สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม Supported by Office of Contemporary Art And Culture ,Ministry Of Culture

หน้าแรก
ข่าว
วิจารณ์
สัมภาษณ์
บทความพิเศษ
รายงานหนังไทยในเทศกาลหนังต่างๆ
รายชื่อหนังสือและบทความเกี่ยวกับหนังไทย
รายชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน
 
รายชื่อหนังเก่า
 
 
 
 

   

สัมภาษณ์ซีจีซุปเปอร์ไวเซอร์ตัวงูยักษ

  เรื่องย่อ               แคแรคเตอร์ตัวละคร              รายละเอียดงานสร้างและขอดเกล็ดงูยักษ
  บันทึกและสัมภาษณ์ผู้กำกับชนินทร เมืองสุวรรณ       
  บันทึกและสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ มานพ อุดมเดช
   
 

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “ โบอา… งูยักษ์” สมบูรณ์ขึ้นมาได้ นั่นก็คือ เทคนิคพิเศษด้านภาพหรือการทำซีจี ซึ่งเรื่องนี้ได้บริษัท สวีท อายส์ ที่จัดได้ว่าเป็นมืออันดับต้น ๆ ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ ปิติพงศ์ เนตรแก้ว ซีจี ซูเปอร์ไวเซอร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลทุกขั้นตอนของการทำซีจี มีรายละเอียดเบื้องหลังการทำงานมาบอกกล่าวกัน

ผลงานที่ผ่านมา
          จริง ๆ ผมเริ่มต้นจากงานโฆษณาก่อน คือ “บริษัทสวีท อายส์” จะเป็นบริษัทในเครือดิจิตอล เมจิก ( D.M. – Digital Magic Effect) ที่มีงานโฆษณามากหลายชิ้น เช่น พรานทะเล (หมูกับวัวเต้นกันอยู่ในไร่), โออิชิ (หยดชา), อิซูซุ (พายุน้ำมัน ), ไทยประกันชีวิต (พ่ออยากมีเวลาให้ลูก), กรุงเทพประกันภัย (พายุทอร์นาโด), เรด เลเบิล (หิมะตกกรุงเทพ), กระดาษดับเบิ้ลเอ (เครื่องซีร็อกซ์เป็นหุ่นยนต์) ฯลฯ ทีนี้เราก็แยกพาร์ทออกมาเป็นส่วนที่ทำซีจีของภาพยนตร์ เป็นบริษัทสวีท อายส์ แยกออกมาอีกทีหนึ่ง ผลงานภาพยนตร์ก็จะมีเรื่องซาไก ยูไนเต็ด, ผีเสื้อสมุทร ฯลฯ ที่เคยทำมา

รายละเอียดการทำซีจีงูยักษ์
          คือเริ่มต้นจากผู้กำกับส่งบทมาให้อ่าน พออ่านแล้วก็พูดคุยกับทางทีมงานซึ่งต้องการทำคาแร็คเตอร์แบบเรียลิสติก ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมากสำหรับงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิค หลังจากนั้นผมก็ลองวิเคราะห์ความเป็นได้ว่า เราจะทำได้สำเร็จหรือเปล่า ก็จะมีการเทสต์ มีการทดลอง การออกแบบ รวมไปถึงว่ามีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว หรือปรับไดเร็คชั่นของงานซีจีกับภาพยนตร์ให้มันไปด้วยกันได้ จนไปถึงการสร้างโมเดลลิ่ง เท็คเจอร์ แอนิเมชั่นต่าง ๆ จนมาถึงจัดไลท์ติ้งให้เข้ากับแบ็คกราวด์ หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการต่าง ๆ จนถึงขั้น output ออกมาเป็นฟิล์มครับ

มีทีมงานทั้งหมดกี่คน และแบ่งสัดส่วนงานกับผู้กำกับยังไง
          ทีมงานด้านซีจีของเราทั้งเรื่อง ตั้งแต่ทีมงานที่ไปออกกองถ่ายถึงแอนิเมเตอร์ทั้งหมดก็ร่วม 20 คนได้ คือ จริง ๆ ผมก็คล้าย ๆ กับอีกตำแหน่งหนึ่งก็คือ ซีจีไดเร็คเตอร์ด้วย คือเวลาที่ไปกองถ่าย บางฉากบางซีนคือผู้กำกับยกให้เลย คือให้กำกับเองเลย คือว่าผมสามารถจะมองภาพจากเฟรมเปล่า ๆ ว่าง ๆ คือนักแสดงเรื่องนี้จะต้องเล่นกับอะไรที่มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง เพราะมันใช้คอมพิวเตอร์สร้าง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเป็นอีกจินตนาการ

          หนึ่งของผู้กำกับ คือเป็นความคิดให้ผู้กำกับได้ ฉะนั้นเราจะมองภาพอย่างเช่นแบ็คกราวด์เปล่า ๆ งูมันจะเข้าทางไหน จังหวะที่เท่าไรที่พระเอกต้องหันไปเจอ เจอแล้วจะต้องหลบยังไง ต้องมุดหลบ หรือจะคลาน หรือจะวิ่ง แอ็คติ้งของงูตัวนี้มันประมาณไหน มันกลัวสุดขีด หรือว่ามันแค่ขู่ อะไรต่าง ๆ เนี่ย คือเราต้องมีการดีไซน์ และต้องอ่านบทมาพอสมควรที่เราจะรู้ว่า จังหวะของงูที่จะปล่อยมานี้มันมีแอ็คชั่นยังไง จริง ๆ เรามีสตอรี่บอร์ดที่ชัดเจนมากเลย การทำงานในเรื่องเป็นอะไรที่ดี เรามีความพร้อมมาก หนังเรื่องนี้ใช้ระยะเวลาในการทำมาปีกว่า ๆ แล้วนับตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจ็กต์กัน

ความยาก-ง่ายของซีจีหนังกับงานโฆษณา
          จริง ๆ ผมว่าการทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิคในภาพยนตร์ถือเป็นศาสตร์สูงสุดละ เพราะว่าทุกอย่างทั้งเรื่องของระยะเวลา เรื่องของความสามารถ แล้วก็อีกอันก็คือการสร้างไอเดียใหม่ ๆ ที่มันเกิดขึ้น ส่วนงานโฆษณา การทำงานมันจะต้องการ reference ที่ชัดเจนลงไปเลย เพราะว่าลูกค้าจะเป็นคนตัดสิน และ approved ทุก ๆ อย่าง แต่ว่าด้านภาพยนตร์ เรามีผู้กำกับก็จริง แต่จริง ๆ แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเหมือนกับว่า มันเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คนที่ approved น่าจะเป็นผู้ชมมากกว่า ว่างานที่เราทำออกไปมันเพอร์เฟ็กต์ มันดีไม่ดี มีข้อบกพร่องยังไง ซึ่งเราก็ต้องคิดเผื่อละ นอกจากจะต้องคิดเผื่อให้ผู้กำกับแฮปปี้ ให้เจ้าของหนังแฮปปี้แล้ว เรายังต้องคิดเผื่อว่า เมื่อเราทำออกมาแล้ว มันจะสามารถสร้างความรู้สึกกับคนดูได้มั้ย หรือว่ากับผู้ชมได้ประมาณแค่ไหน แล้วก็เรื่องของการเล่าเรื่อง รวมถึงทุกอย่าง มันเป็นศาสตร์ที่ผมถือว่ามันค่อนข้างยากที่สุดสำหรับงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิคนะครับ

สัดส่วนซีจีในเรื่องนี้เทียบเป็นกี่เปอร์เซนต์ / กี่ช็อตของทั้งเรื่อง
          จำนวนช็อตซีจีในเรื่องนี่ค่อนข้างเยอะ น่าจะประมาณ 400-500 ช็อตได้ เปอร์เซนต์นี่เทียบค่อนข้างลำบากนะครับ แต่ผมคิดว่าถ้าเป็นระยะเวลาเต็ม ๆ ที่มีซีจีอยู่ก็น่าจะประมาณ 30-45 นาทีเลยครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยากในการทำซีจีอยู่หลาย ๆ ฉากเหมือนกัน อย่างฉากงูรัดเรือแตก แอนิเมเตอร์ก็ต้องทำไดนามิคน้ำ เวลางูมันโผล่ขึ้นมาจากน้ำ น้ำมันจะต้องกระเพื่อม ๆ น้ำต้องหยดลงมา ซึ่งตรงนี้ เราก็จะต้องทำซีจีทั้งหมด ยกเว้นตอนน้ำกระจายเวลางูมันโผล่ขึ้นมา อันนั้นเราถ่ายน้ำมาแล้วเราก็เอามาแมทช์เข้าด้วยกัน ใช้น้ำถ่ายจริง แล้วก็งูซีจี มันก็ช่วยให้งานเร็วขึ้น คืออะไรถ่ายจริงได้ ก็ให้ทีมหนังถ่ายไว้

ซีนยาก
         
อีกซีนที่ยากที่สุดเลยก็คือซีนท้าย ๆ ของหนังที่เป็นฉากงูยักษ์รัดเฮลิค็อปเตอร์ ซีนนี้ยากมากเพราะมันจะต้องทำ ฮ. ขึ้นมาทั้งลำ คือเค้าจะถ่ายบลูสกรีนมาทั้งแบ็คกราวด์และทั้งพื้นเลย ทุกอย่างเราจะต้องมาทำซีจีทั้งหมด ความยากของมันคือต้องให้เนียนด้วย อย่างงูรัด ฮ. แล้วระเบิด ซึ่งมีส่วนประกอบเยอะมาก ทั้งฝุ่น ทั้งหญ้า ทั้งควัน แล้วก็ไฟที่สปาร์ค เวลา ฮ. มันระเบิดก็จะมีสะเก็ดไฟอะไรพวกนี้ เป็นส่วนประกอบที่เราต้องทำทั้งหมด เพื่อให้ดูแรงและสมจริงมากขึ้น หรืออย่างบางคัทเนี่ย เวลาถ่ายมา เค้าก็ใช้สลิงดึงหรือแขวนตัว ฮ. จริงไว้

          มันก็จะมีก้านเครนโผล่เข้ามาด้วย เราก็ต้องลบมันออกไปให้หมด มันก็จะสมจริงกว่า ฉากนี้ถ้านับรวมขั้นตอนในการปั้นโมเดล ฮ. กับปั้นโมเดลงูก็ใช้เวลานานเป็นเดือน คือเราจะทำชิ้นส่วนทุกอย่างให้พร้อมหมด พอตัว ฮ.ครบ งูครบ แบ็คกราวด์มา แล้วก็ค่อยเอามารวมกันเข้าอีกทีหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นซีนไฮไลต์ที่ยากทีเดียวครับ

มีการรีเสิร์ชข้อมูลก่อนทำยังไงบ้าง
        
 เราจะมี reference ศึกษาจากงูจริงว่า งูจริงเป็นยังไง เกล็ดของมันเป็นยังไง การเรียงตัวของเกล็ดซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะไม่เหมือนกัน แล้วก็การเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร งูมันจะมีการหายใจ คือมันจะหายใจขึ้นลง รายละเอียดพวกนี้มันจะช่วยให้แอนิเมชั่นของเราสมบูรณ์ขึ้น แล้วก็จะมีส่วนประกอบอื่น ๆ มาช่วยเสริม เช่น มีหญ้ามีฝุ่นกระจายปลิวก็จะช่วยให้ดูดีขึ้น คือเรามีทีมงานไปดูงูจริงที่สถานเสาวภาก็มี หรือว่าการหาข้อมูลโดยการดูจากสารคดีต่าง ๆ หรือว่าจากหนังที่เคยมีการทำซีจีมาบ้างแล้ว ซึ่งเราก็ศึกษากันหมด ตั้งแต่โครงสร้างของกระดูก กล้ามเนื้อ ฟิกเกอร์ แล้วก็เท็คเจอร์ต่าง ๆ แต่ว่างูในหนังเรื่องนี้ มันจะมีลักษณะของเท็คเจอร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ ดีไซน์ขึ้นมาใหม่ จะมีการออกแบบเพื่อให้งูตัวนี้เป็นต้นแบบออริจินัล คือโอเค มันก็จะเป็นงูชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในโลก แต่ว่าด้วยลายของมัน เราอยากให้เป็นลายเดียว ฉะนั้นมันจึงถูกดีไซน์ให้ไม่เหมือนงูชนิดนี้ร้อยเปอร์เซนต์เต็ม มันจะมีเรื่องของการใส่งานดีไซน์เข้าไปด้วย

อุปสรรค
         
อุปสรรคหลัก ๆ คือเรื่องของแอนิเมชั่น แอนิเมชั่นเรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทำแอนิเมชั่นสัตว์ที่เป็น 4 ขาด้วยซ้ำ คือทุกอย่างเนี่ย ความสัมพันธ์ของการแอนิเมชั่นมันจะต้องสมูธ งูเนี่ยเวลามันจะเลื้อยทุกอย่างมันจะต้องมีที่มาที่ไป แล้วก็งูเรื่องนี้ค่อนข้างโชว์เยอะมาก แล้วเราต้องทำให้มันมีสมองมีความคิด ไม่ใช่เพียงแค่ก้อน ๆ หนึ่ง หรือท่อ ๆ หนึ่ง มันจะต้องมีความคิด มันจะต้องมีความฉลาด แล้วก็ต้องเข้าถึงอารมณ์ของหนังให้มันเชื่อมโยงกับอารมณ์ของนักแสดงได้ด้วย เมื่อนักแสดงรู้สึกหวาดกลัว แอ็คชั่นของงูจะเป็นยังไง นักแสดงรู้สึกว่ามีอะไรซักอย่างโผล่มา แอ็คชั่นของงูตัวนั้นมันจะเป็นยังไง ฉะนั้นแล้ว ตรงนี้มันจึงมีการคิดในด้านของการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและเยอะมากขึ้น

พูดถึงซีจีของเมืองไทยมันพัฒมนาไปถึงไหนแล้ว สามารถเทียบเท่ากับระดับฮอลลีวู้ดได้ไหม
         
ถ้าในแวดวงโฆษณานี้ ผมว่าเราไปถึงระดับฝรั่งแล้ว เพราะว่าบริษัทแม่ของสวีท อายส์ คือ D.M. เนี่ยล่าสุดเราก็ไปได้รางวัลระดับเมืองคานส์มา เราได้ชนะเลิศหลาย ๆ ที่มา แต่ในด้านของภาพยนตร์ผมว่า ธุรกิจซีจีของภาพยนตร์เนี่ยมันมีการแข่งขันสูง ถ้าเราจะไปเทียบกับภาพยนตร์เมืองนอกเนี่ย ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเรายังสู้เค้าไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีของเค้าเนี่ย เค้าไปไกลกว่าเราพอสมควร แต่ถ้าพูดถึงในระดับเอเชีย อะไรต่าง ๆ ของเรา เราพอที่จะสู้ได้ คือในเมืองนอกเนี่ย เค้ามีเงินทุนมากแล้วก็ความสามารถ คือเด็กไทยส่วนใหญ่เริ่มการเรียนรู้ในด้านนี้แทบจะ 100% เลยคือจบปริญญาตรีถึงค่อยเริ่ม แต่ว่าเมืองนอกบางทีเค้าเริ่มจากไฮสคูลเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นระยะการเรียนรู้ของเค้าได้ถูกบ่มมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วซีจีที่เข้ามาในเมืองไทยเนี่ย มันเข้ามาเมื่อ 10 ปี

          ที่แล้วเอง จึงไม่มีระยะเวลาที่ทันมาก เราจึงยังตามฝรั่งอยู่ แต่ถ้าพูดว่าเราเทียบเท่าแล้วไหม เราเริ่มที่จะใกล้เคียงมากกว่า แต่เรายังไม่ 100 % มันต้องใช้ระยะเวลา แต่ผมว่าไม่น่าจะเกินปีหรือ 2 ปี เราน่าจะสู้เค้าได้ครับ

ถ้าพูดถึงความพอใจนี่อยู่ในระดับไหน
          ตอนนี้ผมแฮบปี้ประมาณ 100 % แล้ว คือความสมบูรณ์ของเรา...ถ้าเรามีหนังที่ เดอะเบสท์ ระดับบ็อกออฟฟิศแบบใหญ่ ๆ เลย เราอาจจะยังสู้เค้าไม่ได้ แต่ถ้าในระดับมาตรฐานของเมืองไทย หนังเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะแพ้ใครเหมือนกันครับ

   
 

Everything you want to know about Thai film, Thai cinema
edited by Anchalee Chaiworaporn อัญชลี ชัยวรพร   designed by Nat  
COPYRIGHT 2004 http://www.thaicinema.org. All Rights Reserved. contact: ancha999 at gmail.com
By accessing and browsing the Site, you accept, without limitation or qualification, these copyrights.
If you do not agree to these copyrights, please do not use the Site.