ไปซะแล้ว แถมทำให้ผลงานโกอินเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ประเทศอเมริกาในงาน American Film Market จนได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆที่จะซื้อไปฉายถึง 10 ประเทศ  มาคราวนี้สำหรับเรื่อง “ยันต์สั่งตาย” เพื่อไม่ให้เสียชื่อ “เจ้าพ่อซีจี” จึงไม่น่าแปลกใจที่ในหนังเรื่องนี้จะมีการใช้เทคนิคพิเศษหรือซีจีในหนังเรื่องนี้แบบเต็มๆอีกครั้ง แถมยังขนเอฟเฟคและอุปกรณ์พิเศษต่างๆมาใช้กับเรื่องนี้อีกเยอะแยะมากมาย

ซีจีอย่างแรกทีเห็นและถือเป็นตอนสำคัญของเรื่อง คือ “กระดาษที่มีชีวิต” กระดาษที่สามารถออกไปไล่ล่าคนได้ สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ อย่างฉากที่ผู้กำกับเรียกว่า “เพเพอร์ แอคแทค” เป็นฉากที่ยันต์สั่งตายบินมารอบๆรถของเหยื่อและทุบกระจกจนร้าวเพื่อจู่โจม คือต้องการได้ภาพที่ให้กระดาษมันตีเข้าที่กระจกรถ เหมือนนกกระพือปีกตีเข้ากับกรงนกประมาณนั้น เพื่อให้ภาพดูรุนแรง น่าสนใจ น่ากลัว และคุกคามในเวลาเดียวกัน

และส่วนอื่นๆที่ต้องใช้ซีจี คือผี ด้วยคาแร็คเตอร์ของผีที่เราอยากได้คือผีตายโหง เราต้องสร้างมาจากซีจีล้วนๆ เพราะต้องการให้ผีมีการเคลื่อนไหวที่ดูผิดปกติ ซึ่งถ้าเอาคนมาเล่นหรือให้ขยับตัวแบบนั้นมันทำไม่ได้ และอีกอย่างผู้กำกับต้องการให้หน้าผีดูบูดเบี้ยวแบบไม่มีกรอบอะไรมายึดติดว่าต้องออกมาเป็นแบบไหน จึงต้องสร้างคาแร็คเตอร์ผีนี้ขึ้นมาด้วยซีจีเพื่อให้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างที่ต้องการ เรียกว่าภาพที่ออกมาจะทำให้ทั้งกลัว ทั้งสยองแบบที่ผู้กำกับอยากให้เป็นแน่นอน

และอีกฉากที่ต้องใช้ซีจีเรียกว่าแทบทั้งฉากคือฉากที่มีเด็กถูกแกล้งจนพลาดตกตึกล่วงลงมาโดนเสาธงเสียบ ฉากนี้ต้องถ่ายบนกรีนสกรีน ใช้ซีจีในการเนรมิตสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเสาธงและเศษกระจกที่แตกออกมาก็ใช้ซีจีในการสร้างด้วย เพื่อความสวยงามของฉาก ทำให้ได้มุมมองของภาพที่ต้องการ และได้มุมที่แปลกตาออกไป และยังมีอีกมากมายหลายฉากที่ใช้ซีจีเข้าช่วยเพื่อให้สมจริง สวยงาม และสยดสยอง ตามสไตล์ของผู้กำกับ

นอกจากนี้ยังมีฉากที่ต้องใช้เอฟเฟคเข้าช่วยด้วยอีกหลายต่อหลายฉาก อย่างฉากที่ “บอล” ต้องถูกไฟคลอกทั้งหน้าและตัว โดยต้องแต่งให้ไหม้ไปทั้งตัว ซึ่งต้องมีการทำให้หัวล้านไปครึ่งหนึ่ง และใส่ผมปลอมเข้าไปเพราะเวลาไฟโดนผมจะไหม้และมีลักษณะเป็นหยิกๆเลยต้องเมคอัพใหม่ทั้งหมด ทั้งเสื้อผ้าก็ต้องขาดวิ่นเหมือนโดนไฟคลอกด้วย และก็จะไปผสมกับในคอมพิวเตอร์ที่เป็นไฟอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกเผาอย่างสมจริงมากขึ้นไปอีก ซึ่งการเมคอัพนี้ใช้เวลาแต่งนานถึง 3 ชั่วโมงเต็มๆ โดยใช้แผ่นกาวแปะบนหน้าแล้วค่อยๆเมคอัพใช้ผมปลอมซึ่งต้องเอาไปเผาไฟก่อนค่อยๆมาติดบนหัว ให้เหมือนผมที่โดนไฟไหม้จริงๆ ซึ่ง “บอล”แอบกระซิบว่า ทั้งเหนียว ทั้งเหม็นทรมานมากๆ

อีกฉากที่ต้องอาศัยการแต่งหน้าเอฟเฟคเข้าช่วยและถือเป็นฉากไฮไลท์ก็คือ ฉากที่ถูกควักลูกตาออก เป็นอีกฉากที่เมคอัพกันทรหดอดทนมากคือเกือบๆ 3 ชั่วโมง คือจะทำให้เหมือนตาถูกควัก และมีลูกตาปลอมออกมา ถ่ายฉากนี้กันตอน 6 โมงเช้า เริ่มแต่งหน้ากันตั้งแต่ตี 3 เพื่อให้ได้ภาพที่สยอง สวยงามและน่าสะพรึงกลัวให้ได้มากที่สุด

ฉากเหล็กเสียบคอ เป็นฉากที่ “ชลลี่” โดนอำนาจของยันต์สั่งตาย จนตกใจถอยหลังไปสะดุดกองเหล็กและล้มใส่กองเหล็กเส้น ทำให้เหล็กทะลุเข้าไปในคอ แล้วไปตุงอยู่อีกด้านหนึ่ง เป็นฉากที่ผู้กำกับอยากเมคอัพให้ได้ภาพที่ดูสุดโต่ง สยอง และดูเว่อร์ขึ้นเพื่อเร้าอารมณ์คนดูในฉากนั้น เลยทำเป็นลักษณะของเนื้อที่ย่นและยู่จนยื่นออกมา ให้ดูน่าขยะแขยงแต่ดูไม่อุจาดตาเกินไป ซึ่งก็ทำออกมาอย่างได้อารมณ์สุดๆ

มาถึงฉากที่ต้องยกนิ้วให้กับสปิริตของนักแสดงคือ ฉากที่ “บอล” ต้องตกตึก และ “บอล” อาสาเล่นเองเพราะอยากได้ภาพที่เห็นเป็นตัวเค้าเองจริงๆ ซึ่งต้องถ่ายตกตึกอยู่อย่างนั้นประมาณ 50 รอบได้ อยู่บนสลิงนานเกือบ 5 ชั่วโมง เพราะผู้กำกับอยากได้ภาพหลายๆมุม และบางครั้งสลิงก็ไม่เป็นใจไม่ล่วงลงมาในตำแหน่งที่ต้องการ เลยต้องถ่ายกันอยู่หลายรอบ เรียกว่าถ่ายจน “บอล”ไม่สบาย แต่ก็สปิริตถ่ายต่อจนได้ภาพที่พอใจ  

อย่างที่บอกไปว่าเรื่องนี้หนักทั้งซีจี และเอฟเฟค เพราะฉะนั้นนักแสดงที่เล่นจึงไม่ได้มาเล่นแบบสบายๆแน่ ทั้งต้องทรมานกับการแต่งหน้าเอฟเฟคแต่ละครั้งเกือบครึ่งวัน หรือไหนจะต้องเล่นต้องจินตนาการ ทั้งหวาดกลัว ทั้งร้องไห้ ตกใจ เล่นกับลม กับอากาศอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีอะไรอยู่รอบตัวเราเลย เพราะในฉากเหล่านั้นต้องใช้ซีจีสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านหนักมากทีเดียว


และหนึ่งในนักแสดงที่ผู้กำกับตั้งใจเลือกมาก็คือ “สายป่าน” คือทันทีที่เขียนบทเสร็จผู้กำกับก็ปิ๊งขึ้นมาเลยว่าบท “พิงค์” น่าจะเหมาะกับ “สายป่าน” เพราะอยากได้ลุคของเด็กผู้หญิงที่สามารถอยู่ในก๊วนของผู้ชายได้ และมีความเป็นเด็กนักเรียนที่ดูธรรมดาๆ แต่แววตาของเค้าและความสามารถทางการแสดงนั้นสุดยอด และพอได้มาเล่นจริงๆก็สุดยอดมากๆ เพราะสามารถเล่นได้ดีในทุกฉาก ทั้งซีนอารมณ์ ดราม่า และแอ็คชั่น ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดีจริงๆ

ส่วนบท “เดี่ยว” ที่รับบทโดย “บอล” ซึ่งเป็นบทหัวโจกของกลุ่ม ต้องดูเป็นเด็กที่เฮี้ยว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และดูเอาแต่ใจตัวเอง ที่สำคัญต้องมีบุคลิกของความเป็นผู้นำ แคสติ้งบทนี้อยู่นาน จนไม่ได้คิดถึง “บอล” เพราะยังรู้สึกว่าติดภาพบอลจากหนังเรื่อง Seasons Change ที่เป็นภาพเด็กเล่นดนตรี แต่พอได้เห็นบอลมาแคสบทนี้กลับโดนใจผู้กำกับมากๆ และด้วยนิสัยจริงๆที่ออกกวนๆของบอลด้วยแล้ว เลยทำให้บท “เดี่ยว” นี้เหมาะกับ “บอล”แบบสุดๆ

เรียกว่าทุกฉาก ทุกตอนในหนังเรื่องนี้ตั้งใจ ประคบประหงม และถูกดีไซน์มาอย่างดีเพื่อความน่าสะพรึงกลัวของหนัง บวกกับความบ้าและความมันส์ของตัวผู้กำกับด้วยแล้ว เรียกว่า “ยันต์สั่งตาย” สามารถทำให้คนดูแทบหยุดหายใจทุกวินาที และยังสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้กำกับ “กอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา” ได้อย่างดี 


   
   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.