สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

ไทย / English
หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
“ความสุขของกะทิ” พร้อมเปิดกล้อง ผู้กำกับหวังมอบความสุขให้แก่คนดู
  ณัฐธรณ์ กังวานไกล
  LINK : รายละเอียดนักแสดง         เรื่องย่อและข้อมูลอื่น ๆ
   
 
ผู้กำกับใหม่เจนไวย์ ทองดีนอก และเจ้าของ
บทประพันธ์ งามพรรณ เวชชาชีวะ
เด็กหญิงภัสสร (พลอย) รับบทกะท

หลังจากตามหากะทิมาพักใหญ่ วรรณกรรมเยาวชนรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2549 และหนังสือขายดีติดอันดับที่เขียนโดยงามพรรณ เวชชาชีวะ ก็ได้ฤกษ์เปิดกล้องเสียทีในวันนี้ โดยเลือกเอาพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดเป็นสถานที่บวงสรวงเปิดกล้อง เพื่อให้เข้ากับความเป็นไทยที่ปรากฏและเป็นหัวใจหลักอยู่ในตัวเรื่องต้นฉบับ โดยทีมงานหลักมากันครบครัน  โดยเฉพาะนักแสดงหลักของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าและรุ่นกลางที่หายหน้าจากหนังไทยไปนานอย่างสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์,จารุวรรณ ปัญโญภาส และรัชนก แสงชูโต ร่วมด้วยเข็มอัปสร สิริสุขะ และศิลปินอิสระอย่างไมเคิล เชาวนาศัย ที่ขาดไม่ได้คือนักแสดงหน้าใหม่เจ้าของบทกะทิ คือน้องพลอย เด็กหญิงภัสสร คงมีสุข ผู้ผ่านด่านตัวเลือกคนอื่นๆ นับร้อย และเด็กชาย.ณัฐพนธ์ โค้วสกุล ซึ่งรับบทสำคัญอีกหนึ่งบทของเรื่องคือทอง ตัวละครที่มีความผูกผันอย่างสูงกับกะทิ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ “ภาพยนตร์ ชูใจ” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มศิษย์เก่าด้านภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นำทีมโดยจาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ หนึ่งในทีมบริหารสำคัญของสหมงคลฟิล์ม และสุฐิตา เรืองรองหิรัญญา หรือนิหน่า โปรดิวเซอร์สาวที่ผ่านงานหนังอย่าง “กั๊กกับกาวน์” และ “เขาชนไก่” มาแล้ว แม้ว่าชื่อของสองคนนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูหนักสำหรับคนดูหนังไทยหลายๆ คน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเขาก็ทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะไม่ทำงานอย่างลวกๆ เป็นแน่  

สุฐิตาเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้ว่า เกิดจากความสนใจของผู้กำกับ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนจะมีการรวมกลุ่มภาพยนตร์ชูใจ ส่วนตัวของเธอก็มีความเชื่อมั่นว่าผู้กำกับน่าจะถ่ายทอดงานออกมาได้อย่างดี เพราะเขาถึงแม้จะเป็นมือใหม่ แต่ก็มีประสบการณ์ด้านต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ ทีมงานอื่นๆ ก็ระดับมืออาชีพ ถึงอย่างนั้น สุฐิตาก็ยอมรับว่าการทำงานก็ต้องปรับจากเรื่องก่อน อย่าง “เขาชนไก่” ก็เป็นบู๊ๆ ผู้ชายๆ ลุยๆ หน่อย แต่เรื่องนี้การหาโลเคชั่นลำบากกว่ามาก เพราะบ้านเรือนไทยแบบที่ตรงตามอย่างที่ระบุไว้ในหนังสือ ซึ่งเป็นบ้านเรือนไทยแท้ๆ นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ก็ประยุกต์ติดกระจกสมัยใหม่กันหมด ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาได้ตามอย่างที่ต้องการ

เช่นเดียวกับเรื่องของนักแสดง ที่หลังจากประกาศตามหากะทิ ร่วมกับสำนักพิมพ์อรุณอมรินทร์กันอยู่พักหนึ่ง ส่งกันมาทั้งจดหมายและอีเมล์จนในที่สุดก็ได้น้องพลอย สุฐิตาอธิบายถึงเหตุผลที่เลือกน้องพลอยว่าเธอมีรอยยิ้มและแววตาที่เข้ากับบท ที่สำคัญคุณงามพรรณไม่ได้อธิบายถึงลักษณะของกะทิโดยละเอียด เธอเคยโพสต์ถามคนในเน็ตเล่นๆ ว่าหน้าตาคนมาแสดงเป็นกะทิควรเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครบอกได้  ความไร้กรอบในส่วนนี้จึงทำให้การเลือกนักแสดงไม่ยากนัก

ถึงอย่างนั้นสุฐิตาก็ยอมรับว่ายังมีความหนักใจในเรื่องที่ว่า “ความสุขของกะทิ” เป็นวรรณกรรมที่มีคนรักมาก บางส่วนระหว่างหนังกับหนังสืออาจจะไม่ตรงกันซะทีเดียว แต่เธอก็พยายามจะรักษาบทประพันธ์และดูแลให้ผลงานออกมาดีที่สุด สุฐิตาเห็นว่าเรื่องแบบนี้แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาดและเธอก็อยากทำเรื่องแบบนี้  ประเด็นที่สนับสนุนเรื่องความพอเพียง ซึ่งแทรกอยู่ในตัวเรื่องก็เป็นหัวข้อที่ใครๆ ก็สนใจ

สำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ เจนไวย์ ทองดีนอก เล่าถึงสาเหตุที่เขาหยิบเอา “ความสุขของกะทิ” มาทำเป็นหนังว่า เขาชอบหนังสือเล่มนี้ก่อนที่จะได้รางวัลซีไรต์เสียอีก  แต่สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจอยากทำเรื่องนี้เป็นหนังคือฉากๆ หนึ่งในหนังสือ ซึ่งกะทิระเบิดอารมณ์วิ่งร้องไห้ริมทะเล เพราะตัวเขาเองก็เคยวิ่งสุดแรงด้วยอารมณ์ใกล้เคียงกัน พออ่านแล้วก็นึกภาพตามเลยอยากทำฉากนี้ และคิดว่าคนที่ได้ดูก็คงจะชอบฉากนี้แน่ๆ หนังหลายๆ เรื่องอย่างของอากิระ คุโรซาว่า ก็เริ่มต้นขึ้นจากความอยากเห็นภาพของฉากๆ เดียว เขาเองก็พัฒนาหนังมาจากฉากๆ นั้น 

ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับเจนไวย์ เมื่อเขาได้เคยทำงานร่วมกับผู้ประพันธ์มาก่อน เพราะปรกติเขาทำงานประจำ  นั่นคือดูแลด้านบทให้สหมงคลฟิล์ม  และคุณงามพรรณก็เข้ามาช่วยด้านงานแปลต่างๆ ของบริษัท เลยได้พูดคุยทาบทามก่อนหนังสือจะดัง แล้วมันก็ดังจริงๆ  ตอนแรกเขาไม่มีกำลังทรัพย์พอจะซื้อลิขสิทธิ์ได้ แต่หลังจากนั้นกลุ่มภาพยนตร์ชูใจก็เกิดขึ้นพอดี  และกลุ่มก็ช่วยกันนำเสนอเรื่องนี้ต่อนายทุนซึ่งก็คือเสี่ยเจียง ด้วยความที่เสี่ยเจียงมองเห็นความน่าสนใจในตัวบทประพันธ์ซึ่งมีการแปลในภาษาต่างประเทศหลายๆ ภาษา รวมถึงสหมงคลฟิล์มก็มีความคิดที่จะให้โอกาสผู้กำกับหน้าใหม่ได้ลองทำหนังอยู่ตลอด เมื่อได้ไฟเขียวคุณงามพรรณก็ปฎิเสธผู้สนใจอื่นๆ ที่มาขอซื้อลิขสิทธิ์ทั้งหนังและละคร และมอบผลงานแสนรักของเธอให้ไปสู่มือของเจนไวย์  เพราะเห็นว่าเขาให้ความสนใจมาก่อนงานเขียนจะได้รับรางวัล แถมเจ้าของหนังสือยังมาร่วมเขียนบทด้วย เจนไวย์เชื่อว่าการร่วมงานกันระหว่างเขาและงามพรรณ จะสามารถนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสู่ทิศทางใหม่ๆ และการที่เธอมาช่วยเขียนบทก็ไม่ทำให้เขาหนักใจเลย   

สำหรับนักแสดงผู้รับบทกะทิ ผู้กำกับให้เหตุผลในการเลือกว่า เขาไม่อยากได้คนที่เด็กเกินไปจนอ่านหนังสือไม่ออก และไม่อยากได้คนที่โตจนเป็นสาวเกิน น้องพลอยเป็นคนที่โตด้านความคิดแต่ยังดูมีความเป็นธรรมชาติแบบเด็กๆ อยู่  เธอจึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบทนี้

ส่วนเมื่อมีคำถามว่าในฐานะที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ทำให้มีความวิตกกังวลหรือกลัวบ้างไหม? เจนไวย์ตอนแรกก็เหมือนจะกลัว แต่เมื่อได้ทำไปแล้วก็มีความสุข ทีมงานทุกคนมีความเชื่อในบทประพันธ์ ในตัวนักแสดง และเชื่อในสิ่งที่เราคิด เขาจึงตั้งใจจะทำอย่างเต็มที่ และคาดหวังว่าคนดูหนังไทยรวมถึงแฟนหนังสือจะใจกว้างพอที่จะมาร่วมแบ่งปันความสุขจากหนังเรื่องนี้ คนที่ได้ดูหนังจะเข้าใจชีวิตผ่านตัวละครเล็กๆ ที่ชื่อว่า “กะทิ”  

“ความสุขของกะทิ” เป็นเรื่องของเด็กหญิงตัวเล็กๆ นามว่ากะทิ ที่อาศัยอยู่กับตาและยาย และไม่เคยมีโอกาสได้พบหน้าแม่เลย มีเพียงภาพลางๆ ของแม่อยู่ในความทรงจำ จนวันหนึ่งเมื่อยายถามว่า “กะทิ อยากไปหาแม่ไหมลูก?” การเดินทางที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของกะทิจึงได้เริ่มขึ้น  หลังได้รับรางวัลซีไรต์ หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นหลายภาษา เช่น ญี่ปุ่น,เกาหลี,อังกฤษ,เยอรมัน,สเปน ฯลฯ

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.