สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
“ สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา”
  11 มกราคม 2551
  LINK : เครดิต เรื่องย่อ แคแรคเตอร์
  สารบัญ :  ปื๊ดเปิดใจเหตุผล ความยากลำบากกับฉาก และการถ่ายทำ
 

 


เปิดบันทึกบทที่
1 : รื้อฟื้นวัยเยาว์ของ “ปื๊ดธนิตย์” ผสมผสานจินตนาการ
ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล เปิดเผยตกลงใจทำ “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200ตา”   ผลงานการกำกับภาพยนตร์ในแนวผจญภัยแฟนตาซีอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในชีวิตโดยตั้งใจว่าจะทำหนังที่พ่อแม่สามารถจูงลูกจูงหลานมาดูด้วยกันได้
“ทำหนังเรื่องแรกตั้งแต่ปี 28 จนถึงวันนี้ จริงๆทำมาหมดแล้วทุกแนวทั้งแอ็คชั่น ตลก ความรัก มีผี มีผจญภัย ทำมาหมดแล้ว  แต่มีอยู่แนวเดียวที่เรายังไม่เคยทำนั่นคือ หนังผจญภัยแฟนตาซีแบบเต็มรูปแบบที่มีกลุ่มคนดูชัดเจนว่าเราจะทำให้ดูได้ทั้งครอบครัว ทั้งเด็ก พ่อแม่ วัยรุ่น เป็นหนังใสๆ ที่ว่าด้วยการผจญภัยที่มีตัวเอกเป็นเด็ก แต่ก็ยังขอมีการเติมจินตนาการเข้าไปให้เป็นการผจญภัยแบบสุดๆไปเลย ด้วยการใส่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์อย่าง เต่ายักษ์ ปูยักษ์ ปลาหมึกยักษ์ เป็นต้น ซึ่งมันก็เหมือนกับว่าในสมัยที่เราเป็นเด็กเอง เราก็เคยดูหนังจำพวกนี้ แต่เผอิญมันเป็นหนังฝรั่ง หนังญี่ปุ่นซึ่งมันก็คงเป็นอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวเราลึกๆ ที่เรายังไม่มีโอกาสได้ทำมันออกมา ประสบการณ์ตอนแอบไปดูทีวีบ้านเพื่อนซึ่งเปิดแต่หนังพวกนี้อย่างหนังสัตว์ประหลาด หนังญี่ปุ่นอะไรที่มีเข้ามา หรือแม้แต่หนังกลางแปลงที่ฉายโดยบริษัทโอวัลตินที่เอาหนังเข้ามาฉายอย่างอภินิหารขนแกะทองคำ เราก็เห็นซี่โครงฟันดาบได้(หนังของปรมาจารย์สต็อปโมชั่นRAY HARRYHAUSEN) ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ซึ่งมันคงฝังอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้หรอก  เพียงแต่เมื่อย้อนกลับไปดูหนังไทยในแนวทางนี้ที่ผ่านมาก็คงต้องบอกว่ามันยังมีน้อย จนถึงไม่มีเลย นั่นเป็นเพราะอาจจะด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ หรือเทคนิคที่จะมาตอบสนองจินตนาการเราได้  ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมากในตอนที่ตัดสินใจจะหยิบเอาโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมาทำ มันท้าทายเราในมุมที่ว่าด้วยบุคลิก คาแรคเตอร์ ด้วยประสบการณ์ด้วยมุมมองการทำหนังของเราสามารถที่จะทำหนังผจญภัยของเด็กออกมาได้ไหม”  

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “เสี่ยเจียง” สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ตกลงใจที่จะให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็คต์ภาพยนตร์ไทยผจญภัยแฟนตาซีเต็มรูปแบบสักเรื่องหนึ่ง

“วันหนึ่งเสี่ยก็ยื่นโอกาสมาให้เรา ว่าเออน่าสนใจนะ ถ้าจะมีหนังเกี่ยวกับเด็กสักเรื่องแล้วก็มีสัตว์ประหลาดตัวใหญ่ๆ มันก็คงจะเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจได้ ซึ่งมองในแง่ของคนทำในตอนนั้นแล้ว เราเองก็ยังไม่เคยทำ และก็ดูจากเทคนิคและเงินที่เสี่ยให้มาแล้ว มันก็น่าจะเป็นไปได้ มันก็เลยเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ของโปรเจ็คต์ “สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา” ขึ้นมา หนังที่มีจุดประสงค์ชัดเจนคือเพื่อเน้นสร้างความบันเทิงอย่างเต็มที่ เรื่องราวการผจญภัยของเด็กๆกลุ่มหนึ่งที่ออกผจญภัยไปในเกาะๆหนึ่งซึ่งตัวเกาะที่ว่านี่เองเป็นที่มาของการก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวได้เยอะมาก โดยตัวเกาะที่ว่าเป็นเกาะมหาสมบัติ แล้วที่มาที่ไปของสมบัติมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันมาจากไหน มันก็จะถูกร้อยเรียงเกี่ยวข้องถึงตำนานสมบัติของโจรสลัด ที่นี้แล้วความเป็นไปได้ของโจรสลัดในประเทศไทย มันเกิดขึ้นแถบไหนได้บ้าง ที่เคยมีมา มันก็เลยไปเกี่ยวข้องกับทะเลอันดามันซึ่งมันจะถูกเชื่อมโยงและร้อยเรียงมาในตัวเรื่องที่ถูกผูกขึ้นโดยให้รายละเอียดของที่มาที่ไปและน้ำหนักของเรื่อง จากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง โดยมีความแฟนตาซีเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขนาดยักษ์ ปูยักษ์ ปลาหมึกยักษ์ เต่ายักษ์ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับโจทย์ที่ว่าก็น่าจะเป็นหนังที่สร้างออกมาได้สนุกเรื่องหนึ่ง เราเน้นที่ความสนุกสนานของหนังไม่ได้ทำให้แค่เด็กดู แต่ครอบครัว ผู้ใหญ่ วัยรุ่นก็ดูได้     

เปิดบันทึกบทที่ 2 : ขนบหนังโจรสลัดสากลแบบไทยๆ
“ตอนที่ตัดสินใจจะทำหนังเกี่ยวกับโจรสลัด เราต้องมีการเคลียร์กันอย่างชัดเจนว่า รูปแบบของโจรสลัดที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นอย่างไร ถ้าหนังของเราไม่ได้เป็นเรื่องของกลุ่มเด็ก9 คนที่ฝ่ามิติย้อนเวลากลับไปเจอกับโจรสลัดในยุคโบราณแล้ว เราก็มีการตั้งคำถามว่า แล้วที่นี้เด็กๆจะไปเจอกับใครที่เรียกตัวเองว่าเป็นโจรสลัดได้ เราก็เลยคิดถึงพวกที่ขนของเถื่อนกลางทะเลลึก พวกน้ำมันเถื่อน พวกสินค้าเถื่อน ซึ่งเราก็เลยสมมติไปที่ตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นตระกูลของโจรสลัดจริงๆ ที่มีปู่ทวดเป็นโจรสลัด และมีการเก็บสมบัติไว้จริง  แต่ด้วย ณ ปัจจุบันที่ด้วยวันเวลาที่มันผ่านมานานมากแล้ว จนพอมาถึงรุ่นเหลนซึ่งก็คือกัปตันฤทธิ์หรือสลัดตาเดียวที่เล่นโดยศรัณยู เป็นตัวละครที่เป็นพวก loser คนหนึ่ง พวกที่ติดอยู่กับความฝัน ลมๆแล้งๆ หลังจากออกทะเลมาเป็น สิบๆปี ก็ยังไม่เคยเห็นหรือเคยเจอขุมสมบัติที่ว่า นั่นเท่ากับว่าเราเอาเด็ก ณ ปัจจุบัน เชื่อมต่อกับคนยุคปัจจุบันนี้แหละ แต่เราเลือกเอาตำนานความฝันมาเชื่อมตรงกลางระหว่างเรื่องเล่าขานที่มันดูเหมือนจะจริงหรือไม่จริง ผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ยมันจะมีเหรอ เต่ายักษ์ ปลาหมึกยักษ์ แต่สำหรับในจินตนาการของเด็กแล้ว ถ้าเกิดเราสร้างที่มาที่ไปของเหตุการณ์ให้เห็นเป็นตัวๆเลย มันจะมีความรู้สึกว่ามันมีความเป็นหนังผจญภัยแฟนตาซีเต็มๆ อันนี้ถามว่าเราพยายามที่จะอ้างอิงที่มาของโจรสลัดเพื่อให้พ่อกับแม่หรือคนเป็นผู้ใหญ่ดูแล้วมีความเชื่อในที่มาที่ไปของตัวละครด้วย  แต่ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มเด็กที่จูงมือพ่อแม่เข้าไปดูหนังก็จะได้รับความสนุกสนานในส่วนของความเป็นหนังผจญภัยที่มีเหตุการณ์เหนือจินตนาการที่เราใส่เข้ามาให้มันมีการสอดคล้องกัน

ผู้กำกับปื๊ดธนิตย์เองยกเครดิตให้กับทีมเขียนบทของภาพยนตร์ที่สามารถสอดแทรกได้อย่างลงตัว

“ในภาพยนตร์มีการพูดถึงการแก้ปริศนาลายแทงของสมบัติที่โจรสลัดจากรุ่นเก่าได้ทิ้งเอาไว้ โดยเราตีความว่าเนื่องจากหนังของเราเป็นหนังไทย ลายแทงของเราก็เลยต้องเป็นภาษาไทย เราจึงมีการหยิบยกเอาการละเล่นของไทยสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นมอญซ่อนผ้า หรือว่าคำที่มันเป็นคำปริศนา คำที่ให้มีความรู้สึกว่าเป็นการเล่นคำอย่างสูงเสียดฟ้าบางวันอ้าบางวันหุบ  ซึ่งมันมีความรู้สึกถึงความเป็นไทยได้แทนที่เราจะใช้สัญลักษณ์ทุกอย่างในลายแทงเราเป็นซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของความแปลกอีกอย่างหนึ่ง และถือว่าเป็นการท้าทายคนทำหนังระดับหนึ่งเลยว่า คนดูเขาจะเชื่อเราไหม หรืออย่างเช่นปริศนา มีรูอยู่ตรงข้างข้างๆมีขน ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นคำทายปริศนาที่สังคมไทยใช้อยู่ แล้วเราเอามาดัดแปลงมาเป็นปริศนาในลายแทง ซึ่งจริงๆแล้วหมายถึงปากถ้ำที่มีต้นไม้ปกคลุม หรืออย่างที่บอกว่าหุบๆเท่ากระบอกออกเท่ากระด้งซึ่งช่วงที่คนเขียนบทคิดขึ้นมา ขนาดเราเองยังมีความรู้สึกว่าเอ๊ะมันคืออะไรนะเราก็ใช้คำปริศนาเหล่านี้ในลายแทงขุมทรัพย์ของสลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา

 

เปิดบันทึกบทที่ 3  :   ปรากฎการณ์การคัดเลือกนักแสดงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์หนังไทย
มิ.ย.-ก.ค.ปี2549ได้เกิดปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เมื่อมีการประกาศรับสมัครค้นหาเด็กจำนวน 100 คนเพื่อร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง“สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา” โดยมีเพียง 8 คนที่จะได้รับบทบาทในฐานะนักแสดงนำ  ร่วมกับ น้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ

ผลปรากฏว่ามีเด็กจำนวนมากถึง 4,000 คน  ทำให้ทางทีมงานจะต้องเพิ่มวันคัดเลือกนักแสดงตามจำนวนผู้สมัครที่มีมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีพ่อแม่ผู้ปกครองหอบลูกจูงหลานจากทั่วทุกภาคของประเทศเดินทางเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้อำนวยการสร้างอย่างเสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐตัดสินใจเพิ่มจำนวนเด็กที่เข้าฉากจากเดิม 100 คน (200 ตา) เป็น 200 คน(400ตา) โดยยังคงชื่อเดิมของภาพยนตร์ไว้ที่ “สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา”

ขณะที่ผู้กำกับปื๊ดธนิตย์ที่เป็น 1 ในคณะกรรมการคัดเลือกนักแสดงด้วยตัวเองไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับความสนใจมากมายเป็นประวัติการณ์อย่างนี้
“ผมเชื่อว่าการ casting วันนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งที่มโหฬารที่สุด  ตั้งแต่มีการทำหนังไทยกันมาเลยทีเดียว  จนทำให้เสี่ยเจียงตัดสินใจเพิ่มจำนวนเด็กที่จะรับจากเดิม 100 คน เป็น 200 คน บรรยากาศวันนั้นต้องบอกว่ามันทั้งเหนื่อยทั้งวุ่นวายแต่พอเห็นแล้วเราก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ  ความกระตือรือร้นของผู้ปกครองที่อยากให้เด็ก  ลูกหลาน แสดงออก เราเชื่อว่าถ้าเกิดเราไป cast ทั่วทุกภาค ปริมาณเด็กที่มาต้องมากกว่านี้เป็นสิบๆ เท่าเลยทีเดียว 

ตลอดชีวิตที่ทำหนังมา ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันมีความหมาย มันจุดประกายว่าจริงๆแล้วการทำงานกับเด็กมันไม่ได้ไม่มีใครสนใจ กลับกันในปัจจุบันนี้สังคมเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกถึงความสามารถมากกว่าที่เราคิด ได้แข่งขัน งัดความสามารถพิเศษกันออกมา และพอถึงเวลาที่เราเอาเด็กสองร้อยคนไปเข้าฉากพร้อมกับผู้ปกครอง เราก็ได้รับความร่วมมือที่ดีมากๆ  วันนั้นทั้งวันทั้งจากที่เป็นนักแสดงจริงและนักแสดงจำเป็นก็คือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องมาดูแลลูกหลานของตัวเอง  เป็นฉากที่ใหญ่ฉากหนึ่งเหนื่อยแต่ก็สดชื่นเพราะทุกคนต่างให้ความสำคัญกับงานของเราดีมากๆ  ทำให้เราได้ฟุตเทจเยอะมาก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กทั้ง 8 คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาไม่ว่าจะเป็นน้องฟลุท รจนกร  อยู่หน้า ที่มีอายุน้อยที่สุดเพียง6ขวบเท่านั้นแต่มีผลงานตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบหรือน้องลูกแก้ว รักษิตา จีน เคสซีเนอร์ ที่ผ่านทั้งงานละคร ภาพยนตร์ ถ่ายแบบและเดินแบบมาก่อนหน้า ,น้องกัน อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ที่มีผลงานละครมานับ 10 เรื่อง , น้องอ้วน  ชไมพร  โนมูร่า และโอริ สิรินทรา โนมูร่า 2นักแสดงฝาแฝดมากความสามารถที่ผ่านประสบการณ์งานพากย์เสียง เล่นละคร ถ่ายโฆษณามานับไม่ถ้วน ริฟฟ์ นิติพงษ์  ประดับสิริพรหม ที่เคยมีผลงานการแสดงละครและงานเพลงมาแล้ว น้องนนท์วัชรวิทย์  วิวัฒน์รัตน์ ที่เคยรับบทโหน่งชะชะช่าตอนเด็กในละครระเบิดเถิดเทิงไปจนถึงหน้าใหม่ถอดด้ามแต่มากไปด้วยความสามารถอย่างน้องยีนส์ คัทรินทร์  สนิทธิเวทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นนักแสดงเด็กที่มีความสามารถผ่านงานในวงการบันเทิงมาแล้วแทบทั้งสิ้นทั้งประสบการณ์โดยตรงทางด้านการแสดง ไม่ว่าจะเป็นงานละคร งานโฆษณา ถึงขนาดที่ว่าผู้กำกับปื๊ดซึ่งไม่เคยทำงานร่วมกับเด็กจำนวนเยอะอย่างนี้มาก่อนถึงกับการันตีและมั่นใจถึงความสามารถของทั้ง 9 คนและจับตาดูฝีไม้ลายมือของเด็กๆเหล่านี้ให้ดี

“พอได้มาร่วมงานกันกับน้องๆทั้ง8-9คนแล้ว อยากให้ทุกคนจับตาดู ทุกคนล้วนเป็นมืออาชีพที่ไม่แพ้ผู้ใหญ่ตัวโตๆเลยทีเดียว และเราเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นนักแสดงที่ดีต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยการ สำหรับ
เราและทีมงาน ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่คุ้มค่ามากๆเพราะเด็กทุกคนล้วนแล้วแต่น่ารัก และร่วมงานด้วยอย่างมีความสุขและที่สำคัญนักแสดงทุกคนทั้งเก่าและใหม่สามารถทำงานเข้าขากันได้อย่างกลมกลืนและลงตัวเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นน้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ และรุ่นใหญ่อย่างศรัณยู วงษ์กระจ่างและรุ่นใหม่อย่างนุ้ยเกศริน เอกธวัชกุล  เพราะต้องบอกว่าคงไม่บ่อยนักที่จะมีหนังไทยสักเรื่องที่ต้องใช้พลังในการทำงานสูงอย่างเรื่องนี้อีกแล้ว ความหินของโลเชกั่นที่ไม่ธรรมดาเลยไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กอายุ 6 ขวบหรือผู้ใหญ่ตัวโตๆก็ต้องเจอด้วยกัน ตั้งแต่นั่งเครื่องบิน ต้องเข้าไปในป่า ลงเรือ  ฝ่าคลื่นทะเล เข้าถ้ำ ขึ้นเกาะ  อยากให้ทุกคนได้เห็นแล้วจะรู้สึกเหมือนผมว่าดีใจที่ได้นักแสดงชุดนี้มาปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้”

เปิดบันทึกบทที่ 4  :   อุปสรรค108 ประการ ทะเล   เกาะ  เด็ก เอฟเฟ็คต์  และปรากฏการณ์ธรรมชาติ
สัตว์ เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง คือสิ่งต้องห้ามสำหรับการทีจะสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง  เนื่องจากว่าทุกสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นล้วนอยู่นอกเหนือจากการควบคุมด้วยประการทั้งปวง แต่สำหรับ สลัดตาเดียวกับเด็ก200 ตา มีอุปสรรคที่เพิ่มทวีคูณความยากของโปรเจ็คต์ให้กลายเป็นร้อยๆพันๆเท่าเมื่อสิ่งที่ทีมงานจะต้องเผชิญนับตั้งแต่การที่ใช้โลเกชั่นในการถ่ายทำถึง 3 ภาคของประเทศด้วยกันตั้งแต่ภาคตะวันออกอย่าง อ.สัตหีบ   ภาคกลางอย่าง ถ้ำจอมพล จ.ราชบุรี ไปจนถึงผืนทะเลแถบอันดามันอย่างท้องทะเลแถบจังหวัดกระบี่ และ อ่าวกระโดงฉลาม จังหวัดตรัง รวมไปถึงการเผชิญกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่กลายเป็นเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญอันนำมาซึ่งการวางมาตรการความปลอดภัยที่มีชีวิตของนักแสดงเด็ก 9 คนรวมไปถึงบรรดานักแสดง ทีมงานรวมแล้วเกือบ 100 ชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อทุกวันของการถ่ายทำคือความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำบนเรือกลางมหาสมุทร

ในตัวหนังเมื่อโจรสลัดได้พบเด็กแล้วเขาต้องพาเอาเด็กไปขึ้นบนเรือ เพื่อออกเดินทางผจญภัยกลางทะเลลึกด้วยกัน  เพราะฉะนั้นเมื่อตัวละครทุกตัวอยู่บนเรือ นั่นหมายความว่าการถ่ายทำกลางทะเล จะไม่ได้มีแค่เด็ก 9 คน  แถมทีมงานอีก 30 ชีวิต ดาราอีก 20 กว่าคน รวมแล้วอยู่บนเรือลำนั้นร่วมๆ 100  ซึ่งเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะต้องถ่ายทำบนเรือ ก็เริ่มจะซีเรียส เริ่มเครียดเลยว่า วันนี้จะมีพายุไหม จะมีลมแรงไหม แล้วเราจะได้ภาพสวยๆอย่างที่เราต้องการรึเปล่า มันรวมไปทั้งหมดเลย รวมทั้งงาน รวมทั้งชะตาชีวิตด้วยนะ เราจะรอดกลับมาปลอดภัยไหม แถมยังต้องเป็นแอ็คชั่นอีก แอ็คชั่นบนเรือด้วยนะ   ซึ่งในกรณีนี้การที่มีเด็ก 9 คนเข้าฉาก ขณะที่เรากำลังถ่ายหนังอยู่บนเรือ สมาธิส่วนหนึ่งของเราจะสั่งการเลยว่าจะต้องหันไปรอบๆแทบ360 องศา คอยสังเกตเกือบตลอดเวลาเลย ว่าเด็กอยู่ครบไหม บางทีเราซีเรียส ถึงขั้นที่ว่าห้ามเด็กขึ้นมาเดินเล่นเพ่นพ่านบนกาบเรือเลยทีเดียว  เพราะถ้าร่วงตกลงไปชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่สามารถทำลูกเขาขึ้นมาใหม่ให้หน้าเหมือนไม่ได้แน่ๆ

จากโลเกชั่นบนเรือกลางทะเลลึก ไปจนถึงเกาะมหาสมบัติซึ่งเป็นที่ซ่อนของขุมทรัพย์ตามลายแทงปริศนาของโจรสลัดในตำนาน ซึ่งผู้กำกับเลือกใช้อ่าวกระโดงฉลาม จ.ตรังเป็นโลเกชั่นหลักด้วยความงดงามของตัวเกาะและความยาวของตัวหาดที่ทอดยาวออกไปสุดลูกหูลูกตาที่สลัดตาเดียวและพรรคพวกต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ยักษ์ในตำนาน  เพียงทว่าทุกครั้งของการเดินทางมายังสถานที่ถ่ายทำซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะกลางทะเล นักแสดงและทีมงานจะต้องเดินทางโดยอาศัยเรือยางในการฝ่าคลื่นเข้าและออกจากตัวเกาะที่มีความสูงในระดับที่สามารถกลืนเรือที่ขนย้ายนักแสดงและอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทำหายวับไปกับคลื่นที่ซัดโถมได้ทันที และเพื่อความสมจริงของภาพยนตร์ทีมงานตัดสินใจเลือกถ่ายทำในช่วงฤดูฝนที่คลื่นทะเลปั่นป่วนมากกว่าจะถ่ายทำในฤดูหนาวที่คลื่นทะเลจะสวยและสงบนิ่งมากกว่า

“เราเลือกโลเกชั่นอ่าวกระโดงฉลาม เพราะว่ามันเป็นอ่าวที่แบบว่าโลเกชั่นสวยจริง  เพราะเรายังไม่เคยเห็นหนังที่ไปถ่ายบนเกาะที่มีฟีลลิ่งแบบนี้ แล้วช่วงเวลาที่เราไปถ่ายคือในช่วงหน้าฝน ซึ่งถ้าเกิดเราไปถ่ายในช่วงน้ำทะเลสวยในเดือนธันวา มันก็จะเป็นทะเลที่ราบเรียบ ซึ่งมันก็จะไม่ค่อยตรงกับเนื้อหาตามเรื่องของเรา เราก็เลยเลือกเอา mood มากกว่าที่จะเอาน้ำทะเลสวย  แต่ในขณะเดียวกันก็จะเผชิญอุปสรรคที่ว่า เนื่องจากตัวสถานที่ที่เราถ่ายทำเป็นเกาะ ทุกครั้งที่เดินทางเข้าและออกจากเกาะ เราจะต้องฝ่าคลื่นออกไป ไปเจอน้ำทะเลนิ่ง แล้วเราถึงจะตีวกเข้าไปในหาดที่เป็นที่พักได้ ความเสี่ยงระดับนี้มีอยู่ทุกวันเลย และอันที่เสี่ยงหนักที่สุดก็คือเราต้องขนย้ายนักแสดงเด็ก 9 คนซึ่งมันมีอยู่วันแรกที่เราไม่มีเรือยาง มันมีเรือลำเล็กๆมาก  อันนี้ก็คือเราถามคนที่ขับเรือ คนที่ที่เป็นsecurity แล้วว่าคุณสามารถเอาเด็กอยู่ไหมถ้าเรือพลิก   เขาบอกว่าถ้าเด็กไม่เกิน 2คน โอ้โหนั่นเท่ากับว่าเราเสี่ยงถึง 5 ครั้งเลย เพราะว่าต้องเอาเด็กออกไปได้แค่ครั้งละ 2 คน สมมติว่าเรามีเรือยางลำเดียวนะ บรรทุกเด็กออกมา 9 คนได้คุณเสี่ยงครั้งเดียวเลยทั้งเข้าและออก แต่นี่เท่ากับว่าคุณเสี่ยง 5 ครั้งเลยและเสี่ยงทั้งเข้าและออก เดชะบุญที่คนขับเรือเราเก่งมากที่เรือเราไม่พลิกเลย ทั้งๆที่พอคลื่นขึ้นมาเรือลำนั้นหายไปเลย เราก็หะ! แต่แล้วจู่ๆก็โผล่ขึ้นมา มันขนาดนั้นเลย ก็ขนาดพีอาร์ของสหมงคลฟิล์มตกเรือ นั่งเรือยางไปแล้วคลื่นซัดเรือหายไปทั้งลำ ซึ่งเป็นความระทึกตลอดการถ่ายทำที่โลเกชั่นนี้เลยทีเดียว

แต่นั้นยังไม่เท่ากับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นนั่นคือการเผชิญหน้ากับอุปสรรคอย่างปรากฏการณ์ธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลงที่ทำให้ทีมงานมีเวลาในการถ่ายทำเหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้จำนวนวันที่ต้องถ่ายทำจากเดิมที่วางไว้ 7 คิวถูกเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 คิวทันที ทำให้หลายๆครั้งในการถ่ายทำต้องตัดสินใจยกเลิกการถ่ายทำ เพราะเป็นการยากที่จะคำนวณได้ว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จะถ่ายทำได้ทันกับปริมาณของน้ำที่กำลังจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ นอกเหนือไปจากการกำกับเด็กแบบเต็มๆตัวครั้งแรกในชีวิตของปื๊ดธนิตย์ จิตนุกูล

ลองนึกภาพเด็ก 8-9 คนจะต้องมาอยู่รวมกันบนเกาะๆหนึ่ง นั่นคือเราก็ยังไม่เคยกำกับเด็กเต็มๆในหนังทั้งเรื่องมาก่อน และการรวมเด็กถึง 9 คนก็ไม่ต่างอะไรกับจับปูมาใส่กระด้ง และที่สำคัญคือภายใต้โลเกชั่นที่ไม่ธรรมดาด้วย เพราะมันคือเกาะ ที่นี้ไอ้ความที่มันต้องเป็น ทะเล เป็นเกาะก็เลยต้องมีอุปสรรคของเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง แล้วน้ำทะเลเวลามันขึ้นลงที หาดที่เราเห็นยาวๆทอดตัวสวยๆเนี่ยะ มันหายไปในพริบตาเลยทีเดียว  เพราะน้ำทะเลจะปิดทางเข้าออกทันที ลองนึกภาพทีมงานและนักแสดงที่มีสภาพเหมือนติดเกาะจริงๆเลย เราต้องใช้วิธีการขนย้ายโดยเอาเรือที่สามารถโต้คลื่นได้ไปส่งกับข้าวกินในตอนที่น้ำขึ้น จากที่เราคิดว่าเราควรจะมีเวลาทำงาน 12 ชั่วโมงมันก็จะเหลืออยู่ประมาณสัก 6 ชั่วโมง ครึ่งๆเลย ซึ่งใน 6 ชั่วโมงนี้เราต้องขโมยเก็บเอาแบบที่ต้องให้ได้ปริมาณงานมากที่สุดเท่าที่เราจะพยายามได้ บางครั้งถ่ายๆอยู่ต้องยกเลิก โดยเราต้องค้างฟิล์มเอาไว้ เพราะว่าหาดเรามันไม่สมจริงแล้ว หาดเหลือเพียง 2-3 เมตร เราก็ถ่ายไม่ได้ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันต้องมีหาดยาวประมาณ 30-50 เมตร  

นอกเหนือจากความสวยงามของตัวหาดที่ทอดยาวกว้างออกไปสุดลูกหูลูกตาแล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับปื๊ดยอมเลือกที่จะเผชิญกับอุปสรรคน้ำขึ้นน้ำลงของโลเกชั่นอ่าวกระโดงฉลาม มากกว่าการย้ายโลเกชั่นถ่ายทำ เพราะทุกซีนที่ถ่ายล้วนแล้วเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในการดำเนินเรื่องแทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่การใช้ชีวิตบนเกาะของเด็กทั้ง 9 คนตอนต้นไปจนถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มสลัดตาเดียวและสลัดวายร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้ากับสัตว์ยักษ์ในตำนาน  นอกจากนี้ผู้กำกับปื๊ดยังอาศัยโลเกชั่นของอ่าวกระโดงเรือในการสร้างปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ของสลัดตาเดียวด้วย รวมไปถึงการให้ความสำคัญของลักษณะของเกลียวคลื่นของน้ำทะเล ที่เชื่อว่าจะบ่งบอกถึงโลเกชั่นในการถ่ายทำที่ไม่สามารถใช้โลเกชั่นอื่นมาทดแทนได้

ประวัติผู้กำกับ  :  ธนิตย์  จิตนุกูล
จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งผู้ผันตัวเองเข้าสู่วงการหนังไทยจนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กว่าจะมีวันนี้ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูลต้องฝ่าฝันอุปสรรคมากมายกว่าจะได้ทำงานกำกับภาพยนตร์ที่ตนเองรักโดยเริ่มจากการวาดภาพประกอบโปสเตอร์หนังไทยก่อนที่จะได้รับหยิบยื่นโอกาสกำกับ“ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำมาซึ่งปรากฎการณ์ความสำเร็จก้าวสำคัญของวงภาพยนตร์ไทยร่วมกับเพื่อนสนิทอย่าง “อังเคิล” หลังจากนั้นชื่อเสียงของ “ปื๊ดธนิตย์” ก็เป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องมาตลอด22ปี ผ่านงานกำกับภาพยนตร์มาแล้วทุกแนวทั้งแอ็คชั่น,โรแมนติค,คอมิดี้ และในปี2550 เขาได้ใช้ประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิต เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการกำกับภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซีสำหรับครอบครัวเรื่องแรกในชีวิตอย่าง “สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา”
พ.ศ. 2528              Director   (ร่วมกับอังเคิล) “ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย”
พ.ศ.2529               Director   (ร่วมกับอังเคิล) “ปลื้ม”
พ.ศ.2530               Director   “อย่าบอกว่าเธอบาป”
พ.ศ.2531               Director   “ทั้งดวงใจให้หมดเลย”
พ.ศ.2534               Director    “สยึ๋มกึ๋ย”
พ.ศ.2535               Director    “สยึ๋มกึ๊ย 2”
พ.ศ.2539               Director    “รักเอย  (จริงหรือที่ว่าหวาน)”
พ.ศ.2541               Director     “เสือโจรพันธุ์เสือ”
พ.ศ.2542               Director    “สวัสดีบ้านนอก”
พ.ศ.2543               Director    “บางระจัน” (ผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลเทศกาลภาพยนตร์ เดอวิล ที่ฝรั่งเศส , รางวัลตุ๊กตาทอง,รางวัลสมคมนักข่าวบันเทิง)
พ.ศ.2544               Director     “ขุนแผน” ,
พ.ศ.2545               Producer    “ชุมเสือแดนสิงห์ ตอนกระตุกติ่งเจ้าพ่อ”, Director     “แรกบิน”
พ.ศ.2546               Producer       “นรก” และ “แมนเกิน 100  แอ้มเกินพิกัด”, Director   “ขุนศึก ”, Producer  “102 ปิดกรุงเทพปล้น” ,   
Director      เทเลพิคเจอร์เรื่อง “เจ้าตาก”
พ.ศ.2547                Director      “คนเล่นของ ” “จี้ ”, Co-Producer  “กบฏท้าวศรีสุดาจันทร์”                             
พ.ศ.2548                Co-Producer" The 5th Commandment ",  Director  เรื่อง  “ลางหลอกหลอน ”
พ.ศ.2551             Director      “สลัดตาเดียวกับเด็ก200 ตา ”                

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.