สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
ไชยา
  Link: เสียงตอบรับจากเทศกาลหนังกรุงเทพเต็มไปด้วยความชื่นชม                  เว็บทางการ
  แนะนำนักแสดง พลิกบทบาทครั้งยิ่งใหญ่                
  บทวิจารณ์ ไชยา - the best Thai martial arts film     
  สารบัญหน้านี้ : เรื่องย่อ   โปสเตอร์   เบื้องหลังการถ่ายทำ   งานโปรดักชั่นดีไซน์ย้อนยุด
   
 

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ภูมิใจเสนอ “ภาพยนตร์แอ็คชั่น... สู้ 360 องศา...”

ผลงานกำกับ โดย ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับ ภาพยนตร์ เรื่อง ลองของ

ผู้เขียนบท ภาพยนตร์เรื่อง เปนชู้กับผี

เรื่องราวของลูกผู้ชาย สามคน ที่ยืนหยัดประจัญหน้า

ประกาศอานุภาพเลือดนักสู้ ในการแบกมรดก

การต่อสู้ มวยไทย ไชยา ไว้บนบ่า เขาทั้งสามก้าวเข้ามาสู่สังเวียนนักสู้ในกรุงเทพฯ

ด้วยความฝัน ความมุ่งมั่น แต่สิ่งที่ประสบในวงการมวย กลับ ไม่เป็นอย่างที่เขาคิด

 ความรัก มิตรภาพ การเสียสละ ระหว่างเพื่อน

ชัยชนะ ขัดแย้ง และเล่ห์เหลี่ยม กลโกง

วงการมวย เจ้าพ่อ นักพนัน สังเวียนเปื้อนเลือด

แชมป์เปี้ยนตัวจริง พิสูจน์จากรางวัลหรือความเป็นลูกผู้ชาย

กอฟ อัครา อมาตยกุล ทุ่มเทที่สุดในชีวิตการแสดง กับบทนักสู้ที่ผู้ชมต้องทึ่ง

บอย ธวัชชัย เพ็ญภักดี จาก ไทยแลนด์ เพอร์เฟ็คต์แมน กับการแจ้งเกิดในบทนักมวยไชยา

สน สนธยา ชิตมณี กับบทบาทที่ทุกคนจะต้องรักเขา

พบกับการแสดงครั้งสำคัญของ จี๊ด แสงทอง เกตุอู่ทอง ในบทสาวอะโกโก้

ร่วมด้วย ยอดสนั่น 3 K แบตเตอรี่ สวมบทบาทในชีวิตจริง

และ กิเนีย ภริตา คงเพชร นางเอกสาวหน้าหวานที่จะมาละลายหัวใจคุณ

ไฟว์สตาร์ ภูมิใจนำเสนอ

“ เต้ ไชยา” ว่าที่ สถาปนิกหนุ่ม ผู้ร่ำเรียนวิชามวยไชยา อย่างเอาจริง

กับการก้าวเข้ามาเป็น ดาวรุ่งทางด้านการแสดงบทแอ็คชั่น

ครั้งแรกของแผ่นดิน

ที่จะประกาศศักดาศาสตร์ มวยไทยไชยาบนแผ่นฟิล์ม

สู้สุดหมัด ซัดทุกสังเวียน 30 สิงหาคมนี้ !!

 

ผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมศิริ

บทภาพยนตร์ ก้องเกียรติ โขมศิริ

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

อำนวยการผลิต อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร

ดูแลการผลิต ธนิตย์ จิตนุกูล

กำกับภาพ สยุมภู มุกดีพร้อม

ออกแบบและ ช่วยกำกับคิวบู๊ ประมูล โสมณาวัฒน์

กฤดากร สดประเสริฐ

ลำดับภาพ สุนิตย์ อัศวนิกุล

ออกแบบงานสร้าง ธนะ เมฆาอัมพุท

กำกับศิลป์ ณัฐนิธิ เศรษฐการวิจิตร

ออกแบบเครื่องแต่งกาย ชาติชาย ไชยยนตร์

ออกแบบเสียง วานิลลา สกาย

ดนตรีประกอบ ไจแอนท์ เวฟ

 

เรื่องย่อ

เด็กหนุ่มเมืองใต้ 3 คน เปี๊ยก (อัครา อมาตยกุล) ชายหนุ่มผู้มีเลือดนักสู้พลุ่งพล่าน เผ่า(ธวัชชัย เพ็ญภักดี) สายเลือดบริสุทธิ์ผู้สืบทอดมวยไชยา และสะหม้อ (สนธยา ชิตมณี) เพื่อนในกลุ่ม ที่มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ ร่วมสู้ถวายหัว ที่มีชีวิตผูกพันกันมายาวนานตั้งแต่เด็ก ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายมวยเพื่อตามหาฝัน โลกของพวกเขาทั้งสาม ช่างสวยงามและเต็มไปด้วยความหวัง ที่จะได้โลดแล่นอยู่ในวงการมวย

ตำรามวยไชยาที่พ่อของเผ่าทิ้งไว้ให้ เป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนรักทั้งสามคน เกิดความฮึกเหิมและอยากจะเป็นนักมวยไชยาผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในชีวิตจริงเส้นทางที่จะไปสู่ฝันช่างยากลำบาก ทั้งอุปสรรคและความรักที่เปี๊ยกและเผ่ามีให้กับผู้หญิงคนเดียวกัน ศรีไพร (กิเนีย ภริตา คงเพชร) นางพยาบาลสาวสวย ผู้ที่เข้ามาแทรกกลางความรักระหว่างเพื่อน

วันหนึ่งที่ค่ายมวยการมาถึงของ ทิว ไชยา(สามารถ พยัคฆ์อรุณ)พ่อของเผ่าผู้สืบทอดมวยไชยา

อดีตนักมวยชื่อเสียงโด่งดัง และนักพนันหนี้สินท่วมตัว จำเลยแห่งวงการซึ่งตกเป็นผู้ต้องหา คดีล้มมวยของแชมป์เปี้ยนนาม แกร่งศึก ( เต้ ไชยา)ยอดฝีมือแห่งมวยไชยา ผู้รักศักดิ์ศรีเหนือยิ่งชีวิต การกลับมาครั้งนี้ทำให้เขาได้มีโอกาสถ่ายทอดวิชามวยไชยา ให้กับศิษย์รุ่นสุดท้ายนั่นก็คือเผ่าลูกชายของเขา เปี๊ยก และสะหม้อ ในวิชามวย ไชยาทำให้พวกเขาเชื่อมั่นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า

จากบ้านเกิดพวกเขาเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ พร้อมความฝันที่จะได้เป็นแชมป์เปี้ยนมวยไทย และที่กรุงเทพฯ หวาน (แสงทอง เกตุอู่ทอง) สาวอะโกโก้ผู้แสวงหารักแท้ ได้ก้าวเข้ามาสู้ชีวิตของเปี๊ยก การต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบและ ในสังเวียนความรักของเผ่า เปี๊ยก หวาน และศรีไพร ก็เข้มข้น ไม่แพ้ การต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบ

บทสรุปของความเป็นลูกผู้ชาย พิสูจน์จากชัยชนะหรือการเสียสละ


เบื้องหลังการถ่ายทำ

จากการที่เป็นภาพยนตร์ ฟอร์มใหญ่ ที่ทุ่มทุนทั้งงบประมาณ และเวลาในการสร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการให้ผู้ชม รู้สึกถึงความสมจริงของเรื่อง ที่เกิดขึ้นในปี 2520-2525 ที่วงการมวยเต็มไปด้วยเรื่องราวของเจ้าพ่อ มาเฟีย นักเลง การพนันมวย อิทธิพลมืดต่างๆ การค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่อง ที่ย้อนไปในยุคนั้น จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมีการใช้ทีมงานมากมายในการค้นคว้าหาข้อมูลจากหลายส่วน ทั้งจากบุคคลในวงการมวย ครูมวยยุคปัจจุบันอย่าง ครูตุ้ย ศิษย์ยอดธง ครูมวยไชยาอย่าง ครูเล็ก กฤดากร สดประเสิรฐ แห่งบ้านช่างไทย รวมไปถึงการค้นคว้าข้อมูลจาก เอกสารหนังสือที่มีเป็นตั้งๆ เกี่ยวกับวงการมวย และ ตำนานความเป็นมา ของ มวยไชยา จากเอกสาร ที่เกี่ยวกับ ปรมาจารย์ เขตร์ ศรียาภัย ซึ่งใช้เวลาในส่วนนี้นานหลายเดือน

ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับมือทองของ ไฟว์สตาร์ เขาประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ เรื่อง ลองของ เมื่อปีก่อน กับความสำเร็จอย่างสูงของ ภาพยนตร์ เรื่อง เปนชู้กับผี ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ก็มีเขาอยู่เบื้องหลังในฐานะผู้เขียนบท

ใน ภาพยนตร์ เรื่อง ไชยา นี้ เขาเขียนบทภาพยนตร์ และ กำกับเอง โดยใช้เวลาเขียนบทนาน กว่า 6 เดือน ซึ่ง ใช้ถึง 7 ร่าง กว่าที่จะมาเป็นบทในปัจจุบัน โดยใช้เวลาไม่น้อย ในการศึกษาศิลปะการต่อสู้ของศิลปะ มวยไทยไชยา ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นวิชามวยที่ในอดีตนั้น ใช้ต่อสู้กับศัตรูที่เข้ามารุกรานเอกราช แต่ปัจจุบันนี้ กลับไม่ค่อยมีใครรู้จัก เขากล่าวถึง แรงบันดาลใจในการ เขียนบท และ กำกับภาพยนตร์ เรื่องนี้ว่า

“ คือ ผมสนใจเรื่องมวยไทย ที่มองไปถึงชีวิตของนักมวย เพราะปกติ ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่เราพูดถึงมวยไทย เราจะไปเน้นกันที่เรื่องราว ของท่าทางที่งดงามต่างๆมากกว่า แต่ไม่มีใครมองไปถึงชีวิตของนักมวย ซึ่งผมรู้สึกว่า ทำไม เราไม่ให้เกียรตินักมวยไทย เหมือนอย่างที่ ชาวญี่ปุ่นเขาให้เกียรติ นักยูโด หรือ ซูโม่ของเขามาก ทั้งๆ ที่มวยไทยนั้นเป็นมรดกของชาติ เป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาติ ที่ทุกวันนี้ ถูกห่อแพ็คเกจสวยๆ ไปขายฝรั่ง แต่ไม่เคยมีใคร หันมาสนใจเลยว่า นักมวยที่เขาแบกมรดกของชาติไว้เป็นอยู่อย่างไร สังคมไม่เคยแยแสเลย ใครแพ้ ก็ถูกลืมไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ก็อยากจะอุทิศ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้กับนักมวยที่เป็นนักสู้ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ หรือไม่ก็ตาม ”

“ ในไชยานี้ เรื่องราวที่บอกเล่า ผมอยากจะพูดถึงเรื่อง มวยไทยที่เป็นมรดกของชาติ ว่ามีแต่ในแง่ของธุรกิจมากกว่า จะเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ไม่มีใครพูดถึงผู้แพ้ ตัวละครในเรื่อง อ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ แต่เขา แบกมรดกของชาติไว้”


ในฉากแอ็คชั่นของภาพยนตร์ เรื่องนี้ เขาบอกว่า “ แอ็คชั่นในไชยานี้ แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นแน่นอน เราไม่ได้เน้น เทคนิคแบบหนังจีน เราเป็นแอ็คชั่นมวยไทยไชยา ไม่ได้เน้นเป็นคิวๆ แต่เน้นความเป็นจริง โดนต่อยจริง เตะกันจริงๆ เจ็บจริงๆ ในความแข็งแรงของมวยไชยานั้น มันเหมือน หยิน – หยาง รุกแล้วรับ รับแล้วรุก ไม่ว่าใหญ่ขนาดไหน ก็เอาลงได้ ”

“ สิ่งที่อยากจะให้คนดูได้รับก็คือ ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพ อะไรก็ตาม อย่าหยุดหวังและอย่าหยุดฝัน แม้ว่าสิ่งที่คิดไว้จะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม”

ด้วยการที่เป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ ประจำปี2550 ของไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ไชยา จึงใช้เวลาในการเตรียมงานนับปี ทั้งการคัดเลือกทีมงาน และนักแสดงรวมไปถึงการหาที่ปรึกษา ทางด้านวงการมวยไทยไชยา ซึ่งได้ครูเล็ก กฤดากร สดประเสิรฐ แห่งบ้านช่างไทย มาเป็นที่ปรึกษา ในส่วนของทีมงานสร้างโขม ได้ทีมงานคนรู้ใจที่เคยร่วมงานกันมาแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง ลองของ

สิ่งที่ยากที่สุดในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ของเขาก็คือ “ ยอมรับว่าการเลือกนักแสดงในเรื่องนี้ยากมาก เพราะเราจะต้องทำให้คนเชื่อว่าเขาเป็นนักมวยจริงๆ นักแสดงต้องมีความรับผิดชอบสูง ซึ่งผมโชคดีมากที่ได้ กอฟ อัครา อมาตยกุล มารับบท เปี๊ยกบอยธวัชชัย เพ็ญภักดี มารับบท เผ่า และ สน สนธยา ชิตมณี มารับบท สะหม้อ รวมไปถึง เต้ ไชยา รับบทเป็น แกร่งศึก ทุกคนตั้งใจทำงานมาก ขยันฝึกซ้อม ผมคิดว่าคงมีคนดูไม่น้อยที่ต้องเสียน้ำตาให้กับบทบาทการแสดงของพวกเขา และหลงเชื่อว่าพวกเขาคือนักมวยจริงๆ ”


ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับเกียรติจากแชมป์โลกคนปัจจุบันอย่าง ยอดสนั่น 3 K แบตเตอร์รี่ ที่จะมาทำให้ภาพยนตร์ที่แสดงถึงศิลปะแม่ไม้มวยไทยเรื่องนี้ ได้ความสมจริง เข้มข้นครบรสชาติมากขึ้น

ในส่วนของนักแสดงฝ่ายหญิงมี จี๊ด แสงทอง เกตุอู่ทอง นางแบบสาวเซ็กซี่มารับบทเป็นหวาน สาวอะโกโก้ ที่มีความใฝ่ฝันเป็นนักร้องลูกทุ่งและมี กิเนีย ภริตา คงเพชร นักแสดงลูกครึ่งสเปน มารับบท ศรีไพร ผู้เลือกคู่ชีวิตเป็นนักมวยอย่างเปี๊ยก

ความพิเศษอีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่มี ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล (ผู้กำกับหนังแอ็คชั่นฟอร์มยักษ์อย่าง บางระจัน) มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ รวมไปถึงร่วมกำกับในฉากที่ต้องแสดงอารมณ์ อย่างมาก รวมไปถึงฉากแอ็คชั่นบางฉาก

ผู้กำกับมือทองกล่าวถึง ความพอใจในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ ผมพอใจที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทีมงาน รวมไปถึงความตั้งใจของนักแสดงทุกคน ที่ให้ใจในการทำงานเรื่องนี้มาก และผมก็หวังว่าทุกคนจะชอบภาพยนตร์ เรื่องนี้ของผม”

สถานที่ถ่ายทำ และการออกแบบงานสร้าง โปรดักชั่น ดีไซน์ ย้อนยุค


ภาพยนตร์เรื่องไชยามี ธนะ เมฆาอัมพุท หรือ เดอ ทำหน้าที่ออกแบบงานสร้างเป็นโปรดักชั่น ดีไซน์ประจำกองถ่าย เขาเคยร่วมงานกับ โขม ก้องเกียรติ มาแล้วในเรื่อง ลองของ ความยากของการเป็นโปรดักชั่นดีไซน์ในเรื่องนี้คือการ ที่ไชยาใช้สถานที่ถ่ายทำถึง 40 แห่ง ซึ่งนับว่ามากสำหรับภาพยนตร์ เรื่องหนึ่ง โดยสถานที่ถ่ายทำนั้นมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ มีอาทิ ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ ในฉากบ่อนพนันและฉากระเบิดรถ ซึ่งเป็นฉากใหญ่ในเรื่อง โรงพยาบาลบุรฉัตร ไชยยากร มักกะสัน ค่ายมวยรังสิต สนามมวยราชดำเนิน ฯลฯ ส่วนต่างจังหวัดก็มีอาทิ ชายหาดจังหวัดชุมพร ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดสุพรรณบุรีฯลฯ

ธนะ เมฆาอัมพุท เล่าถึงการทำงานในส่วนความรับผิดชอบของเขาว่า “ ก่อนเริ่มงาน ผมก็อ่านบทอยู่หลายรอบ อ่านแล้วก็รู้สึกชอบบทเรื่องนี้มาก จากนั้นก็มาคุยกับพี่โขม ผู้กำกับ ซึ่งเราเห็นตรงกันว่า หนังเรื่องนี้ต้องการความสมจริงสูงและมีการปรุงแต่งน้อยที่สุด จากนั้นก็เป็นการเตรียมในเรื่อง ของอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ดูว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ในสมัยปี พ.ศ.2518-2525 ว่าเขาใช้อะไรกันบ้าง ปัญหาที่มีก็คือ ยุคที่ว่านี้มันเป็นยุคที่คนไม่เก็บของเก่ากันเลยเพราะมันเป็นช่วงกลางเก่ากลางใหม่ เราก็ต้อง หาพร็อบกันน่าดูเหมือนกัน อย่างตุ๊กตาต่อยมวยที่เห็นในเรื่องกว่า จะหาได้ก็เหนื่อยเหมือนกัน ”

“ เรื่องนี้แบ่งได้ประมาณสามช่วง คือ ช่วงเด็กของทั้งสามคนเป็นปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งตรงนั้นไม่ยาก จากนั้น ปี 2520 พวกเขาเข้ามาสู่กรุงเทพฯ กัน ซึ่งยุคนั้นเนี่ย ผมว่าการแต่งกายมันดูตลก เสื้อผ้าดูแปลกๆ ก็คุยกับพี่โขมว่า ถ้ามันดูตลกเราก็ต้องยอมนะ เพราะเราต้องการความสมจริง และอีกช่วงเป็นมาถึงยุคท้ายของเรื่อง คือ ปี 2525



ที่กระแสแบบอเมริกันเริ่มเข้ามาบ้านเราแล้วก็มีเรื่องของดนตรีดิสโก้ กางเกงขาบาน อย่างฉากบาร์ของพี่แป๊ะในเรื่อง เราก็พยายามไปเรียนรู้ก่อนเลยว่า ฟลอร์แปลนของบาร์สมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร เวลาการทำงานเป็นอย่างไร นักดนตรีเขาเล่นเพลงแบบจังหวะไหน ก็ดีไซน์ให้เห็นว่า ในความสวยงามของแสงสีในบาร์นั้น มีความฟอนเฟะซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ในเรื่องก็จะให้เห็นเลยถึงการดูดีเฉพาะข้างหน้า ด้านหลังเราก็ทำให้เห็นว่ามันคอนทรัสกัน รกๆ ตั้งใจทำให้มันรก ”

ในส่วนของฉากใหญ่ของเรื่อง มีอาทิ ฉากการขึ้นเวที ครั้งสำคัญของเผ่าที่ขึ้นชกกับไดมอน และ แกร่งศึกขึ้นชกที่เวที ราชดำเนิน อีกฉากหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละยุคกันก็ถ่ายทำที่เวทีมวยราชดำเนิน เป็นฉากใหญ่ที่ทุ่มทุนสร้างมาก มีการใช้ตัวประกอบนับพันเข้าฉาก และตกแต่งเวทีราชดำเนิน ให้ย้อนยุคไปในอดีต ซึ่งใช้งบประมาณ หลายล้านบาทในการถ่ายทำฉากนี้ “ ที่ราชดำเนินนี่ โชคดีที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ คือสมัยนั้นเป็นอย่างไรสมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่เราก็ต้องดูภาพรวมให้สมจริงแบบ 360 องศา เลย เพราะในหนังนั้นคนดูจะเห็นหมด เห็นสนามมวยราชดำเนินแบบ 360 องศาเลย ผมก็ต้องเข้าไปเสริม ดูทั้งในเรื่องของป้ายสินค้าต่างๆ ในสนามมวยว่าสมัยนั้นมีอะไรบ้าง ชื่อของนักมวยสมัยนั้นว่ามีใครบ้างที่ดัง ที่เหนื่อยหน่อยกับเป็นด้านนอกสนามมวยที่เราต้องตกแต่งใหม่เยอะมาก ผมสั่งปูหญ้าด้านหน้าสนามมวยเต็มสูบเลย เพราะผมไม่อยากไปจำกัดภาพของผู้กำกับ ให้ต้องถ่ายทำอยู่ตรงมุมใดมุมหนึ่ง ฉากที่ราชดำเนินรายละเอียดเยอะมากทั้งเรื่อง นักแสดงเอ็กซ์ตร้าที่มาเป็นพัน แม่ค้า พ่อค้า รถเข็นขายของกินและ ผมก็ต้องไปช่วยดูเรื่องเสื้อผ้าของเอ็กซ์ตร้ารวมๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นบรรยากาศ ของสนามมวยราชดำเนินอย่างไม่ผิดเพี้ยนไปจากอดีต ”

นอกจากนี้ฉากที่ธนะคิดว่าใหญ่ก็มีฉากมวยเล้าหมู หรือ มวยเถื่อน ที่ผู้กำกับจินตนาการขึ้น เพื่อให้เป็นฉากแอ็คชั่นที่ตื่นตาตื่นใจกับฉากการต่อสู้ของเปี๊ยก ที่สุดโหดในรูปแบบที่ไร้ข้อจำกัด ซึ่งฉากนี้ยกกองถ่ายทำไปที่โรงสีเก่าจังหวัด สุพรรณบุรี “ ฉากนี้คิดเยอะมากครับเพราะไม่มีจริงๆ” ธนะกล่าว

“ แต่ผมก็เอาโลเกชั่นที่ไปถ่ายเป็นหลัก เอาอารมณ์ โลเคชั่นเป็นหลัก พื้นโรงสีก็พัง ก็ไปทำพื้น ตีกรงเหล็กขึ้นมา ให้เหมือนสนาม แล้วก็ต้องปิดอีกฟากหนึ่งไว้ เพราะไม่งั้นจะเห็นถึงความเป็นยุคนี้ชัดเจน และเซ็ทที่ให้ดูแคบๆคับๆ เพราะเป็นเรื่องของการต่อยมวยที่ผิดกฏหมาย ทำให้ดูอึมครึม ก็ใช้เวลา เซ็ทฉากหลายวันอยู่เหมือนกัน กับฉากนี้ ปัญหาที่เจอคือ ฝุ่นครับ ฝุ่นเยอะมากๆ “

“ ฉากค่ายมวยริมทะเลที่ลงไปถ่ายทำกันที่จังหวัดชุมพรนั่น ก็เยอะมาก เพราะเราต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมด ทั้งเวที และหมู่บ้านของชาวบ้านในเรื่อง เป็นฉากใหญ่ที่ต้องเตรียมการมากฉากหนึ่ง ความยุ่งยากอยู่ที่การหาซัพพลายเออร์ที่จะมาสร้างฉากให้ เพราะสู้ค่ารถคนที่จะลงไปทำงานไม่ไหว และเราก็โชคดี ได้ ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นมาช่วยเนรมิตรฉากให้”

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า “ ผมชอบภาพรวมของหนังเรื่องนนี้นะ เราทำให้เห็นได้ว่า ช่วงตอนที่เขาอยู่ทางใต้ ชีวิตของพวกเขาจะดูอบอุ่น ทั้งโทนสี และ ฉากต่างๆ แต่ พอมาถึงกรุงทพฯ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเราบีบให้พวกเขาอยู่อย่างอึดอัด ทุกอย่างถูกบีบ ให้เห็นถึงความแตกต่าง ผมค่อนข้างพอใจมากกับงานที่ได้ในระดับนี้ แต่ผมก็คงเหมือนกับคนทำงานทุกคน ที่อยากได้เวลาในการทำงานมากกว่านี้ เพราะงานมันคงจะออกมาสมบูรณ์ สมใจที่อยากได้มากกว่านี้”

แอ็คชั่น คิวบู๊ การต่อสู้แบบมวยไชยา

ในส่วนของฉากแอ็คชั่น คิวบู๊ การต่อสู้ ซึ่งมีครบทุกรสชาติในเรื่องนี้ ฉากบนสังเวียนมวย ฉากการต่อสู้ที่หลากหลายรูปแบบใน ฉากมวยเล้าหมู จะทำให้ผู้ชม ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ กับความมันส์ความสะใจที่เกิดขึ้น ในส่วนของฉากการต่อสู้ต่างๆนั้น ก้องเกียรติ โขมศิริ เลือก ประมูล โสมนาวัฒน์ มาเป็น ผู้ออกแบบท่าการต่อสู้ และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในฉากคิวการต่อสู้ ซึ่งเคยฝากฝีมือไว้ในภาพยนตร์ หลายเรื่อง อาทิ บางระจัน และขุนศึก อุกกาบาต ฯลฯ รวมไปถึงการร่วมงานช่วยกำกับคิวบู๊ให้ กับทีมภาพยนตร์ ญี่ปุ่นและ ฮ่องกงที่มาถ่ายทำในประเทศไทยหลายต่อหลายเรื่อง


ประมูล เปิดเผยถึงการทำงานของเขาว่า “ นักแสดงแต่ละคน ใช้เวลาฝึกการแสดงนานเหมือนกัน และทุกคนก็ได้ ไปใช้ชีวิต อยู่ในค่ายมวยจริงๆ เพื่อให้ซึมซับกับ ชีวิตนักมวย และจากการตั้งใจเรียนรู้ แลการฝึกอย่างหนักของพวกเขา ก็เชื่อได้ว่า พอเล่นหนังเรื่องนี้จบแล้ว เขาสามารถไปเป็นนักมวยได้เลย”

เขากล่าวด้วยความชื่นชม ถึงนักแสดงในเรื่องนี้ว่า “ ทุกคน มีความสามารถมาก เขาให้ความทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ มีความตั้งใจกันทุกคน อย่างเต้นี่หายห่วงเรื่อง ท่าทางมวยไชยา ในการแสดงเพราะเขาร่ำเรียนมาโดยตรง ที่อยากชมก็เป็น บอย ที่ตั้งใจมากและ ก็ทำได้ดี ขยันซ้อมมากทุกคน เจ็บตัวกันเยอะ เพราะมวยไชยา แม้จะเป็นมวยรับ แต่ถ้าคิวพลาดเมื่อไหร่ เป็นต้องเจ็บตัว ผมต้องพกน้ำมันมวยไปที่กองถ่ายตลอดเวลา เพราะพอพลาดปุ๊ป ก็ใช้ยาทาเลยจะช่วยให้เขาไม่ปวดกัน แล้วก็ต้อง พยายามผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่อย่างนั้น จะถ่ายกันต่อไม่ได้ ”

“ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ท่าของมวยไชยา ที่ถูกนำมาเสนอมีหลายท่ามาก ไม่ว่าจะเป็นเสือลากหาง ซึ่งเป็นท่าสยบคู่ต่อสู้ ที่เราต้องทำท่าเหมือนพลาดพลั้ง ให้เขาเข้ามาแล้วเราโจมตีกลับ ท่าหักคอเอราวัณ ซึ่งเป็นท่าที่สามารถ ทำให้คู่ต่อสู้ตายได้เลย ท่านาคามุดบาดาล ท่าขุนยักษ์จับลิง ท่าปักลูกทอย ที่ใช้ศอก เป็นอาวุธ ป้องกันการจู่โจม ของ คู่ต่อสู้ ท่ามอญยันหลัก การใช้เท้า กันตัวเองไว้ ซึ่งท่ามวยไชยา แต่ละท่านั้นยากมาก นักแสดง ต้องเรียนและเก่ง ผมรับรองว่า ฉากการต่อสู้ ในหนังเรื่องนี้ คุณจะไม่เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องไหนมาก่อน ”

“ การกำกับ ฉากการต่อสู้ของมวยไชยายากกว่า การกำกับฉากการต่อสู้ทั่วไป เพราะจะเป็นการต่อสู้ของนักแสดงสองคน ทำยากมากๆ กว่าจะถ่ายทำได้ดังใจที่ผู้กำกับต้องการ ก็ต้องใช้เวลามาก แต่

เมื่อเสร็จแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมเคยร่วมทำงานในฉากแอ็คชั่น ของภาพยนตร์หลายๆเรื่องทั้งหนังไทย หนังญี่ปุ่น และฮ่องกง แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ทำให้ผมชอบและประทับใจ

ได้เท่าเรื่อง ไชยาเลย และผมอยากจะฝากให้จับตามอง ผู้กำกับของเราคนนี้ให้ดี ผมว่าเขามีวิธีการทำงานที่น่าสนใจมาก ”

นักแสดงหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น กอฟ อัคราซึ่งแม้จะเคยผ่านการแสดงบทแอ็คชั่น จากภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง รวมไปถึงการเรียนรู้การต่อสู้แบบไทยๆ มาแล้วอย่างการใช้ดาบ เขาก็ยังต้องไปเรียนรู้ วิชามวยไทย ไชยาเพิ่มเติม กอฟ เล่าว่า “ เป็นภาพยนตร์ที่ผมรู้สึกว่ามีคิวถ่ายทำเยอะมากที่สุดเท่าที่เคยเล่นมาเลยและเป็นฉากแอ็คชั่นเสียส่วนใหญ่ ฉากที่เหนื่อยที่สุดและมันที่สุดคือฉากใหญ่ที่ราชดำเนิน เพราะเราต้องต่อสู้กับคนสามสี่สิบคนทั้งเตะต่อยทั้งใช้ดาบ กว่าจะเสร็จ ก็บอกได้เลยว่า เหนื่อยสุดๆ ทั้งๆที่เราก็ทำตัวเองให้ฟิตอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เและอีกฉากที่ต้องใช้พลังงานมาก ก็เป็นฉากที่ต้องต่อยกับพี่ยอดสนั่น ในฉากที่ต่อยที่หน้าจวนผู้ว่า เตะกันจนขาผมชา ต้องไปหาหมอฉีดยาเลยเป็นหนังที่เล่นแล้วบอกได้ว่าชอบที่สุด”
ในส่วนของ เต้ ไชยา นั้นร่ำเรียน วิชามวยไทยไชยา มานานกว่า 7 ปี เลยไม่มีปัญหา ในการถ่ายทำ ไม่ต้องเตรียมตัวมากมายเนื่องจากมีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ต้องไปเรียนรู้ในเรื่องการแสดงเพิ่มเติมเท่านั้น ฉากแอ็คชั่นคิวบู๊ของเต้ มีฉากใหญ่ อยู่สองฉาก คือฉาก ที่ชุมพร ที่ขึ้นเวที ต่อยมวยคาดเชือก ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะ ผู้ชมจะได้เห็นถึงการออกท่าทางของ แม่ไม้มวยไชยา ขนานแท้ ที่ตื่นเต้น เร้าใจ เต้ เปิดเผยว่า “ ที่การถ่ายทำของผม ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะ ผมซ้อมหนักมาก กับนักมวยที่ต้องมาเข้าฉากด้วยกันเราจะไปซ้อมกันที่บ้านช่างไทย ของครูเล็ก ซึ่งหากตรงไหนที่ดูไม่ใช่ ครูเล็กจะให้เรา แก้ไขกันตรงนั้นเลย ก็ซ้อมก่อนถ่ายจริงเป็นอาทิตย์ เลยครับ ”

อีกฉากแอ็คชั่น ที่น่าดูอย่างยิ่งของเต้ คือฉากที่ต้องขึ้นชกบนเวทีราชดำเนินซึ่ง บอย ธวัชชัย มาร่วมยืนยันถึงความมันในฉากนี้ว่า “ คือวันนั้น มีการถ่ายฉากของผมด้วยซึ่งตอนที่ผมต่อยคนเชียร์งั้นๆ ครับ แต่พอเต้เขาขึ้นชกเท่านั้น ทุกคนตื่นกันหมด เชียร์กันสนั่น ตาสว่างเลยครับ สุดยอดมากสำหรับการชกมวยของเต้ ”

ในส่วนของ บอย ธวัชชัย เพ็ญภักดี หนุ่มจากเวที ไทยแลนด์ เพอร์เฟ็คต์แมนที่เคยผ่านการเรียนมวยไทยมาแล้ว เมื่อตอนเข้าประกวด ก็ได้ไปเรียนวิชามวยไทยไชยาเพิ่มเติม จากครูเล็ก ที่บ้านช่างไทย เขาต้องฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้ได้ภาพฉากการต่อสู้ที่ตื่นเต้นเร้าใจ และสมจริงที่สุด บอยเล่าถึง ฉากที่แอ็คชั่นที่เขาเหนื่อยที่สุดว่า “ เป็นฉากที่เผ่าต้องขึ้น ต่อย กับ ไดมอน ที่เวทีราชดำเนิน ซึ่งก่อนที่จะถ่ายฉากนี้ ผมต้องซ้อมวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอาทิตย์เลย ดูแลตัวเอง ออกกำลังกายทุกวัน ตอนที่ถ่ายฉากนี้ยอมรับเลยว่า มีอาการเบลอบ้างเหมือนกัน เลยมีการพลาดทำให้ เจอลูกหลงมาเหมือนกัน เป็นฉากการต่อสู้ ที่เชื่อว่าจะตื่นเต้นเร้าใจผู้ชมมาก”

ยอดสนั่น 3 K แบตเตอรี่ แชมป์โลกชาวไทย ดาราเกียรติยศในเรื่อง ผู้รับบท เคี่ยม หมัดควาย เล่าถึงฉากการชกมวยของเขา ในเรื่องนี้ว่า “ ในบท ต้องมาชกมวยโคราช ผมก็ เคยฝึกมาก่อน เหมือนกัน ก็ไม่ยากเท่าไหร่ ฉากใหญ่ ที่ ผมชอบเป็นฉากการต่อสู้ต่อยกับ เปี๊ยก ที่หน้า จวนผู้ว่า สนุกดี ครับ รู้สึกว่ามัน เป็นการต่อ สู้กันแบบลืมตายเลย ก็มี คิว หลุดบ้าง ผมไม่ค่อยเจ็บหรอกเพราะเซฟเป็น เราเป็นนักมวยอาชีพ แต่ กอฟ จะโดนลูกหลงเยอะเหมือนกัน มีเข่าโดนคาง มีต่อยโดนกกหู มี เจ็บตัวกันบ้าง ”

หมายเหตุ ... ผู้กำกับ

 

ในโลกนี้แต่ละประเทศต่างมีศิลปะป้องกันตัวที่สืบทอดกันมานานรวมไปถึงประเทศไทยทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นที่กล่าวขวัญจากคนทั่วโลกว่าเป็นศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวที่งดงามด้วยท่วงท่า รุนแรงจนน่ากลัวและทรงอานุภาพที่สุด มีผู้ให้ความสนใจทั่วโลกเข้าเรียนการต่อสู้แขนงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก สิ่งนี้คงเป็นการบ่งบอกได้ดีถึงความยอดเยี่ยมของศิลปะแม้ไม้มวยไทย

ศาสตร์ของการต่อสู้มวยไทยมีอยู่หลายแขนง ทั้งมวยลพบุรี มวยโคราช แต่ยังมีมวยโบราณอีกแขนงหนึ่งที่ท่วงท่างดงาม รุนแรง และมีปรัชญาการต่อสู้ที่ลึกซึ้งมาก ... นั่นคือ “ มวยไชยา ” พาหุยุทธ์ที่เราจะร่วมกันรักษา ไม่ให้สูญหายไปพร้อมกับความเจริญในยุควัตถุนิยม

ความลี้ลับของมวยไชยานั้นอยู่ที่การตั้งรับที่มีพิษสงรอบตัว การใช้ท่วงท่าการตั้งรับ การโจมตี

ของคู่ต่อสู้ ส่งผลให้ย้อนกลับไปทำลายตัวเขาเอง และกลลวงของท่วงท่าที่ยากจะคาดเดาในการจู่โจม ล้วนมาจากหัวใจหลักของมวยไทยไชยาที่ “ ใช้เล็กชนะใหญ่ ” ใช้การตั้งรับชนะการรุก

ผมว่ามวยไทยเกือบทุกสายถูกคิดมาเพื่อคนตัวเล็กๆที่มีหัวใจใหญ่ๆ ... ผู้คนสมัยก่อน ใช้มันเพื่อปกป้องบ้านเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ... แต่ปัจจุบันมวยไม่ได้ใช้รบพุ่งในสนามรบ แต่มันเปลี่ยนเป็นทักษะวิชาที่สร้างฝันให้เด็กหนุ่มคนแล้วคนเล่า เดินทางมาฝึกวิชามวย

และในส่วนตัวของผมคิดว่า “ มวยไชยา ” เป็นวิชามวยที่เป็นสุดยอดของศิลปะการต่อสู้ที่อาศัยการตั้งรับแล้วเปลี่ยนจังหวะกลายเป็นรุกได้ทรงอานุภาพรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา


ก้องเกียรติ โขมศิริ


ก้องเกียรติ โขมศิริ (โขม) ผู้กำกับหนุ่มมือทอง ผู้มีความเป็นตัวของตัวเอง และมากไปด้วยความสามารถคนนี้ ฝากผลงานให้วงการภาพยนตร์ มากมายหลายเรื่อง ภาพยนตร์ที่เขาร่วมงานด้วย ล้วนประสบความสำเร็จ เป็นอย่างสูง เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับแถวหน้า ที่สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพตลอดมา

เกิด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2518

การศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ เอกวิชาศิลปการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ประวัติการทำงาน

พ . ศ. 2542 ทีมงานภาพยนตร์เรื่อง “ ดอกฟ้าในมือมาร ”

พ . ศ . 2543 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ บางระจัน ”

พ . ศ . 2544 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ ขุนแผน ”

พ . ศ . 2544 ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ 7 ประจัญบาน ภาค 1 ”

พ . ศ . 2545 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ แรกบิน ”

พ . ศ . 2546 ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ องค์บาก ”

พ . ศ . 2546 เขียนบทและร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่อง “ ขุนศึก "

พ . ศ . 2547 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ คนเล่นของ ”

พ . ศ. 2547 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ 7 ประจัญบาน ภาค 2 ”

พ.ศ. 2548 เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง “ ลองของ”

พ.ศ. 2548 เขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง “ รักจัง”

พ.ศ. 2549 เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ เปนชู้กับผี”

พ.ศ. 2550 เขียนบท และกำกับภาพยนตร์ “ ไชยา”

   

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.