สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   
   
รักแห่งสยาม     มะเดี่ยว ชูเกียรติ
  สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล
  LINK :   เพิ่มภาพชุดจากหนังเอี๊ยด            
   บทวิจารณ์ รักแห่งสยาม บางสิ่งบางอย่างที่แอบแฝงไว้  
  ภาพชุดสุดสวิงริงโก้ในงานเปิดรอบสื่อ  
  เทรลเลอร์                 Music Video            แคแรกเตอร์นักแสดง
  สารบัญหน้านี้ : รื่องย่อ  ผู้กำกับเปิดเผยเบื้องหลังการถ่ายทำ และเพลงของหนังเรื่องนี้
   
 

กำหนดฉาย 22 พฤศจิกายน 2550

ประเภทภาพยนตร์ รักโรแมนติก

สร้างและจัดจำหน่ายโดย

กำกับภาพยนตร์ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ควบคุมการสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว , สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์

บทภาพยนตร์ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กำกับภาพ จิตติ เอื้อนรการกิจ

ออกแบบงานสร้าง มนต์ชัย ทองศรีสืบสกุล

กำกับศิลป์ ธนกร บุญลือ

ออกแบบเครี่องแต่งกาย เอกศิษฎ์ มีประเสริฐสกุล

แต่งหน้า สาริน สุขขะพละ

โลเคชั่น วราภรณ์ พิบำรุง , วราวุธ ปัญจพลากรกุล

ดนตรีประกอบ ปวิณ สุวรรณชีพ

นักแสดง สินจัย เปล่งพานิช , เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ , ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, มาริโอ้ เมาเร่อ , วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงศ์กุล, กัญญา รัตนเพชร์, อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน

เรื่องย่อ


“ โต้ง ”( มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กชาย ม. 6 หน้าตาดี มีแฟนสวยเสียจนเพื่อนๆ และผู้ชายทั้งสยาม สแควร์จะต้องอิจฉา แต่ใครเลยจะรู้ว่าความสดใสและน่ารักของ “ โดนัท ”( อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์) สำหรับโต้ง เริ่มจะกินไม่ได้เสียแล้ว โต้งเริ่มตีตัวออกห่างโดนัทและเริ่มค้นหาคำตอบให้กับชีวิตตัวเอง

ในขณะที่ “ มิว ” (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เด็กชายวัยเดียวกันผู้มีพรสวรรค์ทางดนตรีก็กำลังทุ่มเทความรักให้กับเสียงเพลงและวงดนตรีของตัวเอง มิวเป็นเด็กผู้ชายขี้เหงาที่ไม่เคยได้สัมผัสกับความรักมานานแสนนาน ตั้งแต่อาม่าตายจากไป ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับโจทย์ “ เพลงรัก ” ที่มิวต้องแต่งให้กับ ”วงออกัส” เพื่อนำไปเสนอกับค่ายเพลงใหญ่ ....ในเวลาเดียวกับที่ “ หญิง ”(กัญญา รัตนเพชร์) เพื่อนบ้านของมิวก็คอยให้กำลังใจและแอบมองมิวอยู่ห่างๆ แต่มิวก็ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกที่หญิงมีต่อตัวเองเลย

....และแล้ววันหนึ่ง สยาม ก็เป็นที่ที่ทำโต้งและมิวก็ได้เจอกันอีกครั้ง หลังจากที่ขาดการติดต่อกันมานานตั้งแต่โต้งย้ายบ้านไปตอนเด็ก มิวแนะนำโต้งให้รู้จักกับ จูน (พลอย เฌอมาลย์) คนดูแลวงดนตรีของมิวที่หน้าตาเหมือนกับ แตง พี่สาวของโต้งที่หายตัวไปสมัยที่เขายังเด็ก โต้งจึงคิดแผนให้แม่ “ สุนีย์ ” (สินจัยเปล่งพานิช ) จ้างจูนปลอมตัวเป็นแตงเพื่อมารักษาอาการติดเหล้าให้กับพ่อ “ กร ” (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) การเข้ามาของจูนทำให้ครอบครัวโต้งดีขึ้น ในขณะที่เพลงรักของมิวก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ความฝันของวงออกัสที่จะได้ออกอัลบั้มเริ่มใกล้เข้ามาทุกที แต่แล้วมิวก็หายตัวไปในวันออดิชั่น สร้างความเสียหายให้กับวง จนพี่อ๊อดโปรดิวเซอร์ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนนักร้องนำ

และแล้ววันคริสมาสก็ใกล้เข้ามา คอนเสิร์ตใหญ่ที่ทุกคนเฝ้ารอคอยก็กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า วงออกัสจะได้เปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก มิวจะตัดสินใจอย่างไร แล้วใครจะเป็นผู้จับไมค์ร้องเพลงรักที่มิวเขียนขึ้น

เตรียมพบกับเรื่องราวหลากความรัก ของหลายชีวิต ที่ถูกโยงใยโดยมิตรภาพ และถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงรักที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับช่วงเวลาอบอุ่น ที่จะอยู่ในความทรงจำตลอดไป

นิยามรักในแบบของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล - ที่มาของหนัง


เราอาจจะเคยได้ยินนิยามรักมานับร้อยนับพัน แต่จะมีนิยามไหนเล่าที่มีความสุขได้เท่านิยามรักของผู้ชายคนนี้ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่อาจจะกำลังทำให้ความรักของใครหลายคนเต็มไปด้วยความหวังตลอดไป กับภาพยนตร์รักโรแมนติก ที่เชื่อกันว่ามีบทที่ดีที่สุด และเต็มไปด้วยเรื่องราวความรักที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้กับทุกคน

“ รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรักที่เกิดขึ้นกับหลายชีวิต หลายกลุ่มคน ที่เกาะเกี่ยวและโยงใยกันอยู่ในรูปแบบของความรักที่แตกต่าง ด้วยแรงปรารถนาแห่งรักที่ถูกบ่มเพาะมานานกว่า 4 ปีเต็มของผู้กำกับคนนี้ ถูกขัดเกลาจนกลายเป็นบทภาพยนตร์รักชั้นดี

“ รู้สึกว่าอยากทำหนังรักเรื่องหนึ่งที่มันไม่ใช่หนังรักแบบทั่ว ๆ ไป มุมมองความรักในแบบของเราคือ ความรักมันสำคัญกับชีวิตของเรายังไงมากกว่า ถ้าเราไม่กินข้าวเราตาย แต่ไม่มีความรักเราอยู่ได้ แต่ชีวิตจะเป็นยังไงถ้าไม่มีความรักเลย นี่คือไอเดียแรกที่เราอยากจะทำหนังรักเรื่องหนึ่งที่พูดถึงความสำคัญของรักต่อการมีชีวิต ก็เลยเริ่มเขียนบทรวบรวมเรื่องราวของคนที่ผ่านเข้ามา คนที่เราเคยเจอในความทรงจำ ก็ค่อยๆเขียนค่อยๆขัดเกลาใช้เวลาเรียนรู้อะไรประมาณหนึ่งถึงจะเข้าใจอะไรบางอย่างจนได้เป็นบทหนัง ซึ่งก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะเราก็เขียนไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่หนังยังไม่สร้าง มันก็จะมีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามาอีก ”

ไอเดียแรกแห่งรักของมะเดี่ยวถูกพัฒนาขึ้นไปพร้อมๆกับภาพในหัวที่อบอวลไปด้วยความรักในรูปแบบต่างๆ และเรื่องราวส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นที่นี่แห่งนี้ ‘ สยามสแควร์’ ซึ่งจะกลายเป็นฉากหลักในเรื่อง “รักแห่งสยาม”

“ ทำไมต้องรักแห่งสยาม หลายๆ คนจะเข้าใจว่าเป็นหนังโบราณรึเปล่าสยามประเทศ แต่รักแห่งสยามของเราคือสยามสแควร์นี้เอง เหตุที่เป็นสยามสแควร์เพราะว่าตอนที่เราเริ่มเขียนบท ตอนนั้นจริงๆ เราเพิ่งอยู่มหา’ ลัย อยู่จุฬา แล้วสยามก็เป็นที่ที่ไปประจำ แล้วก็ได้พบเห็นคู่รักมากมาย วัยรุ่นมากมายเต็มไปหมด แม้กระทั่งคนวัยทำงาน คนมีครอบครัวแล้วเค้าก็เดินสยาม มันเป็นสถานที่ในความทรงจำของหลายๆ คน เช่นเดียวกับตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้ เค้าพบรักกันที่สยาม เค้าอาจจะเลิกกันที่สยาม ไปเที่ยวกันที่สยาม เคยหัวเราะเคยร้องไห้ เคยมีความสุขกันในสยาม รู้สึกว่าสยามมันคลาสสิค แล้วมันก็ไม่ได้ถูกบอกเล่าในหนังไทยมานานแล้ว ดังนั้นก็เลยใช้สยามเป็นฉากหลังของหนังเรื่องนี้ ซึ่งสยามก็กลายเป็นที่ที่ตัวละครในเรื่องหลายๆ ตัวมาเจอกัน และมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย”


เมื่อตัวหนังสือในบทภาพยนตร์ถูกพัฒนาจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวบนแผ่นฟิล์ม ความหวังของผู้กำกับที่จะได้เห็นความทรงจำในสยามสแควร์ก็เริ่มใกล้เข้ามาทุกที และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อลมหนาวและสีสันของเทศกาลคริสมาสต์เข้ามาปกคลุมและเพลง Silent Night ก็ถูกบรรเลงอย่างครื้นเครงไปทั่วสยาม

“ ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ จะเป็นช่วงฤดูหนาว ช่วงคริสมาสต์ปีใหม่ บรรยากาศและการตกแต่งตึกรามบ้านช่องร้านค้าต่างๆ ก็จะประดับประดาไปด้วยไฟและสีสันของวันคริสมาสต์ ก็จะเป็นฉากที่สวยงามอารมณ์หนาวๆ ที่เราจะได้เห็นในสยาม ซึ่งก็ต้องถ่ายในช่วงนั้นจริงๆ เพราะเราต้องการฉากหลังแบบนั้น”

การปักหลักถ่ายทำภาพยนตร์กันที่กลางใจเมืองที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาอย่างสยามสแควร์ เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการควบคุมปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งความชุลมุนวุ่นวายของผู้คนมากมายที่แวะเวียนผ่านเข้ามาทำกิจกรรมในสยาม บ้างก็เดินผ่าน บ้างก็มุงดู บวกกับสภาพของเสียงรบกวนต่างๆ รอบด้านที่ ทำให้การถ่ายทำค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก

“ สำหรับการทำงานที่สยามสแควร์ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เป็นที่ที่คนจากทุกสารทิศจะแห่แหนกันมาช็อปปิ้ง มาเดินเล่น ซึ่งก็ยากที่จะควบคุม แต่ว่าเราก็ซื้อเพราะว่ามันมีความสับสนอยู่ในนั้น มันมีความเคลื่อนไหวมีคนเดินไปเดินมาตลอด ซึ่งถือว่ามันเป็นสีสัน แต่มันก็ยากที่จะควบคุมคน ยากที่จะบล็อกคนไม่ให้มาเดิน ซึ่งเราก็จะเจอทั้งคนที่ไม่ให้ความร่วมมือและคนให้ความร่วมมือดีๆ อย่างเช่นร้านพี่เปี๊ยก ดีเจสยาม เค้าก็สนับสนุนให้มาใช้ร้านเค้าถ่ายทำได้ และก็มีอีกหลายร้าน

และซีนที่ยากๆ อีกซีนหนึ่งก็คือซีนที่ลานน้ำพุเซ็นเตอร์พอยต์เลย ซีนนั้นเป็นซีนอารมณ์ของมาริโอ้กับเบสท์ที่บอกเลิกกันที่สยาม แล้วลำบากมาก เสียงดังจากจอเช็คเกอร์สกรีนหน้าเซ็นเตอร์พอยต์ ทั้งทีมงานและนักแสดงไม่มีสมาธิเลย เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลา Prime Time ช่วง 6 โมง- ทุ่มหนึ่ง คนก็เยอะมาก แห่มามุงดู นักแสดงก็ต้องทำงานหนักมากเพื่อจะรักษาสมาธิให้จนหมดซีน ก็ถือว่าเป็นซีนที่เหนื่อยจริงๆ เหนื่อยแต่ก็คุ้ม”

... เพลงรัก... ถ้าไม่รักก็เขียนไม่ได้

นานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้เห็นคนเขียนหนังทำหน้าที่เดียวกับคนเขียนเพลง นานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้เห็นหนังดีๆ ที่ใช้บทเพลงในการตีแผ่ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ต้นจนจบ และนานเท่าไหร่แล้วที่เพลงรักไม่ได้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์ไทยเท่าที่ควร

“ รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกแห่งปีที่มีเพลงรักน่าจดจำหลายเพลง จนไม่อาจปฏิเสธว่า มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักแต่งเพลงคนนี้กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการเพลงและวงการภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กัน กับผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ไพเราะและซึ้งกินใจ และยิ่งไปกว่านั้นเพลงทุกเพลงกำลังบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครเอกได้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดและการเติบโตขึ้นของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง

“ จริงๆ แล้ว เพลงทุกเพลงเหมือนเขียนขึ้นเพื่อหนังเรื่องนี้ ซึ่งจะมีตัวละครของมิวเป็นตัวที่ถ่ายทอดเพลงเหล่านี้ออกมา มิวจะเป็นคนที่เล่าความรู้สึกตัวเองผ่านบทเพลงที่ตัวเองเขียนขึ้นมา ไม่ว่ามิวคิดอะไรอยู่ มิวต้องการจะบอกอะไรกับใคร มิวก็จะใช้เพลงสื่อ เหมือนฉากที่อาม่าเคยบอกมิวตอนเด็กว่า เรียนไว้เถอะดนตรี วันหนึ่งมันจะใช้บอกอะไรกับคนอื่น ถ้าเราไม่กล้าบอกอะไรตรงๆ” มะเดี่ยว กล่าว

เพลงแรกที่เราจะได้ยินในหนังก็คือเพลง “Ticket” ซึ่งมันจะเป็นเพลงแรกที่เล่าว่ามิวเป็นนักร้อง และเพลงของเขาเพลงนี้ก็กำลังดัง ฮิตติดชาร์ตและถูกเปิดในคลื่นวิทยุมากมาย

“ เพลงนี้จะออกมาในช่วงที่เล่าถึงการจากลาของมิวกับครอบครัวโต้งที่ย้ายบ้านออกไป แล้วก็ดำเนินต่อมาจนมิวโต เป็นเพลงที่แนะนะตัว “ วงออกัส” และตัวมิว ซึ่งเนื้อเพลงมันก็จะมีนัยยะถึงความรัก แต่มันไม่ได้พูดตรงๆ ใช้การเปรียบเปรย ซึ่งในเรื่องเพลงนี้ก็จะเป็นเพลงดัง ที่ขึ้นอันดับหนึ่ง แต่ว่าโปรดิวเซอร์คือพี่อ๊อด เค้าอยากได้เพลงที่มันพูดถึงความรักแบบตรงๆ ง่ายๆ ไม่ต้องอ้อม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำให้มิวต้องมาคิดแล้วละว่าความรักในมุมมองมิวมันคืออะไร”

เพลงที่เล่าความรู้สึกของมิวในช่วงเวลาต่อมา ผู้กำกับบอกเล่าความพิเศษว่าเป็นเพลงที่น้อง พิช วิชญ์วิสิฐ์ หิรัญวงษ์กุล ผู้รับบทมิว เป็นคนลงมือแต่งเนื้อร้องและทำนองด้วยตัวเองในเพลงที่มีชื่อว่า “ รู้สึกบ้างไหม” น้องพิชเล่าให้เราฟังถึงการมีส่วนร่วมในการทำเพลงนี้ว่า

“ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้ว สำหรับเรื่องนี้ก็ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับงานเพลงด้วย ก็คือเพลง รู้สึกบ้างไหมพิชแต่งเนื้อร้องและก็ทำนองเอง แต่ในเรื่องของดนตรีตรงนี้จะยกให้พี่มะเดี่ยวเป็นคนทำให้ครับเพลงนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพื่อนครับ เพื่อนกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรัก เค้าก็โทรมาปรึกษาเรา แล้วเราก็ช่วยเค้า เราก็เลยได้ไอเดียสำหรับเพลงนี้มาครับ”

“ เพลงนี้พูดถึงคนที่ไม่ได้เจอกันนาน จากกันไปนานแล้วก็รู้สึกเหมือนมันไม่มีความสุขเลย พิชก็ใช้คำดีนะ เป็นคำถามว่ารู้สึกเหมือนกันรึเปล่า ว่าตอนที่อยู่ด้วยกันมีความสุขนะ ในเรื่องมิวก็เขียนเพลงนี้ขึ้นมาเหมือนตั้งใจจะถามคนๆ หนึ่ง มันก็เล่าเรื่องได้ค่อนข้างดี” ผู้กำกับเสริม

และเพลงที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเพลง “ กันและกัน” เพลงที่เป็นเหมือนแกนสำคัญในชีวิตของมิวกับสิ่งที่มิวกำลังค้นหาอยู่นั่นก็คือ “ ความรัก”
“ เพลงนี้เหมือนเป็นเพลงบอกรักหนึ่งเพลง แต่บอกรักในฐานะของคนที่เขียนเพลง เป็นการบอกความในใจแบบตรงๆ เลย ถ้าบอกว่าเพลงนี้แต่งให้เธอเธอจะเชื่อไหม มันอาจไม่เพราะเหมือนเพลงอื่นๆ หรอกแต่ว่ามันเป็นความรู้สึกพิเศษที่อยากให้รู้ว่า เพลงนี้เป็นเพลงของเธอนะ ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นแต่งขึ้นมาได้ยังไง แต่นานแล้ว แต่ก็แต่งเพื่อตอนเขียนบทเรื่องนี้แหละ”

“ ต่อมาเพลง ‘ คืนอันเป็นนิรันดร์’ เพลงนี้แต่งตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ปี 2 เคยใช้ประกอบละครเวทีที่คณะนิเทศศาสตร์ที่จุฬา ซึ่งออริจีนัลเวอร์ชั่นของเพลงนี้ จะเป็นเสียงของพี่ลูกหว้า ( วงดูบาดู) เป็นคนร้อง แต่พอมาอยู่ในหนังเรื่องนี้มันก็จะเป็นเสียงของน้องเพชร - ภาสกร วิรุฬห์ทรัพย์ นักร้องยุวชนยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2549 ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครในหนังด้วย รู้สึกว่าเสียงน้องเพชรสามารถสื่อสารอะไรออกมาได้มากมายและทำให้เราเชื่อ ซึ่งมันก็จะเล่าเรื่อง ตอนที่ทุกคนกำลังตกอยู่ในสภาพที่แย่ เหมือนตกอยู่ในหลุมแล้วก็พยายามตะเกียกตะกายกันออกมา เต็มไปด้วยความสับสนไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิตดี ซึ่งเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่ปลอบประโลมจิตใจให้เราพยายามผ่านช่วงเวลาที่มืดมนเหล่านี้ไป”

มาถึงเพลงสุดท้าย ผลงานเก่าของ สุกัญญา มิเกล ที่นำมาทำใหม่เพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ กับเพลง “ เพียงเธอ” เพลงรักเนื้อหาซึ้งๆ ความหมายดีที่อยู่ในใจผู้กำกับคนนี้มานานแล้ว เมื่อมีโอกาสเขาเลยไม่รีรอที่จะบรรจุเพลงนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร

“ โดยส่วนตัวชอบศิลปินคนนี้มาก คุณสุกัญญา มิเกล เป็นศิลปินที่เจ๋ง เป็นศิลปินในดวงใจคนหนึ่ง รู้สึกว่าเพลงที่เค้าร้องส่วนใหญ่จะเป็นเพลงรักเนื้อหาดี ไม่น้ำเน่า แล้วเพลงนี้ เพลง ‘ เพียงเธอ’ ก็เป็นเพลงที่ออกมานานแล้วเป็นสิบปีแล้วมั้ง ตั้งแต่เราเป็นเด็กๆ แล้วเราก็ชอบมาก คือรู้สึกว่าในหนังมันควรจะร้องเพลงของคนอื่นบ้าง ก็เลยให้มิวร้องเพลงนี้ดีกว่า คาดว่าคงจะมีคนรู้จักบ้างแหละ”

แม้ว่าบทเพลงรักที่ถูกเขียนขึ้นในหนังจะได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่บทเพลงซึ้งเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนกันก็คือ การถ่ายทอดเพลงรักที่มันเยียวยาหัวใจ เยียวยาชีวิตให้เราสามารถอยู่ต่อไปได้ เหมือนกับความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการทำให้ภาพยนตร์ “ รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ที่อบอวลไปด้วยความรัก ความหวัง เพื่อให้ทุกคนพร้อมที่จะมีกำลังใจก้าวเดินต่อไป

แม้ว่าบทเพลงรักที่ถูกเขียนขึ้นในหนังจะได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่บทเพลงซึ้งเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนกันก็คือ การถ่ายทอดเพลงรักที่มันเยียวยาหัวใจ เยียวยาชีวิตให้เราสามารถอยู่ต่อไปได้ เหมือนกับความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการทำให้ภาพยนตร์ “ รักแห่งสยาม” เป็นภาพยนตร์ที่อบอวลไปด้วยความรัก ความหวัง เพื่อให้ทุกคนพร้อมที่จะมีกำลังใจก้าวเดินต่อไป

 

 

 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.